เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราชปี 2555 ส.ท่าเกษม จึงขอน้อมเกล้าฯ แสดงความจงรักภักดีและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยการนำข้อความบางส่วนจากหนังสือฉบับต่างๆ ที่ได้รับจากบุคคลรอบตัวทั้งใกล้และไกล ใกล้คือ นคร ลอสแอนเจลลิส ไกลคือ ประเทศไทย เมื่ออ่านแล้วก็ได้แบ่งปันมาให้ ส.ท่าเกษม เพราะเราทุกคนต่างก็รักในหลวง พระมหากษัตริย์องค์ที่ 9 ในแผ่นดินรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงมีพระราชภารกิจในการพระราชทานความช่วยเหลือแก่พสกนิกรผู้ยากไร้อยู่เป็นประจำ ยิ่งทรงมีพระชนมายุมากขึ้น พระราชภารกิจก็เพิ่มขึ้น แม้จะเสด็จแปรพระราชฐานก็มิได้ทรงพระสำราญ แต่ทรงเสด็จฝ่าเปลวแดดอันร้อนระอุฝ่าสายฝนอันหนาวเย็น ฝ่าความยากลำบากในการเสด็จพระราชดำเนินไม่ว่าจะเป็นหล่มโคลนหรือทางทุรกันดาร แม้ต้องเสด็จลุยน้ำก็ทรงไม่ย่อท้อ ขอให้ได้ทอดพระเนตรเห็นสภาพที่แท้จริงของชีวิต ความเป็นอยู่ของพสกนิกรของพระองค์เท่านั้น
โครงการพระราชดำริต่างๆ ทรงเสด็จแปรพระราชฐานไปตรวจดูความคืบหน้าเสมอ ไม่มีโครงการใดเลยที่จะมีการใช้การทำงานแบบผักชีโรยหน้า ด้วยการเสด็จทรงตรวจงานและเปรียบเทียบผลงานอย่างละเอียดและแม่นยำ บางอย่างข้าราชการละเลยแต่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสถึงเล่นเอาหน้าแตกไปตามๆ กัน
ตั้งแต่จำความได้จะเห็นบิดา "เข้าวัง" เป็นประจำไม่เคยขาด เวลาฑูตจากประเทศต่างๆ เข้าเฝ้าหรืองานพระราชพิธี งานพระราชกุศล ไม่ว่าจะพักผ่อนอยู่จังหวัดไหน บิดาของ ส.ท่าเกษม จะเดินทางทั้งทางบกและทางน้ำมาเข้าเฝ้าเมื่อได้รับหมายฯ จากสำนักพระราชวัง สิ่งเหล่านี้จึงได้ฝังใจและซึมซับเข้าไปในสายเลือด บิดาไม่เคยมานั่งสั่งสอนว่า "ลูกจะต้องจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ !" ท่านปฏิบัติตัวถวายงานอย่างไร เราได้เห็นมาตลอด ปกติบิดา ส.ท่าเกษม เข้านอนย่ำรุ่งและตื่นบ่ายต้นๆ ไม่มีการรับประทานอาหารเช้า แต่วันไหนเข้าวังจะรับประทานไข่ลวก 2 ฟอง และดื่มกาแฟในตอนเช้า ก่อนเข้าวัง แต่งตัวเต็มยศ ใส่หมวก ห้อยกระบี่
เมื่อได้เวลากลับพวกลูกๆ จะคอยรับหน้าเรือนทับแก้ว พอท่านก้าวลงจากรถพวกเราจะรับหมวก รับกระบี่ เมื่อขึ้นเรือนกระจก นั่งที่เก้าอี้ ลูกๆ จะถอดรองเท้าถุงเท้าให้ท่าน นี่คือกิจวัตรที่ทำกันมา จึงฝังใจเรื่องบิดาเข้าวังไปเข้าเฝ้าถวายงาน ระหว่างพวกเราถอดรองเท้าท่านจะเล่าเรื่องในวังให้ฟังด้วยสีหน้าที่มีความสุข บางครั้งจะเล่าต่อในเวลาอาหารหรือเวลาน้ำชา
ครั้งหนึ่งบิดาทูลถามว่า "ไม่ทรงเมื่อยพระหัตถ์บ้างหรือพะยะค่ะ" หลังจากพระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงรับสั่งด้วยพระอารมณ์แจ่มใสว่า "มันเคยซะแล้ว" แม้จะทรงมีพระราชภารกิจมากเพียงใดก็ตาม แต่พระอารมณ์ขันทรงมีอยู่เสมอ ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จอย่างใกล้ชิดจะมีเรื่องเล่าสู่กันฟังในพระอารมณ์ขันของในหลวง หาอ่านได้จากหนังสือที่ ส.ท่าเกษม นำรูปมาลงในคอลัมน์ ยกตัวอย่างเช่นคราวเสด็จประพาสทางทะเล แม่ทัพเรือในตอนนั้นมียศเป็นจอมพล ถวายรายงานตลอดเวลาที่เรือพระที่นั่งแล่นไปในท้องทะเล พอเรือพระที่นั่งผ่านเกาะใหญ่จึงทรงมีพระราชดำรัสถามคุณหลวงแม่ทัพเรือว่า "เกาะอะไร ชื่อเกาะนี้ชาวบ้านเขาเรียกกันอย่างไร" แม่ทัพเรือกราบทูลถวายอย่างชัดถ้อยชัดคำ "ขอเดชะ เกาะนี้ชาวบ้านเรียกพระนามว่าเกาะช้างพระเจ้าข้า"
