เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง



เดือนพฤษภาคมคือเดือนแห่งการฉลองรากเหง้าชาวเอเชียของเรา

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน หลายฉบับที่ผ่านมาได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับการขอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลในหลายรูปแบบมาหลายสัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขอเครดิตภาษีของเจ้าของธุรกิจ เรื่องเงินช่วยเหลือผลกระทบทางเศรษฐกิจ (EIP) การขอเงินคนตกงานสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ (PUA) เป็นต้น ฉบับนี้ก่อนจะหมดเดือนพฤษภาคมซึ่งถือเป็นเดือนที่มีความสำคัญกับพวกเราชาวเอเชีย จะขอพักเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ไปพูดถึงเรื่องเบา ๆ ให้ความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของ “เดือนแห่งรากเหง้าของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย-แปซิฟิก (Asian Pacific American Heritage Month) กันค่ะ

เดือนพฤษภาคมของทุกปีได้ถูกสถาปนาเป็นเดือนแห่งรากเหง้าของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งจะมีการเฉลิมฉลองการเข้ามาตั้งรกรากของคนกลุ่มดังกล่าวในประเทศนี้ คนกลุ่มที่ว่านี้จะประกอบด้วยคนจากชาติในเอเชียทั้งหมด กลุ่มชาติหมู่เกาะแปซิฟิกของเมลานีเซียน (เช่น นิวกินี นิวคาลีโดเนีย ฟิจิ เป็นต้น) กลุ่มชาติหมู่เกาะไมโครนีเซีย (เช่น กวม เป็นต้น) และกลุ่มชาติหมู่เกาะโพลีนีเซีย (เช่น นิวซีแลนด์ หมู่เกาะฮาวาย อเมริกันซามัว เป็นต้น)

การสถาปนาเดือนแห่งรากเหง้าของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย-แปซิฟิก ได้ถือกำเนิดโดยสภาคองเกรส โดยวุฒิสมาชิกแฟรงค์ ฮอร์ตันจากรัฐนิวยอร์คได้มีความพยายามที่จะผ่านกฏหมายตั้งแต่ปี ค.ศ.1977 และมาสำเร็จได้รับการลงนามโดยประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ในวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1978 โดยในตอนแรกจะมีการกำหนดเพียงแค่ 1 สัปดาห์โดยเริ่มต้นจากวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1979 ให้เป็นสัปดาห์แห่งรากเหง้าของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย/แปซิฟิก จากนั้นก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงกฏหมายในปี ค.ศ. 1992 โดยเริ่มต้นกำหนดให้เดือนพฤษภาคมของทุกปีเป็นเดือนแห่งรากเหง้าของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย-แปซิฟิก เป็นต้นมา

เหตุผลที่เลือกเดือนพฤษภาคมเพราะเป็นเดือนที่ชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาในวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ.1843 รวมทั้งเป็นเดือนที่มีการเฉลิมฉลองการครบรอบการสร้างทางรถไฟข้ามรัฐในวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ.1869 อีกด้วย โดยคนงานก่อสร้างทางรถไฟส่วนใหญ่ในตอนนั้นก็เป็นขาวจีนอพยพ

สำหรับกลุ่มคนไทย จากที่ได้มีหลักฐานบ่งบอกนั้นพบว่ามาตั้งแต่สมัย คู่แฝดอิน-จัน บังเกอร์หรือที่ฝรั่งรู้จักกันดีในนามของ “แฝดสยาม (Siamese twins) ซึ่งมีเชื้อสายไทย-จีน ในปี ค.ศ. 1830 พวกเขาเข้ามาแสดงโชว์และเมื่อตั้งใจตั้งรกรากอยู่ที่เมืองไวท์เพลนส์ รัฐนอร์ธคาโรไลน่า เขาก็ได้ตั้งชื่อสกุล “บังเกอร์ (Bunker) และแต่งงานมีลูกหลานจำนวนมาก

การอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศสหรัฐฯ ของคนไทยเป็นไปอย่างช้า ๆ โดยเริ่มต้นยุคแรกในระหว่างสงครามเวียดนาม ซึ่งประเทศไทยได้เป็นพันธมิตรกับสหรัฐและเวียดนามใต้ พบว่าในระหว่างปี ค.ศ. 1960-1970 มีคนไทยจำนวน 5 พันคนอพยพเข้ามา และหลังจากนั้นก็ได้เพิ่มปริมาณมาเป็นหลักหมื่นหลักแสน ซึ่งจากข้อมูลสัมมะโนประชากรปี 2009 มีคนกว่าสามแสนคนที่ระบุว่าตัวเองเป็นคนไทย

แน่นอนค่ะว่านครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนียที่ผู้เขียนและสำนักพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ไทยแอลเออยู่ เป็นเมืองที่คนไทยอาศัยอยู่มากที่สุดนอกประเทศไทย ซึ่งที่นี่ก็มีการตั้งไทยทาวน์ขึ้นเป็นแห่งแรกโดยการโหวตของสภาเมืองในวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1999 และในปัจจุบันคาดว่ามีคนไทยอยู่ในเมืองเกินกว่าแสนคน

