เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง



ระบบภาษีเงินได้ในเมืองลุงแซม

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน ในบรรดาภาษีสารพัดอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ผู้เขียนขอเริ่มพูดถึงภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นภาษีที่ท่านผู้อ่านทุกคนต้องพบประสบกันแน่นอน จะเสียมากเสียน้อยก็แล้วแต่สถานะของทุกท่าน

อัตราภาษีเงินได้ในสหรัฐเป็นแบบอัตราก้าวหน้าค่ะ พูดง่าย ๆ คือใครทำเงินได้มากก็เสียในอัตราที่มากขึ้น อัตราภาษีที่ต้องจ่ายรัฐบาลกลางหรือที่เรียกว่า Federal Tax rate นั้นอยู่ระหว่าง 10 % - 37% ของรายได้ที่ถูกนำมาคิดภาษี (taxable income) ส่วนอัตราภาษีของรัฐก็อยู่ระหว่าง 0% - 13.30% ค่ะ หลายรัฐเช่น รัฐอลาสก้า (AK) รัฐเนวาด้า (NV) รัฐเทนเนสซี (TN) รัฐวอชิงตัน (WA) รัฐไวโอมิ่ง (WV) รัฐเซาท์ดาโกต้า (SD) รัฐนิวแฮมเชียร์ (NH) รวมทั้งรัฐฟลอริด้า (FL) ที่ผู้เขียนเคยอยู่เป็นรัฐที่ประชาชนไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ แต่รัฐเหล่านี้ก็มีการเก็บภาษีอื่น ๆ ที่สูงกว่ารัฐอื่นเพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลประชาชนในรัฐ หลายรัฐก็มีอัตราภาษีของรัฐแบบเหมาจ่ายก็มี คือไม่ว่าจะรายได้เท่าไหร่เสียอัตราเดียวกันหมด เช่น รัฐโคโรลาโด (CO) รัฐอิลินอยส์ (IL) รัฐอินเดียน่า (IN) รัฐแมซซาชูเสต (MA) รัฐมิชิแกน (MI) รัฐนอร์ทคาโรไลน่า (NC) รัฐเพนซิลวาเนีย (PA) และรัฐยูท่าห์ (Utah) ส่วนรัฐที่เหลือก็เป็นแบบอัตราก้าวหน้า (รายได้มากเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้น) ซึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนียที่ผู้เขียนอยู่ตอนนี้ก็มีอัตราภาษีของรัฐอยู่ระหว่าง 1%-12.3% โดยหากใครทำเงินได้มากกว่า 1 ล้านเหรียญจะมีการเก็บเพิ่มอีก 1% ค่ะ อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นระบบภาษีและอัตราภาษีถูกกำหนดขึ้นจากแนวคิดของความสามารถในการจ่ายนะคะคือใครทำได้มากก็จ่ายมากกว่า ฟังดูอาจจะไม่ค่อยเป็นธรรมในแนวคิดของหลายคนนะคะ ซึ่งก็อย่างที่บอกค่ะ ประเทศนี้มีหลายแนวคิดกับเรื่องนโนบายภาษี ซึ่งสองพรรคใหญ่เขาก็มีแนวทางชัดเจนนะคะ ใครชอบแนวคิดแบบไหนก็เลือกตัวแทนที่จะไปสนับสนุนแนวคิดในนโยบายที่ให้ประโยชน์กับตนค่ะ

มีการถกเถียงกันมากว่าใครหละที่ต้องเสียภาษีบ้าง ถ้าหมายถึงภาษีเงินได้แล้ว บุคคลทุกคนที่มีรายได้จะต้องเสียภาษี ซึ่งทาง HR Block ซึ่งเป็นบริษัทที่รับยื่นภาษีให้กับชาวเมืองลุงแซม ได้ทำตารางแสดงอัตราภาษีของบุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่จะยื่นภาษีสำหรับรายได้ในปี 2018 ทั้งผู้ที่มีสถานะสมรส เป็นโสด (Single) แต่งงานยื่นภาษีแยกกัน ((Married Filing Separately) แต่งงานยื่นภาษีร่วมกัน (Married Filing Jointly) หรือ หัวหน้าครอบครัว (Head of Household) ไว้ดังภาพข้างล่างนี้

