เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง



การรับเงินโซเชี่ยลเมื่ออยู่นอกประเทศ (จบ)

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน เราได้พูดถึงเรื่องการรับเงินโซเชี่ยลเมื่ออยู่นอกประเทศต่อเนื่องกันมาฉบับนี้เป็นฉบับที่ 3 แล้ว หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะได้รับความรู้เพิ่มเติมไม่มากก็น้อย ในฉบับนี้จะปิดท้ายด้วยเรื่องของการตอบแบบสอบถาม เรื่องของการหักเงินค่าเบี้ยประกันของเมดิแคร์จากเงินโซเชี่ยลที่ได้ การแจ้งภาษีเงินได้ และวิธีการติดต่อโชเชี่ยล ซึ่งจะเป็นตอนสุดท้ายของบทความนี้ค่ะ

โซเชี่ยลมีการส่งแบบสอบถามไปให้กับผู้รับผลประโยชน์ (หรือผู้รับเงินแทน) นอกประเทศทุกปีหรือทุกสองปี โดยการตอบแบบสอบถามจะช่วยในเรื่องของการพิจารณาว่าท่านยังมีคุณสมบัติจะได้รับสิทธิประโยชน์อยู่หรือไม่ ดังนั้นหากท่านไม่ได้รับแบบสอบถามดังกล่าวท่านควรจะติดต่อไปยังโซเชี่ยลเพื่อขอแบบสอบถามมากรอกนะคะ นอกจากจะตอบคำถามแล้ว ท่านควรจะเซ็น ลงวันที่และส่งกลับคืนอย่างทันท่วงที มิฉะนั้นการจ่ายเงินของท่านอาจถูกระงับได้ และหากท่านไม่ได้มีการรายงานหรือรายงานสิ่งที่เป็นเท็จท่านอาจถูกปรับหรือจำคุก รวมทั้งสูญเสียเงินที่ควรจะได้บางส่วนหากไม่ได้มีการรายงานการเปลี่ยนแปลงอย่างทันท่วงทีค่ะ

ท่านจะได้รับแบบสอบถามในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายนของทุกปี หากท่านอายุไม่ตำกว่า 90 ปี มีผู้รับเงินแทน หรือไม่ได้รับผลประโยชน์ในฐานะของคู่สมรส คู่สมรสหม้าย บิดามารดา การจ่ายเงินในกรณีพิเศษสำหรับคนที่อายุ 72 ปีหรือหม้ายที่เป็นบุคคลผู้ทุพพลภาพ แต่หากท่านเป็นผู้ที่ได้รับเงินในฐานะของคนกลุ่มดังกล่าวแต่อาศัยอยู่ในประเทศที่อยู่ในลิสต์พิเศษ เช่น สวิสเซอร์แลนด์ อังกฤษ เป็นต้น (รายละเอียดดูเพิ่มเติมในเอกสารอ้างอิง) จะได้รับแบบสอบถามทุก 2 ปีแทนค่ะ

ผู้ที่อยู่ในโปรแกรมของเมดิแคร์จะมีการหักค่าเบี้ยออกจากเงินโซเชี่ยลที่จ่ายให้ทุกเดือน แต่เนื่องจากเมดิแคร์ส่วนใหญ่ไม่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลนอกประเทศ ซึ่งส่วนของพาร์ท เอ (การรักษาในโรงพยาบาลแบบผู้ป่วยใน) จะคุ้มครองท่านก็ต่อเมื่อท่านกลับเข้ามาอยู่ในสหรัฐ การคุ้มครองส่วนนี้ไม่มีการหักเบี้ยจากเงินโซเชี่ยล แต่หากท่านต้องการพาร์ทบี (ส่วนของการคุ้มครองผู้ป่วยนอก) ท่านจะต้องลงทะเบียนในส่วนนี้และเบี้ยในส่วนนี้จะถูกหักออกจากเงินโซเชี่ยลทุกเดือน และเนื่องจากเมดิแคร์คุ้มครองแค่ภายในประเทศสหรัฐ ดังนั้นหากท่านคิดจะไปอาศัยอยู่นอกประเทศเป็นเวลานานก็ไม่เป็นประโยชน์กับท่านถ้าท่านจะมาลงทะเบียนและจ่ายเบี้ยของเมดิแคร์ แต่อย่างไรก็ตามหากท่านไม่ได้ลงทะเบียนก็ให้เตรียมใจไว้ว่าหากภายหลังท่านจะมาลงทะเบียนท่านจะต้องจ่ายเบี้ยที่แพงขึ้นอีก 10 % ในทุก 12 เดือนที่ท่านลงทะเบียนล่าช้า หากท่านมีพาร์ทบีและต้องการยกเลิกให้แจ้งกับทางโซเชี่ยล โดยทางโซเชี่ยลจะหยุดหักเงินท่านภายหลังที่แจ้ง 1 เดือนค่ะ

