เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง



ประโยชน์ของการถือสถานะพลเมืองแบบเป็นซิติเซ่นของสหรัฐอเมริกา

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน สัปดาห์ที่แล้วเราได้เรียนรู้กันแล้วว่าการถือสถานะพลเมืองแบบซิติเซ่นนั้น จะทำให้ได้รับสิทธิ์เพิ่มเติมนอกเหนือจากการเป็นพลเมืองประเภทอื่น เช่น ถือใบเขียวอยู่หลายอย่าง เช่น ท่านจะมีอิสระในการอาศัยอยู่ในประเทศและมีโอกาสในการทำงานมากขึ้น มีอิสระในการเข้าออกประเทศและอาศัยอยู่นอกประเทศได้นานขึ้น มีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง และมีสิทธิ์ในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่สิทธิ์ย่อมมาพร้อมกับหน้าที่นะคะ เมื่อท่านมีสถานะเป็นซิติเซ่นแล้ว ท่านมีหน้าที่เพิ่มเติมจากการถือใบเขียว อาทิเช่น เป็นลูกขุน ต้องไปทำหน้าที่ในสงคราม และต้องเสียภาษีรายได้ไม่ว่าจะมาทางที่ไหนในโลก

ฟังถึงหน้าที่แล้วอย่าเพิ่งถอดใจ หลายท่านไม่อยากเป็นซิติเซ่นเพราะไม่อยากไปเป็นลูกขุน อย่างที่บอกแล้วค่ะว่าหากท่านไม่สะดวกเรื่องภาษาก็บอกเจ้าหน้าที่เขาได้ว่าพูดภาษาไม่เก่ง เจ้าหน้าที่ศาลจะติดต่อเลือกคนจำนวนมากแล้วพิจารณาเฉพาะคนที่พร้อมจะมาเป็นลูกขุนในแต่ละคดี เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วงค่ะ หากเขาเห็นว่าท่านไม่พร้อมท่านก็ไม่ถูกบังคับไปทำหน้าที่นี้ ส่วนตัวของผู้เขียนเองอยากมีประสบการณ์เป็นลูกขุนมาก ถือสถานะซิติเซ่นมาเป็นวเลาเกือบสิบปีแล้ว ยังไม่เคยถูกเรียกเลยซักครั้งค่ะ เพราะฉะนั้นอย่าให้ความกังวลในเรื่องนี้มาทำให้ท่านไม่อยากขอเป็นซิติเซ่นนะคะ การมีสถานะพลเมืองแบบเป็นซิติเซ่นนั้นนอกจากได้สิทธิ์ดังกล่าวขั้นต้นแล้ว ยังมีประโยชน์เพิ่มเติมอีกมากมาย อันได้แก่

• การได้รับความคุ้มครองโดยสถานทูตของสหรัฐในต่างประเทศ เมื่อท่านเดินทางไปต่างประเทศ หากท่านเกิดโดนจับหรือคุมขังโดยเจ้าหน้าที่ของประเทศนั้น ๆ ทางสถานทูตสหรัฐฯ ในประเทศนั้นจะส่งตัวแทนมาคุยกับท่านเพื่อช่วยเหลือ เช่น ติดต่อทนาย หรือบางครั้งก็สามารถช่วยเจรจากับเจ้าหน้าที่แทนท่านได้

• เพิ่มความสามารถในการสปอนเซอร์เครือญาติที่ต้องการอพยพเข้ามาเป็นพลเมือง พลเมืองที่เป็นซิติเซ่นสามารถสปอนเซอร์และขอกรีนการ์ดให้กับเครือญาติใกล้ชิด (immediate relatives) เช่น คู่สมรส บุตรที่อายุไม่เกิน 18 ปี บิดาและมารดา เป็นต้น ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ถึงกำหนดโควต้า ในขณะที่หากพลเมืองที่ถือใบเขียวทำเรื่องขอให้กับบุคคลดังกล่าวจะต้องรอให้ถึงโควต้าของการขอแล้วจึงจะได้รับการพิจารณา ซึ่งจะเห็นว่าเครือญาติใกล้ชิดที่ผู้ที่มีใบเขียวทำเรื่องให้กว่าจะได้ใบเขียวและเดินทางมาอยู่ในประเทศสหรัฐ จะต้องใช้เวลานานหลายปีเลยทีเดียว