ทรงรับฟังคำกราบทูลของท่านแม่ทัพเรือแล้วก็ทรงแย้มพระสรวล มีพระราชดำรัสตอบท่านแม่ทัพเรือว่า "งั้นเกาะนี้ก็เป็นญาติกับฉันน่ะซี"
เรื่องก็คือว่าแม่ทัพเรือคงจะประหม่าและไม่ค่อยคุ้นเคยกับราชาศัพท์ เลยเอาคำว่า "พระนาม" ไปใส่กับชื่อเกาะช้าง กลายเป็นพระนามว่าเกาะช้าง (อันคำว่าพระนามนั้นใช้นำชื่อของพระบรมวงศานุวงศ์ในราชนิกุล)
ส.ท่าเกษม เคยได้ยินมาหลายครั้งที่พระองค์ทรงอนุญาตให้พูดคำธรรมดาไม่ต้องใช้ราชาศัพท์ โดยเฉพาะเวลาเสด็จพระราชดำเนินไปต่างจังหวัด เรื่องการเสด็จพระราชดำเนินนี้ มีข้าราชบริพารเล่าให้ฟังว่า ทั้งสองพระองค์พระราชดำเนินเร็วมากเวลาทรงออกพระกำลัง ตามเสด็จฯ กันไม่ค่อยจะทัน โดยเฉพาะผู้ตามเสด็จฯ เป็นสตรีบางครั้งถึงกับต้องวิ่ง
สืบเนื่องมาจากพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของเรา ฉลองพระองค์มีดวงตราบนกระเป๋า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมูลนิธิชัยพัฒนา มีผู้อ่านของนิตยสาร "ดิฉัน" ลงชื่อว่า "จากประชาชนผู้ขอถวายชีวิตแด่ในหลวงของเรา" ถามมาอยากทราบความหมายโดยละเอียด และความเป็นมาของมาของมูลนิธิด้วย ถ้าดูรูปจากเวบจะเห็นสีและภาพบนฉลองพระองค์ พระบรมฉายาลักษณ์ที่ทรงกล้องถ่ายรูปคล้องพระศออยู่ คุณบรรณฎา เจ้าของคอลัมน์อธิบายว่า
มูลนิธิชัยพัฒนา แปลว่า ชัยชนะแห่งการพัฒนา พระองค์ทรงตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2531 ให้เป็นองค์กรเอกชนเพื่อความคล่องตัวต่อภารกิจ บางครั้งระบบราชการไม่สามารถตอบสนองต่อความจำเป็นและเพียงพอในการพัฒนา หรือเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ ไม่ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ มากมาย ไม่ต้องวางฎีกาต้องตั้งงบประมาณ ฯลฯ มูลนิธินี้เป็นแห่งเดียวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับเป็นองค์นายก และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร และสัญลักษณ์ของมูลนิธิทรงออกแบบเองด้วยคอมพิวเตอร์
สัญลักษณ์เป็นรูปของ 4 มงคลบนโล่ใต้พระมหามงกุฎ ประกอบด้วย
1) พระแสงขรรค์ชัยศรี มีความหมายถึงพระราชอำนาจบารมี และกำลังแผ่นดินที่จะฟันฝ่าให้เกิดการดำเนินการต่างๆ อันเป็นผลไปสู่ความมั่นคงแห่งพระราชอาณาจักรวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 (ค.ศ.1927) พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดชฯ ประสูติที่โรงพยาบาลเมานท์ ออเบอร์น (MT.AUBURN) ในเคมบริดจ์ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ หรือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก สิ้นพระชนม์ในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 (ค.ศ.1929) หลังจากเสด็จกลับถึงประเทศไทยในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2471 ทั้ง 5 พระองค์
