โอ้กุหลาบแดง เป็นสื่อแห่งความรักเรา กลิ่นสี ยวนเย้า เร้าใจให้รักรัญจวน
หนามกุหลาบคม เผลอใจชมเจ้าเย้ายวน ถูกคมหนามร้องครางครวญ หัวใจสลาย
วันคืนล่วงเลย เห็นกุหลาบกลีบกระจาย ใจหายเสียดาย สิ้นสุดกันแล้วหรือเรา
อ้อนวอนเท่าไร เธอก็ไม่กลับหวนคืน ผิดที่ฉัน หรือว่าเธอ เป็นอื่นไปแล้ว
ปลูกกุหลาบแดงไว้เพื่อเธอ เก้าพันเก้าร้อยเก้าสิบเก้าดอก
บ่งบอกความจริงที่ยิ่งใหญ่ บ่งบอกว่าใจฉันยังคงมั่น
พันปีหมื่นวันไม่เคยหน่าย ฟ้าดินสลายหัวใจมั่นรักเธอ
วันคืนล่วงเลย เห็นกุหลาบกลีบกระจาย ใจหายเสียดาย สิ้นสุดกันแล้วหรือเรา
อ้อนวอนเท่าไร เธอก็ไม่กลับหวนคืน ผิดที่ฉัน หรือว่าเธอ เป็นอื่นไปแล้ว
*(ซ้ำ) ปลูกกุหลาบแดงไว้เพื่อเธอ เก้าพันเก้าร้อยเก้าสิบเก้าดอก บ่งบอกความจริงที่ยิ่งใหญ่ บ่งบอกว่าใจฉันยังคงมั่น พันปีหมื่นวันไม่เคยหน่าย ฟ้าดินสลายหัวใจมั่นรักเธอ
โอ้กุหลาบแดง เป็นสื่อแห่งความรักเรา กลิ่นสียวนเย้า เร้าใจให้รักรัญจวน หนามกุหลาบคม เผลอใจชมเจ้าเย้ายวน ถูกคมหนาม ร้องครางครวญ หัวใจสลาย
ไม่ว่าจะสัญจรท่องเที่ยวอยู่หนไหน... ทะเลทราย... ภูเขา... ท้องทะเล ก็ต้องตะเกียกตะกายเขียนคุยกับคุณผู้อ่านให้ได้ในเสาร์นี้ เพราะเป็นวันสำคัญ (อีกแล้ว!) รู้สึกว่าปีหนึ่ง ส.ท่าเกษม จะมีวันสำคัญอยู่เกือบทุกเดือนก็ว่าได้ หลายคนพูดว่า วันแห่งความรัก นี้ เป็นการฉวยโอกาสทำมาหากินอย่างหนึ่งของพ่อค้า นักธุรกิจ โดยเฉพาะคาร์ดที่จำหน่ายในวันนี้สวยจริงๆ อดซื้อไม่ได้ จะไม่สวยดึงดูดคนชอบส่งคาร์ดได้อย่างไร ในเมื่อมีทั้งกุหลาบแดงและหัวใจแดงแจ๋ ผู้ที่มีความรัก อารมณ์สุนทรีย์โรแมนติค เลยชอบวันนี้กันเป็นพิเศษ เป็นโอกาสดีที่จะส่งความรักให้คนรัก เพื่อนฝูง ครอบครัว และผู้คนรอบๆ ตัว ฯลฯ
สำหรับตัวเองแล้ว...ต้องขอบอกว่าเป็นหนี้บุญคุณพวกนักธุรกิจจริงๆ เนื่องจากวันๆ แทบไม่มีเวลาคิดถึงใคร มีกิจกรรมทุกวัน แต่พอใกล้ "วันแห่งความรัก" จะเห็นโฆษณาตามทีวี สถานที่ต่างๆ เลยมีเวลาเตรียมตัวส่ง "ความรัก" ให้กับผู้ที่ติดต่อกันอยู่ ส.ท่าเกษม ปลื้มมากเวลาได้รับคาร์ดในโอกาสต่างๆ เพราะทราบว่าใครก็ตามต้องใช้เวลาหาคาร์ด จ่าหน้าซอง หาแสตมป์มาติด บางครั้งต้องไปส่งถึงที่ทำการไปรษณีย์ ถ้ามีของส่งมาด้วย ขอบอกตรงนี้เลยว่าเห็นคุณค่าจริงๆ ไม่ว่าคาร์ดใบนั้นจะสวยหรือไม่สวย (ถูกใจ) เล็กหรือใหญ่ ไม่สำคัญทั้งสิ้น!!! อย่างที่คนทางนี้พูดกันว่า “IT’S THE THOUGHT THAT COUNTS !”
