คอลัมน์เสาร์นี้ต่อเนื่องมาจากเสาร์ที่แล้ว เนื่องจากการหาข้อมูลของครูชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินแห่งชาติ มาเขียนคุยให้คุณผู้อ่านทราบ จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ 3-4 เล่มและเวบต่างๆ เลยพลอยได้เรียนรู้เรื่องราวที่น่าสนใจ ที่บางเรื่องนึกว่าทราบ แต่ทราบไม่หมดหรือไม่ถูกต้องทีเดียวนัก โดยเฉพาะที่มาของเพลง “เธออยู่ไหน” ที่ครูชาลี แต่งเนื้อร้อง ส.ท่าเกษม เคยเขียนถึงและเมื่อรวมเล่มจากผลงานของตัวเองยังมีเรื่องราวของเพลงนี้ ซึ่งได้ข้อมูลมาจากบุคคลที่ใกล้ชิดกับครูชาลีและอยู่ในวงการเพลง
เคยบ่นอยู่กับเวบมาสเตอร์ที่ทำงานร่วมกันว่า ข้อมูลต่างๆ นี้ไม่ถูกต้องเสมอไป แม้แต่วิกิพีเดีย ซึ่งบางครั้งไม่ปรับให้ทันกับเหตุการณ์ (UPDATE) เช่นเขียนว่า แต่งงานกันตั้งแต่ พ.ศ. 2492 จนถึงปัจจุบัน ปรากฏว่าฝ่ายชายเสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ส.ท่าเกษมอยู่ที่นี่มา 46 ปีครึ่งไม่เคยกลับเมืองไทยขาดการติดต่อกับผู้คน เลยหน้าแตกไปเพราะเขียนตามที่อ่าน
ส่วนเพลง “บ้านเรา” ของครูชาลี เนื้อเพลงในหนังสือ บันเทิง-บางที ของครูชาลีเอง พิมพ์ในหน้า 66 ว่า “.....ทุ่งลิบ ฟ้าขลิบทอง.....” บางแห่งเขียน “.....รุ่งทิพย์ ฟ้าขลิบทอง” เลยต้องใช้ฟังในยูทูบให้แน่ชัด ซึ่งที่ถูกคือ “.....ทุ่งทิพย์ ฟ้าขลิบทอง”
หลายต่อหลายเพลง ร้องตามไปเหมือนนกแก้วนกขุนทอง พอเขียนถึงจะไม่แน่ใจ...เอ๊ะ ! ใช่หรือเปล่านี่ ? สมัยก่อนเวลาติดขัดอะไรเรื่องเพลงจะโทรศัพท์ข้ามทวีปถามพี่ๆ ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งพี่ทั้งสองจะให้ความกรุณาอยู่เสมอ โดยเฉพาะจะฝากหนังสือสูจิบัตรจากคอนเสิร์ต และหนังสืออื่นๆ ที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่องานเขียนมาให้ ส.ท่าเกษม หลังๆ นี้เลยไม่ได้รบกวนพี่ๆ ติดขัดอะไรจะดูจาก WEBSITE และหนังสือ
เคยอ่าน น.ส.พ. ฉบับหนึ่ง ที่สัมภาษณ์ครูชาลี เกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์และกล่าวถึงหนึ่งในอัศวินแหวนเพชร คือ นายพันของกรมตำรวจ แต่บทสัมภาษณ์เขียนว่านายพลของกองทัพบก พอดีลูกสาวนายพันตำรวจชื่อพัทยา บูรณะสมภพ เป็น น.ร.เซ็นต์โยเซฟคอนแวนต์เพื่อนของน้องสาว ตัว ส.