เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง



เดือนแห่งความตื่นตัวเกี่ยวกับประกันชีวิต (Life Insurance Awareness Month) ในช่วงไวรัสระบาด

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน เดือนกันยายนของทุกปีถือเป็นเดือนที่มีความสำคัญต่ออาชีพการงานหลักของผู้เขียนเลยก็ว่าได้ค่ะ เนื่องจากเดือนนี้คือ “เดือนแห่งความตื่นตัวเกี่ยวกับประกันชีวิต (Life Insurance Awareness Month หรือ LIAM) ซึ่งปีนี้มีดาราสาวบรู๊ค ชีลด์ ขวัญใจของผู้เขียนมาเป็นผู้นำแคมเปญนี้อีกครั้ง ดังนั้นฉบับนี้จึงขอใช้พื้นที่พูดถึงเรื่องความสำคัญของประกันชีวิตกันค่ะ

คนเราส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนเอเชียจะไม่ค่อยชอบพูดถึงเรื่องความตายเพราะบางท่านก็เชื่อถือโชคลาง ไม่อยากพูดถึงสิ่งที่ไม่ดีทั้งที่ความตายนั้นเป็นธรรมชาติที่เกิดมาพร้อมกับการเกิดของมนุษย์ทุกผู้ตัวตน คนหลายคนนั้นชีวิตไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวแต่ต้องเป็นผู้ดูแลคนอื่นหรือมีภาระหน้าที่หรือหนี้สินที่จะต้องรับผิดชอบ เช่น เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นเจ้าของบริษัท เป็นลูกหนี้กับสถาบันทางการเงิน เป็นต้น นั่นจึงเป็นที่มาของ “ประกันชีวิต” ซึ่งจะช่วยถ่ายเทความเสี่ยงของการสูญเสียชีวิตของคนผู้หนึ่งไปยังบริษัทประกัน โดยเสียค่าใช้จ่ายในการคุ้มครองเพียงส่วนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผลประโยชน์จำนวนมากที่จะสามารถนำไปช่วยเหลือครอบครัวหรือชดเชยความเสียหายจากการเสียชีวิตนั้นได้

จากการศึกษาของ Life Happens และ LIMRA ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของประกันชีวิต พบว่า 1 ใน 3 ของครอบครัวสหรัฐฯ จะเกิดปัญหาอย่างฉับพลันในการจ่ายค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตภายใน 1 เดือนหากหัวหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัวนั้นเสียชีวิต และยังพบอีกว่ามีครอบครัว 40 เปอร์เซนต์ยังไม่ได้ซื้อประกันชีวิต และที่มากกว่านั้นที่ไม่ได้ซื้อก็เพราะว่าไม่แน่ใจว่าจะซื้อประกันประเภทไหนและซื้อในการคุ้มครองเท่าไหร่ดี ดังนั้นในเดือนกันยายนของทุกปี องค์กร Life Happens ได้จัดแคมเปญรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องประกันชีวิตขึ้นมาเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของประกันชีวิตและช่วยเหลือพวกเขาให้สามารถตัดสินใจแสวงหาความคุ้มครองที่พวกเขาจำเป็นต้องมีกันค่ะ

ในปีนี้ สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้คนเกิดความตื่นตัวถึงความเปราะบางของชีวิตและเสถียรภาพทางการเงิน ถึงแม้คนเราโดยทั่วไปจะเห็นความจริงถึงคุณค่าของประกันชีวิต แต่จากการวิจัยของ LIMRA พบว่าชาวอเมริกัน 46% ไม่ได้มีประกันชีวิตและมากกว่านั้นก็มีประกันคุ้มครองไม่เพียงพอ โดยก่อนที่จะมีสถานการณ์แพร่ระบาด เกือบ 1 ใน 3 ของครอบครัวกล่าวว่า “จะเกิดปัญหาอย่างฉับพลันในการจ่ายค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตภายใน 1 เดือนหากหัวหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัวนั้นเสียชีวิต” ฟังดูแล้วน่าเป็นห่วงนะคะ ลองคิดถึงตัวคุณและครอบครัวคุณดูว่าหากเกิดเหตุนั้นแล้วจะเป็นอย่างไร

จากการศึกษาของ LIMRA ในปี 2020 พบว่ามากกว่าครึ่ง (54%) ของชาวอเมริกันที่เป็นผู้ใหญ่ (อายุเกินกว่า 18 ปี) มีประกันชีวิตประเภทใดประเภทหนึ่ง คนอเมริกัน 36 % ไม่มีประกันชีวิตและกล่าวว่าพวกเขาอยากจะซื้อประกันชีวิตภายในอีก 12 เดือนข้างหน้า ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คนอเมริกันมากกว่าครึ่ง (53%) บอกถึงความจำเป็นสำหรับการคุ้มครองชีวิตอย่างมากเนื่องจากไวรัสโควิด-19 ผู้หญิงจะเป็นเจ้าของประกันชีวิตน้อยกว่าผู้ชาย มีผู้หญิงเพียง 47% เท่านั้นที่มีประกันชีวิตในขณะที่ผู้ชายมีถึง 53%

