เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง



การเตรียมตัวสำหรับภาวะไฟไหม้ป่า (Wildfire)

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน สด ๆ ร้อน ๆ ตอนที่กำลังเขียนบทความอยู่นี่ก็มีไฟป่าลามอยู่แถบเมืองซานตาครูธ ทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย ก็ขอส่งกำลังใจไปให้พี่น้องชาวไทยที่กำลังประสบภัยด้วยนะคะ ในช่วงนี้อากาศในแคลิฟอร์เนียร้อนจัด ทำให้ไม่มีความชุ่มชื้น ใบไม้ในป่าที่แห้งกรอบก็เป็นเชื้อไฟได้อย่างดี ดังนั้นหน้านี้จึงถือเป็นหน้าฤดูไฟป่าทีเดียว ดังนั้นฉบับนี้เราจะขอพูดถึงการปฏิบัติตัวในสถานการณ์ไฟป่าจากคำแนะนำของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Department of Homeland Security) มาให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบค่ะ

ไฟป่านั้นสามารถทำลายบ้านเรือนและทำให้เกิดความเสียหายกับบุคคล สัตว์เลี้ยง ซึ่งในบางครั้งอาจถึงแก่ชีวิตได้ ไฟป่าหมายถึงไฟที่เผาพื้นที่ทางธรรมชาติ เช่น ป่า ทุ่งหญ้า โดยไม่ได้เกิดจากการวางแผนเอาไว้

ไฟป่าสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยจากการกระทำของมนุษย์หรือการจุดไฟ ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วม ทำให้การเดินทางและสาธารณูปโภคและการสื่อสารหยุดชะงัก สามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้เมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งความเสี่ยงในการเกิดไฟป่าจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่มีฝนตกน้อยและลมแรง ในแต่ละปีไฟป่าทำความเสียหายให้กับรัฐบาลกลางของสหรัฐหลายพันล้านเหรียญ

หากคุณได้รับการแจ้งเตือนว่าจะมีไฟป่า ให้หาที่อยู่ที่ปลอดภัยทันที ให้อพยพหากมีคำสั่งออกมา หากติดอยู่ไม่สามารถไปไหนได้ให้โทร.แจ้ง 911 ให้พยายามฟังข่าวสารและคำแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน และใส่หน้ากาก N-95 เพื่อกรองฝุ่นละอองขณะที่ท่านหายใจ

วิธีที่ทำให้ท่านปลอดภัยในขณะที่มีไฟป่าใกล้เข้ามา


เตรียมพร้อมทันที

• เป็นสมาชิกระบบการแจ้งเตือนของชุมชนของท่าน เช่น EAS และ NOAA มีระบบการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน

• ทำความคุ้นเคยกับแผนการอพยพในชุมชนของท่านและมองหาเส้นทางที่จะอพยพออกนอกบริเวณไว้หลาย ๆ เส้นทาง ขับรถไปในเส้นทางอพยพและหาที่หลบภัย ควรวางแผนให้กับสัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์ (สำหรับคนทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์) ของท่านด้วย

• รวบรวมอุปกรณ์และสิ่งของเครื่องใช้สำหรับยามฉุกเฉิน ซึ่งต้องมีหน้ากาก N-95 ซึ่งช่วยกรองอนุภาคขนาดเล็กเวลาท่านหายใจได้ จำไว้ว่าทุกคนมีความต้องการไม่เหมือนกัน เช่น มีแผนสำหรับผู้ที่เป็นโรคหอบหืดและจัดเตรียมยาประจำตัว และอย่าลืมว่าสัตว์เลี้ยงของท่านก็มีความต้องการแบบของเขาเหมือนกัน

• กำหนดให้ห้องนอนห้องหนึ่งที่สามารถปิดแยกออกจากอากาศด้านนอกได้ (เป็นห้องหลบภัย) ปิดประตูและหน้าต่างทุกบาน ตั้งเครื่องฟอกอากาศแบบพกพาเพื่อรักษาให้ระดับของมลพิษทางอากาศให้ต่ำหากมีสภาพที่มีควันไฟเกิดขึ้น

• เก็บเอกสารสำคัญไว้ในที่ปลอดภัยและกันไฟได้ ตั้งพาสเวิร์ดสำหรับเอกสารทางอิเลคทรอนิค

