คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



จิบน้ำชายามบ่าย....รับลมทะเล
.....JUST TEA FOR TWO
AND TWO FOR TEA
JUST ME FOR YOU
AND YOU FOR ME ALONE......

จากเพลง "TEA FOR TWO"





ประเพณีการดื่มชาของอังกฤษ ชาวอังกฤษเป็นชาติที่ดื่มชาเป็นลำดับสองของโลกเมื่อเปรียบกับอัตราต่อคน ชาวอังกฤษแต่ละคนดื่มชาคนละประมาณ ๒.๑ กิโลกรัมต่อปี ความนิยมในการดื่มชามีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เมื่ออินเดียเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษ และอังกฤษมีความต้องการที่จะควบคุมการผลิตชาในอนุทวีปอินเดีย แต่ผู้ที่นำประเพณีการดื่มชาเข้ามาในอังกฤษเป็นคนแรกก็คือแคทเธอรีนแห่งบราแกนซา สมเด็จพระราชินีในสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๒ แห่งอังกฤษ ในราวระหว่างคริสต์ทศวรรษ ๑๖๖๐ ถึง ๑๖๗๐ แต่ในระยะแรกก็เป็นประเพณีสำหรับชนชั้นสูงเท่านั้นที่ไม่ได้แพร่หลายในบรรดาประชากรทั่วไปเพราะยังเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย จนต่อมาเมื่อราคาชาถูกลง เมื่อประเพณีนี้เผยแพร่ทั่วไปในสหราชอาณาจักรก็เริ่มมีการจัดสวนชา (Tea garden) ที่เป็นสถานที่ดื่มชาและเดินเล่น หรือการจัดการเต้นรำชา (Tea dance) ที่อาจจะเป็นการเต้นรำตอนบ่ายหรือพลบค่ำ ที่อาจจะรวมทั้งการดูดอกไม้ไฟ หรือมีการเลี้ยงอาหารค่ำด้วย และจบลงด้วยการดื่มชา สวนชาเสื่อมความนิยมลงหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง แต่การเต้นรำก็ยังพบว่ามีการจัดกันอยู่บ้าง

การดื่มชาในอังกฤษมักจะเป็นชาดำที่เสิร์ฟกับนมและบางครั้งก็น้ำตาลด้วย ชาแก่ที่เสิร์ฟกับนมและน้ำตาลจำนวนมากในถ้วยใหญ่เหมือนกระบอกที่เรียกว่า “mug” มักจะเรียกกันว่า “ชาคนงาน” (Builders tea) โดยทั่วไปแล้วการดื่มชาในอังกฤษจะไม่ใช่วัฒนธรรมชั้นสูงที่ละเอียดอ่อนอย่างที่เข้าใจกันทั่วโลก แต่เป็นเพียงกิจวัตรประจำวันเช่นเดียวกับการดื่มกาแฟของชาติอื่น — ตามปกติแล้วชาวอังกฤษก็จะดื่มชากันวันละอาจจะถึงห้าหรือหกถ้วย (หรือ “หมัก”) แต่ก็มิได้หมายความว่าชาวอังกฤษจะไม่มีประเพณีการดื่มชากันอย่างเป็นทางการหรือในโอกาสพิเศษ สำหรับชนชั้นที่ทำมาหากินมีอาชีพกันทั่วไปการพักดื่มชาก็เป็นส่วนสำคัญประจำวัน โดยทั่วไปแล้วนายจ้างก็มักจะอนุญาตให้มีการพักดื่มชาสายครั้งหนึ่งและบ่ายอีกครั้งหนึ่ง

ชาไม่เพียงเป็นแค่เครื่องดื่มเท่านั้น แต่ยังหมายถึงอาหารว่างมื้อบ่าย (Tea meal) ไม่ว่าเครื่องดื่มจะเป็นชาหรือไม่ แอนนา รัสเซลล์ ดัชเชสแห่งเบดฟอร์ดได้ชื่อว่าเป็นผู้ริเริ่มอาหารว่างมื้อบ่าย ราว ค.ศ. ๑๘๐๐ เพื่อแก้หิวระหว่างคอยอาหารค่ำ ซึ่งก็ยังเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันอยู่บ้างในปัจจุบัน

