คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



"90 ปี...ชาลี อินทรวิจิตร"
ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์คำร้อง-ผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์) พ.ศ. 2536

เดิมชื่อ สง่า ในปี พ.ศ. 2492 - 2493 ได้รับบท "ชาลี" ตัวเอกจากละครฮิต "เคหาสน์สีแดง" ของท่านหญิงดวงดาวหรือ หม่อมเจ้าหญิงสวาสดิ์วัฒโนดม ประวิตร พระธิดาพระองค์ที่ 4 ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงประจิณกิติบดี "ดวงดาว" เป็นนามปากกาของท่านหญิงเพราะท่านโปรดดวงดาวบนฟากฟ้า ท่านหญิงรับสั่งว่า "เธอแสดงเป็นนาวาโทชาลีได้สมบทบาทในนวนิยายเหลือเกิน ฉันขอมอบชื่อ ชาลี ให้แทนชื่อ สง่า" อีกทั้งตอนนั้นมี สง่า อารัมภีร หัวหน้าวงดนตรีซึ่งทำงานร่วมกัน เลยใช้ชื่อ "ชาลี" นับแต่นั้นมา

เนื่องจากครูชาลีฯ ได้มอบจิตวิญญาณและความจงรักภักดีให้กับ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มาตลอดชีวิตของท่าน ดูได้จากผลงาน บทเพลงอันไพเราะทั้งหลาย ส.ท่าเกษมจะเขียนถึงบทเพลง 3 เพลงที่เกี่ยวกับ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เพลง บ้านเรา และ สดุดีมหาราชา นี้เคยเขียนถึงหลายครั้งในคอลัมน์ "คุยกันวันเสาร์" เพลงรัตนตรัย เป็นเพลงประทับใจมานานแล้วอีกเพลงหนึ่ง จึงถือโอกาสนำมาลงด้วย คงจะเริ่มด้วยเพลง "บ้านเรา" ตามลำดับ

ชาติ....ครูชาลีเขียนไว้ในหนังสือ "บันเทิง-บางที" ว่า.... 3 ปีผ่านไป สุเทพกลับจากญี่ปุ่น เขามาหาผมก่อนใครเพื่อน ทั้งๆ ที่มีเพลงรออัดเสียงอยู่เป็นกระตั๊ก สุเทพรับกระดาษเนื้อเพลง "บ้านเรา" ซึ่งผมและ อ.ประสิทธิ์ พยอมยงค์ ร่วมกันแต่งเตรียมไว้ให้แล้ว สุเทพนำไปอัดเสียงเป็นเพลงแรกที่ห้องอัดเสียงกมลสุโกศล แล้วก็มี ขุนทอง อสุนี วิจารณ์เพลงนี้ว่า "บ้านเรา....อยู่ที่ไหนไม่สุขใจเหมือนบ้านเรา เราคนไทยไม่ใช่ทาสใคร" นี่แสดงถึงลักษณะคนไทยแท้ๆ หยิ่งในศักดิ์ศรีที่สืบสายเลือดกันมายาวนานและที่เป็นแกนหัวใจของคนไทยทุกวันนี้คือ "พระบารมีล้นเกล้า คุ้มเราร่มเย็นสุขสันต์"




เพลง : บ้านเรา
คำร้อง ชาลี อินทรวิจิตร/ทำนอง ประสิทธิ์ พยอมยงค์

บ้านเรา แสนสุขใจ
แม้จะอยู่ที่ไหน ไม่สุขใจเหมือนบ้านเรา
คำว่าไทย ซึ้งใจเพราะใช่ทาสเขา
ด้วยพระบารมีล้นเกล้า คุ้มเรา ร่มเย็นสุขสันต์
ทุ่งทิพย์ ฟ้าขลิบทอง
ริ้วแดดส่องสดใส งามจับใจมิใช่ฝัน
ปวงสตรี สมเป็นศรีชาติเฉิดฉันท์
ดอกไม้ชาติไทยยึดมั่น หอมทุกวันระบือไกล
บุญนำพา กลับมาถึงถิ่น
ทรุดกายลงจูบดิน ไม่ถวิลอายใคร
หัวใจฉัน ใครรับฝากเอาไว้
จากกันแสนไกล ยังเก็บไว้หรือเปล่า
เมฆจ๋า ฉันว้าเหว่ใจ
ขอวานหน่อยได้ไหม ลอยล่องไปยังบ้านเขา
จงหยุดพัก แล้วครวญรักฝากกับสาว
ว่าฉันคืนมาบ้านเก่า ขอยึดเอาไว้เป็นเรือนตาย

ศาสน์....จากเพลงกล่อมใจให้พวกเรารักชาติบ้านเกิด ก็มาถึงเพลงทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติไทย เพลง พระรัตนตรัย นี้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ลูกทาส มีครูสมาน กาญจนะผลิน ศิลปินแห่งชาติแต่งทำนอง ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองตัวแรกจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว




เพลง : พระรัตนตรัย
คำร้อง ชาลี อินทรวิจิตร/ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน

