เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง



การทำประกันชีวิต (Life Insurance Contract)

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน ต่อเนื่องจาก 2 ฉบับที่แล้วในซี่รียส์ของเรื่องเกี่ยวกับประกันชีวิต เพราะเนื่องจากเดือนนี้เป็น “เดือนแห่งความตื่นตัวเกี่ยวกับประกันชีวิต (Life Insurance Awareness Month หรือ LIAM) ผู้เขียนก็จะขอพูดถึงประกันชีวิตกันให้ครบทั้งเดือนกันยายน เพื่อให้ครอบคลุมเข้าใจโดยทั่วกันนะคะ

อย่างที่ได้กล่าวไว้ในบทความก่อน ๆ นะคะ ว่าประกันชีวิตเป็นสัญญาทางกฏหมาย ซึ่งในตัวกรมธรรม์จะเป็นสิ่งที่ระบุถึงผู้ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ในสัญญา ได้แก่ ผู้เอาประกัน (insured) คือผู้ที่เมื่อเสียชีวิตแล้วจะทำให้เกิดการจ่ายสินไหมทดแทนตามสัญญา บริษัทที่รับประกัน (insurer) เจ้าของกรมธรรม์ (policy owner) เป็นผู้ที่จะสามารถทำธุรกรรมการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในตัวสัญญาได้ (ยกเว้นมีการระบุห้ามเปลี่ยนแปลงตั้งแต่แรก) โดยส่วนใหญ่เจ้าของกรมธรรม์จะเป็นผู้ที่จ่ายเบี้ยประกัน (payer) ด้วย และสุดท้ายคือผู้รับผลประโยชน์ (beneficiary) คือผู้ที่จะได้รับเงินจากบริษัทประกันในวงเงินที่ได้ระบุไว้ตามเงื่อนไขในสัญญา ส่วนใหญ่แล้วเจ้าของ ผู้เอาประกันและผู้จ่ายเงินจะเป็นคนเดียวกัน แต่หากว่าไม่ใช่คนเดียวกัน บริษัทประกันก็จะต้องดูความเกี่ยวข้องทางความเสียหายหากผู้เอาประกันเสียชีวิตด้วย (insurable interest) ไม่ใช่ว่าใครจะมาเป็นเจ้าของประกันชีวิตของใครก็ได้นะคะ แต่หากว่าเกิดพลาดการตรวจสอบแล้วทำไปแล้วได้ก็อาจมีการยกเลิกได้ในภายหลัง เพราะเคยมีเคสเกิดการฟ้องร้องกันมาแล้วค่ะ

โดยทั่วไปประกันชีวิตจะมีเงื่อนไขพิเศษ เช่น เงื่อนไขเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย (ส่วนใหญ่จะมีอยู่ในช่วง 2 ปีแรกหลังวันที่ประกันเริ่มการคุ้มครอง) เงื่อนไขเกี่ยวกับการมีอำนาจตรวจสอบย้อนหลังว่ามีอะไรที่บริษัทไม่ได้ตรวจพบในตอนอนุมัติ (ส่วนใหญ่จะมีระบุไม่เกิน 2 ปีเช่นเดียวกันเงื่อนไขการฆ่าตัวตาย) และเงื่อนไขเกี่ยวกับการหลอกลวงไม่บอกความจริงในใบคำร้องขอทำประกัน สิ่งเหล่านี้หากเกิดขึ้นจะทำให้บริษัทประกันสามารถยกเลิกสัญญาที่ทำไว้และจะคืนเบี้ยประกันที่เคยส่งมาให้กับเจ้าของกรมธรรม์ เสมือนหนึ่งว่าสัญญากรมธรรม์นี้ไม่เคยเกิดขึ้นได้ค่ะ

การจ่ายเงินตามความคุ้มครองที่ระบุไว้ในกรมธรรม์หรือที่เรียกว่าจ่ายเคลม จะเกิดขึ้นเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิต (ใช้ใบมรณบัตรเป็นหลักฐานแสดงการเสียชีวิต) หรือประกันนั้นครบถึงอายุ (ซึ่งมักจะเมื่อผู้เอาประกันอายุถึง 100 ปีหรือ 121 ปีในบางสัญญา)

การทำประกันนั้นบริษัทประกันจะคำนวณค่าเบี้ยประกันให้พอเพียงกับการจ่ายเคลม ค่าดำเนินกิจการและให้มีกำไรกลับคืนแก่บริษัท โดยค่าใช้จ่ายในการคุ้มครองของแต่ละกรมธรรม์จะคำนวณจากตารางอัตราการตาย (mortality table) ที่มีนักสถิติคำนวณมาให้อีกที โดยตารางนี้จะมีการคำนวณอัตราการตายต่อปีในทุกช่วงอายุ พูดกันง่าย ๆ ก็คือยิ่งคนมีอายุสูงมากขึ้นก็มีโอกาสที่จะเสียชีวิตมากขึ้น ปัจจัยอื่นที่มีผลต่อตารางอัตราการตายนอกจากอายุแล้วก็คือ การสูบบุหรี่ และเพศของผู้เอาประกันค่ะ