ท่าเกษมเองก็เคยไปวิ่งเล่นในบ้านที่บางกะปิ เลยทราบว่าเขียนผิด ปรากฏว่า ผู้สัมภาษณ์ใช้อัดเทป ซึ่งคงลอกมาจากเทป สรุปแล้วการผิดพลาดในข้อมูลนี้ บางครั้งก็ไม่ใช่ความผิดของคอลัมนิสต์หรือผู้เขียน แต่มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกว่า ส.ท่าเกษมต้องรับผิดชอบถ้ามีการผิดพลาดในคอลัมน์ แหมไม่เห็นใจกันบ้างเลย ! บางทีใช้เวลาเป็นชั่วโมงเพราะอ่านนู้นอ่านนี่ หารูปให้เข้ากับเนื้อเรื่อง แต่คุณผู้อ่านใช้เวลาเพียง 5 นาทีมั้ง เอ้า! อ่านแล้วอ่านไป… ถ้าเป็นเช่นนั้นได้ก็ดี ถือว่าเป็นเพื่อนแก้เหงา มันไม่ใช่อย่างนั้นนะซี คนใจร้าย คนใจดำก็มีบ้างเหมือนกันส่งก้อนอิฐมาให้ เลยใช้เป็นฐานรองรับแจกันใส่ดอกไม้ที่ได้รับจากผู้รักตัวอักษร และชอบศึกษาหาความรู้ ทราบมาว่าหลายๆ ท่านตัดคอลัมน์ “คุยกันวันเสาร์” รวมเก็บเอาไว้ ขอบคุณมากเป็นน้ำทิพย์ชโลมใจ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่ร่วมนั่งโต๊ะรับประทานอาหารค่ำกับ ส.ท่าเกษมที่ห้องอาหารจินดา ไทยแลนด์พลาซ่า เมื่อคืนวันจันทร์ที่ 15 พวกเรา 4 คน ฝากขอบคุณผู้จัดการใหญ่ คุณเพ็ญพิมพ์ จิตรธร ทุกๆ คนซาบซึ้งกับความสุขและสนุกสนานกับอาหารและเสียงเพลงที่ได้รับในคืนนั้นจาก The Platters และนักร้องคุณภาพรุ่นเดอะของเมือง แอล.เอ. ประทับใจที่สุด
อย่างไรก็ตามขอแก้ตัวเรื่องเพลง “เธออยู่ไหน” ที่เขียนไว้ในพ๊อกเก็ตบุ๊ค “ฝากหัวใจไว้กับเพลง” ซึ่งไม่สมบูรณ์นัก ดังที่เรียนคุณผู้อ่านไว้ในตอนต้นๆ คราวนี้ถูกต้องไม่มีการคลาดเคลื่อน คือนำบทความจากพ๊อกเก็ตบุ๊คของครูชาลี “บันเทิง-บางที” มาลงทั้งบทเลย
“เธออยู่ไหน” เป็นเพลงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตของผมอย่าสุดๆ ลี้ลับ ซุกซ่อนจนหัวใจต้องซัดเซพเนจร ซมซาน หนีไปนั่งงอก่องอขิง กอดเข่าเจ่าจุก บิดผ้าเช็ดหน้าเจ็ดผืนเป็นเกลียว ซับเหงื่อและน้ำตาอย่างหวนไห้ระโหยหา
ทุกระส่ำของหัวใจ เงียบกริบ อ้างว้าง เหว่ว้า ค้นหาตัวเองไม่พบ เหมือนตกอยู่ในความมืดหม่น มืดเสียยิ่งกว่าอยู่ระหว่างดาวกับดาว เพราะช่วงนั้นมันเป็นช่วงทื่มืดที่สุด
ใครจะคาดเดาได้ว่า เพลงอันไพเราะ หวาน-เศร้า เพลงนี้จะกลายเป็นเพลงไม่ธรรมดา ผมเองเพียงมุ่งหมายแต่งให้เป็นสะพานเชื่อมหัวใจคนในภพหนึ่ง กับจิตวิญญาณของคนอีกภพหนึ่งเท่านั้น…