ประเพณีอีกอย่างหนึ่งทีเคยเป็นที่นิยมคือร้านน้ำชา (tea room) ซึ่งเป็นสถานที่ที่เสิร์ฟชาและสโคน (คล้ายมัฟฟินแต่ไม่หวาน) กับครีมข้น (Clotted cream) ซึ่งเป็นครีมที่ข้นเหมือนเนย และแยมผลไม้ การดื่มกับสโคนกับครีมและแยมเรียกรวมกันว่า “Cream tea” แต่ประเพณีหมดความนิยมลงตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง การดื่มครีมทีจึงทำกันแต่ในบางโอกาส เดวอนและคอร์นวอลล์มีชื่อเสียงในเรื่องครีม การเรียก “Cream tea” มักจะทำให้เข้าใจผิดกันว่าเป็นการดื่มชากับครีมซึ่งไม่เป็นความจริง

นักวิชาการบางท่านเสนอว่าชามีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษ การดื่มชาตอนบ่ายเป็นการทำให้เพิ่มชั่วโมงการทำงานในโรงงานได้มากขึ้น; ชาเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นประสาทและเมื่อดื่มกับของว่างหวานก็ยิ่งช่วยให้คนงานมีพลังเพิ่มขึ้นในการทำงาน นอกจากนั้นก็ยังกล่าวกันว่าการดื่มชาเป็นการช่วยรักษาสุขภาพอนามัยได้บ้างจากภัยที่การอยู่อาศัยในเมืองเพราะผู้ดื่มชาต้องต้มน้ำก่อนดื่ม ที่ทำให้ผู้ดื่มเลี่ยงจากเชื้อโรคได้หลายอย่าง

ทราบหรือเปล่าว่าเศรษฐีที่เมืองไทยบินไปรับประทานเป็ดปักกิ่งที่ FOUR SEASONS HOTEL ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเป็นว่าเล่น เห็นว่า PEKING DUCK ที่ไหนๆ ก็สู้ที่นี่ไม่ได้ ! พอดีคุณหมอสุเทพ และคุณหมอวีณา จรูญรัตน์ สองสามีภรรยาที่พำนักอยู่ในอเมริกาเพิ่งไปรับประทานเป็ดปักกิ่งที่ลอนดอนมา คุณหมอสุเทพเล่าว่า เชฟดั้งเดิมที่โฟร์ซีซั่น แยกตัวออกมาเปิดอีกร้านหนึ่ง เป็นเจ้าของเอง แต่เป็ดปักกิ่งของโฟร์ซีซั่นก็ยังมีรสชาติอร่อยเหมือนเดิม

ส.ท่าเกษมไม่มีปัญญาและความสามารถ (นั่งเครื่องบิน) ที่จะไปถึงโฟร์ซีซั่นในประเทศอังกฤษ เลยไปจิบน้ำชาแทนที่โฟร์ซีซั่นในเมืองคาร์ลสแบด เขาเรียกว่า “ความสุขอยู่ที่ความพอใจ” “เกษียรสมุทร” ที่เราพักอยู่ในคาร์ลสแบดนี้ใกล้มาก สะดวกมาก แค่ขับรถเพียง ๑๕ นาที ขากลับจับเวลาดู จากคาร์ลสแบดเข้าแอล.เอ. ใช้เวลา ๙๐ นาที เป็นวันอาทิตย์ประมาณบ่ายโมง ถนนยังว่างอยู่ เพื่อคุณผู้อ่านในแอล.เอ.อยากเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง จะได้ทราบว่าไม่ไกลเลย นั่งคุยกันระหว่างทางหรือฟังเพลงเพราะๆ เดี๋ยวเดียวก็ถึง

บิดาของ ส.ท่าเกษม ไม่รับประทานอาหารเช้าเพราะท่านเข้านอนเช้าและตื่นตอนบ่าย จึงมีแต่อาหารกลางวัน น้ำชาและของว่าง (HIGH TEA) อาหารค่ำ