สำหรับเหตุผลที่คนอเมริกันซื้อประกันชีวิตนั้น ครึ่งหนึ่งบอกว่าพวกเขาต้องการใช้สิทธิ์ประโยชน์จากการคุ้มครองไปทดแทนการสูญเสียรายได้หากหัวหน้าครอบครัวเกิดเสียชีวิตไป โดยเหตุผลหลักอันดับต้นที่คนซื้อประกันคือ คุ้มครองค่าใช้จ่ายในการทำศพและค่าใช้จ่ายอื่นในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต (84%) ส่งต่อทรัพย์สินให้หรือทิ้งมรดกให้กับคนข้างหลัง (66%) ช่วยชดเชยรายได้ของผู้ทำงานมีรายได้ (62%) และเสริมรายได้ในช่วงเกษียณอายุ (57%) ซึ่งจากปีค.ศ. 2018-2020 เหตุผลในการซื้อประกันชีวิตเปลี่ยนแปลงไปคือในปี ค.ศ. 2020 ความต้องการคุ้มครองค่าใช้จ่ายในการทำศพน้อยลงแต่ความต้องการเก็บสะสมเงินเพื่อเสริมในช่วงเกษียณอายุกลับเพิ่มขึ้น

คนอเมริกันถึง 41 ล้านคนหรือ 16 % บอกว่าพวกเขาจำเป็นต้องมีประกันชีวิตแต่ยังไม่ได้มีการคุ้มครอง โดยเหตุผล 3 อันดับแรกที่คนไม่ซื้อประกันชีวิต (หรือไม่ซื้อเพิ่ม) คือ ต้องเอาเงินไปใช้อย่างอื่นที่สำคัญกว่า (67%) ราคาแพงเกินไป (65%) และไม่คิดว่าจำเป็นต้องมี (56%) โดยกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มคนอายุน้อยหรือที่เรียกว่ามิลลิเนียลเป็นกลุ่มที่ประเมินราคาของประกันชีวิตแบบเทอมเอาไว้สูงเกินจริงมากกว่ากลุ่มอื่น โดยครึ่งหนึ่งคาดว่าประกันชีวิตแบบเทอมที่คุ้มครอง 250,000 เหรียญสำหรับคนอายุ 30 ปีที่สุขภาพดีนั้นจะต้องจ่ายเบี้ยประกันอย่างน้อย 1,000 เหรียญต่อปี (ทั้งที่ความจริงแล้วค่าเฉลี่ยเบี้ยประกันเพียงแค่ปีละ 160 เหรียญเท่านั้นเอง)

“ข้อมูลไม่เคยโกหก (Facts don’t lie)” เพราะฉะนั้นหลังอ่านข้อมูลที่เขาไปศึกษากันมาแล้ว ทางผู้เขียนก็ขอสนับสนุนให้ท่านผู้อ่านเล็งเห็นถึงความสำคัญของประกันชีวิต รวมทั้งควรจะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ น่าเชื่อถือและมีใบอนุญาตในการขายประกันชีวิตเท่านั้นเพื่อจะได้ทราบว่าท่านควรจะต้องทำประกันประเภทไหนเท่าไหร่อย่างถูกต้อง แต่หากท่านยังอ้อยอิ่งตัดสินใจไม่ได้หรือรอเวลาก็เท่ากับท่านทิ้งคนที่พึ่งพาอาศัยท่านอยู่ในความเสี่ยงที่จะต้องสูญเสียสภาพการเงินของครอบครัวนอกเหนือไปจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก เราควรจะคิดแบบ ”ปลอดภัยกันไว้ก่อนดีกว่าจะต้องเสียใจภายหลัง” แบบที่ฝรั่งเขาบอกว่า “Better safe than sorry” นะคะ ส่วนท่านที่ไม่ได้มีภาระความรับผิดชอบกับใครการซื้อประกันชีวิตก็มีข้อดีคือสามารถช่วยสร้างมรดกไว้ให้กับคนที่ท่านรักที่มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดหรืออาจจะใช้เป็นที่เก็บเงินเสริมยามเกษียณด้วยเช่นกันค่ะ

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปไม่ใช่เป็นการให้คำแนะนำ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850)598-1709 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลัง

อ้างอิง: https://www.limra.com/globalassets/limra/newsroom/liam/2020/liam-facts-2020-final.pdf


วลัยพรรณ เกษทอง

11 กันยายน พ.ศ. 2563