ตารางอัตราการเสียชีวิตนี้เป็นเพียงส่วนพื้นฐานในการคำนวณค่าคุ้มครองชีวิต (cost of insurance) แต่บริษัทประกันก็จะนำเอาปัจจัยอื่น ๆ มาเป็นตัวแปรในการรับประกันและคำนวณเบี้ยประกันของแต่ละเคสด้วยเช่นกัน เช่น ผลการตรวจค่าเคมีในร่างกายหรือการตรวจสุขภาพ ประวัติการรักษาพยาบาล ประวัติทางการแพทย์ของคนในครอบครัว ประวัติการขับขี่ ส่วนสูงและน้ำหนัก รวมทั้งกิจกรรมที่ผู้เอาประกันทำอยู่ทุกวัน มาคิดเพื่อดูภาพรวมความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของผู้เอาประกัน เพื่อคำนวณค่าคุ้มครองชีวิตด้วยค่ะ

บริษัทประกันในสหรัฐฯ จะใช้ข้อมูลจากระบบของศูนย์ข้อมูลทางการแพทย์ที่เรียกว่า MIB ซึ่งจะมีข้อมูลของผู้ที่ได้เคยมีคำขอทำประกันภายใน 7 ปีย้อนหลังมาพิจารณารวมทั้งอาจขอข้อมูลจากแพทย์ด้วยความยินยอมของผู้ขอมีประกันได้ด้วย

หลายบริษัทในขณะนี้ใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบคัดกรองแบบอัตโนมัติแทนการใช้บุคคลที่เป็นผู้ตรวจสอบอนุมัติ (underwriter) ตามปกติเพื่อทำให้การขอมีประกันสะดวกรวดเร็วมากขึ้น แต่อย่างที่บอกไว้ก็คือหากมีการเสียชีวิตภายในเงื่อนไขข้างต้น เช่น เสียชีวิตภายใน 2 ปีแรกหรือบริษัทประกันสงสัยว่าจะมีการไม่แจ้งข้อมูลที่ถูกต้องในใบคำขอ บริษัทก็มีสิทธิ์ที่จะตรวจสอบหรือปฏิเสธที่จะจ่ายเคลมได้ถึงแม้ว่าจะมีการอนุมัติประกันไปในเบื้องต้นแล้ว เพราะฉะนั้นในการขอมีประกันชีวิตควรจะให้ข้อมูลที่ถูกต้องตามความเป็นจริงอย่างครบถ้วนตามคำถามที่ถามในใบสมัคร การรู้อยู่แล้วไม่บอก (conceal) ถือว่าเรามีความผิดด้วยเช่นเดียวกับการให้ข้อมูลผิด (misrepresent) เช่นกัน ท่านผู้เอาประกันทั้งหลายควรจะใส่ใจในเรื่องนี้ให้มากว่าท่านได้ให้ข้อมูลอะไรไปในใบคำขอสมัคร เพราะท่านและครอบครัวเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากการมีประกันชีวิต ผู้เขียนได้เห็นมาหลายเคสที่การขอมีประกันเป็นไปแบบไม่ได้ทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง เวลาผ่านไปหลายปี คนขายประกันได้เงินไปเรียบร้อย บริษัทได้เงินไปเรียบร้อยเพราะท่านจ่ายเงินไปแล้วก็เย็นใจว่ามีอะไรเกิดขึ้นครอบครัวเราจะได้สบายหายห่วง แต่ผลสุดท้ายพอมีการเสียชีวิตขึ้นมา บริษัทไปตรวจสอบพบความผิดปกติ กลับกลายเป็นว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการขอมีประกันเมื่อหลายปีก่อนทำให้บริษัทประกันยกเลิกสัญญาและปฏิเสธการจ่ายเคลมให้กับผู้รับผลประโยชน์ เหลือเพียงเงินจำนวนน้อยซึ่งเป็นเบี้ยประกันที่เคยจ่ายให้ไว้กลับคืนแก่ครอบครัวเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่งค่ะ

ฉบับนี้พื้นที่หมดแล้ว ฉบับหน้าจะไปพูดถึงประเภทของประกันชีวิตกันต่อค่ะ แต่ก่อนจากไปขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์ว่าในวันเสาร์ที่จะถึงนี้ (14 กันยายน) ผู้เขียนจะไปเป็นอาสาสมัครในกิจกรรมของ American Advancing Justice ลอสแอนเจลิส ซึ่งจะไปให้บริการกรอกเอกสารคำขอเป็นซิติเซ่นฟรีที่ Rosemead Community Recreation Center (3936 Muscatel Ave, Rosemead, CA 91770) เวลา 9.00-15.00 น. โดยให้ทำการนัดหมายที่เบอร์ 800-914-9583 แต่หากใครไม่สะดวกไปก็สามารถทำนัดหมายไปขอใช้บริการภายหลังได้ตามเบอร์ดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่คนไทยค่ะ

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปไม่ใช่เป็นการให้คำแนะนำ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850)598-1709 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลัง

อ้างอิง: https://en.wikipedia.org/wiki/Life_insurance


วลัยพรรณ เกษทอง

13 กันยายน 2562