เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง



ประกันภัยของเจ้าของบ้าน (Homeowner policy)

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน ช่วงนี้มีเรื่องไฟไหม้ วันก่อนมีเพื่อนมาขอให้เขียนเรื่องประกันอัคคีภัยของบ้านมาแชร์ให้คนไทยในชุมชนออนไลน์อ่าน วันนี้ก็เลยอยากจะมาแชร์ให้ผู้อ่านของคอลัมน์นี้ทราบกันบ้าง ขอออกตัวก่อนว่าทำงานด้านประกันภัยมาจะ 15 ปีแล้ว แต่ไม่ได้ขายประกันภัยประเภทนี้นะคะ เพียงแต่เนื่องจากได้ไปร่ำเรียนเรื่องการวางแผนการประกันภัยมาและได้เคยช่วยลูกค้าทำเรื่องเคลมประภันภัยบ้านมาบ้าง ก็เลยจะขอเอาความรู้ในเนื้อหาในบทเรียนของ The American College มาเล่าสู่กันฟังค่ะ

คนส่วนใหญ่ซื้อประกันภัยของเจ้าของบ้านหรือที่เรียกว่า homeowner policy หรือขอเรียกสั้น ๆ ว่า”ประกันบ้าน”นั้นไม่เพียงแต่เพื่อจะให้คุ้มครองความเสียหายที่มีต่อตัวบ้าน แต่ยังคุ้มครองความรับผิดชอบของเจ้าของบ้านอื่น ๆ ที่รวมอยู่ด้วย ดังนั้นประกันบ้านนั้นจึงมีความซับซ้อนหลากหลายมาก มีหลายกรมธรรม์ที่มีการเขียนเงื่อนไขจำกัดความคุ้มครองโดยไม่คุ้มครองในบางกรณี หรือคุ้มครองเพิ่มเติมในเรื่องนอกเหนือไปจากสัญญาปกติ ดังนั้นเวลาซื้อประกันควรจะให้คนขายหาแบบประกันที่คุ้มครองสิ่งที่คุณควรจะได้รับการคุ้มครอง ในมูลค่าที่ควรจะเป็น เพราะถ้าหากว่าคุณคิดว่าประกันทุกอันเหมือนกันหมด หรือซื้อแบบว่าไม่สนใจจนกว่าจะเกิดเหตุ วันนั้นก็อาจจะเป็นวันที่สายไปแล้วก็ได้ เพราะประกันคือสัญญาทางกฏหมายที่คุณซึ่งเป็นผู้เอาประกันทำไว้กับบริษัทประกันภัยหาใช่ทำกับคนที่มาเสนอขายประกันให้คุณไม่ รวมทั้งการที่จะออกการคุ้มครองจะต้องเกิดขึ้นก่อนที่จะเกิดเหตุ และต้องมีเวลาเพียงพอที่ทางบริษัทเขาจะตรวจสอบและออกสัญญาให้ ดังนั้นเป็นหน้าที่ของคุณที่จะต้องมีประกันที่เหมาะสมล่วงหน้า รวมทั้งทำความเข้าใจและตรวจสอบให้ดีก่อนเกิดเหตุค่ะ

ในเรื่องของประกันบ้านนั้นจะมีการคุ้มครองอยู่ 2 ส่วนใหญ่คือ คุ้มครองตัวทรัพย์สิน (property) และคุ้มครองความรับผิดชอบ (liability)

ในส่วนของการคุ้มครองตัวทรัพย์สินนั้นก็จะมีส่วนที่คุ้มครองตัวอาคารหลัก ส่วนที่ไม่ได้ติดกับตัวบ้าน เช่น โรงจอดรถ ส่วนคุ้มครองทรัพย์สินภายในบ้านและทรัพย์สินส่วนตัว คุ้มครองความเสียหายจากการไม่ได้ใช้งาน และอาจมีส่วนที่คุ้มครองในเรื่องอื่น

ส่วนการคุ้มครองความรับผิดชอบ จะเป็นการคุ้มครองความรับผิดชอบส่วนบุคคล คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลและคุ้มครองอื่น ๆ กรณีนี้เหมือนกับว่าเกิดมีใครมาบาดเจ็บในบ้านเรา ตัวประกันบ้านจะให้การคุ้มครองในส่วนนี้ด้วย