• สามารถขอสถานะพลเมืองเป็นซิติเซ่นให้กับบุตรที่เกิดในต่างแดน โดยทั่วไปแล้วบุตรที่เกิดในต่างแดนของพ่อแม่ที่ถือสถานะซิติเซ่นทั้งสองคนจะได้รับสถานซิติเซ่นด้วยโดยอัตโนมัติ แต่หากว่าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งไม่ได้เป็นซิติเซ่น การที่บุตรที่เกิดในต่างแดนจะได้สถานะซิติเซ่นจะต้องผ่านเงื่อนไขเพิ่มเติมก่อนการพิจารณา

• ได้รับการคุ้มครองจากการถูกเนรเทศ ผู้อพยพที่ได้ผ่านกระบวนการเป็นซิติเซ่น (Naturalized U.S. Citizens) แม้ว่าจะทำผิดร้ายแรงก็จะไม่ถูกเนรเทศกลับบ้านเกิดเมืองนอนเพราะถือว่าเป็นประชาชนของประเทศสหรัฐโดยสมบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีเดียวกันถ้าหากผู้กระทำผิดถือสถานะใบเขียวก็อาจจะถูกเนรเทศกลับประเทศดินแดนเกิดได้ค่ะ

• การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ (U.S. Real Property) ไม่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขในกฏหมาย FIRPTA หมายถึงว่าผู้ที่ถือสถานะซิติเซ่นเมื่อมีรายได้หรือกำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์ในประเทศสหรัฐจะไม่ถูกหักภาษีเงินได้หรือกำไรสุทธิเพิ่มเติมไปกว่าที่จะต้องเสียปกติทั่วไป

มาถึงตรงนี้ขออธิบายเกี่ยวกับเจ้า FIRPTA หรือ Foreign Investment in Real Property Tax Act หน่อยนะคะ กฏหมายตัวนี้อนุญาตให้รัฐบาลของสหรัฐสามารถคิดภาษีผู้ที่ไม่ได้ถือสถานะซิติเซ่นในกระบวนการถ่ายโอนความเป็นเจ้าของในทรัพย์สินของสหรัฐอเมริกา ซึ่งการถ่ายโอนความเป็นเจ้าของตัวนี้ ตามคำนิยามของ IRS รวมถึงการขาย การแลกเปลี่ยน การยกเลิก (กิจการ) การมอบให้เป็นของขวัญหรือมรดก เป็นต้น ดังนั้นผู้ที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐเหล่านี้จากผู้ที่ไม่ได้เป็นซิติเซ่น จะต้องถูกหักภาษีไว้ 15% (10% หากมีการถ่ายโอนก่อนวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2016) ของยอดที่ได้ลงไว้ในเอกสารการถ่ายโอน ซึ่งการถ่ายโอนในรูปบริษัทจะมีข้อปลีกย่อยที่แตกต่างไปอีก ดังนั้นหากใครเข้าข่ายที่จะทำธุรกรรมประเภทนี้ก็ควรปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีที่มีประสบการณ์ทำงานกับคนต่างชาติดูนะคะ

• สิทธิประโยชน์อื่น เช่น การสามารถได้รับรางวัลเกียรติยศระดับโลกต่าง ๆ การสามารถเข้าร่วมแข่งกีฬาในนามของประเทศสหรัฐ สามารถได้เดินทางเข้าประเทศอื่นที่เป็นภาคีกับสหรัฐโดยไม่ต้องขอวีซ่า สามารถรับมรดกที่เป็นทรัพย์สินจากคู่สมรสที่เป็นซิติเซ่นได้ไม่จำกักจำนวนโดยไม่ต้องเสียภาษี เป็นต้น

ฉบับนี้ผู้เขียนได้เริ่มพูดถึง FIRPTA หรือ Foreign Investment in Real Property Tax Act และการถือครองทรัพย์สินของสหรัฐของพลเมืองที่เป็นซิติเซ่นที่แตกต่างจากพลเมืองสถานะอื่นไปบ้างแล้ว ฉบับหน้าจะมาพูดต่อถึงรายละเอียดกันค่ะ เพราะเรื่องมีความสับสนและคนถามกันมามากเหมือนกัน

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปไม่ใช่เป็นการให้คำแนะนำ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850) 598-1709 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลัง

อ้างอิง: https://en.wikipedia.org/wiki/Citizenship_of_the_United_States

https://www.irs.gov/individuals/international-taxpayers/firpta-withholding

http://newamericanscampaign.org/wp-content/uploads/NAC-BenefitsofCitizenship_final.png


วลัยพรรณ เกษทอง

26 กรกฎาคม 2562