คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



"รักแรกของ....สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์"
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล) ประจำปี พ.ศ.2549
นานแล้วพี่หลงพะวงมิหน่าย
นานแล้วพี่หมายจะได้ภิรมย์
นานแล้วพี่รักคอยจักชื่นชม
นานแล้วรักเพียงลมๆ ตรมเช้าค่ำ

ที่รักน่ะรัก แต่ใจมิกล้า
ที่ช้าน่ะช้า มิกล้าเผยคำ
ที่คิดน่ะคิดกลัวอกจะช้ำ
เอ่ยคำแล้วเจ้าจะทำให้ช้ำใจ

*** อย่าเหมือนน้ำค้างพราวพร่างใบพฤกษ์
พอยามดึกเหมือนดังจะดื่มกินได้
พอรุ่งรางก็จางหายไป
รู้แน่แก่ใจ ได้แต่ระทมชีวี

ที่รักน่ะรักเพราะเทพเสริมส่ง
ที่หลงน่ะหลงเพราะเจ้าแสนดี
ที่หวงน่ะหวงเพราะสวยอย่างนี้
กลัวใครเขามาแย่งพี่ไปเอย


เพลง "ที่รัก"
คำร้อง สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน




เพลงที่ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ แต่งให้ชรินทร์ นันทนาคร ขับร้องนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายเพลง เช่น เพลงคว้าลม เพลงฆ่าพี่เสียเถิด เพลงจำพราก เพลงชมนางนอน เพลงที่รัก ฯลฯ

เพลงนี้ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ นำแนวคิดมาจากวรรณคดีเก่าของไทย เรื่องจันทโครพ ที่ต่อว่านางโมรา ว่า "อย่าเหมือนน้ำค้าง พราวพร่างใบพฤกษ์ พอยามดึกเหมือนดังจะดื่มกินได้" มาใช้อย่างเหมาะสมสอดคล้องได้ความหมาย

ทั้งยังเล่นซ้ำคำไว้ได้อย่างไพเราะ คือ คำว่า "นานแล้ว" ถึง 4 วรรค และคำว่า "ที่" คำว่า "น่ะ" ซ้ำกันถึง 6 วรรคได้อย่างลงตัว ไม่ว่า "ที่รัก" "ที่ช้า" ที่คิด" ที่หลง" "ที่หวง" ในเนื้อเพลงท่อนที่ 3 และท่อนที่ 4

เพลงนี้ ชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ขับร้องบันทึกเสียงไว้เมื่อปีพ.ศ.2497

"เกียรติพงศ์ กาญจนภี" หรือ "สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์" ได้รับการยกย่อง เชิดชูเกียรติ ให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล) ประจำปี พ.ศ.2549 จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติและได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2550 ที่ผ่านมา

และรางวัลนราธิป ประจำปี พ.ศ. 2549

รางวัลนราธิป เป็นรางวัลเกียรติคุณที่มอบให้กับนักเขียนและบรรณาธิการอาวุโส โดยมีหลักเกณฑ์ที่จะมอบรางวัลให้กับผู้ซึ่งมีอายุมากกว่า 80 ปี มีผลงานเป็นที่ยกย่องกว้างขวาง จัดโดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2544

รางวัลนราธิป เกิดขึ้นจากแนวคิดของ ประภัสสร เสวิกุล ซึ่งเป็นนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย โดยชื่อรางวัล นำมาจากพระนามของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เนื่องจากในปี พ.ศ. 2544 ซึ่งมีพิธีมอบรางวัลนี้เป็นปีแรก เป็นปีครบรอบ 110 ปี ชาตกาล และครบรอบ 10 ปี ที่ท่านได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญระดับโลก


สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์

เกิดเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2468 ชื่อจริงคือ เกียรติพงศ์ กาญจนภี เป็นคนกรุงเทพฯ บิดา - มารดา ชื่อ หลวงพินิจดุลอัฏ (พุฒ กาญจนภี) และนางเกษม กาญจนภี เรียนหนังสือที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล จนจับชั้นมัธยมปีที่ 6

ในปี พ.ศ. 2491 ก่อนจะไปเรียนต่อประเทศอังกฤษ ได้มีโอกาสแต่งเพลงกับครูสมาน กาญจนะผลิน เพลงแรกที่แต่งคือเพลงดอกโศก และปีเดียวกันนั้นเองก็ได้แต่งเพลงความรักเรียกหา ประกอบภาพยนตร์ให้กับจรี อมาตยกุล ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องสุภาพบุรุษจากอเวจี

ต่อมา พ.ศ.2494 ได้มีโอกาสเข้ามาช่วยงานเป็นคนบอกบทละครให้คณะละครศิวารมณ์ของนาวาอากาศเอกสวัสดิ์ ฑิฆัมพรซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ เลยได้แต่งเพลงร่วมกันกับครูสง่า อารัมภีร อีกหลายเพลง เช่น เพลงนางแก้วในดวงใจ ที่บุญช่วย หิรัญสุนทร ซึ่งเป็นนักร้องประจำวงและเคยชนะการประกวดการร้องเพลงมาแล้ว เมื่อปี พ.ศ.2492 เป็นผู้ขับร้อง

ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ เขียนเล่าเอาไว้ในหนังสือ 100 ปี เกษม พินิจดุลอัฎ ว่า

"เมื่อจบการศึกษา จาก โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ได้เข้ามาช่วยงานในคณะละครศิวารมณ์ ซึ่งเป็นของ น.อ.สัวสดิ์ ฑิฆัมพร (ส.ฑิฆัมพร) ได้เริ่มแต่งเพลงกับครูสง่า อารัมภีร โดยร่วมแต่งคำร้องมีครูสง่า อารัมภีร เป็นผู้ให้ทำนอง จนถึงประมาณปี พ.ศ.2496 ก็หมดยุคละครเวที..."

นามปากกาสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ที่ใช้ในการแต่งเพลงนั้น นาวาอากาศเอก สวัสดิ์ ฑิฆัมพร ญาติผู้ใหญ่เป็นผู้ตั้งให้ คำว่า สุนทรียะมาจากคำว่า aesthetic คือความรู้สึก อันรู้จักค่าของความงาม ทำให้ไพเราะ อ่อนโยน น่ารัก ซึ่งตั้งให้ตามเค้าของนิสัย แต่คำว่าสุนทรียะ แล้วแปลงเป็นสุนทรียานั้นเพื่อให้ดูอ่อนโยนลง

ส่วน ณ เวียงกาญจน์ หมายถึงแดนทอง หรือเมืองทอง นั้น ตั้งให้ตามเค้าของตระกูล

ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายสมาน กาญจนะผลิน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2538 ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ เขียนบอกไว้ว่า

"...ผมเริ่มแต่งเพลงร่วมกับหมานมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2491 แล้วก็แต่งด้วยกันเรื่อยมาแทบจะไม่ขาดตอน จะมีเว้นไปบ้างก็ช่วงที่ผมออกไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ

แม้กระนั้นก็ดี หมานก็ยังอุตส่าห์ส่งทำนองตามไปให้แบบนานๆ ครั้ง โดยเขียนบอกไปว่า

"ถ้ามีเวลาก็ลองขยับๆ ส่งไปให้ด้วย ไม่งั้นเดี๋ยวนายจะลืมเสียหมด"

พ.ศ.2498 เมื่อเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ จนจบเป็นเศรษฐศาสตร์บัณฑิตในระหว่างนั้น ก็ยังแต่งเพลงที่สมาน กาญจนะผลิน ส่งโน้ตข้ามทะเลไปให้อีกหลายเพลง เช่น เพลงคำคน ของ สุเทพ วงศ์กำแหง และเพลงรักเอ๋ยรักข้า ของ สวลี ผกาพันธุ์ ซึ่งก็ได้รับความนิยมเหมือนเพลงอื่นๆ

เพลงที่ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์แต่งคู่กับครูสมาน กาญจนะผลิน ส่วนมากจะมอบให้ชาญ เย็นแข เป็นผู้ขับร้องในยุคละครเวทีสมัยแรก เช่น เพลงรักพี่นะ ฯลฯ

เพลงนี้เป็นเพลงที่ชาญ เย็นแข ขับร้องบันทึกเสียงไว้เป็นคนแรก มีความไพเราะและเป็นอมตะอีกเพลงหนึ่งในแบบของสังคีตประยุกต์ คาดว่า เป็นเพลงที่สร้างสรรค์ขึ้นในราว พ.ศ.2497

สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ มีผลงานประพันธ์ประมาณ 1,000 เพลงผลงานที่มีชื่อเสียง ได้แก่ เพลง "วิหคเหิรลม" ทำนองโดย สมาน กาญจนะผลิน ขับร้องโดย เพ็ญศรี พุ่มชูศรี เพลง "รักคุณเข้าแล้ว" ทำนองโดย สมาน กาญจนะผลิน ขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง

ตั้งใจที่จะเขียนถึงคุณเกียรติมานานแล้วตั้งแต่เขียนถึงขุนพลนักแต่งเพลงรุ่นครูทั้งหลาย สู้เก็บข้อมูลต่างๆ ไว้เวลาอ่านพบเรื่องราวของคุณเกียรติ หรือ "สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์" เพราะจำท่านได้ตั้งแต่ตัวเราเองเป็นเด็กนักเรียนคอนแวนต์วิ่งเล่นอยู่ในบ้าน "ท่าเกษม" ได้ยินผู้ใหญ่ในบ้านเอ่ยถึงชื่อนี้บ่อยๆ จนฝังใจ ได้เห็นท่าน....ในความทรงจำเป็นหนุ่มรูปหล่อ หน้าตาสะอาดสะอ้าน ใส่แว่นสายตา ผลัดวันประกันพรุ่งมาอยู่เรื่อยไม่ได้ฤกษ์ซักที

จนกระทั่งเห็นข่าวคุณเกียรติได้รับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ จะเขียนแสดงความยินดีพร้อมทั้งประวัติและผลงาน นี่ก็ผ่านพ้นมาหลายปีแล้ว หาข้อมูลไม่พบคงเก็บไว้อย่างดีแถวๆ นี้แหละ เลยต้องเริ่มต้นจากสแควร์ วัน ( Square One) กันใหม่ !