มาถึงตรงนี้พอจะทราบแล้วนะคะว่าใครต้องเสียภาษีบ้าง หากว่าท่านผู้อ่านอยู่ในหมวดที่ต้องเสียภาษีตามตารางดังกล่าวจะต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี (tax return) ประจำปีในวันที่ 15 เมษายนของปีถัดมา (รายได้ของปี 2018 ยื่นภายในวันที่ 15 เมษายน 2019) ใครที่ยื่นไม่ทันตามเวลาก็สามารถยื่นเรื่องขอขยายเวลายื่นแบบแสดงการเสียภาษีได้แต่จะต้องยื่นก่อนวันที่ 15 มิฉะนั้นหากมีภาษีที่คงค้างยังไม่ได้จ่าย จะต้องโดนปรับทั้งการยื่นภาษีช้าและปรับดอกเบี้ยภาษีที่คงค้างด้วยค่ะ

หากท่านเป็นลูกจ้างก็คำนวณดี ๆ นะคะว่าหักภาษีไว้ครบหรือเปล่า มิฉะนั้นหากหักไม่พอก็จะต้องเสียเพิ่มปลายปีตอนยื่นแบบแสดงภาษี หรือหากว่ายื่นขอขยายเวลาการยื่นแล้วหักไม่พอก็จะโดนดอกเบี้ยภาษีที่ค้างอีก ส่วนท่านที่ทำงานส่วนตัวไม่ได้มีนายจ้างที่เราเรียกว่า self-employed ก็ยิ่งต้องคำนวณให้ดี หักจ่ายทุก 3 เดือนก็ได้ก็ดีจะได้ไม่ต้องแบกมาจ่ายตอนปลายปีค่ะ ค่าปรับภาษีคงค้างนี้ IRS คิดแพงอยู่มากเลย โดยทั่วไปดอกเบี้ยจะเริ่มคิดตั้งแต่วันที่ต้องยื่นภาษีจนถึงวันที่จ่ายภาษีครบจนหมด อัตราดอกเบี้ยจะปรับทุกสามเดือนและทบต้นแบบรายวัน ฟังแล้วสยองอยู่เพราะฉะนั้นการติดหนี้ภาษีนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะนอกจากเสียค่าปรับดังกล่าวแล้ว ทาง IRS สามารถมีอำนาจในการยึดสมบัติของเราได้หากเราทำเพิกเฉยไม่จ่ายภาษี โดยประสบการณ์ตรงผู้เขียนเคยมีลูกค้าที่โดน IRS เอาป้ายมาติดที่ธุรกิจเลยค่ะว่า ธุรกิจนี้กำลังจะถูกยึดเป็นของ IRS รวมทั้งหลายคนก็โดนยึดบ้านช่องที่อยู่อาศัยก็มีค่ะ

อ่านมาถึงตรงนี้หากมีใครที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองเสียภาษีถูกต้องหรือเปล่า หรือรู้ตัวว่าไม่ได้เสียภาษีในอดีตก็ไม่ต้องตกใจมากไปนะคะ IRS ยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือหากว่าเราไม่เพิกเฉย เขามีหลายโปรแกรม เช่น การผ่อนจ่าย การหักลดหย่อนค่าปรับ หรือบางทีหากเอาแบบฟอร์มการยื่นภาษีในอดีตไปให้ผู้เชี่ยวชาญทางภาษีตรวจสอบ บางทีอาจจะหาที่หักค่าใช้จ่ายได้เพิ่ม ทำให้เสียภาษีลดลงก็ได้ค่ะ เคยมีลูกค้าคนหนึ่งติดภาษีค้างจ่ายถึง 12 ล้านเหรียญ เมื่อนำไปให้ CPA ตรวจสอบและเจรจากับ IRS กลับลดภาษีค้างจ่ายเหลือเพียง 4 ล้านเหรียญ ดังนั้นขอย้ำอีกครั้งนะคะว่าควรจะใช้ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และได้รับการรับรองจากรัฐบาลเกี่ยวกับความรู้ด้านภาษีเท่านั้นนะคะ เพื่อที่ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นจะได้ช่วยท่านให้เสียภาษีอย่างถูกต้องและเสียให้น้อยที่สุดตามกฏหมายค่ะ วันนี้หมดเนื้อที่แล้ว อาทิตย์หน้าจะมาพูดถึงเรื่องการลดหย่อนภาษีกันต่อค่ะ

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปไม่ใช่เป็นการให้คำแนะนำ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850) 598-1709 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลัง


อ้างอิง: https://en.wikipedia.org/wiki/Taxation_in_the_United_States

https://en.wikipedia.org/wiki/State_income_tax


วลัยพรรณ เกษทอง
21 มีนาคม พ.ศ. 2562