องค์ใดพระสัมพุทธ ธ วิสุทธิ์ ผุดผ่องใส
ตัดมูลกิเลสไกล หลีกละในสิ่งเริงรมย์
ธรรมใด ท่านตรัสแล้ว เหมือนดวงแก้ว น่าชื่นชม
สัตว์โลก ที่โศกซม ดับระทม ด้วยพระธรรม
ธรรมนั้น พวกท่านทั้งหลาย
จงเปล่งวาจา ว่า สาธุสะ (สาธุ)
ภาวนาดุจสรณะ คือพระรัตนตรัย
ธรรมนั้น พวกท่านทั้งหลาย
จงเปล่งวาจา ว่า สาธุสะ (สาธุ)
ภาวนาดุจสรณะ คือพระรัตนตรัย

กษัตริย์....มาถึงเพลงสุดท้าย เป็นเพลงที่ครูชาลีเขียนเนื้อร้องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และปัจจุบันไม่ว่าคอนเสิร์ตหรืองานระดับชาติจะใช้เพลงนี้เปิดงาน โดยเฉพาะที่แอล.เอ. ต่อไปนี้เป็นข้อเขียนจากสมุดบันทึกของครูสมานฯ ผู้เขียนทำนองและเรียบเรียงเสียงประสาน ท่านเขียนถึง ที่มาของเพลง...สดุดีมหาราชา

ชรินทร์ นันทนาคร เป็นผู้ริเริ่มอยากจะให้มีเพลงอะไรสัก ๑ เพลง ที่รองลงมาจากเพลงสรรเสริญพระบารมี และเป็นเพลงใช้ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคมด้วย เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

คำขึ้นต้นของเพลง ครูชาลี ถามชรินทร์ว่า "ถ้าเราพบในหลวง เราจะพูดกับท่านคำแรกว่าอะไร" ชรินทร์ตอบว่า ต้องพูดว่า "ขอเดชะ ซี" นั่นเป็นคำเริ่มต้นของเพลง ต่อมาชรินทร์ นันทนาคร ได้เอาเพลง "สดุดี มหาราชา" ไปร้องและลูกเสือชาวบ้านทุกหน่วยเหล่านี้ ก็ใช้เป็นเพลงประจำตลอดมา




เพลง : สดุดีมหาราชา
คำร้อง : นายชาลี อินทรวิจิตร
ทำนอง : นายสมาน กาญจนะผลิน

ช. ขอเดชะ องค์พระประมุข ภูมิพล
มิ่งขวัญ ปวงชน ประชาชาติไทย
มหาราช ขัตติยะ ภูวะไนย
ดุจ ร่มโพธิ์ ร่มไทร ของปวงประชา
ญ. ขอเดชะ องค์สมเด็จ พระราชินี
คู่บุญ บารมี จักรี เกริกฟ้า
องค์สมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว มหาราชา
ข้าพระพุทธเจ้าขอสดุดี
( ดนตรี )
ช. อ้า องค์ พระสยมบรมราชันย์ ขวัญหล้า
ญ. เปล่ง บุญญา สมสง่า บารมี
ช. ผองข้าพระพุทธเจ้า
ญ. น้อมเกล้าขออัญชุลี
พ. สดุดี มหาราชา สดุดี มหาราชินี

ครูชาลีเคยเขียนไว้ว่า "ทุกลมหายใจ ทุกหยดเลือดในชีวิตผมคือ เพลง " ตอนหนึ่งของบทความ "บูชาครู บูชาคำ" ซึ่งเป็นที่มาของเพลง อาลัยรัก มีว่า.....กับผู้หญิงคนหนึ่งที่เดินหายไปจากชีวิตผม ในวันนั้นจนถึงวันนี้ (พ.ศ. 2530 ถึง พ.ศ. 2556) อย่างน้อยผมก็มีรักแท้ให้กับเธอ จะลบเธอออกจากหัวใจ จากความรัก-อาลัย เหมือนลบโปรแกรมคอมพิวเตอร์คงไม่ได้หรอก แม้ปลายลมหายใจที่หมอใช้มีดกรีดความตีบตัน เพื่อชลอชีวิตผม ยังไม่สำคัญเท่าบทเพลงนิรันดร์แห่งหัวใจที่ผมมีต่อเธอ

ผมรักเพลง ผมจึงชอบร้องเพลง ผมรักหนังสือ ผมจึงชอบอ่านหนังสือทุกตัว อักษรอันงดงาม ผมนำมาจากหนังสือเป็นภาษาสวยที่ผมฉกฉวยมาเป็นส่วนประกอบของบทเพลงหลายต่อหลายเพลง

ครูชาลีสมรสกับนักแสดงหญิง ศรินทิพย์ ศิริวรรณ แต่หายไประหว่างการถ่ายทำเรื่อง อีจู้กู้ปู่ป้า ของ กำธร ทัพคัลไลย เมื่อ วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2530 จนถึงปัจจุบันยังไม่พบตัว ภายหลังเหตุการณ์นั้น ชาลี ได้แต่งเพลงเพื่อระลึกถึง โดยใช้ทำนองเพลง Aubrey ของเดวิด เกตส์แห่งวงเบรด (Bread) ใช้ชื่อเพลงว่า "เมื่อเธอจากฉันไป" ขับร้องโดย พรพิมล ธรรมสาร ต่อมานำมาขับร้องใหม่โดย อรวี สัจจานนท์