ผมไม่ปรารถนาจะให้เป็นโศลกลำนำ หรือบทกวีที่หัวใจยังเดินทางไปไม่ถึง
เป็นเพียงเพลงที่ให้กำลังใจ
เป็นเพียงเพลงบรรเทาความโดดเดี่ยว เดียวดายของบางผู้คน ให้รักยิ่งกว่ารัก คิดถึงยิ่งกว่าคิดถึง เหงายิ่งกว่าเหงา แต่เพลงกลับกลายเป็น “ฆาตกร” ไปเสียฉิบ
มีหลากหลายจากปลายปากกา และปากต่อปากของนักเล่า ผิดบ้างถูกบ้าง เป็นการกล่าวอ้างแบบนกแก้วนกขุนทองก็ยังพอทำเนา แต่เบี่ยงเบนความเข้าใจผิดๆ โดยคิดว่าเพลงนี้ร้องคู่กันธรรมดาเหมือนเพลงคู่ทั่วๆ ไปนั่นแหละ เป็นฆาตกรฆ่าความตั้งใจของผมผู้เขียนเพลงนี้
ใครเล่าจะเข้าใจ ถึงความมุ่งหวังจริงใจในไมตรีจิต ศรัทธา เอื้ออาทร ลึกซึ้งเท่ากับตัวผมเอง ที่มีต่อลุงผู้สูงอายุ ลุงที่น่านับถือคนนั้น เรามักคุ้นกันถึงขนาดเล่าสารทุกข์สุขดิบให้กันและกันฟัง เตียงในห้องพยาบาลของเราติดกัน เราเสวนากันทั้งเพลง ทั้งปกิณกะชีวิต และธุรกิจของโลก แต่แล้วเพียงแค่ม่านสีขาวทิ้งลงมากั้นกลางระหว่างเรา ความตายก็มาพรากท่านไป ทั้งๆ ที่ท่านยังฟังเพลง “เธออยู่ไหน” ไม่จบท่านก็จบชีวิตเสียก่อน
ครับ...ผมจะเล่าที่มาของเพลงนี้ให้ท่านรู้เบื้องต้นและเบื้องปลาย
บุคคลแรกที่ผมจะเอ่ยถึง คือ พระครูพิพัฒน์ วรกิตติ์ (หลวงพ่ออี๊ด) ท่านเคยอยู่ในวงการเพลงร่วมสมัยกับผม ท่านอยู่วงดนตรี คีตวัฒน์ ผมอยู่วงดนตรี ประสานมิตร ท่านบวชมา 19 พรรษาแล้ว เป็นเจ้าอาวาส “วัดเขาตะเกียบ” อำเภอ หัวหิน จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ สนทนาปราศรัยกับท่านได้แต่สิ่งดีๆ ทันโลกทันสมัยในยุคโลกาภิวัฒน์ ท่านให้ผมคุ้ยแคะบางตอนของชีวิตที่ซ่อนเร้นปิดเงียบไว้ พลิกหัวใจ สารภาพบาปบริสุทธิ์ไว้ตรงนี้แล้ว ใจก็จะสบาย เพลงก็จะไพเราะยิ่งขึ้น เพราะมีจิตวิญญาณเสกเป่ามนต์ขลังให้
ท่านตั้งไตเติ้ลให้ว่า Secret Life Of Chalee
บุคคลที่สองคือ คุณกระไน โชติวิทย์ เพื่อนสนิทของ สุเทพ วงศ์กำแหง เป็นคนดีซะไม่มีล่ะ ใครหาย ใครเจ็บ ใครป่วย จะต้องคอยติดตามถามข่าวคราวอยู่เสมอ กระไนมาเยี่ยมผมที่บ้านซอยศาลเจ้าแม่แซ่ซิ้ม เขาตกใจมากที่ผมนอนน้ำเหลืองเฟอะทั้งตัว ร่างกายบวมฉุอลึ่งฉึ่ง เขาตัดสินใจนำตัวผมไปโรงพยาบาลศิริราชทันที เพราะแฟนเขาเป็นหัวหน้าพยาบาลอยู่ที่นั่น