รูปที่ #8 ที่นำมาลงเพื่อให้คุณผู้อ่านได้เห็นภาพ เป็นบริเวณส่วนหนึ่งของบ้านท่าเกษมพวกเราพี่ ๆ น้อง ๆ ผู้หญิงชอบเดินเล่นเป็นกลุ่ม รอบบ้านหลังอาหารค่ำ ทางด้านซ้ายตรงมุมระหว่างเสา 2 ต้นของเรือนมัจฉาสุวรรณ จะเห็นเรือนญาณวารีหรือเรือนเขียวนิดหนึ่ง ส.ท่าเกษมเคยเขียนถึง "เรือนเขียว" มาแล้ว เป็นเรือนไม้ 2 ชั้น ทาสีเขียว มีสนามหญ้าเขียวขจีและแปลงดอกไม้หลากสีหลากชนิดหน้าเรือน คุณพ่อหลวงหรือหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ เป็นเจ้าของเรือนหลังนี้ ท่านอยู่กับภรรยาคุณรัตนา และบุตร-ธิดา พี่สุมน พี่ประเดิม และพี่จิ๋ว (สำเนา สุขุม) เท่าที่ทราบคุณเกียรติเป็นเพื่อนของพี่จิ๋ว พอได้ยินผู้ใหญ่เอ่ยว่าคุณเกียรติมา พวกเราจะเดินผ่านเรือนเขียวเพื่อแอบดูคุณเกียรติ ซึ่งสำหรับพวกเราแล้วเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง เพราะพี่จิ๋วเป็นรุ่นพี่

มานึกอีกทีคุณเกียรติอาจจะมาหาคุณพ่อหลวง เลยรู้จักพี่จิ๋วเพราะท่านแต่งเพลงกับ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้เป็นแขกประจำที่เรือนเขียว ครูเอื้อเคารพรักและนับถือคุณพ่อหลวงมาก เท่าที่อ่านตามหนังสือเวลาท่านเขียนถึงคุณพ่อหลวง อย่างไรก็ตามทั้ง 3 ท่านเป็นนักแต่งเพลงอมตะ เพราะผลงานเพลงต่างๆ ยังเป็นที่นิยมอยู่ในดวงใจของพวกเรา ที่แอล.เอ. มีนักร้องสมัครเล่นหลายต่อหลายคนที่ร้องเพลงของทั้งสามท่าน บางคนร้องเพลง "วอนรัก" อาจจะไม่ทราบว่าเป็นผลงานของคุณเกียรติ

ที่เขียนหัวข้อเรื่องว่า รักแรกของสุนทรียาฯ เพราะเพลงที่ท่านแต่งล้วนแต่เป็นเพลงรัก บ่งบอกว่าเป็นกวีเพลงที่แสนจะโรแมนติค ผลงานชิ้นแรกชื่อ "ดอกโศก" ทำนองโดยครูสมานฯ มี ศิลปินแห่งชาติ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี เป็นผู้ขับร้องในปี พ.ศ. 2492 คุณเกียรติเพิ่งมีอายุได้ 24 ปี ยังหนุ่มฟ้อ และเป็นเรื่องบังเอิญที่ในบ้านท่าเกษมมีต้นโศกอยู่หลายต้นทีเดียว ที่เห็นชัดๆ คือหน้าเรือนมัจฉาสุวรรณ ปลูกไว้ 2 ต้นตรงเขื่อนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา คิดเอาเองว่าคุณเกียรติคงมีความประทับใจในตัวพี่จิ๋ว เพราะท่านเป็นสุภาพสตรีเต็มตัว สวยน่ารัก กริยามารยาทงามตามแบบฉบับกุลสตรีในสมัยนั้น ตอนนั้น ส.ท่าเกษม เด็กเกินไปที่จะถามไถ่ถึงมิตรภาพระหว่างพี่จิ๋วและคุณเกียรติ ที่แน่นอนคือต่างคนต่างไปมีชีวิตของตัวเอง

"โอ้ดอกโศกเจ้าโศกใจไฉนกัน
หรือทุกๆ วันเจ้าครวญ
ชื่อดอกโศกช่างโศกใจไม่เย้ายวน
พารัญจวนคิดหวนไห้
...........ใครหนอให้ชื่อเอย!


หมายเหตุ ข้อมูลและรูปภาพจาก วิกิพีเดีย www.charinshow.com และ Superบันเทิงออนไลน์

ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
1 มิถุนายน 2556