ใจหาย...เมื่อพรรคพวกที่เมืองไทยส่งข่าวมาทางไลน์ว่า จงรัก ผู้แต่งเพลง จงรัก จากโลกแห่งเสียงเพลงไปอย่างกะทันหันเมื่อวันที่ ๒๘ พ.ย. ด้วยวัย ๗๘ ปี บุตรสาวเปิดเผยว่าพาบิดาไปที่ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ ๓ ตอนตีสี่ของวันที่ ๒๗ พ.ย. เพราะมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เนื่องจากก่อนหน้านี้เป็นไข้หวัด พอพามาที่โรงพยาบาลก็หมดสติต้องนำเข้าห้องฉุกเฉิน จากนั้น ครูจงรัก ก็ไม่ฟื้นและเสียชีวิตลง แพทย์ระบุว่าเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด และพบว่าเป็นเบาหวานซึ่งคงป่วยมานานแล้วแต่ไม่บอกใคร เป็นอะไรก็ไม่เคยบอก ปกติเป็นคนแข็งแรงมาก มีพิธีสวดพระอภิธรรมที่วัดธาตุทอง กรุงเทพฯ หลายคนขอร่วมเป็นเจ้าภาพ ทางสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการแต่งเพลงได้ทำเรื่องขอพระราชทานเพลิงศพ จึงยังไม่สามารถกำหนดวันฌาปนกิจศพได้
ส.ท่าเกษม เคยเขียนถึง ครูจงรัก เมื่อวันที่ ๒๔ และ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๘ ถึง ๒ ตอน เพราะประวัติและผลงานมีมากมายน่าสนใจไปเสียทุกอย่าง จึงได้นำมาปัดฝุ่นและขัดเกลาให้เข้ากับเหตุการณ์ในปัจุบัน ได้นำเนื้อเพลง “คอยเธอ” มาลง แทนที่จะเป็นเพลง “จงรัก” เพราะเคยลงเนื้อเพลง “จงรัก” มาแล้วและพอดี “คอยเธอ” เป็นเพลงโปรดของตัวคนเขียน
ถึงแม้วิญญาณของ ครูจงรัก จะขึ้นสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ร่วมร้องเพลงกับเทวดานางฟ้า แต่ท่านได้ทิ้งผลงานมอบความสุขให้พวกเรามากมายหลายเพลง กราบขอบคุณ ครูจงรัก และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งมายังครอบครัว “จันทร์คณา”
หนึ่งในเพลงไทยสากลหรือเพลงลูกกรุง ที่คนไทยนิยมร้องกันมากที่สุดคือเพลง "จงรัก" ผลงานการประพันธ์ทั้งคำร้องและทำนองของ ครูจงรัก จันทร์คณา ลูกไม้หล่นใต้ต้นของ บรมครูพรานบูรพ์ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายจะร้องกับวงดนตรีหรือร้องกับคาราโอเกะ เพลงนี้มีประวัติที่ค่อนข้างจะแปลกไปกว่าเพลงอื่นๆ เพราะต้องใช้เวลานานถึง ๑๑ ปี กว่าที่คนไทยจะได้รู้จักกับเพลงนี้ ในบรรดาเพลงไทยสากลหลายต่อหลายเพลงที่ ครูจงรัก จันทร์คณา ได้แต่งไว้ก็เห็นจะเป็นเพลง "จงรัก" นี่แหละที่ ครูจงรัก ประทับใจที่สุด ถึงกับนำมาเขียนเบื้องหลังเป็นเพลงแรก แม้ว่าเพลงแรกที่ทำให้แจ้งเกิดในฐานะนักแต่งเพลง คือเพลง "เหมือนคนละฟากฟ้า" ที่แต่งให้ สุเทพ วงศ์กำแหง แต่สุเทพกลับนำไปให้ศิษย์เอกอย่าง ธานินทร์ อินทรเทพ ขับร้องจนมีชื่อเสียงโด่งดัง
