เดือน “กุมภาพันธ์” เป็นอีกเดือนหนึ่งที่มีความสำคัญในชีวิตของ ส.ท่าเกษม เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๐ เป็นวันแรกที่ได้มายืนอยู่บนดินแดนแห่งความใฝ่ฝัน และปีนี้เป็นปีที่ ๔๗ ยังยืนอยู่ที่นี่ นคร LOS ANGELES สถานที่แห่งเดียวกับที่พวกเราคนไทยใฝ่ฝันจะมาด้วยเหตุผลต่างๆ นานานับประการ สำหรับคุณผู้อ่านที่เพิ่งจะรู้จักคอลัมน์ “คุยกันวันเสาร์” คงไม่ทราบความใฝ่ฝันของคนเขียนคอลัมน์นี้ว่าทำไมถึงอยากจะมาอเมริกา และต้องเป็นฮอลลีวูดเสียด้วย ไม่ใช่เมืองใดเมืองหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา
เป็นที่ทราบกันแล้วว่าเดือนกุมภาพันธ์ของปี พ.ศ. ๒๕๕๗ นี้มีความพิเศษอย่างหนึ่ง คือวันแห่งความรักตรงกับคืนพระจันทร์เต็มดวง ขึ้น ๑๕ ค่ำ วันมาฆบูชา จำได้ตั้งแต่สมัยเป็นเด็กนักเรียนว่าทุก ๔ ปี เดือนกุมภาพันธ์จะมี ๒๙ วัน มี ๒๘ วันเป็นเวลา ๓ ปี หมุนเวียนกันเช่นนี้เลยทำให้อยากเกิดวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ เพราะถึงแม้จะฉลองวันคล้ายวันเกิดวัยเบญจเพศ (๒๕ ปี) แต่อายุจริงๆ ก็เป็น ๑๐๐ แล้ว (ฮา!) เรียกว่าไม่ต้องเป็น ส.ว. (สูงวัย) เหมือนคนอื่นๆ เขา เป็น ส.ส. (สวยเสมอ) ตลอดกาล... ยิ่งสมัยนี้ผู้หญิงจะพึ่งมีดคุณหมอกันจนเป็นเรื่องธรรมดา
เสาร์นี้เป็นเสาร์สุดท้ายของเดือนแห่งความรัก เลขสวยเสียด้วย “๒๒” ปกติแล้วเลข ๒ เป็น LUCKY NUMBER ของบิดา ซึ่ง ส.ท่าเกษมก็ได้เดินตามรอยเท้าท่าน เสียดายที่จำไม่ได้ว่าทำไมถึงเป็นเลข ๒ แต่จำได้ติดตาว่าเวลาเดินทางไปต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น “ท่าอิฐ” จ.นนทบุรี หรือ “เกษียรสมุทร” จ.ประจวบคีรีขันธ์ ท่านจะมีสิ่งของส่วนตัวใส่ในกระป๋องสี่เหลี่ยมใบใหญ่ ติดตัวไปด้วยเป็นประจำ ที่เรียกกระป๋องเพราะเป็นโลหะทาสีมีหูหิ้ว มีเลข ๒ เขียนไว้ด้วยสีขาว ถ้าจะเปรียบกับสมัยนี้คงอยู่ระหว่าง OVERNIGHT BAG และ BRIEF CASE เพียงแต่ไม่มีเสื้อผ้าแต่เป็นเงินสดแทน ท่านต้องมีเงินสดติดตัว ใส่ซองเต็ม ธนบัตรทุกใบใหม่เอี่ยมไม่เคยผ่านมือใคร เบิกจากธนาคารเป็นพิเศษ ซึ่งสิ่งนี้ได้เป็นนิสัยติดตัว ส.ท่าเกษมเรื่องธนบัตรใหม่ (CRISP NEW BANK NOTES) ชอบสะสมธนบัตรใหม่ทุกจำนวน เพราะเป็นครอบครัวใหญ่ ทุกปีต้องใส่ STOCKINGS และซองเป็นของขวัญวันเกิด และในวาระโอกาสอื่นๆ ต้องยอมรับว่าซื้อของให้คนอื่นไม่เป็น ซื้อแล้วก็ไม่ถูกใจ ! จะให้ GIFT CARDS บางทีก็ไม่สะดวกกับตัวเองที่จะออกไปซื้อหา บางคนว่า NO TASTE ให้เงินสด ! เผอิญครอบครัว ส.ท่าเกษม ชอบเงินสด สะดวกทั้งผู้ให้และผู้รับ (ฮา!)
