เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง
พฤศจิกายนคือเดือนแห่งความตื่นตัวในเรื่องของภาวะเจ็บป่วยระยะยาว

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน ผ่านไปสด ๆ ร้อน ๆ นะคะ สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปกลางเทอมของประธานาธิบดีทรัมป์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ตอนนี้ก็รอฟังผลกันอย่างเป็นทางการว่าจะเป็นอย่างไร ในระหว่างที่รอผลการเลือกตั้งก็จะขอพูดถึงอีกเรื่องที่ชาวลุงแซมให้ความสนใจในเดือนพฤศจิกายนเช่นกันคือ ความตื่นตัวในเรื่องของภาวะเจ็บป่วยระยะยาวกันค่ะ

เดือนพฤศจิกายนของทุกปีได้ถูกตั้งให้เป็น “เดือนแห่งความตื่นตัวในเรื่องของภาวะเจ็บป่วยระยะยาว หรือที่เราจะเห็นตามหน้าสื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Long Term Care Awareness Month” ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001โดยองค์กร American Association of Long Term Care Insurance เป้าหมายก็เพื่อให้ผู้คนมาสนใจตื่นตัวกับการมีประกันที่คุ้มครองภาวะเจ็บป่วยระยะยาว (Long Term Care Insurance) และเตรียมตัวพวกเขาให้พร้อมกับการที่อาจจะต้องไปอยู่ในสภาวะนี้ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

ภาวะเจ็บป่วยระยะยาว (Long Term Care) ตามนิยามที่ใช้กันทั่วไป หมายถึงภาวะที่คนต้องการผู้ดูแลช่วยเหลือในกิจกรรมประจำวัน อันได้แก่ การอาบน้ำ การรับประทานอาหาร การเคลื่อนย้ายตัวเอง การเข้าห้องน้ำ การขับถ่าย และภาวะนี้คาดว่า (โดยแพทย์) จะเป็นอย่างต่อเนื่องต่อไปอย่างน้อย 90 วัน หรือในบางกรณีก็หมายถึงผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมด้วย แน่นอนว่าท่านผู้อ่านจะต้องนึกถึงผู้สูงวัยที่มีอายุหลังเกษียณอย่างแน่นอน แต่จริงแล้วภาวะนี้ก็มีเกิดขึ้นกับผู้ที่อายุน้อยกว่านี้ได้เช่นกันค่ะ

เดือนแห่งภาวะเจ็บป่วยระยะยาวแห่งชาตินี้ เป็นช่วงที่ประชาชนชาวเมืองลุงแซมจะพูดถึงสถิติและข้อมูลที่เกี่ยวกับภาวะเจ็บป่วยระยะยาวกันมาก ซึ่งขอยกเอาบางส่วนมาเล่าตรงนี้ค่ะ

- 78% ของผู้ใหญ่ที่อยู่ในภาวะเจ็บป่วยระยะยาวหากอาศัยอยู่ในบ้านจะต้องพึ่งพาอาศัยครอบครัวหรือเพื่อนฝูงมาดูแลเป็นหลัก

- ผู้ดูแลผู้ป่วยโดยเฉลี่ยจะเป็นผู้หญิงที่อายุประมาณ 46 ปี

- โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยจะใช้เวลาประมาณ 21 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในการช่วยเหลือผู้ป่วยหรือดูแลสมาชิกในครอบครัว

- มากกว่า 90% ของผู้ดูแลผู้ป่วยในครอบครัวจะต้องปรับตารางการทำงานอย่างถาวรเพื่อจะได้มาดูแลคนที่พวกเขารัก

- ประมาณ 40% ชองผู้ดูแลผู่ป่วยต้องเปลี่ยนจากการทำงานประจำมาเป็นการทำงานชั่วคราว

- เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ต้องพักการวางแผนการหยุดพักร้อนและกิจกรรมส่วนตัวอื่นเพื่อที่จะมีเวลาพอที่จะมาดูแลคนที่พวกเขารัก

- 29% ต้องใช้เงินส่วนตัวของเขาสำหรับการหาคนมาดูแล

- ผู้ดูแลผู้ป่วยมากกว่า 10% ต้องย้ายที่อยู่ไปอยู่ใกล้กับคนในครอบครัวเพราะต้องการไปดูแลผู้ป่วย

- ผู้ดูแลผู้ป่วยประมาณ 10% ต้องยอมโดนลดเงินเดือนแม้จะทำงานประจำที่เดิม

ในยุคโซเชี่ยลมีเดียนี้ หากท่านต้องการที่จะช่วยเหลือให้คนมีความตื่นตัวกับเรื่องนี้ท่านสามารถแชร์บทความนี้กับคนที่รู้จักได้ รวมทั้งแสดงความชื่นชมกับผู้ที่เสียสละเป็นผู้ดูแลผู้ป่วย และทำความเข้าใจกับสภาวะทางอารมณ์และการเงินของผู้อยู่ในภาวะเจ็บป่วยระยะยาว ยิ่งเราเข้าใจคนเหล่านี้มากเท่าไหร่เราก็จะสามารถเตรียมพร้อมตัวเองทั้งทางใจและทางการเงินไว้เมื่อวันที่เราจะอยู่ในภาวะนี้มาถึง และไม่กลายเป็นภาระของคนที่เรารัก

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าผู้ดูแลผู้ป่วยจะต้องเสียสละมากมายในการที่จะต้องดูแลผู้ป่วย หากท่านมีลูกหลานก็ควรจะเริ่มคิดถึงว่าเมื่อท่านอยู่ในภาวะนั้นใครจะมาดูแลท่านได้แล้ว หรือถ้าหากว่าไม่มีใครหรือว่าลูกหลานอยูไกล อีกทางหนึ่งที่พอจะช่วยเหลือท่านในภาวะนั้นได้ก็คือ ประกันสุขภาพแบบที่คุ้มครองภาวะเจ็บป่วยระยะยาว (Long Term Care Insurance ) ค่ะ ท่านที่สนใจเกี่ยวกับตัวเลือกนี้สามารถสอบถามกับตัวแทนของบริษัทที่ขายประกันเหล่านี้ ประกันประเภทนี้มีอยู่หลายแบบทั้งแบบที่เรียกว่า stand alone (คุ้มครองอย่างเดียวล้วน) แบบ hybrid (ผสมกับประกันชีวิตหรือมีเงินสะสมด้วย) หรือ riders (อยู่เป็นอนุสัญญาของประกันชีวิต) จึงควรจะถามตัวแทนและอ่านเอกสารสัญญาให้ชัดเจนว่าคุ้มครองแบบไหน เพื่อให้แน่ใจว่าท่านจะได้ใช้ในสิ่งที่เตรียมไว้ในยามที่จำเป็นต้องใช้ค่ะ

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปไม่ใช่เป็นการให้คำแนะนำ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850) 598-1709 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลัง


วลัยพรรณ เกษทอง
7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561