พวกเราลูกๆ เลยเคยชินกับการจิบน้ำชาตอนบ่ายไปด้วย ในวันหยุดโรงเรียน โดยเฉพาะระหว่างปิดเทอมเวลาไปพักที่ “ท่าอิฐ” อ้อมเกร็ด เมืองนนทบุรี หรือ “เกษียรสมุทร” ประจวบคีรีขันธ์ ระยะหลังๆ เวลาโรงเรียนปิดเทอมหน้าร้อนจะอพยพไปอยู่ที่ “เกษียรสมุทร” เป็นเดือน พวกเราต้องนอนกลางวัน ตื่นมาเล่นน้ำทะเล รับประทาน HIGH TEA บางทีก็ก่อนลงทะเล บางทีขึ้นจากทะเลผมเผ้าลำตัวยังเปียกอยู่ จากนั้นจะอาบน้ำแต่งตัวไปเดินเล่นกันตามหาดและสะพานปลา เวลามีของว่างเป็นหอยแครงลวก บิดาจะให้ ส.ท่าเกษม ปรุงน้ำจิ้มเพิ่มเติม ไม่ได้ทำอะไรมากเพียงเหยาะน้ำตาลลงไปอีกเท่านั้น !

มานึกดูแล้วก็แปลกใจ ปกติอาหารชาววังน่าจะหวานอยู่แล้ว ทำไม ส.ท่าเกษม จึงต้องเติมน้ำตาลลงไปอีก ?

ตั้งแต่อยู่ที่แอล.เอ. ต้องเลิกจิบน้ำชาตอนบ่ายไปโดยปริยาย ไม่มีเวลา...ไม่มีคุณแจ๋ว เมื่อคืนโทรศัพท์คุยกับหลานกบ (รุจิโรจ เอี่ยมลำเนา) ครอบครัวเธอยังรับประทานของว่างและจิบน้ำชาตอนบ่ายอยู่ โดยเฉพาะเวลาไปพักที่เขาใหญ่โบนันซ่า ฟังเธอบรรยายของว่างนานาชนิดแล้วน้ำลายสอ เพราะตอนคุยเป็นเวลา MIDNIGHT SNACK ของ ส.ท่าเกษม พอดี !

เพิ่งจะมาเริ่มจิบน้ำชาตอนบ่ายที่นี่ เมื่อ ๓ ปีที่แล้ว ตอนมี BRIDAL SHOWER ให้ลูกสะใภ้ที่เมือง PASADENA ทุกคนใส่หมวกและมีรางวัลให้เจ้าของหมวกใบที่สวยที่สุด เจ้าของร้านเป็นชาวญี่ปุ่น ต่อมาสมาชิกคนโตของเราพาไป T-ROOM ที่ MONTROSE คราวนี้ชาวรัสเซียเป็นเจ้าของ สรุปแล้วยังไม่เจอของแท้โดยชาวอังกฤษเสียที ในที่สุดก็หาจนพบด้วยตัวเอง ลักษณะเป็น COTTAGE มีสวนกุหลาบพันธุ์อังกฤษสีขาว ที่เราเรียก ENGLISH ROSE ภายในจัดสวยแต่คับแคบไปหน่อย ห้ามถ่ายรูป ไม่มีความเป็นส่วนตัว โต๊ะจัดติดกันมาก คงจะเป็นเพราะมีบริเวณจำกัด... "สมใจอยาก" ได้เข้าไปสัมผัสกับบรรยากาศของแท้ ฟัง BRITISH ACCENT บริการดีเอาใจลูกค้า แต่รู้สึกเกร็งๆ ชอบกล คงไม่กลับไปอีก ถ้าจะกลับไปอีกคงจะเป็นที่ MONTROSE เพราะสั่งอาหารเพิ่มได้นอกจากของว่างที่ทางร้านจัดให้ ส่วนที่ โฟร์ซีซั่น คาร์ลสแบด คงต้องกลับไปอีกเวลาต้อนรับแขกต่างรัฐหรือต่างประเทศ เผลอๆ อาจจะเป็นชาวแอล.เอ. ก็ได้ !

ขอเตือนเรื่องความหวานของขนมชนิดต่างๆ ไม่ใช่ SUGAR FREE แบบบัฟเฟ่ท์ (BUFFET) ที่ลาสเวกัส และขอชมพนักงานทุกแผนกของที่นี่บริการดีมาก สุภาพ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี


ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
๑๔ กันยายน ๒๕๕๖