แดดรอนรอน
เมื่อทินกรจะลับเหลี่ยมเมฆา
ทอแสงเรืองอร่ามช่างงามตา
ในนภาสลับจับอัมพร
แดดรอนรอน
เมื่อทินกรจะลาโลกไปไกล
ยามนี้จำต้องพรากจากดวงใจ
ไกลแสนไกลสุดห่วงยอดดวงตา
แต่ก่อนเคยคลอเคลียกัน
ทุกวันคืนรื่นอุรา
ต้องอยู่เดียวเปลี่ยววิญญา
เหมือนดังนภาไร้ทินกร
แดดรอนรอน
หากทินกรจะลาโลกไปไกล
ความรักเราคงอยู่คู่กันไป
ในหัวใจคงอยู่คู่เชยชม
แดดรอนรอน
หมู่มวลภมรบินลอยล่องตามลม
คลอเคล้าพฤกษาชาติชื่นเชยชม
ชมสมตามอารมณ์ล่องเลยไป
ลิ่วลมโชย กลิ่นพรรณไม้โปรย
โรยร่วงห่วงอาลัย
ยามสายัณห์พลันพรากจากดวงใจ
คอยแสงทองวันใหม่กลับคืนมา
แต่ก่อนเคยคลอเคลียกัน
ทุกวันคืนชื่นอุรา
ต้องอยู่เดียวเปลี่ยววิญญา
เหมือนดังนภาไร้ทินกร
โอ้ยามเย็น
จวบยามนี้เป็นเวลาสุดอาวรณ์
ยามไร้ความสว่างห่างทินกร
ยามรักจำจะจรจากกันไป
เพลงพระราชนิพนธ์ ยามเย็น (Love at Sundown) เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๔๘๙ ขณะยังทรงเป็น สมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นงานทดลองของพระองค์ในจังหวะฟ็อกซ์ทร็อต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทยและ ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา แต่งคำร้องภาษาอังกฤษ แล้วพระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ที่มีคำร้องสมบูรณ์ให้ นายเอื้อ สุนทรสนาน นำออกบรรเลงในงานของสมาคมปราบวัณโรค ณ เวทีลีลาศ สวนอัมพร เมื่อวันเสาร์ที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ นับเป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก ที่นำออกบรรเลงสู่ประชาชน เป็นเพลงที่ร่าเริงแจ่มใส เหมาะสำหรับการเต้นรำในสมัยนั้น จึงเป็นเพลงยอดนิยมของพสกนิกรไทยทันที ลิขสิทธิ์เพลงเป็นของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย พระองค์ท่านทรงมีพระราชปรีชาญาณในเรื่องของดนตรี กีฬา ทั้งทรงเป็นนักประพันธ์ชั้นครู ทรงพระราชนิพนธ์เพลงไว้มากมาย มีความไพเราะเป็นยิ่งนัก รวมบทเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งสิ้น ๔๘ เพลง เพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง และคำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง มี ๕ เพลง คือ "Echo", "Still on My Mind", "Old-Fashioned Melody", "No Moon" และ "Dream Island" นอกจากนี้ มี ๒ เพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขึ้นภายหลังใส่ในคำร้องที่มีผู้ประพันธ์ไว้แล้ว คือ "ความฝันอันสูงสุด" และ "เราสู้"
ผู้ที่โปรดเกล้าฯ ให้แต่งคำร้องประกอบเพลงพระราชนิพนธ์มีหลายท่าน ได้แก่ หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์, ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา, ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร, ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา, นายจำนง ราชกิจ (จรัล บุญยรัตพันธุ์), ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, ม.ล.ประพันธ์ สนิทวงศ์ และท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เป็นต้น
