เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง



การคุ้มครองของเมดิแคร์นอกประเทศ

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน ปีใหม่พ.ศ. 2563 นี้ขอเริ่มต้นด้วยการกล่าวคำว่า “สวัสดีปีใหม่ ขอให้ท่านผู้อ่านทุกคนสุขภาพแข็งแรง มีความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปนะคะ

จากที่ได้กล่าวไว้ในฉบับก่อน ๆ ว่า เมดิแคร์เป็นโครงการประกันสุขภาพให้กับสังคมบริหารงานโดยรัฐบาลกลางที่มีมาตั้งแต่ปี 1966 โดยจะให้การประกันสุขภาพกับผู้ที่มีอายุ 65 ปีชึ้นไปซึ่งได้มีการทำงานและจ่ายภาษีเมดิแคร์เข้าสู่ระบบในระหว่างการทำงาน รวมทั้งยังให้บริการกับบุคคลซึ่งทุพพลภาพ เป็นโรคไตวาย (end stage renal disease) หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (amyotrophic lateral sclerosis)

โดยการคุ้มครองของเมดิแคร์โดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 3 ส่วนนั้นคือ การคุ้มครองการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล (เมดิแคร์ พาร์ท เอ) ค่าตรวจรักษาโดยแพทย์และค่าใช้จ่ายทางการแพทย์แบบคนไข้ภายนอก (เมดิแคร์ พาร์ท บี) และการคุ้มครองในส่วนที่เกี่ยวกับยารักษาโรคที่แพทย์สั่ง (Prescription Drug Coverage) หรืออาจจะเรียกว่า เมดิแคร์ พาร์ท ดี ซึ่งจะให้การคุ้มครองผ่านบริษัทประกันกว่า 30 แห่งที่รับดูแลผู้อยู่ในโครงการ ซึ่งแน่นอนว่าก็คุ้มครองหากมีการเจ็บป่วยในทุกกรณีหากมีการรักษาในประเทศสหรัฐ แต่อย่างที่ทราบกันว่ามีผู้สูงอายุชาวไทยจำนวนมากที่กลับไปอยู่เมืองไทย หรือมีการเดินทางไปอยู่เมืองไทยบ่อยมากขึ้น ทำให้เกิดคำถามว่าแล้วเมดิแคร์ที่มีอยู่นั้นจะคุ้มครองได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้นผู้เขียนจึงไปค้นคว้าหาบทความเกี่ยวกับเรื่องการคุ้มครองของเมดิแคร์นอกประเทศมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

จากที่ไปค้นคว้ามา เมดิแคร์สามารถให้การคุ้มครองนอกประเทศได้แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่หลายประการ โดยส่วนใหญ่แล้วเมดิแคร์จะไม่จ่ายค่าบริการทางการแพทย์หรือเครื่องมือเมื่อเราไปทำการรักษานอกประเทศ คำว่า “นอกประเทศ” นั้นหมายถึงบริเวณใดก็ตามที่อยู่นอกเหนือจาก 50 มลรัฐของสหรัฐอเมริกา กรุงวอชิงตันดีซี (เมืองหลวง) และอาณานิคมของสหรัฐฯ อันได้แก่ เปอร์โตริโก้ เกาะยูเอสเวอร์จิ้น กวม อเมริกันซามัวร์และหมู่เกาะนอร์เทิร์นมาริน่า แต่อย่างใดก็ตามก็มีข้อยกเว้นบางประการที่ท่านสามารถได้รับการคุ้มครองในส่วนของเมดิแคร์พาร์ทเอ (การคุ้มครองการรักษาในโรงพยาบาล) และเมดิแคร์พาร์ทบี ในต่างประเทศเช่นกัน

โดยทั่วไปหากท่านเข้ารพ.นอกประเทศ เมดิแคร์จะคุ้มครองด้วยข้อยกเว้นใน 3 กรณีคือ

1. เกิดเหตุการฉุกเฉินทางการแพทย์ในประเทศสหรัฐ แต่โรงพยาบาลนอกประเทศที่สามารถรักษาอาการท่านได้อยู่ใกล้กับท่านมากกว่ารพ.ในประเทศ

2. มีการเดินทางผ่านประเทศแคนาดาด้วยเส้นทางที่ตัดตรงจากรัฐอลาสก้าไปยังรัฐอื่นด้วยเวลาที่ “ไม่ล่าช้าเกินกว่าเหตุ” แล้วเกิดมีเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์เกิดขึ้น และโรงพยาบาลของประเทศแคนาดาใกล้กว่าโรงพยาบาลของสหรัฐซึ่งสามารถรักษาท่านได้ โดยคำว่า “ ไม่ล่าช่าเกินกว่าเหตุ” นั้นทางเมดิแคร์จะประเมินเป็นรายกรณีไป

3. ท่านอาศัยอยู่ในสหรัฐและโรงพยาบาลต่างชาติอยู่ใกล้กับบ้านของท่านมากกว่าโรงพยาบาลของสหรัฐที่สามารถรักษาพยาบาลท่านใด้ โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเหตุฉุกเฉินเท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตามในสถานการณ์เหล่านี้ เมดิแคร์จะจ่ายเพียงแค่การให้บริการที่อยู่ในเงื่อนไขการคุ้มครองของเมดิแคร์ที่ได้รับจากโรงพยาบาลของต่างประเทศเท่านั้น

ฉบับนี้พื้นที่หมดแล้ว ขอยกยอดไปฉบับหน้าจะมาพูดรายละเอียดเพิ่มเติมและให้ตัวอย่างว่าเมดิแคร์พาร์เอ และบี จะคุ้มครองนอกประเทศให้ในกรณีไหนบ้างนะคะ

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ความรู้ทั่วไปมิใช่เป็นการแนะนำทางกฏหมายหรืออื่นใดเฉพาะ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850)598-1709 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลัง ส่วนใครอยากอ่านบทความย้อนหลังก็หาอ่านได้ในคอลัมน์ “เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม” ทางเวบไซด์ของนสพ.ไทยแอลเอได้เลยค่ะ

อ้างอิง: https://www.medicare.gov/Pubs/pdf/11037-Medicare-Coverage-Outside-United-Stat.pdf

วลัยพรรณ เกษทอง

3 มกราคม 2563