เรื่องราวชีวิตที่ยากลำบากของ "ศรินทิพย์ ศิริวรรณ" ช่วงปี 2486-2487 ก่อนจะได้พบกับ "ชาลี อินทรวิจิตร" เคยถูกสร้างเป็นละครวิทยุจนโด่งดังเรื่อง "ม่านน้ำตา" และนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์กำกับโดยเนรมิต นำแสดงโดย "เพชรา เชาวราษฎร์" รับบทเป็นศรินทิพย์, วิไลวรรณ วัฒนพานิช รับบทเป็นแม่ และ "อนุชา รัตนมาลย์" รับบทสามีเก่าของศรินทิพย์ เข้าฉายที่โรงภาพยนตร์คาเธ่ย์ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2505 ปรากฏว่า อำนวย กลัสนิมิ และศรินทิพย์ถูกสามีเก่าของเธอฟ้องหมิ่นประมาทจนเป็นเรื่องราวโด่งดัง คดีนี้จบลงโดยศาลไกล่เกลี่ย ผู้กำกับยินยอมประกาศขอขมาทางหน้าหนังสือพิมพ์ จากเหตุการณ์ครั้งนั้น "ชาลี อินทรวิจิตร" ได้แต่งเพลงชื่อ "ไม่อยากให้โลกนี้มีความรัก" ขับร้องโดย "สวลี ผกาพันธุ์"

ปี พ.ศ. 2536 ครูชาลี อินทรวิจิตร ได้รับการเชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์คำร้อง-ผู้กำกับภาพยนตร์) ซึ่งถือเป็นบุคคลเดียวของประเทศที่ได้รับเกียรติ 2 ด้าน คือด้านประพันธ์คำร้องและกำกับภาพยนตร์ และยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ปัจจุบัน ครูชาลี อินทรวิจิตร ยังคงรับร้องเพลง-ประพันธ์เพลง และเป็นเสาหลักให้กับนักร้อง โดยดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาสมาคมนักร้องแห่งประเทศไทย มีผลงานประพันธ์คำร้องเพลงประมาณ 1,000 เพลง คู่ชีวิตคนปัจจุบันคือคุณธิดา ส่วนเพื่อนรักที่สนิทสนมรักกันมากเป็นพิเศษคือ ศิลปินแห่งชาติ ร.ต.สุเทพ วงศ์กำแหง ถึงแม้จะมีอายุต่างกันถึง 10 ปี แต่ก็หยอกล้อเป็นเพื่อนเล่น ใช้สรรพนามเรียกแบบสมัยพ่อขุนฯ สำหรับศิลปินแห่งชาติรุ่นน้องที่ครูชาลีรักและเอ็นดูคงจะเป็น ดร.กมล เมื่อครั้งมาเมืองแอล.เอ. ดร.กมล ต้อนรับดูแลอย่างเต็มที่ และเมื่อเดินสายไปตามต่างจังหวัดที่ประเทศไทย จะดูแลอย่างใกล้ชิดพักห้องเดียวกัน


ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
13 กรกฎาคม 2556

หมายเหตุ ภาพต่างๆ ในงานฉลองวันเกิดครูชาลี ฯ และ POSTERS ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก ดร.กมล ฯ ตามคำขอของ ส.ท่าเกษม ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งมา ณ ที่นี้ด้วย

ฝากขอบคุณเจ้าของคำอวยพรและคาร์ดวันเกิดสวยๆ รวมทั้งของขวัญที่ทางไปรษณีย์เก็บไว้ 20 วัน เพราะไปต่างจังหวัดตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน เพิ่งกลับเข้าเมือง คนส่งไปรษณีย์คงลืมไปเลย เราต้องไปรับเองที่ MAIN OFFICE เมื่อวันอังคารนี้เอง มีจาก จักษุแพทย์ สุเทพ และ พ.ญ.วีณา จรูญรัตน์ นักเขียนในดวงใจ "วราภา" พี่เฉิดโฉม สุขุม สมพร วัชระกุลเกษมสุขและครอบครัว ไพสันติ์ และพิมพรรณ พรหมน้อย แห่ง น.ส.พ. เอเชี่ยนแปซิฟิค ดร.สิรินทรา สุขประเสริฐ สราญจิต (จิ๋ว) วิทยะ เพ็ญวิภา (ลิลิตดา) โสภาภัณฑ์ มารศรี ติลกมนกุล ผ.อ.วิรัช โรจนปัญญา แห่ง น.ส.พ.ไทยแอล.เอ. (อีเมล) พวงรัตน์ จันทรวงศ์ บทจรพายัพทิศ วนิดาบุญญาวาส ทักษิณีเขตจรดล นีละพงษ์อำไพ พี่บุษบานงเยาว์ (5 ชื่อหลังนี้เป็นพี่น้องจากประเทศไทยของ ส.ท่าเกษม) ขอให้พรอันประเสริฐนี้ ย้อนกลับถึงทุกๆ คนอีกร้อยเท่าพันเท่า