ตั้งใจจะเขียนเรื่อง "คุณยายเฟสบุ๊ค" มาหลายปีแล้ว เมื่อตัวเองเข้ามาเกี่ยวข้องกับเฟสบุ๊ค (FACEBOOK) เรื่องเขียนมีมากมายแต่เวลาไม่ค่อยจะอำนวยดังที่เคยเรียนคุณผู้อ่านมาแล้ว มีหลายครั้งที่ลืมตาขึ้นแล้วคิดว่า เอ๊ะ เราอยู่ที่ไหนหนอ ? นึกดูแล้วก็ขำใช้ชีวิตเหมือนคนหนีโทษหรือหนีหนี้ รับรองเจ้าหนี้หาตัวไม่พบแน่ !
ได้หัวข้อเรื่องนี้จากนักเขียนรุ่นพี่ที่ ส.ท่าเกษมรู้จักเป็นส่วนตัว เพราะเป็นรุ่นพี่สมัยเรียนอยู่ที่โรงเรียนฝรั่งแถวๆ ถนนสีลม เธอเขียนเรื่อง "คุณย่าดอทคอม" ในนิตยสาร "สกุลไทย" (คิดว่า !) เพราะตัวเองไม่มีโอกาสได้อ่าน แต่คนที่ชอบอ่านหนังสือเล่าให้ฟังว่าเขียนดีมาก อ่านอย่างสนุกสนาน รอที่จะเขียนถึง คุณยายเฟสบุ๊ค พอดีมีเรื่องเกี่ยวกับสิ่งรอบๆ ตัวที่ได้พบประสบหรือสัมผัสมา จึงผลัดมาเรื่อยๆ จนกระทั่ง รองศาสตราจารย์ประทุมพร วัชรเสถียร จากพวกเราในวงการวรรณกรรมและวงการอื่นๆ ไปอย่างรวดเร็ว รวดเร็วคำนี้หมายถึงจากไปเมื่ออายุยังน้อยอยู่ รศ. ประทุมพร หรือพี่ตุ้ง เกิด 27 กันยายน พ.ศ. 2486 เสียชีวิตอย่างสงบท่ามกลางความรักและอบอุ่นของครอบครัว เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553 รวมสิริอายุ 67 ปี
ที่จริงแล้วท่านเจ็บมานานแล้วด้วยโรคร้าย ดังคำอาลัยที่คุณธีระสามีที่มีชีวิตสมรสร่วมกันนานกว่า 40 ปี เขียนไว้ในหนังสือแจกที่งาน
"ธีระต้องเตรียมใจทุกวัน เมื่อเห็นอาการเจ็บป่วยของตุ้ง เป็นทุกข์ที่สุด คาดหวังว่าจะเบาบาง เมื่อวันที่ไม่ต้องการมาถึงแทบหมดกำลังกายกำลังใจ แต่ต้องอยู่เพราะเป็นผู้ใหญ่ของครอบครัว ตุ้งและธีระเป็นเพื่อนนิสิตรัฐศาสตร์จุฬาฯ รุ่นเดียวกัน........"