ช่วงที่มีภัยธรรมชาติ ส่วนที่คนน่าจะให้ความสนใจมากคือส่วนแรกคือการคุ้มครองตัวอาคารและทรัพย์สิน ส่วนหนึ่งที่คิดว่าอยากพิจารณาให้ดีคือหากเกิดความเสียหายแล้วเราจะได้การชดเชยจากบริษัทประกันเท่าไหร่ ตรงนี้ต้องเอาเรื่องของการประเมินมูลค่าของทรัพย์สินมาพูดกัน เพราะในกรมธรรม์ซึ่งเป็นสัญญาทางกฏหมายนั้นจะมีส่วนที่บอกวิธีประเมินมูลค่าของทรัพย์สินที่ให้การคุ้มครองนั้น ถามว่าตรงนี้สำคัญอย่างไร มันสำคัญเพราะว่าเป็นวิธีที่จะใช้ในการตัดสินว่าบริษัทประกันเขาจะจ่ายให้คุณหากมีการสูญเสีย และแน่นอนว่าน่าจะเป็นมูลค่าที่คุณควรจะมีประกันไว้คุ้มครองค่ะ

วิธีการประเมินมูลค่าแบบแรกเรียกว่า actual cash value จะเป็นแบบที่บริษัทเขาจะจ่ายเงินให้ตามมูลค่าเงินสดจริง ณ วันที่เกิดความสูญเสียแต่จะไม่เกิดกว่ามูลค่าที่ต้องใช้ในการซ่อมแซมหรือนำทรัพย์สินกลับมาในสภาพเดิม ซึ่งผู้เขียนแบบเรียนนั้นได้บอกว่าในสัญญากรมธรรม์จะไม่ได้เขียนออกมาตรง ๆ แต่จะมีจุดที่เขียนว่าเป็น ค่าใช้จ่ายในการนำทรัพย์สินกลับมาให้เหมือนสภาพเดิม (replacement cost) หักลบออกด้วยค่าความเสื่อมทางกายภาพ (physical depreciation) ยกตัวอย่างเช่น ตู้เย็นอายุ 10 ปีหายวับไปกับตาเนื่องจากไฟไหม้บ้าน ตอนที่ซื้อมาราคา 900 เหรียญ แต่ตอนนี้ถ้าซื้อใหม่รุ่นใกล้เคียงกันราคา 1,200 เหรียญ มูลค่า 1,200 เหรียญนี้แหละคือ replacement cost และในกรณีนี้ตู้เย็นเก่าแล้วมีการเสื่อมสภาพไป ตีว่าตู้เย็นปกติมีอายุ 15 ปี เพราะฉะนั้นตู้เย็นนี้ก็จะเหลือมูลค่าแค่ 400 เหรียญซึ่งจะเป็นจำนวนเงินที่บริษัทประกันเขาจะจ่ายให้หากคุณมีสัญญาประเภทนี้

ประกันบ้านที่มีการใช้วิธีการประเมินมูลค่าโดยวิธี replacement cost จะไม่มีการหักความเสื่อมของบ้าน บริษัทประกันจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้เท่ากับค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้านใหม่ในแบบเดียวกันกับวันที่คุณมาทำประกันให้กับคุณ หมายถึงว่าถ้าหากตอนที่เกิดเหตุครัวของคุณยังเป็นแบบเก่า เขาก็จะประเมินราคาครัวเก่า แต่หากคุณจะเอาครัวใหม่ที่มีราคาแพงขึ้นบริษัทประกันเขาก็จะไม่จ่ายให้ค่ะ

มีการประเมินอีก 2 ประเภทซึ่งมักใช้คุ้มครองทรัพย์สินที่ประเมินราคาได้ยาก เช่นของสะสม งานศิลปะต่าง ๆ คือ Agreed Value และ Stated Amount พวกนี้มักจะต้องมีการให้ผู้ประเมินราคาอิสระทำการประเมินมูลค่าทรัพย์สินก่อนการคุ้มครอง

เอาละค่ะมาถึงตรงนี้ก็อยากให้เพื่อน ๆ ทุกคนลองกลับไปดูกรมธรรม์ของคุณเองดูนะคะว่าจะให้ความคุ้มครองแบบไหน ถ้าดูแล้วงง (ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นแบบนั้น) ให้ถามบริษัทประกันว่าหากพรุ่งนี้คุณเกิดความสูญเสียเขาจะชดใช้ให้คุณเท่าไหร่อย่างไร เราคาดการณ์อนาคตไม่ได้ แต่เราเตรียมตัวได้ค่ะ ขอให้ทุกคนโชคดี อยากให้คนไทยช่วยเหลือแบ่งปัน เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันค่ะ

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปไม่ใช่เป็นการให้คำแนะนำ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850)598-1709 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลัง รวมทั้งถ้าอยากจะติดตามบทความย้อนหลังก็สามารถติดตามได้ที่เวบไซด์ของหนังสือพิมพ์ไทยแอลเอ คอลัมน์ประจำฉบับ “เรียนรู้เมื่อต้องอยู่เมืองลุงแซม”

อ้างอิง: Burton T. B. Jr and E. A. Wiening. Fundamentals of Insurance Planning, The American College. 2nd ed.


วลัยพรรณ เกษทอง

28 สิงหาคม 2563