เสาร์นี้ได้นำรูป “กุหลาบแดง” ที่สะสมไว้ในไฟล์มาลงประกอบคอลัมน์ใน VALENTINE’S DAY พร้อมกับนำเพลง “กุหลาบแดง” ทั้ง ๒ ภาษามาลงในเวบฯ ภาษาไทยคงคุ้นหูกันอยู่แล้ว ภาษาจีนต้นฉบับเพราะมากๆ แต่งไว้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๓ พระเอกนางเอกทั้งหล่อทั้งสวย (ขอบอก!) อยากให้เข้าไปฟังจริงๆ ไปอ่านพบในหนังสือ “ตำนานครูเพลงฯ” ของ อ.คีตา พญาไท ถึงผลงานเพลงของ ขุนวิจิตรมาตรา แต่งไว้ในภาพยนตร์เรื่องหลงทาง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔ เป็นภาพยนตร์ เสียงในฟิล์มเรื่องแรกของบริษัทศรีกรุง เพลง "กุหลาบหอม" ทำนองเพลงไทยเดิม ขึ้นพลับพลาเป็น ๑ ใน ๖ เพลง ขับร้องโดยคุณแม่น ชลานุเคราะห์ ซึ่งแสดงเป็นพระเอก ต่อมา สมศักดิ์ เทพานนท์ จากวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำมาขับร้อง เนื้อร้องมีดังนี้
สีสดสวยทรงงาม เมื่อยามเห็น | ใครจะเว้นเด็ดได้ กุหลาบหอม |
ถึงหนามยอก เนื้อยับก็ จำยอม | ขอให้เด็ดดอกดอม ให้ชื่นแด |
อันกลิ่นหอมดอกเหี่ยว เดี๋ยวก็หาย | แต่ทิ้งรอยหนามร้าย นานเป็นแผล |
ถึงกระนั้นฉันก็ไม่ อาลัยแล | ด้วยจิตแน่ในกุหลาบ เหลือหลาบเอย |
อีกเพลงของขุนวิจิตรมาตรา คือ “กุหลาบในมือเธอ” ทำนองโดย ร.ท.มานิต เสนะวีณิน รน. ขับร้องโดย พลโท ม.ล.ขาบ กุญชร ในปี พ.ศ.๒๔๗๗ เพลงนี้คุณผู้อ่านคงรู้จักกันดี
ใจพี่หายวาบ | เมื่อเห็นกุหลาบกลีบกระจาย |
จำกลิ่น ได้คลับคล้าย | ว่าดอกที่ถือ ในมือเธอ |
พี่เพ้อขอมานาน เจ้าให้หลังพี่ | เพราะเจ้ามี ที่ต้องการ |
แต่ว่า เดี๋ยวนี้ | ดอกถูกขยี้ ทิ้งกระจาย |
พี่แสน จะเสียดาย | เพราะไปหมายอื่น ให้เขาชื่นชม |
เขาดมเล่น แล้วทิ้ง ผู้ที่หวังจริง | ก็เลยต้องยิ่ง หัวใจรวน |
เพลงเอกยอดนิยมที่ต้องกล่าวถึง คือเพลง “บุพเพสันนิวาส” คำร้อง สุรัฐ พุกกะเวส ทำนอง เวส สุนทรจามร ที่ขึ้นต้นว่า" เมื่อคิดให้ดีโลกนี้ประหลาด บุพเพสันนิวาสที่ประสาทความรักภิรมย์" ในเนื้อเพลงท่อนที่ ๔ มีว่า “ความรักเหมือนโคถึก ที่คึกพิโรธ” นั้น นำมาจากบทพระราชนิพนธ์ เรื่อง "มัทนะพาธา" ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ พระมหาธีรราชเจ้า “...ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมน ไม่ยินและไม่ยล อุปสรรคใดๆ ความรักเหมือนโคถึก กำลังคึกผิขังไว้ ก็จะโลดจากคอกไป บ่ยอมอยู่ ณ ที่ขัง....”
เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศใน "วันแห่งความรัก" ส.ท่าเกษม ขอนำเรื่องราวของ ตำนานดอกกุหลาบ มาฝากเป็นของขวัญแด่คุณผู้อ่านทุกๆ คน
เรื่องมัทนะพาธาเป็นเรื่องสมมุติเกิดขึ้นในอินเดียโบราณ เป็นบทละครพูดคำฉันท์ ๕ องก์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ ซึ่งเป็นช่วงที่มีพระราชกิจมากขณะทรงพระประชวรและประทับอยู่ ณ พระราชวังพญาไท ต่อจากนั้นก็เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ประทับแรมตามที่ต่างๆ เช่น บางปะอิน สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ลพบุรี
โดยได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องมัทนะพาธาไปด้วย จนเมื่อกลับถึงกรุงเทพฯ วันที่ ๔ ตุลาคม ๒๔๖๖ และทรงพระราชนิพนธ์ต่อที่พระราชวังพญาไทจนจบเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๔๖๖ ทรงใช้เวลาพระราชนิพนธ์ ๑ เดือน ๑๗ วัน ต่อมาในเดือนมกราคม ๒๔๖๗ ได้ทรงแปลบทละครพูดคำฉันท์เรื่องมัทนะพาธาเป็นร้อยแก้วภาษาอังกฤษพร้อมด้วยอภิธานศัพท์
เมื่อทรงแปลเสร็จในเดือนพฤษภาคม ๒๔๖๘ ก็ได้พระราชทานแก่พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรเพื่อให้พิจารณาทูลเกล้าฯ ถวายความเห็น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรกราบบังคมทูลว่า ทรงเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษมาก น่าจะทรงพระราชนิพนธ์เป็น blank verse (กลอนเปล่า ซึ่งเป็นคำประพันธ์ที่กำหนดจำนวนคำโดยไม่บังคับสัมผัส แต่เน้นจังหวะของเสียง)
ตามแบบบทละครพูดของเชคสเปียร์ได้ จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์แปลใหม่เป็นร้อยกรองตามคำกราบบังคมทูล แต่ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ถึงกลางองค์ที่ ๔ ก็ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตเสียก่อน
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งจะเริ่มทรงพระราชนิพนธ์ ได้ทรงพยายามหาคำบาลีสันสกฤตสำหรับชื่อ "ดอกกุหลาบ" พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป ขณะยังเป็นรองอำมาตย์โทหลวงธุรกิจภิธาน) ค้นได้ศัพท์ภาษาสันสกฤตว่า กุพชก แต่ได้ทรงพระราชวินิจฉัยว่าถ้าจะให้เป็นชื่อนางเอก อาจต้องเปลี่ยนเสียงพยางค์หลังเป็น กุพชกา ซึ่งมีเสียงน่าฟัง แต่จะไปตรงกับศัพท์ที่แปลว่า
"นางค่อม" จึงทรงเลือกใช้คำว่า มัทนา เป็นชื่อนางเอก มัทนา มาจากศัพท์ มทน แปลว่า ความลุ่มหลง หรือ ความรัก นอกจากนั้นเมือทรงพบศัพท์ "มทนพาธา" จากพจนานุกรมสันสกฤตซึ่งมีความหมายว่า "ความเจ็บหรือเดือดร้อนแห่งความรัก" ซึ่งตรงกับแก่นเรื่องของบทละครเรื่องนี้ จึงทรงใช้ชื่อว่า "มัทนะพาธา" หรือตำนานแห่งดอกกุหลาบ