ตัวเองทำงานอยู่ที่สาขาของ BANK OF AMERICA ถึง 11 แห่งจึงสะดวกมากเวลาพนักงาน (TELLERS) ได้ธนบัตรใหม่ๆ จะเป็นที่รู้กัน ไม่ได้สะสมมากมาย เพียงให้พอใส่ซองวันเกิดของแต่ละปี ตั้งแต่เกษียณมาก็สะดวกอีกไปขอกับพนักงาน ถ้าคนนั้นไม่มีเขาก็เดินไปแลกจากพนักงานคนอื่น
บนกระป๋องเดินทางของบิดา นอกจากจะมีเลข ๒ เขียนไว้ ยังมีโลโก้ของ กองเรือท่าเกษม ซึ่งท่านเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นในวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ กองเรือท่าเกษม ได้มีโอกาสช่วยทางราชการและนำเสด็จราชวงศ์ฝ่ายในประพาสทางน้ำอยู่เนืองๆ แม้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมัยต้นๆ ก็ได้ใช้กองเรือท่าเกษมอยู่เป็นนิตย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ พร้อม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน กองเรือท่าเกษมก็ได้เคยถวายเรือเป็นราชพาหนะนำเสด็จทอดพระกฐิน ณ วัดปรมัยยิกาวาส จังหวัดนนทบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙
เมื่อบิดายังมีชีวิตอยู่ทุกๆ ปีของวันที่ ๒ เดือนธันวา นายเรือทั้งเก่าและใหม่ต่างได้มาร่วมสมัครสมานสามัคคีเป็นประเพณีทุกปีมา “การสมัครสมานสามัคคีย่อมเป็นประโยชน์ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ดังคำพระกล่าวว่า สัพเพสัง สังฆภูตานัง สามัคคีวุฑฒิสาธิกา แปลว่า ความสามัคคีของปวงชนยังความเจริญให้สำเร็จ”
(จากข้อเขียนของ ก.ญ.รามราฆพ ร.ท. ๒ ธันวาคม ๒๕๐๘)แม้บิดาจะถึงแก่อสัญกรรมเป็นเวลาเกือบ ๔๗ ปี แต่ทุกๆ ปีพวกเราจะระลึกถึงกันในวันที่ ๒ ธันวาคม เป็นอดีตที่ประทับใจ เป็นความสุข ความอบอุ่นที่อยู่ในหัวใจพวกเราจนทุกวันนี้
ความสุข ของเรานั้น อยู่ที่สมใจในสิ่งที่เป็น ความรัก และ ความพอใจ ของเราเป็นส่วนใหญ่ และพฤติกรรมแห่งความสุขนี้ คนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอาจจะเห็นไม่สำคัญอะไรเลย...นอกจากเราเท่านั้น เพราะมันมีความหมายต่อเราเหลือคณานับ...
ไม่ทราบว่าข้อความที่จะเขียนต่อไปนี้ถูกหรือผิด ? ถ้าจะเรียนคุณผู้อ่านว่า “ส.ท่าเกษม ลิขิตชีวิตตัวเอง” เราจะพูดกันอยู่เสมอว่า “พรหมลิขิต” หรือ “พระพรหมลิขิต” การที่เดินทางมาสหรัฐอเมริกาเป็นการตัดสินเลือกการดำเนินชีวิตของตัวเอง ดังที่เรียนมาแล้วว่าครอบครัวเราใหญ่มาก ประเภทยุ้ยญาติเยอะ เป็นไปไม่ได้ที่บิดาจะส่งเสียลูกๆ ทุกคนให้มีการศึกษาเรียนต่อในต่างประเทศ ส.ท่าเกษมเขียนจดหมายติดต่อกับคุณประพีร์ โชติกะพุกกณะ (BUKANA) ซึ่งตอนนั้นท่านเป็นสุภาพสตรีคนแรกที่เป็นเจ้าของร้านทำผม “PRAPEE'S” ในฮอลลีวูดที่มุมถนน WESTERN และ WILTON PL. ท่านเคารพรักและนับถือบิดาของ ส.