ประถม-มัธยม | โรงเรียนเซ็นต์โยเซฟ คอนแวนต์ |
ปริญญาตรี | ร.บ.(เกียรตินิยมอันดับ 2) จุฬาฯ |
ปริญญาโท | M.A.(INTERNATIONAL RELATIONS) U. OF PENNSYLVANIA, U.S.A. |
ประกาศนียบัตรชั้นสูง | POST-GRADUATE DIPLOMA IN INTERNATIONAL RELATIONS, THE HAGUE, THE NETHERLANDS |
มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก | 2550 | มหาวชิรมงกุฎ | 2537 | ประถมาภรณ์ช้างเผือก | 2532 | ประถมภรณ์มงกุฎไทย | 2529 | ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก | 2526 | ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย | 2522 | ตริตาภรณ์มงกุฎไทย | 2518 | จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก | 2515 | เหรียญจักรพรรดิมาลา | 2535 |
นามปากกา "ดวงใจ" ของ รศ.ประทุมพรฯ มีแฟนติดตามผลงานกันอย่างมากมายไม่เฉพาะที่นิตยสารสกุลไทยเท่านั้น ยังมีลงตามนิตยสารฉบับอื่นและนามแฝงอื่นๆ ในงานวรรณกรรม
เกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2546 มีอายุราชการรวม 37 ปี 2 เดือน 7 วัน ตำแหน่งสุดท้ายเป็น อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นท่านมีงานพิเศษที่ขยันทำด้วยความเต็มใจเป็นพิเศษ คืองานนำทัวร์ไปยังที่ต่างๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
ตอนเช้าวันที่ 16 ธันวาคม 4 วันก่อนที่ท่านจะสิ้นลม เกิดรู้สึกไม่สบายตัวอย่างมาก และเป็นกังวลว่าอาจมีเวลาเหลืออีกไม่มากนักเพราะเจ็บป่วยมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว จึงได้เรียกลูกชายและญาติสนิทมาเพื่อสั่งเสียในหลายเรื่องด้วยกัน และหนึ่งในนั้นคือ คำขอบคุณและกล่าวอำลา ในวาระสุดท้ายสำหรับตีพิมพ์ในหนังสือแจกในงานที่ครอบครัวจะจัดเพื่อรำลึกถึง ด้วยการจดบันทึกตามคำบอกและจากการบันทึกวีดิทัศน์ ส.ท่าเกษม จะขอนุญาตนำมาลงบางตอนเพื่อเป็นการแสดงความคารวะต่อ "พี่ตุ้ง" คนเก่งของน้องร่วมสถาบัน
ที่ยกย่องให้เป็นคนเก่ง ของ ส.ท่าเกษม เพราะเคยเล่นกีฬาด้วยกัน เวลาพักเที่ยงรับประทานอาหารกลางวัน ซึ่งก็มีเพียง 1 ชั่วโมง พวกเราจะรีบรับประทานอาหารกันอย่างรวดเร็ว เพื่อจะได้มีเวลามาเล่น "NET BALL" ได้นานๆ เราจะอยู่กันคนละทีมเพราะอยู่กันคนละชั้น พี่ตุ้งเล่นกีฬาเก่งและเล่นเปียโนเก่งด้วย ที่โรงเรียนจะมี SISTER (แม่ชี) เป็นครูสอนเปียโนจากนั้น "พี่ตุ้ง" กลายเป็นนักเขียน มีชื่อเสียงโด่งดัง ! ทั้ง 3 อย่างนี้เป็นสิ่งที่ ส.ท่าเกษม ให้ความสนใจแต่ไม่มีพรสวรรค์จึงทำได้แบบงูๆ ปลาๆ
พี่ตุ้งเริ่มบันทึกสุดท้ายของท่านว่า...."ตุ้ง" ขอบคุณทุกๆ ท่านที่มีโอกาสได้รู้จักกันมา และขอขอบคุณเพื่อนดีๆ ที่มีมากมายเหลือเกินจนไม่สามารถที่จะบรรยายเป็นรายชื่อไว้ได้ทั้งหมด ได้เห็นความดีของเพื่อนอย่างกระจ่าง ยิ่งเจ็บป่วยลงทำให้ได้ซาบซึ้งถึงความดีของเพื่อนทุกกลุ่มตั้งแต่เยาว์วัย เซ็นต์โยเซฟ คอนเวนต์, คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเพื่อนร่วมงานในทุกแวดวง
ขอบคุณ คุณหญิงสว่างจิต หงสกุล ที่ได้กรุณาเมตตา "ตุ้ง" เหมือนดั่งเป็นลูกสาวอีกคน
ขอบคุณ พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร ผู้ที่ชี้ทางสงบให้กับ "ตุ้ง" ด้วยสมาธิและปัญญา
"ตุ้ง" เป็นที่รู้จักในหลายวงการเพราะมีผู้นำร่อง จึงขอฝากกล่าวขอบคุณเป็นพิเศษกับทั้ง 4 ท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย ทางด้านวิชาการ ดร.วิวัฒน์ มุ่งการดี ทางด้านวรรณกรรม (และงานเขียนต่างๆ) อาจารย์คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง และทางด้านวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ ไม่ว่าในระดับเขียนหรือระดับออกสื่อต่างๆ คือศาสตราจารย์ คุณหญิงอิ่มใจ วุฒิกุล ท่านอาจารย์อาวุโสคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณพิชัย วาสนาส่ง ซึ่งหากปราศจากผู้นำร่องเหล่านี้แล้วตุ้งจะไม่สามารถจะทำงานต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงได้อย่างที่เป็นมา........