การจ่ายเงินโซเชี่ยล มีทั้งวิธีการจ่ายเช็คและโอนเข้าบัญชี โดยทั่วไปแล้วการส่งเช็คไปยังนอกประเทศจะใช้เวลานานทำให้เงินอาจไม่ได้รับในวันเดียวกันของทุกเดือน หากเช็คหายท่านก็ต้องไปติดต่อเพื่อขอรับใหม่ซึ่งค่อนข้างยุ่งยาก ดังนั้นคนส่วนใหญ่สามารถให้โอนเงินโซเชี่ยลเข้าบัญชีได้เลยซึ่งมีประโยชน์กว่าหลายประการ วิธีนี้ไม่ต้องห่วงว่าจะมีความล่าช้าหรือสูญหายของเงิน ประหยัดค่าธรรมเนียการขึ้นเช็คและลดความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ดังนั้นท่านที่รับเงินโซเชี่ยลจึงควรเลือกลงทะเบียนรับเงินโอนทางบัญชีจะดีกว่า และต้องแจ้งที่อยู่ของท่านให้ทางโซเชี่ยลทราบด้วย การโอนเงินเข้าบัญชีสามารถทำได้กับบัญชีของสถาบันการเงินของสหรัฐทุกแห่งไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหน หากท่านอาศัยอยู่นอกประเทศ (ซึ่งไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของการรับเงิน) โซเชี่ยลจะนำเงินโอนให้ท่านในบัญชีธนาคารที่อยู่ในประเทศนั้นซึ่งทำข้อตกลงสัญญาการโอนเงินเข้าบัญชีโดยตรงกับสหรัฐ จากที่ดูในลิสต์ของประเทศที่ทำข้อตกลงดังกล่าวเป็นน่าเสียดายที่ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในลิสต์นั้น ดังนั้นจึงต้องให้โอนเงินเข้าธนาคารของสหรัฐที่มีสาขาในประเทศไทยเท่านั้นค่ะ

นอกจากสองวิธีข้างต้นแล้วอีกวิธีที่ถือว่ามีความสะดวกมากวิธีหนึ่งคือการรับเงินทางอิเลคทรอนิคผ่านบัตรเดบิต “Direct Express.” ซึ่งในกรณีนี้ท่านไม่จำเป็นต้องมีบัญชีธนาคาร ทางโซเชี่ยลจะฝากเงินเข้าบัญชีในบัตรให้โดยตรงตามวันเวลา โดยท่านสามารถนำบัตรนี้ไปใช้จ่ายหรือถอนเงินออกในหลายพันแห่งทั่วโลกได้ การใช้เงินผ่านบัตรเดบิตนี้ส่วนใหญ่จะไม่มีค่าบริการ หากท่านสนใจสามารถติดต่อสายด่วนได้ที่หมายเลข 1-800-333-1765 หรือลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่ www.USDirectExpress.com ส่วนท่านที่อยู่นอกประเทศสามารถติดต่อได้ที่หมายเลข 1-765-778-6290 จะมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกในการลงทะเบียนค่ะ