ครูจงรัก จันทร์คณา แต่งเพลง "จงรัก" หลังจากที่เป็นนักแต่งเพลงที่คนรู้จักทั่วประเทศแล้ว โดยผู้ที่บันทึกเสียงคนแรกคือ สุเทพ วงศ์กำแหง แต่เพลงนี้กลับไม่มีโอกาสได้เปิดให้ชาวบ้านได้ฟังทางวิทยุ เพราะนายห้างแผ่นเสียงหลงไปเชียร์เพลงอื่น ซึ่งคิดว่าดีกว่าเพราะกว่า จนทั้งคนแต่งคือ ครูจงรัก และคนร้องคือ สุเทพ ลืมเพลงนี้ไปแล้วเพราะเวลาผ่านไปนานถึง ๑๑ ปี คนที่ทำให้เพลงนี้กลับมาดังคือ ทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล เพราะเธอไปร้องเพลงโชว์ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีแฟนเพลงขอเพลง "จงรัก" ซึ่งเป็นเพลงดังของจังหวัดเชียงใหม่ ทีแรก ทิพย์วัลย์ ก็ไม่รู้ว่าเพลง "จงรัก" ใครแต่งใครร้อง เพราะไม่เคยได้ฟังมาก่อนแต่เมื่อหัดร้องแล้วก็รู้สึกชอบ จึงไปถาม สุเทพ ซึ่งก็ลืมเพลงนี้ไปแล้ว เมื่อทราบว่าคนแต่งคือ ครูจงรัก จันทร์คณา นักร้องสาวสวย ทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล จึงขอ ครูจงรัก นำเพลงนี้ไปบันทึกเสียง เพลง "จงรัก" จึงได้แจ้งเกิดตั้งแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้
ส่วนที่มาที่ไปของเพลง "จงรัก" ครูจงรัก จันทร์คณา ได้เล่าว่า ตอนนั้น ครูแจ๋ว (สง่า อารัมภีร) นั่งซื้อเพลงอยู่ที่บริษัท กมลสุโกศล ผมเป็นเพียงนักแต่งเพลงเล็กๆ อาศัยบารมีของ พ่อพราน จึงทำให้ได้รู้จักใครๆ ในวงการเพลงบ้าง
“ครูแจ๋ว ครับ ชื่อของผมที่ครูพิมพ์ลงในแผ่นเสียงมันผิดครับ ผมสังเกตมาหลายแผ่นแล้ว" ครูแจ๋ว เงยหน้ามองผม หน้าบึ้งไม่ยิ้ม "ผิดยังไง จงรัก แต่ง ครูก็ใส่ชื่อ จงรัก แต่งทุกครั้ง"!!
"แต่มันเขียนผิดนี่ครับ" ผมเสียงละห้อย!! ครูแจ๋ว ย้อนว่า "เขียนยังไงผิด เขียนยังไงถูก"
"คือว่า ชื่อของผม มันไม่มี ษ.ฤาษี การันต์ อย่างที่ครูใส่" ผมอธิบาย
"แล้วใส่ ไม่ใส่ มันอ่านว่า จงรัก หรือเปล่าล่ะ" ครูแย้ง
"คือว่า จงรัก ใส่ ษ.ฤาษี การันต์ มันแปลว่า แขกยาม ส่วน จงรัก ไม่มีอะไรพ่วงท้าย แปลว่า จงใจรัก ตั้งใจรัก ครับผม" ผมร่ายรายละเอียด
"งั้นเอ็งไปแต่งเพลงมาซี ไอ้ความหมายของ จงรัก อะไรนั่นน่ะ" ครูแจ๋ว ปัดเรื่อง ครูจงรัก จันทร์คณา คาดคะเนผิด คิดว่าการเอาชื่อมาแต่งเพลงจะง่าย แต่กว่าจะเขียนเนื้อให้กระชับและกินความหมายได้ลึกซึ้งขนาดนี้ ครูจงรัก ต้องใช้เวลาไม่น้อย แม้ว่าจะได้ชื่อว่าเป็นเสือปืนไวสามารถไปเขียนเนื้อเพลงหน้าห้องอัดเสียงได้ แต่เพลงนี้ก็ทำเอา ครูจงรัก ถึงกับเกร็งเพราะเอาชื่อตัวเองมาแต่งเพลง และต้องแต่งให้สุดความสามารถ
ที่แต่งเพลงของ ครูจงรัก มักจะเป็นร้านเหล้า คิดไปก๊งไปเดี๋ยวก็ได้บทเพลงดีๆ ไปขาย เพื่อเอาเงินมาซื้อเหล้ากินอีก ขณะที่สมองยังคิดไม่ออกว่าจะเขียนอะไรออกมา หูของ ครูจงรัก ก็ได้ยินเสียงของหนุ่มสาวนั่งคุยกันอยู่หลังโต๊ะ จะหันไปมองก็กลัวเสียมารยาทจึงได้แต่เงี่ยหูฟัง โดยฝ่ายชายบอกว่ารักผู้หญิงตั้งแต่นาทีแรกที่พบ จะเป็นใครมาจากไหนก็ไม่แคร์ ฝ่ายหญิงถามว่าอดีตของเธอเป็นอย่างไรก็ไม่แคร์หรือ ผู้ชายบอกว่าอดีตผ่านไปแล้วเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ให้มาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ในวันนี้ ผู้หญิงถามว่าจะรักไปนานแค่ไหน ผู้ชายบอกว่ารักจนกว่าชีวิตจะหาไม่
