เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง
ความท้าทายจากความหลากหลายของซานฮัวคิน เคาน์ตี้ ในการฉีดวัคซีนให้กับผู้ลี้ภัย ผู้อพยพในชนบท กลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ห่างไกลและคนไร้บ้าน

ซานฮัวคิน เคาน์ตี้อยู่ในอันดับ 31 จากทั้งหมด 58 เคาน์ตี้ในรัฐแคลิฟอร์เนียที่มีประชากรผู้ใหญ่ได้รับวัคซีนโควิดในระยะแรก และกำลังประสบปัญหาในการเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันสำหรับเด็กที่อายุน้อย โดยเคาน์ตี้ได้สร้างโปรแกรมผสมผสานเพื่อที่จะเข้าถึงกลุ่มประชาชนที่มีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อย ๆ อันได้แก่ผู้ลี้ภัยที่เพิ่งเข้ามาไม่นาน ผู้อพยพในชนบท คนรายได้น้อยและคนไร้บ้าน ทาง Ethnic Media Service ได้เชิญวิทยากรซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้ที่ทำงานในชุมชนซึ่งทำงานร่วมกันเป็นด่านหน้าตั้งแต่ที่สถานการณ์โรคระบาดเริ่มต้น มาสัมภาษณ์เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละชุมชน

ดร.แมกกี้ พาร์ค เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากซานฮัวคิน เคาน์ตี้กล่าวว่า เคาน์ตี้นี้มีความหลากหลายของประชาชนมาก เราได้มีการเก็บข้อมูลและพบว่าขณะนี้ตัวเลขที่เกี่ยวกับโควิดต่ำกว่าที่เป็นจริงเพราะคนจะตรวจกันที่บ้าน เรารู้ว่าวัคซีนช่วยรักษาชีวิตของคนได้ ประชาชนอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปได้รับวัคซีนชุดแรกถึง 85% แต่ก็ยังจำเป็นต้องรับวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย นอกจากนี้เรายังพยายามหาว่ามีคนมีภาวะเจ็บป่วยจากการติดโควิดมากเท่าไหร่ โดยพบว่ามีถึง 5,000 คนที่มีอาการต่อเนื่องหลังจากติดโควิดแล้ว 3 เดือน เคาน์ตี้พยายามที่จะดูแลกลุ่มคนทำงานในสายอาชีพที่จำเป็นในชุมชนซึ่งต้องออกไปพบปะกับผู้คนทุกวันให้ได้วัคซีนมากขึ้น กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยก็มีอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำมาก โดยมีการจัดกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ กิจกรรมในสถานรับเลี้ยงเด็ก เป็นต้น ร่วมกับเครือข่ายเพื่อช่วยให้คนเข้าถึงวัคซีนมากขึ้น

โฮเซ รอดริเกรซ ประธาน El Concilio กล่าวว่าชุมชนนี้เป็นชุมชนของชนชั้นทำงาน เราจึงพยายามนำเอาการตรวจและฉีดวัคซีนผ่านการทำงานร่วมกับเครือข่าย อาทิเช่น การจัดกิจกรรมนี้ในตลาดทุกวันอาทิตย์เพื่อให้คนสามารถเข้ามารับบริการได้ ทำงานร่วมกับ NAACP เพื่อเข้าถึงชุมชนผิวดำ ให้ความรู้กับชุมชนเพื่อให้ทราบเกี่ยวกับชนิดของวัคซีน โดยปัญหาที่พบในปัจจุบันคือ ขณะนี้คนเริ่มสนใจเรื่องนี้น้อยลง แต่ไปสนใจเรื่องราคาน้ำมันหรือปัญหาอื่นมากกว่า ทำให้น่าเป็นห่วงว่าเราจะกลับไปที่จุดเดิมที่คนจะเริ่มป่วยกันมากขึ้น

