เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง



กระบวนการค้ามนุษย์

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน วันก่อนไปงานเฉลิมฉลองครบรอบ 26 ปีของคดีการค้าแรงงานทาสของกลุ่มคนงานโรงงานเสื้อผ้าของคนไทยซึ่งจัดโดยศูนย์ส่งเสริมชาวไทย คดีนี้เป็นคดีที่โด่งดังมาก เมื่อ 26 ปีที่แล้วมีคนไทย 72 คนถูกกักตัวไว้เป็นแรงงานในโรงงานผลิตเสื้อผ้าในเมืองเอล มอนเต้ รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งในวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1955 ทีมซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้บริหารท้องถิ่นและคุณแชนซี่จากศูนย์ส่งเสริมชาวไทยก็ได้เข้าไปช่วยเหลือคนงานเหล่านี้ออกมา ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เข้าข่ายเรียกว่าเป็นกระบวนการค้ามนุษย์ (Human trafficking)

กระบวนการค้ามนุษย์ (Human Trafficking) หมายถึงกิจกรรมการค้ามนุษย์ซึ่งส่วนใหญ่รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบังคับให้คนมาทำงานให้ การเป็นทาสทางกามรมณ์ หรือการค้าบริการทางเพศ พวกนี้อาจจะรวมถึงการที่ถูกบังคับขืนใจให้แต่งงานหรือบังคับให้บริจาคอวัยวะหรือชิ้นเนื้อของร่างกาย เช่น การอุ้มบุญหรือการเอาไข่จากเพศหญิง การค้ามนุษย์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ อย่างกรณีที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาก็เป็นการค้าขายกันข้ามชาติเลยทีเดียว ในระดับสากลถือว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการทำอาชญากรรมกับผู้ที่ถูกกระทำหรือเหยื่อ เพราะว่าเป็นการเหยียดหยามสิทธิ์ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเหยื่อให้การที่จะมีอิสระ รวมทั้งมีการใช้ประโยชน์เหยื่อเพื่อการค้าอีกด้วย ซึ่งเหยื่อส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงและเด็ก

จากข้อมูลของ ILO ในปี 2012 พบว่ามีคนที่เป็นเหยื่อจากการเป็นทาสยุคใหม่ถึง 21 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้มี 14.2 ล้านคน (68%) เป็นเหยื่อในการถูกใช้ให้ทำงาน 4.5 ล้านคน (22%) เป็นเหยื่อในการบริการทางเพศ และ 2.2 ล้านคน (10%) เป็นเหยื่อที่ถูกบังคับให้ทำงาน เพียงแค่กระบวนการบังคับขืนใจคนมาทำงาน (forced labor) ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการค้ามนุษย์ก็ยังทำเงินได้ถึง $150 พันล้านสหรัฐต่อปี (ข้อมูลปี 2014) ทำให้กระบวนการค้ามนุษย์มีเกิดขึ้นเรื่อย ๆ และเจริญเติบโตขยายไปทั่วโลก จากข้อมูลยังพบว่าเหยื่อส่วนใหญ่ถึง 11.7 ล้านคน (56%) อยู่ในประเทศในแถบเอเชีย

จากปัญหาดังกล่าวกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐจึงได้ก่อตั้ง Blue Campaign ขึ้นมาเพื่อหยุดยั้งกระบวนการค้ามนุษย์ โดยเป็นการร่วมกันทำงานประสานกันขององค์กรภาครัฐและเอกชน เพื่อที่จะนำสิทธิ์เสรีภาพพื้นฐานของมนุษย์กลับมาและนำพวกที่หาประโยชน์จากมนุษย์ด้วยกันไปเข้ากระบวนการยุติธรรม

ขอให้จำไว้ว่าคนพวกนี้เป็นเหยื่อไม่ได้สมัครใจและต้องการความช่วยเหลือ ดังนั้นพวกเราจึงสามารถช่วยเขาได้อันดับแรกจากการสังเกตว่าใครเป็นเหยื่อ กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิได้แนะนำไว้บนเวบไซด์ว่าถ้าท่านพบผู้ที่สงสัยว่าอาจเป็นเหยื่อ อย่าเพิ่งไปพูดคุยกับผู้ค้าหรือเหยื่อ เพราะคุณและเหยื่ออาจจะไม่ปลอดภัย แต่ให้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องถิ่นที่อยู่โดยตรงหรือโทร.ไปที่สายด่วนของ ICE หมายเลข 1-866-347-2423 เพื่อที่จะรายงานพฤติกรรมที่น่าสงสัยว่าจะเข้าข่ายเพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้ไปตรวจสอบ สำหรับผู้ที่อยู่นอกประเทศให้โทร.ไปแจ้งที่หมายเลข 802-872-6199 หรือสามารถส่งรายงานได้ที่เวบไซด์ www.ice.gov/tips

ส่วนผู้ที่เป็นเหยื่อหรือต้องการความช่วยเหลือ สามารถโทร.ไปหา NHTH ได้ที่เบอร์ 1-888-373-7888 หรือส่งข้อความว่า “HELP หรือ INFO” ไปที่หมายเลข 233733 (BeFree) โดยเจ้าหน้าที่จะช่วยเหลือในการส่งต่อไปยังผู้ช่วยเหลือในท้องถิ่นที่เหยื่ออยู่ องค์กร NHTH นี้ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่บังคับกฏหมายหรือเจ้าหน้าที่อิมมิเกรชั่น เพียงแต่เป็นองค์กรส่วนบุคคลที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเท่านั้น

อย่าลืมว่า การที่คุณช่วยสืบค้นหาผู้ที่เป็นเหยื่อหรือรายงานกิจกรรมของการค้ามนุษย์ คุณได้ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถช่วยเหลือเหยื่อและอาจจะช่วยชีวิตคนอีกหลายคนก็ได้ ขอให้ท่านผู้อ่านและพวกเราชุมชนชาวไทยร่วมด้วยช่วยกันนะคะ

ก่อนจากไปมีข่าวมาแจ้งสำหรับคนที่ยังไม่มีประกันสุขภาพ ในปีนี้ทางรัฐบาลใหม่ของลุงโจ ไบเดน ภายใต้ American Rescue Plan ได้เปิดช่วงลงทะเบียนพิเศษสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยมีประกันสุขภาพให้เต็มที่เลย ดังนั้นใครยังไม่มีประกันสุขภาพติดต่อตัวแทน หรือเข้าไปทำเรื่องเองได้ที่เวบไซด์ www.coveredca.com (สำหรับคนในแคลิฟอร์เนีย) และ www.healthcare.gov (สำหรับคนที่อยู่รัฐอื่น) หรือถ้าต้องการความช่วยเหลือหรือมีคำถามก็ติดต่อผู้เขียนได้ค่ะ

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปไม่ใช่เป็นการให้คำแนะนำ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850) 598-1709 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลังค่ะ


อ้างอิง: http://www.ilo.org/global/topics/forced-labour/policy-areas/statistics/lang--ja/index.htm https://www.dhs.gov/blue-campaign/identify-victim


วลัยพรรณ เกษทอง

13 สิงหาคม 2564