บุคคลที่สามท่านเป็นอาจารย์นายแพทย์ที่เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง โดยเฉพาะ อาจารย์นายแพทย์ ทองน่าน วิภาตะวนิช และแพทย์นักศึกษาอีก 17 คน มาวิจัยความเจ็บป่วยของผม แล้วลงความเห็นว่า แพ้ยาอาการหนัก จำเป็นต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราชตั้งแต่วันนี้เพื่อพิสูจน์ว่าแพ้ยาอะไร
คนที่สี่คือคุณลุงที่นอนเตียงติดกับผมลุงที่หมอบอกว่าแกเป็นมะเร็ง ต้องให้ภรรยามาเซ็นอนุมัติให้หมอทำการผ่าตัดให้ ลุงเขียนจดหมายไปแล้วแต่ก็เงียบหาย ภรรยาก็ยังไม่มาสักที ผมรับปากกับลุงว่า ถ้าผมหายจะพาลุงไปหาภรรยาที่อุตรดิตถ์ ให้เมียคู่ทุกข์คู่ยากของท่านเซ็นอนุญาตและผมกำลังรอวันนั้นอยู่
18.00 น. ของวันที่สำคัญแห่งชีวิต วันที่กระแสลมพัดกลับ คือเรื่องราวที่ผมย้อนกลับมาเล่า ตัวอักษรทุกบรรทัดคือความจริง เย็นแล้วตะวันลับไปแล้ว ภายในห้องคนป่วย เหมือนมีคนอยู่ 2 คนคือลุงกับผม ลุงกลัวยุงตอนย่ำค่ำมาก จึงเอามุ้งลง แต่ลุงก็ไม่วายสงสัยอะไรบางอย่าง ลุงถามผมว่า
“วันนี้ตอนกลางวันคุณชาลีแต่งเพลงกับคุณสมานเพลงอะไรนะ รู้สึกเพราะดี”
“อ๋อ...เพลง “เธออยู่ไหน” ครับ”....ผมตอบ
“เป็นเพลงคู่ แต่ผมหมายถึงนักร้องหญิงยังอยู่ในภพนี้ แต่ผู้ชายอยู่อีกภพหนึ่ง เพลงเสร็จแล้วลุงจะฟังไหม”
“ฟังซี...ดีกว่าอยู่เปล่าๆ” ลุงพูดพร้อมกับหัวเราะ
ผมตั้งอกตั้งใจร้องให้ลุงฟัง พร้อมกับอธิบายว่าท่อนที่ผู้ชายร้องต้องใช้เทคนิคทำเป็นเสียงเอ็คโค (ECHO) เหมือนคน...กับจิตวิญญาณร้องคู่กัน (สวลี ร้องธรรมดา – สุเทพ ร้องเป็นเสียงเอ็คโค) เพลงจบไปแล้ว ปกติลุงแกจะปรบมือ หรือไม่ก็ตำหนิไปเลยว่าดีหรือไม่ดี แต่ตอนนี้แกเงียบ
ผมก็ชะโงกหน้าไปถามแกข้างๆมุ้งว่า “เป็นไงไม่เพราะหรือลุง...เงียบเชียว” ลุงก็นิ่งเงียบไม่ตอบ ผมก็เข้าใจว่าแกหลับ แต่สักครู่ก็เอะใจ เอทำไมหลับเร็วนักวะ อดรนทนไม่ได้เดินไปหาพยาบาลที่หน้าห้องอธิบายให้พยาบาลฟังว่า “ลุงแกคุยกับผมดีๆ แล้วทำไมถึงเงียบไปก็ไม่รู้ พยาบาลลองไปดูแกหน่อยซิครับ”
พยาบาลก็เดินเอื่อยๆ เข้าไปเปิดมุ้ง จับชีพจรดู สักครู่ก็วิ่งไปเข็นเครื่องออกซิเจนมาปั๊มหัวใจเป็นการใหญ่ หมอก็ทยอยเข้ามาเต็มห้องและที่สุดก็ดึงม่านขาวลงมากั้นกลางระหว่างผมกับลุง เป็นอันสิ้นสุดระหว่างเรา
เพลง “เธออยู่ไหน” อาจจะไปกระทบใจท่าน ผมร้องเพลงยังไม่ทันจบ ท่านก็จบชีวิตของท่านไปเสียก่อนแล้ว
และนี่คือเบื้องหลังของเพลง “เธออยู่ไหน” ฉบับสมบูรณ์