จะขอกล่าวถึงบทเพลงที่นำมาลงเปิดคอลัมน์ เนื่องจากเป็นเพลงสำคัญในชีวิตคู่ของคุณธีระและพี่ตุ้ง ตอนสุดท้ายของบทบันทึกพี่ตุ้งเล่าว่า.... เรื่องของ "ธีระ" และ "ตุ้ง" ยังมีความหลังที่น่าจดจำถึงอีกหลายต่อหลายอย่าง แต่ที่สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งคือจุดเริ่มต้นที่น่าจดจำ วันหนึ่งขณะหยุดภาคกลางปีแรก คุณหญิงสว่างจิต หงสกุล ได้ชวนเพื่อนๆ ลูกไปทานก๋วยเตี๋ยวหม้อทองเหลืองที่บ้านดอนเมือง
ที่บ้านนี้มีเปียโน BABY GRAND ซึ่ง "ตุ้ง" เป็นคนที่เห็นเปียโนแล้วอดใจไม่ได้ที่จะปราดเข้าไปเล่น วันนั้นเล่นอยู่หลายเพลง ขณะเล่นเพลง "AUTUMN LEAVES" ถึงกลางเพลงก็หันมาพบเพื่อนชายร่วมรุ่นที่ไม่เคยมีความรู้สึกใดๆ ต่อกันมาก่อน ยืนยิ้มอายๆ (อันเป็นบุคลิกและอาวุธประจำตัว) อยู่ที่ประตูห้อง แล้วก็พูดอายๆ ว่า "เพราะเหลือเกินครับ ไม่เคยได้ยินใครเล่นเพราะอย่างนี้เลย" เมื่อได้ยินเช่นนั้นก็รู้สึกว่ามีอาการหัวใจกระตุกๆ นิดๆ....
"ตุ้ง" ขอพูดถึงประวัติตัวเองไว้อย่างสั้นและเรียบง่ายว่า "สามารถหาอ่านได้จากตัวหนังสือของ "ตุ้ง" ทุกๆ ตัวที่เคยตีพิมพ์ไปแล้วในหลายๆ ที่ เพราะตัวหนังสือเปรียบเสมือนชีวิตของ "ตุ้ง" ที่ถ่ายทอดออกมา
"ตุ้ง" ขอขอบพระคุณทุกๆ ท่านอีกครั้งไว้ ณ ที่นี้
ส.ท่าเกษมเองก็ขอขอบคุณ "พี่ตุ้ง" ไว้ในคอลัมน์นี้ด้วยที่เอ่ยชมงานเขียนผ่าน พี่ๆ น้องๆ ศิษย์เก่า ซ.ย. มาให้น้องร่วมสถาบันที่ไม่นึกว่ารุ่นพี่จะจำได้ นับว่าเป็นความกรุณาที่สนับสนุนและให้กำลังใจคนชอบเขียนหนังสือ !