• ใช้วัสดุกันไฟในการสร้าง ปรับปรุงหรือซ่อมแซม

• หาแหล่งน้ำทางด้านนอกซึ่งมีท่อน้ำที่สามารถลากไปถึงทุกบริเวณของบ้านได้

• จัดตั้ง “แนวกันไฟ” ซึ่งไม่มีใบไม้ ซากสิ่งของหรือวัสดุที่ติดไฟได้ เป็นระยะอย่างน้อย 30 ฟุตจากตัวบ้าน

• ตรวจสอบเอกสารการคุ้มครองประกันภัยของท่านเพื่อให้แน่ใจว่ามีประกันคุ้มครองเพียงพอสำหรับการชดเชยการสูญเสียทรัพย์สินของท่าน

• ใส่ใจกับการแจ้งเตือนคุณภาพทางอากาศ


ระหว่างที่มีไฟป่า

• หนีทันทีหากเจ้าหน้าที่บอกให้ไป

• หากติดอยู่ ให้แจ้ง 911 และบอกสถานที่ท่านติดอยู่ แต่ให้ระลึกไว้ว่าการมาช่วยเหลืออาจมีความล่าช้าหรืออาจเป็นไปไม่ได้ ท่านควรเปิดไฟฟ้าทิ้งไว้เพื่อให้หน่วยกู้ภัยหาท่านพบ

• ฟังวิทยุของ EAS และ NOAA หรือระบบการเตือนภัยท้องถิ่นเพื่อติดตามข้อมูลและคำแนะนำ

• หากท่านไม่ได้ถูกสั่งให้อพยพแต่มีสภาพควันไฟ ให้อยู่ด้านในในพื้นที่ปลอดภัยหรือไปอยู่ที่ตึกของชุมชนซึ่งระดับควันน้อยกว่า หลังจากเกิดไฟป่า

• รอฟังการแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าปลอดภัยจนสามารถกลับเข้าบ้านได้เมื่อไหร่ หรือน้ำดื่มสะอาดพอที่จะดื่มได้เมื่อไหร่

• หลีกเลี่ยงสัมผัสเถ้าที่ยังร้อนอยู่ ต้นไม้ที่ถูกเผาไหม้เกรียม ซากที่ยังร้อนระอุ และสิ่งของที่ยังครุกรุ่นอยู่ บนพื้นอาจมีประจุไฟซึ่งสามารถลวกคุณหรือทำให้เกิดประกายไฟขึ้นมาอีกได้ รวมทั้งเฝ้าระวังอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงของท่านจากสิ่งเหล่านั้นด้วย

• ส่งข้อความทางโทรศัพท์หรือใช้สื่อออนไลน์ในการที่จะติดต่อกับครอบครัวและเพื่อนฝูง หลังภัยพิบัติระบบโทรศัพท์มักจะมีคนใช้มาก การโทรศัพท์หาใครควรจะทำเฉพาะเรื่องฉุกเฉินเท่านั้น

• ใส่เครื่องช่วยหายใจที่ได้รับการรับรองจาก NOISH แล้ว (NOISH certified-respirator) และชะล้างคราบบนหน้าให้เปียกเพื่อช่วยลดการหายใจเอาฝุ่นเข้าไป

• บันทึกความเสียหายของทรัพย์สินด้วยการถ่ายภาพ ทำการจดรายงานสิ่งของที่มีและติดต่อบริษัทประกันภัยเพื่อขอความช่วยเหลือ

• ไฟป่าจะทำให้สภาพบริเวณและพื้นดินเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมเนื่องจากฝนตกหนัก น้ำบ่าหรือโคลนถล่มได้ ความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมจะยังมีสูงขึ้นจนกว่าพืชพรรณที่ปกคลุมดินจะกลับมาเจริญเติบโตอีกครั้ง ซึ่งอาจใช้เวลาถึง 5 ปีหลังจากไฟป่า ดังนั้นจึงควรพิจารณาซื้อประกันคุ้มครองความเสียหายจากน้ำท่วม (flood insurance) เพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินจากน้ำท่วมที่อาจเกิดได้ในอนาคต

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปไม่ใช่เป็นการให้คำแนะนำ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850)598-1709 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลัง รวมทั้งถ้าอยากจะติดตามบทความย้อนหลังก็สามารถติดตามได้ที่เวบไซด์ของหนังสือพิมพ์ไทยแอลเอ คอลัมน์ประจำฉบับ “เรียนรู้เมื่อต้องอยู่เมืองลุงแซม”


อ้างอิง: https://www.ready.gov/wildfires


วลัยพรรณ เกษทอง

21 สิงหาคม 2563