ครูจงรัก รีบเช็กบิลจ่ายค่าเหล้าแล้วกลับบ้านไปนั่งเขียนเนื้อเพลง "จงรัก" ใช้เวลาแค่ ๒๐ นาทีเท่านั้นเพลงนี้ก็เสร็จเรียบร้อย แต่เพลงนี้ต้องใช้เวลาตั้งท้องนานถึง ๑๑ ปี โดยมี สุเทพ วงศ์กำแหง ผู้ขับร้องคนแรกทำหน้าที่อุ้มท้อง ส่วนผู้ให้กำเนิดคือ ทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล ที่ไปได้ฟังเพลงนี้ที่เชียงใหม่แล้วนำมาบันทึกเสียงจนกลายเป็นเพลงอมตะ ผลสรุปคือ ครูสง่าบอกให้แต่งเพลง "จงรัก" เพื่อบอกความหมายของชื่อนี้ให้ชาวบ้านรับรู้ เพลง "จงรัก" จึงเป็นเพลงแรก ที่คนแต่งนำชื่อตัวเองมาแต่งเป็นเพลง!
(จากข้อเขียนของ หนุ่มกางเกงแพร หรือ อ้วน อรชร มีชื่อจริงว่า ทวีสิน สถิตย์รัตนชีวิน อดีตบรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา และบรรณาธิการโต๊ะข่าวบันเทิงฯ ของ น.ส.พ.ไทยโพสต์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๑ เม.ย. พ.ศ.๒๕๕๕ ส.ท่าเกษม เป็นแฟนคอลัมน์ของ “อ้วน อรชร” ชอบสไตล์การเขียนมีอารมณ์ขันเข้าใจเปรียบเทียบ เช่นพูดถึงเพลง “จงรัก” ว่า “เพลงนี้ต้องใช้เวลาตั้งท้องนานถึง ๑๑ ปี โดยมี สุเทพ ผู้ขับร้องคนแรกทำหน้าที่อุ้มท้อง ส่วนผู้ให้กำเนิดคือ ทิพย์วัลย์....” )
ครั้งนี้ขออนุญาตคัดลอกข้อความนำมาลงกันสดๆ เลย เพราะไม่อยากให้เสียอรรถรสสำนวนการเขียนของต้นฉบับ ครูจงรัก นอกจากเป็นหนึ่งในขุนพลนักแต่งเพลงแล้ว ท่านยังเขียนหนังสือได้ยอดเยี่ยม มีลูกเล่นลูกชนสำนวนโวหารในการใช้ศัพท์ต่างๆ อย่างเช่นที่นำมาลงนี้ “โม่” หมายถึงเขียนเพลง, พิทยา บุณยรัตพันธ์ ร้อง เฉือนอารมณ์ได้สะใจนัก (เธอร้องเพลง กฎแห่งกรรม ที่ ครูจงรัก แต่ง)และ “....ข้าพเจ้าจะสาธยาย ความเป็นมา....ขาดตกหล่นไปบ้าง เพราะหลงเลือนด้วยกาลเวลา ก็ต้อง ขอพระอภัยมณี ไว้ด้วย
นอกจาก รต.สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ และ ทิพวัลย์ ปิ่นภิบาล เพลงนี้ยังมีผู้ขับร้องกันหลายต่อหลายคนเช่น ศรัญย่า ส่งเสริมสวัสดิ์, มาช่า วัฒนพานิช, นิตยา บุญสูงเนิน, แจ้, ฝน ธนสุนทร, ศรีไศล สุชาตวุฒิ, พิ้งค์ แพนเตอร์ ฯลฯ “อ้วน อรชร” ถึงได้แกล้งถามว่า “มีใครบ้างไม่เคยร้องเพลง จงรัก ยกมือขึ้น” ! คุณผู้อ่านที่ชอบผลงานของ ครูจงรัก น่าจะจำเพลง “จงรัก” เพิ่มอีก ๔ ท่อน เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๘ พ.ค.๒๕๕๑ ในหนังสือคอนเสิร์ต “เพลงดีที่ไม่ดัง” ประชัน “เพลงดังที่ไม่ลืม” แสดง ณ ศาลาเฉลิมกรุง ท่านแต่งเพิ่มให้ชื่อว่า “เพลงจงรัก วันนี้”