"มัทนะพาธา" มีการผูกเรื่องให้มีความขัดแย้งเป็นปมปัญหา คือ ให้สุเทษณ์หลงรักมัทนา แต่มัทนาไม่รับรัก สุเทษณ์จึงกริ้ว บทบาทของสุเทษณ์คือ ผู้ยิ่งใหญ่ที่เมื่อไม่ได้ดังใจเพราะรักไม่สมหวังก็โกรธแล้วลงโทษ มัทนาจึงต้องลงมาเกิดในโลกมนุษย์เป็นการชดใช้ มัทนาพบรักกับชัยเสน แต่ความรักก็ไม่ราบรื่นเพราะมีอุปสรรคคือ นางจัณฑี
ความริษยาและความแค้น ทำให้จัณฑีคิดร้ายต่อมัทนา มัทนาจึงถูกพรากไปจากชัยเสน และได้พบสุเทษณ์อีกครั้งแต่มัทนาก็ยังไม่เปลี่ยนใจ เรื่องจึงจบด้วยความสูญเสีย สุเทษณ์ไม่สมหวังในความรัก ชัยเสนสูญเสียคนรัก และมัทนาต้องเปลี่ยนสภาพมาเป็นเพียง "ดอกกุหลาบ"
บทละครเรื่อง "มัทนะพาธา" ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรประกาศยกย่องให้เป็นหนังสือที่แต่งดีใช้คำฉันท์เป็นบทละครพูด ซึ่งแปลกและแต่งยาก เป็นเรื่องที่มีตัวละครและฉากสอดคล้องกับวัฒนธรรมภารตะโบราณ และเข้ากับเนื้อเรื่องดี นับว่าทรงพระปรีชาสามารถมาก วรรณคดีสโมสรจึงได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายประกาศนียบัตร เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๖๗
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง "มัทนะพาธา" ด้วยพระปรีชาญาณและสุตาญาณอันกว้างขวาง พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้า ทรงสดับตรับฟังและทรงวินิจฉัยจนถ่องแท้ ก่อนที่จะทรงสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นการที่พระราชวินิจฉัยเรื่องชื่อนางเอก หรือ ทรงพิจารณาโศลกอธิบายคุณสมบัติของดอกกุหลาบในคัมภีร์สันสกฤตว่า
กุพฺชกะงามดังสาวรุ่น | มีดอกใหญ่ มีเกสรยิ่งทนมาก |
สะพรั่งด้วยหนาม | มีฝูงผึ้งเขียวเป็นกลุ่ม |
กุพชกะมีกลิ่นหอม | กินอร่อย หวานมีรสเลิศ |
ระงับตรีโทษ เจริญราค | เย็นสบาย แก้โรคเช่นท้องร่วง |
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำข้อความนี้มาเป็นคำอธิบายของมายาวิน เพื่อทูลสุเทษณ์ว่ามีไม้ดอกชนิดหนึ่งที่น่าจะกำหนดให้เป็นกำเนิดของ "มัทนา" ในโลกมนุษย์
ด้วยพระปรีชาญาณและพระสุตาญาณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บทละครพูดคำฉันท์เรื่อง "มัทนะพาธา" จึงเป็นวรรณคดีที่ทรงคุณค่าสมควรที่เราจะอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ เพื่อให้ประจักษ์คุณค่านั้นอย่างแท้จริง (ขอขอบคุณข้อมูลของ มัทนะพาธา ให้นักเรียน.DOC)