สิ่งที่ทำให้คนต่างชาติรู้จักชาติไทยมากที่สุดก็คือ อาหารไทย อาหารไทยเป็นที่นิยมไปทั่วประเทศ หรือบางครั้งก็มีการนำเอาอาหารและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหารของไทยเข้าไปประยุกต์กับอาหารของต่างชาติเช่นกัน

ในเรื่องของการเมือง คนไทยของเรายังไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองมากเท่าชาติเอเชียนอื่น ๆ แต่เราก็เคยมีนักการเมืองคนไทย-อเมริกันที่ได้รับตำแหน่งในการเมืองท้องถิ่น คือคุณกอพัฒน์ เฮนรี่ เจริญ ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งในการเมืองของสหรัฐ ในตำแหน่งของสมาชิกสภาเมืองลาพาลม่าในปี 2006 และได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการเมืองลาพาลม่าในปี 2007

อีกท่านที่มีชื่อเสียงในการเมืองคือคุณลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ท ซึ่งเป็นทหารผ่านศึกจากสงครามอิรัก ได้รับเลือกเป็นวุฒิสภาชิกเขต 8 ของรัฐอิลินอยส์ในปี 2012 และได้รับเลือกตั้งเป็น Junior Senator ของรัฐอิลินอยส์ซึ่งเป็นตำแหน่งเดิมของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบาม่าเมื่อการเลือกตั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2016 ที่ผ่านมา และขณะนี้ได้มีข่าวว่าเธอก็เป็นหนึ่งในแคนดิเดตนักการเมืองหญิงของพรรคเดโมแครตที่อาจได้รับการเสนอชื่อประกบกับโจ ไบเดน ในฐานะของรองประธานาธิบดี เพื่อเข้าแข่งขันในการเลือกตั้งใหญ่ในปลายปี 2020 นี้ด้วยเช่นกัน พวกเราคนไทยคงต้องรอลุ้นกันนะคะ

และชาวไทยอีกท่านที่ได้ทำให้ชาวอเมริกันรู้จักประเทศไทยก็คือพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ฯ หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 ของพวกเราชาวไทยทุกคน ท่านได้ถือกำเนิดที่โรงพยาบาลเมาท์ ออร์เบิร์นในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาชูเสต ในวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ.1927 ในขณะที่พระบรมราชชนกกำลังศึกษาวิชาการแพทย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ท่านจึงถือเป็นกษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์เดียวที่ถือกำหนดในประเทศสหรัฐอเมริกาค่ะ

ได้ฟังเรื่องราวของรากเหง้าของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและของพวกเราชาวไทยกันไปบ้างพอหอมปากหอมคอนะคะ เดือนนี้เราคงจะไม่ได้มีโอกาสไปร่วมเฉลิมฉลองที่ไหน เพราะก็ยังอยู่ในสถานการณ์กักตัวตามคำสั่งเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กันอยู่ โดยปกติผู้เขียนและเพื่อนชาวไทยจะพากันไปร่วมขบวนพาเหรดกับชุมชนจีน หรือชุมชนอื่นในเดือนนี้ เอาเป็นว่ารอไว้ปีหน้าค่อยฉลองกันให้เต็มที่ไปเลยนะคะ

สุดสัปดาห์นี้เป็นวันหยุดยาว 3 วันของวันระลึกถึงทหารที่เสียชีวิต (Memorial Day) หากท่านจะออกไปที่พบใครที่ไหนก็อย่าลืมใส่หน้ากาก พกเจลล้างมือทำความสะอาด และรักษาระยะห่าง 6 ฟุต โดยเฉพาะท่านที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปหรือมีโรคประจำตัว สูบบุหรี่ หรือมีภาวะโรคอ้วน ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะจะเกิดภาวะเจ็บป่วยจากการติดเจ้าไวรัสโควิด-19 ได้มากกว่าคนอื่นทั่วไปค่ะ หลังวันหยุดสัปดาห์หน้าทางสภาคองเกรสจะเริ่มพิจารณาเรื่องกฏหมาย HEROES Act ซึ่งเป็นกฏหมายที่จะนำเงินมาช่วยเหลือผลกระทบจากโควิด-19 กันต่ออีกระลอกหลังจากกฏหมายฉบับก่อนที่ชื่อ CARES Act ได้ออกมาช่วยเศรษฐกิจกันแล้ว ยังไงก็รอดูนะคะว่าจะผ่านอีก 2 ด่านคือ วุฒิสมาชิกและประธานาธิบดีได้หรือเปล่า ก่อนจากไปขอขอบคุณท่านผู้อ่านทุกคนที่โทร.มาสอบถามและให้กำลังใจกัน รักษาสุขภาพกายและใจ แล้วเจอกันฉบับหน้าค่ะ

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ความรู้ทั่วไปมิใช่เป็นการแนะนำทางกฏหมายหรืออื่นใดเฉพาะ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850)598-1709 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลัง ส่วนใครอยากอ่านบทความย้อนหลังก็หาอ่านได้ในคอลัมน์ “เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม” ทางเวบไซด์ของนสพ.ไทยแอลเอได้เลยค่ะ

อ้างอิง: http://asianpacificheritage.gov/about/

https://en.wikipedia.org/wiki/Thai_Americans


วลัยพรรณ เกษทอง

22 พฤษภาคม 2563