เหตุที่นำเพลง AUTUMN LEAVES ภาคภาษาฝรั่งเศสมาลง เพราะเป็นเพลงของพี่ตุ้งโดยเฉพาะ ทั้งยังเป็นภาษาฝรั่งเศสที่นักเรียนเซ็นต์โยฯ จะต้องเรียน โดยเฉพาะผู้ที่จบชั้นมัธยม (ม.8) แผนกอักษรศาสตร์ มาเซอร์ (พี่สาว) ครูที่สอนเป็นชาวฝรั่งเศส
ขอเชิญท่านผู้อ่านคลิ๊กเข้าเวบเพื่อฟังเพลงนี้ ส.ท่าเกษมเลือกที่มีเปียโนบรรเลง โชคดีไปได้ยูทูบของ อังเดร โบเชลลี่ ร้องคู่กับคู่หมั้นสาวสวยชื่อ VERONICA (เวอรอนนิกา) BERTI มีเดวิด ฟอสเทอร์ (DAVID FOSTER) เล่นเปียโน เครื่องดนตรีที่ "พี่ตุ้ง" รักมากและพบรักแท้จากการเล่นเปียโน ! โชว์ชุดนี้ถ่ายทำที่ LAKE LAS VEGAS RESORT, U.S.A. มีชื่อว่า "UNDER THE DESERT SKY" (2006)
ปกติแล้วตัวเองเป็นคนประเภท LOW-TECH แต่ความจำเป็นทำให้ต้องเรียนรู้เพื่อความอยู่รอด เพราะทำงานดึกๆ ไม่มีใครช่วย ตอนทำงานอยู่กับแบงค์ เขามีโปรแกรมให้เรียน COMPUTER ฟรีเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ยังไม่กล้าไปเรียน ชั้นเรียนก็อยู่ในตึกเดียวกันแสนจะสะดวก ที่ไม่กล้าไปเรียนเพราะกลัวไปทำหน้าแตกให้ตัวเอง ทุกวันนี้ก็ยังเสียดายโอกาสงามนั้นอยู่
หลังเกษียณต้องมาเรียนกับคนเคียงข้าง เรียนทีไรตีกันทุกที แต่เฟสบุ๊คนี้สมาชิกในครอบครัว 2 คนจัดการให้เสร็จ ผลัดกันสอนจนสามารถโพสท์รูปและยูทูบต่างๆ ได้อย่างคล่อง เปลี่ยนรูป PROFILE เป็นว่าเล่น "คุณยายเฟสบุ๊ค" นี้มีอยู่ทั่วไป ส.ท่าเกษม มีเพื่อนอยู่ที่ประเทศอิสราเอล ชื่อ EVA ENGLENDER เป็นคนชอบถ่ายรูป เลยเข้ามาดูรูปวิวทะเลในฤดูกาลต่างๆ ที่ ส.ท่าเกษมชอบโพสท์เข้าเป็นประจำ อีวา เป็น คุณยาย มีหลาน 2 คน ส่วนใกล้ๆ ตัวแถว น.ส.พ. ไทยแอล.เอ. จะมี ศาสตราจารย์ ประภาศรี สีหอำไพ คุณเพ็ญวิภา โสภาภัณฑ์ และคุณประสมศรี STAPATYANON ที่ติดต่อกันเป็นครั้งคราวเมื่อมีธุระ เชื่อว่าที่แอล.เอ. นี้มี "คุณยายเฟสบุ๊ค" อีกมากมาย สู้เรามาตั้ง "ชมรมคุณยายเฟสบุ๊ค" กันดีกว่า รับรองรูปต่างๆ ต้องเป็นหลานๆ ของคุณยายทั้งหลายเป็นแน่แท้ ได้ข่าวว่าเฟสบุ๊คเริ่มเปลี่ยนรูปแบบแล้ว เลยกำลังรอการเปลี่ยนแปลงรูปโฉมอยู่ หวังว่าคงไม่ยุ่งยากเกินไปสำหรับ ส.ว. !
ขอขอบคุณเป็นอย่างมากที่ อาจารย์สุวพร อนันต์ ศิษย์เก่า ซ.ย. (อดีตอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ช่วยส่งหนังสือที่ระลึกของ รศ.ปทุมพร วัชรเสถียร มาเพื่อใช้เป็นข้อมูล ในหนังสือ "พาดผ่านกาลเวลา" พิมพ์ไว้ว่า ผู้เสียชีวิตได้รับพระราชทาน เหรียญจักรพรรดิมาลา ในปี พ.ศ. 2535 คงไว้เช่นเดิม มิได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด !
หมายเหตุ ขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งมายัง คุณเอนก พลอยแสงงาม เจ้าของ น.ส.พ. ไทยแอล.เอ. และครอบครัว "พลอยแสงงาม" ที่สูญเสียคุณอนันต์ ไปอย่างไม่มีวันกลับ ส.ท่าเกษมเพิ่งเข้าเมืองเห็นข่าวในไทยแอล.เอ. ที่ได้รับทุกวันจันทร์ ตั้งแต่เวบล่มเลยไม่ได้เข้าเวบ แถมเข้าผิดที่อีก เพิ่งจะเริ่มเข้าได้เมื่อศุกร์ที่แล้วนี่เองจากคำแนะนำของเวบมาสเตอร์