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ (รัชกาลที่ 7) ทรงพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพระนามแด่พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดชฯ พร้อมทั้งพระราชทานเสมา ปปร ด้วย
ปี พ.ศ. 2476 สมเด็จย่า (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ทรงพาพระโอรสและพระธิดาไปประทับอยู่ที่โลซานน์, สวิตเซอร์แลนด์ ทรงเรียกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ร.9) ว่า "เล็ก" เหตุที่ทรงเลือกประทับที่นี่เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (ร.8) ทรงมีพระอนามัยไม่แข็งแรงมาตลอด สมควรที่จะประทับในประเทศที่มีอากาศสบายๆ
วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.7) ทรงสละราชสมบัติ ทำให้ชีวิตธรรมดาๆ ต้องเปลี่ยนไป จากพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดชเป็นเจ้าฟ้า
บทความจากหนังสือ "เรื่องหลัง...จากวังหลวง" ของคุณเฉลิมศักดิ์ รามโกมุท ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ในชีวิตตำรวจหลวงในราชสำนัก ทำให้ได้พบเห็นสิ่งต่างๆ มากมาย กลายเป็นความทรงจำในอดีตของการเข้ารับราชการตามเชื้อสายที่ตกทอดกันมาตั้งแต่เจ้าคุณปู่ ความซื่อสัตย์ ความจงรักภักดีในองค์พระมหากษัตริย์จึงอยู่ในสายเลือดเช่นกัน ท่านเขียนไว้ว่า การถวายคารวะในองค์พระมหากษัตริย์เจ้านั้น เป็นสายเลือดของคนไทยมาแต่ดึกดำบรรพ์มิเสื่อมคลาย เพราะพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองปกครองไพร่ฟ้าประชาชี ทรงทำนุบำรุงพระบวรพระพุทธศาสนา ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้ดำรงอยู่ในเอกราชสืบมา จนเรียกได้ว่าเมืองไทยคือสวรรค์ของคนไทย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ที่มีพระราชสมัญนามจากพสกนิกรชนน้อมเกล้าฯ ถวายว่า องค์พระปิยะมหาราช เป็นพระราชปิตุลา (ปู่) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรานี้ พระองค์ที่บ่อยครั้งกว่าจะได้เสวยก็เลยเวลาเสวยพระกระยาหารไปเนิ่นนาน ด้วยทรงห่วงความทุกข์ยากของพสกนิกรว่าเขาอยู่กันอย่างแร้นแค้นและไร้ความสุข พระองค์ท่านจะทรงพระเกษมสำราญได้อย่างไร ทุกข์ของประชาชนคือทุกข์ของพระองค์ท่าน ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจอย่างเสมอต้นเสมอปลายดังพระปฐมบรมราชโองการที่ทรงเปล่งเป็นสัจจะวาจาแด่มหาชนชาวสยาม
บ่อยครั้งที่ทรงให้เฮลิคอปเตอร์ที่ประทับลงจอดเพื่อรับทหารผู้บาดเจ็บกลับสู่แนวหลัง ทั้งๆ ที่กำลังมีการสาดกระสุนเข้าหากันอย่างหูดับตับไหม้ ทรงเป็นจอมทัพผู้เกรียงไกร ! และมิย่อท้อต่อภัยอันตรายและความตาย เสด็จเข้าสู่สมรภูมิที่กำลังรบกันเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ทหารหาญ