ท่าเกษม เป็นอย่างยิ่ง สรุปให้สั้นเข้า วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นวันที่พลิกชีวิต ก่อนมาทราบอยู่แล้วว่ามาอเมริกาต้องช่วยตัวเองทุกอย่าง ขึ้นรถประจำทาง ยังถูกสั่งห้ามไม่ให้ขึ้นรถไปกับใคร ไม่ให้รับลูกกวาดจากใคร (คงกลัวมียาเสพติด) เริ่มแรกคือไปช่วยอาพีร์ที่ร้านทำผม กวาดพื้นที่ช่างตัดผมลูกค้า ล้างหวีล้างแปรง เอาขยะไปทิ้งหลังร้าน ที่จริงมีคอนนี่ช่างทำเล็บทำอยู่ ก็ช่วยกันไป ส.ท่าเกษม มีหน้าที่เป็นคนต้อนรับแขกหน้าร้าน รับโทรศัพท์ เก็บสตางค์ ทำนัดให้ลูกค้า เป็นงานที่สนุกมาก
เรื่องทำความสะอาด เก่งมาแล้วจากรั้วคอนแวนด์เพราะมาเซอร์ดุและเข้มงวด ทุกอาทิตย์มีเวรทำความสะอาดห้องเรียน (เวรจริงๆ เวรกรรมของเจ้าหล่อน!) ทำความสะอาดเสร็จท่านจะใช้ผ้าสีขาวผืนเล็กๆ หุ้มนิ้วแล้วกรีดตามมุมโต๊ะเก้าอี้ในห้องเรียน ถ้ามีฝุ่นก็ต้องทำกันต่อไป เรื่องขึ้นรถบัสก็ชำนาญอยู่แล้ว สุดสัปดาห์จะเดินทางคนเดียว ขึ้นรถประจำทางที่ท่าช้างนั่งไปลงที่ปากเกร็ด นนทบุรี แล้วนั่งเรือหางยาวผ่านอ้อมเกร็ดไปหาบิดาที่ท่าอิฐ ในขณะที่พี่ๆ น้องๆ คนอื่นนั่งรถที่บ้าน
ไม่ได้นึกน้อยอกน้อยใจ แต่กลับสนุกสนานที่มาผจญภัยในสหรัฐอเมริกา ต่อรถบัสถึง ๓ ทอดไปโรงเรียนและคอลเลจที่อยู่เลยแอล.เอ. ดาวน์ทาวน์ ชื่อ LOS ANGELES TRADE TECHNICAL เรื่องล้างจานไม่มีปัญหา เพราะทำอาหารไม่เป็น กฎมีอยู่ว่าคนทำอาหารไม่ต้องล้างจาน ! อาพีร์ท่านทำอาหารไปด้วยล้างหม้อไหไปด้วย จึงเหลือไม่มากและคุณอึ่ง เสาวรส ลูกสาวท่านก็ช่วยอยู่ ชีวิตผันจาก "คุณหนูมาเป็นคุณแจ๋ว" ตอนมีครอบครัวเองมี ๓ สมาชิก แล้วแตกหน่อมาอีก ๕ ตัวเล็กๆ ตอนนี้ทำทุกอย่าง โซดาสมาชิกคนโตมีคนมาทำความสะอาดบ้านวันจันทร์ และคนเลี้ยงเด็กจ้างเป็นชั่วโมง มีลูก๕ คนในบ้านต้องทำความสะอาดกันอยู่ตลอด
เมื่อวาน ส.ท่าเกษมกลับถึงบ้าน ๓ ทุ่มหมดแรงเพราะทำหน้าที่คุณแจ๋วเต็มตัว ทั้งเลี้ยงหลาน กวาดบ้าน แต่ทุกอย่างก็ทำด้วยความรักและความสงสาร
เมื่อวันที่ ๗ ตั้งใจจะฉลองกันนิดหน่อย ปรากฎว่าไปฉลองครบ ๔๗ ปีที่อยู่ U.S.A. ใน Urgent Care ห้องพยาบาลฉุกเฉินที่ ร.พ. ไคเซอร์ (KAISER) ถนน SUNSET ลูกสาว Samantha (Soda) ขับรถพาพ่อไปส่ง ลูกชาย Raymond Saharath ไปรับกลับบ้าน หัวหน้าครอบครัวผู้หลงเสน่ห์ “สลัดแขนเดียว” ปวดขามากเพราะเป็น SCIATICA กว่าจะออกจาก ร.พ. ก็หลัง ๕ ทุ่ม สหรัฐแวะไปซื้อก๋วยเตี๋ยวราดหน้าที่สนามหลวงให้แม่ ได้ขับรถผ่าน 1552 N. KINGSLEY DR. APT #5, HOLLYWOOD ซึ่งเป็นที่พักพิงแห่งแรกในแอล.เอ. นับว่าแปลกทีเดียว เป็นการฉลอง ๔๗ ปี โดยที่ไม่ได้คาดหวังเอาไว้ เลยถือโอกาสเล่าเรื่องเก่าๆ ให้สหรัฐฟัง หัวหน้าครอบครัวมารับเดทครั้งแรกที่นี่ และยังจำได้ว่า แพนงเนื้อที่ห้องอาหารสยาม อร่อยมาก ! ก่อนจากกันคืนนั้นสหรัฐหอมแก้มแม่แล้วกล่าวว่า “THANKS MOM... FOR COMING HERE !”