การเสียภาษีรายได้จากเงินโซเชี่ยลนั้นมีความแตกต่างกันตามสถานะพลเมืองของท่าน หากท่านเป็นซิติเซ่นหรือถือใบเขียว ท่านจะต้องเสียภาษีตามกฏหมายของสหรัฐไม่ว่าท่านจะอาศัยอยู่ที่ใด หมายถึงว่ารายได้ทั่วโลกของท่านรวมทั้งรายได้ถึง 85% เงินโซเชี่ยลที่ท่านได้รับอาจจะต้องเสียภาษีเงินได้ของสหรัฐด้วย แต่หากว่าท่านไม่ได้เป็นซิติเซ่นหรือไม่ได้ถือกรีนการ์ดจะมีการหักเงินภาษีไว้ 30 % จาก 85% ของเงินโซเชี่ยลที่ได้เว้นเสียแต่ท่านมีคุณสมบัติเข้าเงื่อนไขที่จะได้รับสิทธิ์ทางภาษีจึงจะได้รับการลดอัตราภาษีลง ประเทศสหรัฐมีสนธิสัญญากับประเทศแคนาดาและอีกหลายประเทศในเรื่องสิทธิ์พิเศษทางภาษีซึ่งประเทศไทยไม่ได้อยู่ในกลุ่มนั้นค่ะ เพื่อจะให้ทราบแน่นอนว่าท่านจะต้องเสียภาษีในสถานะของคนต่างด้าวเท่าไหร่สามารถใช้การคำนวณในเวบไซด์ www.socialsecurity.gov/international/AlienTax.html

ในปลายปีทางโซเชี่ยลจะส่งใบแจงรายละเอียดแสดงจำนวนเงินผลประโยชน์ที่ถูกจ่ายมาให้ท่านในระหว่างปีและจำนวนเงินภาษีที่ถูกหักไว้ นอกจากการเตรียมการเรื่องภาษีทางฝั่งของสหรัฐที่ต้องจ่ายแล้ว รัฐบาลในหลายประเทศมีการคิดภาษีรายได้จากเงินโซเชี่ยลด้วย ดังนั้นประชาชนของสหรัฐที่วางแผนจะไปอาศัยอยู่ในประเทศอื่นควรจะติดต่อสถานทูตของประเทศนั้นเพื่อหาข้อมูลก่อนจะย้ายไปค่ะ

หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ สามารถเข้าไปดูที่เวบไซด์ www.socialsecuity.gov หรือโทร.สอบถามได้ที่หมายเลข 1-800-772-1213 หากท่านไม่ถนัดพูดภาษาอังกฤษสามารถลองขอล่ามช่วยแปลภาษาได้ โดยเฉพาะในรัฐแคลิฟอร์เนียหน่วยงานหลัก ๆ ของรัฐมักจะมีบริการช่วยแปลภาษาให้ หากไม่มีเจ้าหน้าที่พูดภาษาไทย เขาก็อาจพิจารณาหาล่ามให้เราหากมีการนัดหมายล่วงหน้าค่ะ บริการฟรี ยังไงลองสอบถามดูนะคะ

ฉบับนี้เป็นอันปิดท้ายบทความเกี่ยวกับการการรับเงินโซเชี่ยลเมื่ออยู่นอกประเทศ ฉบับหน้าจะหาเรื่องที่เป็นประโยชน์มาเล่าสู่กันฟังต่อไปค่ะ หากใครมีเรื่องอะไรที่สนใจอยากให้เขียนถึงก็แจ้งมาบอกได้นะคะ ผู้เขียนยินดีที่จะพิจารณาหาเรื่องมาแปลเล่าสู่กันฟังให้ค่ะ

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ความรู้ทั่วไปมิใช่เป็นการแนะนำทางกฏหมายหรืออื่นใดเฉพาะ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850)598-1709 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลัง ส่วนใครอยากอ่านบทความย้อนหลังก็หาอ่านได้ในคอลัมน์ “เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม” ทางเวบไซด์ของนสพ.ไทยแอลเอได้เลยค่ะ

อ้างอิง: https://www.ssa.gov/pubs/EN-05-10137.pdf


วลัยพรรณ เกษทอง

31 มกราคม 2563