เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง



ระบบประกันสังคมในเมืองลุงแซม

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน หมดเทศกาลภาษีกันไปแล้ว หวังว่าทุกคนคงจะได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีกันทันเวลาหรือส่งเรื่องของยืดเวลากันไปเรียบร้อยแล้วนะคะ ช่วงที่ผ่านมามีท่านผู้อ่านถามกันมามากถึงเรื่องของเงินโซเชี่ยล ฉบับนี้ก็เลยอยากจะขอมาเล่าสู่กันฟังให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบกันหน่อยค่ะ

ระบบประกันสังคมหรือโซเชี่ยลซิเคียวริตี้ (Social Security) เป็นหนึ่งในรากฐานของการวางแผนการเกษียณอายุของพลเมืองในสหรัฐอเมริกา ซึ่งพบว่ากว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของพลเมืองที่เกษียณอายุหรือทุพพลภาพในประเทศมีเงินโซเชี่ยลเป็นรายได้หลัก ดังนั้นการเรียนรู้ถึงระบบประกันสังคมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการวางแผนการใช้ชีวิตหลังวัยทำงาน ระบบนี้ประกันสังคมได้เริ่มก่อตั้ง เมื่อประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt เซ็นอนุมัติให้ผ่านกฎหมาย Social Security Act เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 1935 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประชากรผู้สูงอายุ ซึ่งในภายหลังมีการขยายผลประโยชน์ไปยังสมาชิกในครอบครัวของผู้ที่ทำงานและเสียภาษีเข้ากองทุนด้วยค่ะ

โดยทั่วไปในวัยเกษียณเหรือเมื่อคุณหยุดทำงาน เงินที่ได้รับจากระบบประกันสังคมจะเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 40% ของรายได้ทั้งหมดในวัยเกษียณอายุและจากที่มีคนทำการเก็บข้อมูลพบว่าผู้เกษียณอายุจำเป็นต้องมีรายได้เฉลี่ยอย่างน้อย 70% ของรายได้ก่อนเกษียณถึงจะใช้ชีวิตได้อย่างสบาย ดังนั้นในขณะที่ท่านผู้เขียนยังอยู่ในวัยทำงานจึงควรจะเรียนรู้ถึงวิธีที่จะสามารถทำให้ได้รับเงินโซเชี่ยลได้มากที่สุด และควรจะมองหารายได้จากทางอื่นเพื่อเข้าเสริมในส่วนที่เงินโซเชี่ยลไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณด้วยค่ะ

ชาวเมืองลุงแซมที่ทำงานสามารถเข้าร่วมกับระบบประกันสังคมได้โดยการจ่ายภาษี Payroll หรือที่เรียกอีกชื่อว่า FICA tax ซึ่งเงินภาษีส่วนนี้จะนำเข้าสู่กองทุนของโซเชี่ยลซิเคียวริตี้ (Social Security) และเมดิแคร์ (Medicare) ซึ่งบริหารจัดการโดยรัฐบาลกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา กองทุนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผลประโชน์กับผู้เกษียณอายุ ผู้ที่ทุพพลภาพและบุตรของคนทำงานที่ล่วงลับไปแล้วค่ะ เมื่อคุณทำงานไม่ว่าจะทำงานเป็นลูกจ้างหรือมีอาชีพอิสระ (self-employed) สามารถเข้าร่วมกับระบบประกันสังคมได้เหมือนกัน เพียงแต่มีข้อแตกต่างที่ว่าถ้าหากคุณมีนายจ้าง คุณจะเสียภาษีเพียงแค่ส่วนของลูกจ้างหรือเท่ากับ 6.2 % เท่านั้น โดยนายจ้างจะจ่ายในส่วนของนายจ้างอีก 6.2 % สมทบไปอีกเป็น 12.4% เข้าไปในกองทุนซึ่งคุณซึ่งเป็นลูกจ้างจะได้รับผลประโยชน์ทั้งหมด และในส่วนของเมดิแคร์ อัตราภาษีจะเป็น 1.45% ของทั้งลูกจ้างและนายจ้าง โดยเงินภาษีรวมทั้งหมด 2.9% ก็จะถูกส่งเข้ากองทุนเมดิแคร์ในชื่อของลูกจ้างเช่นกัน

แต่หากคุณมีอาชีพอิสระตามการยื่นแสดงภาษี จะต้องเสียภาษีมากกว่าคือเสียทั้งส่วนของลูกจ้างและนายจ้างคือเสียส่วนของโซเชี่ยล 12.4% และส่วนของเมดิแคร์ 2.9 % ค่ะ ในทุกปีก็จะทางนายจ้างจะหักภาษีส่วนนี้ส่งเข้ากองทุน (หรือคุณส่งไปจ่ายเองถ้าคุณมีอาชีพอิสระ) โดยจะแปลงไปเป็นเครดิตสะสมไว้ในบัญชีชื่อของคุณผู้เสียภาษี การคำนวณเครดิตจะคำนวณเป็นแบบปีต่อปีซึ่งจะสามารถตรวจสอบจำนวนเครดิตได้จากเอกสารแสดงบัญชีของผู้เอาประกันแต่ละคนที่ออกให้ทุกปี โดยสามารถตรวจสอบและขอรับเอกสาร statement ประเมินผลประโยชน์ของผู้อยู่ในระบบประกันโดยการลงทะเบียนผ่านทางเวบไซด์ www.ssa.gov ค่ะ

อ่านมาถึงตรงนี้คงจะมีคำถามกันแล้วใช่ไหมคะว่าแล้วใครหละที่มีสิทธิ์จะขอรับเงินโซเชี่ยลได้บ้าง? ฉบับนี้พื้นที่หมดแล้ว ขอยกยอดไปต่อฉบับหน้าค่ะ อดใจรอหน่อย

ก่อนจากไปขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์การแข่งขันรีแมชมวยสากลสมัครเล่น รุ่นซุปเปอร์ฟลายเวท ระหว่าง ศรีสะเกษ นครหลวงโปรโมชั่น นักมวยขวัญใจชาว แชมป์โลก WBC และ The Ring กับ ฮวน ฟรานซิสโก้ เอสตราด้า ผู้ท้าชิงคนเดิมที่จะมาขอแก้มืออีกครั้งในวันที่ 26 เมษายน 2562 ที่ The Forum เมือง Inglewood รัฐแคลิฟอร์เนียในเวลา 20.30 นี้ โดยท่านสามารถซื้อตั๋วเข้าชมการแข่งขันในราคาพิเศษสำหรับชาวไทยได้ที่https://www1.ticketmaster.com/event/09005664CACB37B0?dma_id=324&did=thai

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปไม่ใช่เป็นการให้คำแนะนำ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850) 598-1709 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลัง


อ้างอิง: https://www.ssa.gov/

วลัยพรรณ เกษทอง

18 เมษายน 2562