เพลงพระราชนิพนธ์ ยามเย็น หรือ Love at Sundown เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒ ทรงพระราชนิพนธ์ ใน พ.ศ. ๒๔๘๙ ขณะยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นงานทดลองของพระองค์ในจังหวะฟ็อกซ์ทร็อต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย และ ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา แต่งคำร้องภาษาอังกฤษ แล้วพระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ที่มีคำถูกต้องสมบูรณ์ให้ นายเอื้อ สุนทรสนาน นำออกบรรเลงในงานของสมาคมปราบวัณโรค ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันเสาร์ที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ นับเป็น เพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก ที่นำออกบรรเลงสู่ประชาชน เป็นเพลงที่ร่าเริงแจ่มใสเหมาะสำหรับการเต้นรำในสมัยนั้น จึงเป็นเพลงยอดนิยมของพสกนิกรไทยทันที
ได้ทราบข่าวว่า ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีไทย (๒ สมัย) คนที่ ๒๐ มาประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นแขกเกียรติยศของประธานสภาศิลปกรรมไทยแห่งสหรัฐอเมริกา ดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติเป็นครั้งที่สอง ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ท่านได้ให้เกียรติมาร่วมงานนิทรรศการเช่นกันและได้ขึ้นไปพักผ่อนเขียนรูปที่ YOSEMITE NATIONAL PARK, CA. ครั้งนี้ท่านให้เกียรติมาบรรยายพิเศษเรื่อง ศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทยในนิทรรศการ INTERNATIONAL EXCHANGE SHOW WITH THAI ARTISTS เมื่อเดือนที่แล้ว ณ LA ARTCORE GALLERY AT THE BREWERY ANNEX ในดาวน์ทาวน์นครลอสแอนเจลิส ตอนหนึ่งท่านได้พูดถึงปีพ.ศ. ๒๕๒๘ ขณะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้รองรัฐมนตรีดำเนินงานจัดตั้งโครงการศิลปินแห่งชาติ และจนถึงวันนี้เป็นเวลา ๓๑ ปี ท่านจึงได้รับการเชิดชูเกียรติ เป็น "ฐาปนันดรศิลปิน"
ตั้งใจจะเขียนต้อนรับนายกรัฐมนตรีที่ชื่นชมเป็นพิเศษ ในเรื่องเจ้าของฉายา “MR.CLEAN” ส.ท่าเกษม นับถือยกย่องบุคลิกลักษณะ ความรู้ ความเก่ง ความสามารถรอบตัว ฯลฯ ที่สำคัญคือ ความตงฉิน สุจริตในหน้าที่การงาน เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีทรัพย์สมบัติน้อยกว่าใครเขาเพื่อน ท่านเป็นชาวใต้ เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เป็นบุตรคนที่ ๓ ในจำนวน ๙ คน ของ นิยม และ ถ้วน หลีกภัย เมื่อยังเด็กครอบครัวเรียกท่านว่า “เอียด” หมายถึงเล็ก เนื่องจากเป็นคนรูปร่างเล็ก
การศึกษา ประถมศึกษา โรงเรียนวัดควนวิเศษ จังหวัดตรัง
- มัธยมศึกษา โรงเรียนมัธยมวัดควนวิเศษ และโรงเรียนตรังวิทยา
- สำเร็จการศึกษาโรงเรียนศิลปศึกษา แผนกจิตรกรรมและประติมากรรม เตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร (วิทยาลัยช่างศิลป์ ในปัจจุบัน)
- พ.ศ. 2505 นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- พ.ศ. 2507 เนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษาทางกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา สมัยที่ 17
มีบุตรชายกับภักดิพร สุจริตกุล หนึ่งคนชื่อ สุรบท หลีกภัย
เมื่อไม่ได้มีโอกาสเขียนต้อนรับเพราะภารกิจทางครอบครัวรัดตัว จึงขอแก้ตัวเขียนส่งท้าย ซึ่งท่านได้เดินทางกลับไปถึงประเทศไทยเรียบร้อยตั้งแต่อาทิตย์ที่แล้ว
ดังที่เอ่ยไว้ในตอนต้นคอลัมน์ว่าท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ๒ สมัย คือครั้งแรกระหว่าง ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕ – ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ครั้งที่ ๒ ระหว่าง ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๐ – ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๔ ตำแหน่งที่สำคัญอีกตำแหน่งหนึ่งนอกเหนือจากตำแหน่งหน้าที่การงานระดับชาติของท่านที่ยาวเป็นหางว่าวคือ ประธานสภาผู้แทนราษฎรไทย (๒๕๒๙-๒๕๓๑) อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชวน หลีกภัย เป็นนักการเมืองที่มีมือสะอาดซึ่งค่อนข้างจะหายากในบ้านเมืองเรา !
ท่านรักและทำประโยชน์ให้กับประเทศไทยบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน จงรักภักดีต่อองค์พระประมุขของชาติ บำรุงศาสนาและมีความกตัญญูรู้คุณผู้บังเกิดเกล้า
วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๙ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน" แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งครบ ๓๐ ปีหรือ ๓ ทศวรรษปีนี้พอดี ในปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนมิถุนายนนี้ จะมีการจัดนิทรรศการชื่อ นิทรรศการ "สามทศวรรษ เอกอภิวัฒน์ศิลปิน อัครศิลปิน และศิลปินแห่งชาติ " ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าฯ ผ่านฟ้า กทม. เป็นเวลา ๒ เดือน รวมผลงานศิลปะตั้งแต่ อัครศิลปิน สมเด็จพระนางเจ้าฯ สมเด็จพระเทพฯ วิศิษฏศิลปิน ชวน หลีกภัย ฐาปนันดรศิลปิน และศิลปินแห่งชาติทุกๆแขนง สาขาทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ และศิลปะการแสดง มีจำนวนมากกว่า ๒๐๐ ทั้งที่มีชีวิตและเสียชีวิตไปแล้ว เป็นนิทรรศการที่ยิ่งใหญ่แห่งปีนี้ !
ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย และ ส.ท่าเกษม ขอฝากขอบคุณ อาจารย์กมลฯ เป็นอย่างยิ่งที่กรุณาส่งรูป (ตามคำขอ) มาให้ถึงลาสเวกัส รวมทั้งเกร็ดย่อยและข้อมูลอื่นๆ