ในยุคแรก หลังจากที่เพลงพระราชนิพนธ์มีทำนองและคำร้องสมบูรณ์แล้ว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ ครูเอื้อ สุนทรสนาน นำไปบรรเลงในวงดนตรีกรมโฆษณาการหรือวงสุนทราภรณ์ เพื่อให้แพร่หลายทั่วไป ปรากฏว่าหลายเพลงกลายเป็นเพลงยอดนิยมทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในระยะหลังพระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจมากมาย ทำให้ทรงไม่มีเวลาที่จะทรงพระราชนิพนธ์เพลงใหม่ๆออกมา
เป็นเรื่องบังเอิญเสาร์ที่ผ่านมาได้เขียนถึง ควาญช้างหญิง เพราะประทับใจและทึ่งในความสามารถของเธอในการร่วมขบวนเดินทางมาจากอยุธยา พร้อมกับควาญช้างอีกหลายคนและช้าง ๑๑ เชือก ซึ่งอยู่ในความดูแลและควบคุมกิจกรรมต่างๆ ในวันที่มาหมอบกราบถวายสักการะพระบรมศพหน้าพระบรมมหาราชวังโดย นายลายทองเหรียญ มีพันธุ์ เจ้าของวังช้างอยุธยาแลเพนียด เพิ่งทราบจาก ดร.ศิรินันท์ (ครูหนึ่ง) ปลอดเปลี่ยว ว่า ควาญช้างหญิงชื่อ ลาดทองแท้ มีพันธุ์ เป็นบุตรสาวของ นายลายทองเหรียญ เจ้าของวังช้างฯ นี่เอง ไม่เพียงเท่านั้น คุณแม่ของ ครูหนึ่ง ยังสนิทกับครอบครัวของ นายลายทองเหรียญ ประธานมูลนิธิพระคชบาล มีพี่น้อง ๔ คน โรยทองทราย ลายทองเหรียญ เหรียญทองบาท และ ลาดทองใบ
น่าสนใจทีเดียว ! มาดูประวัติ “หมอพลอย” กันบ้าง เธอสำเร็จการศึกษาเมื่อปีที่แล้ว (๒๕๕๘) อยู่กับช้างมา ๑๐ ปี และมีความผูกพันกับช้างมากจึงย้ายมาที่ มูลนิธิคชบาล และฝึกเป็นควาญช้าง โดย ๑-๒ สัปดาห์ก่อน เริ่มฝึกช้างที่นำมาแสดงถวายความอาลัย ทั้งนี้ในการฝึกเธอได้บอกว่าการแสดงครั้งนี้พิเศษมาก ช้างก็รับรู้ได้ในความรู้สึกของควาญร่วมกัน
ทั้งนี้ทั้งนั้นขอขอบคุณ ครูหนึ่ง และ คุณแม่ ที่ให้กำลังใจสนับสนุนมาตลอด ๑๐ ปี ติดตามผลงานของ ส.ท่าเกษมทั้งพ็อคเก็ตบุ๊คและคอลัมน์ต่างๆ ในน.ส.พ.ไทยที่เมืองแอล.เอ. ไม่เพียงแต่อ่านเท่านั้น ยังได้มอบข้อมูลเรื่องราวดีๆ ที่ไม่เคยทราบมาก่อน จึงได้นำมาถ่ายทอดแบ่งปันให้คุณผู้อ่านได้รับทราบด้วยในคอลัมน์ “คุยกันวันเสาร์” สัปดาห์นี้ นี่แหละที่เขาเรียกว่า “แฟนพันธุ์แท้” ขอขอบคุณอีกครั้งจาก ก้นบึ้งของหัวใจ !
หมายเหตุ ช่วงเวลาที่เขียนลงให้สาธารณะชนลงนามถวายอาลัยนั้น ได้โทรศัพท์ไปถามที่สถานกงสุลใหญ่วันนี้ (พุธที่ ๑๖ พ.ย.) ได้รับคำตอบซึ่งต่างไปจากสื่ออื่นที่แจ้งว่าเปิด ๙.๐๐น.ถึง ๑๗.๐๐ น. ทางที่ดีสืบถามให้แน่นอนก่อนไป !
ข้อมูลและภาพจาก วิกิพีเดีย, Thai Educational Portal, kachon.com, ยูทูบเพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” ที่นำมาลงในคอลัมน์ ขับร้องโดย ศรราม เทพพิทักษ์ มีผู้เข้าฟังทั้งสิ้น ๑,๗๖๐,๙๗๔ ครั้ง (๑๗ พ.ย. ๕๙ เวลา ๒๑.๐๐ น.)