เควิน ซันก้า ผู้อำนวยการสาธารณสุขของ Little Manila Rising ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือเกี่ยวกับวัคซีนและการตรวจคัดกรองโควิดในบริเวณสต๊อคตั้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวฟิลิปปินส์ กล่าวถึงความยากลำบากในการช่วยเหลือคนในชุมชนนี้เนื่องจากปัญหาด้านภาษาและเทคโนโลยี ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษบนเวบไซด์ คนจำนวนมากไม่มีโทรศัพท์มือถือที่มีอินเตอร์เนต ดังนั้นทางองค์กรจึงพยายามที่จะจัดกิจกรรมพบปะคนมากขึ้น เช่น ที่ศาลาว่าการเมือง กิจกรรมใต้สะพาน มีการทำงานร่วมกับเภสัชกรชาวฟิลิปปินส์ และหวังว่านอกจากโควิดแล้วจะได้รับการช่วยเหลือในเรื่องเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิตของชุมชน รวมทั้งต้องการให้การเข้าถึงงบประมาณมีความโปร่งใสมากขึ้นด้วย

เฮงโซเทียร์ อุง ผู้อำนวยการโปรแกรมของ Apsara ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของชุมชนเขมร กล่าวว่า ชาวเขมรส่วนใหญ่เป็นคนรายได้น้อยซึ่งชีวิตขึ้นกับสวัสดิการของรัฐ พวกเขาเป็นคนทำเพาะปลูก มีพื้นฐานเป็นผู้ลี้ภัยซึ่งไม่สามารถอ่านเขียนได้แม้ภาษาของตัวเอง และมีปัญหาทางสภาพจิต ไม่เชื่อใครง่าย ในอดีตใช้เวลากว่า 1 ปีจึงจะได้มีวัคซีนคลีนิคสำหรับชุมชนเพาะปลูกนี้ ดังนั้นเราจึงมีปัญหาเกี่ยวกับการสร้างโครงสร้างการดูแล การช่วยเหลือเรื่องการเดินทาง การนัดหมายซึ่งต้องทำผ่านระบบออนไลน์ ก็ไม่มีภาษาเขมร ลาวหรือม้ง เราจึงพยายามที่จะจัดกิจกรรมในชุมชนเป็นภาษาเขมรเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ปัญหาเกี่ยวกับอิมมิเกรชั่นเป็นเรื่องที่พวกเขาห่วงใยมากกว่าเรื่องสุขภาพ พวกที่ไม่มีเอกสารจึงไม่อยากได้วัคซีน พวกที่มีพื้นฐานเป็นผู้ลี้ภัย ก็มีปัญหาทางจิตและมีภาวะเป็นผู้ไร้บ้าน ยิ่งทำให้เกิดปัญหาการเข้าถึงระบบสาธารณสุขด้วย สิ่งที่ช่วยได้คือองค์กรในชุมชน เงินงบประมาณ และต้องมีการจัดระบบให้รองรับสถานการณ์โรคระบาดครั้งหน้า รวมทั้งต้องมีข้อมูลที่สามารถติดต่อในท้องถิ่นได้

โซนนี่ ทอมสัน ผู้จัดงานในชุมชน จาก Faith in the Valley Stockton กล่าวว่าปัญหาของชุมชนคนไร้บ้านหลัก ๆ คือการเข้าถึงระบบสาธารณสุข เท่าที่จำได้มีการพยายามนำวัคซีนมาฉีดให้เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ปัญหาเกี่ยวกับโควิด-19 ไม่ใช่ปัญหาเดียวที่มี พวกเขายังต้องการที่พักพิงหลบสภาพอากาศที่ผิดปกติ และการที่ค่าเงินลดทำให้การเข้าถึงอาหารและน้ำยิ่งเป็นไปได้ยากขึ้น ชุมชนที่อาศัยอยู่ใต้สะพานประสบปัญหาที่จะมีน้ำสะอาดไว้ใช้ในการอุปโภคและบริโภคเนื่องจากฝุ่นที่ลงมาจากสะพาน

นิค วอรเรล ผู้ที่เคยเป็นคนไร้บ้านมาก่อนและขณะนี้เป็นกระบอกเสียงให้กับชุมชนกลุ่มนี้ กล่าวว่า การที่ได้รับวัคซีนในชุดแรกเป็นเรื่องที่ได้ยากลำบาก เพราะมีบริการมากมาย แต่คนที่ไร้บ้านนั้นไม่สามารถที่จะมีโทรศัพท์มือถือหรือเก็บเอกสารที่แสดงสถานะการฉีดวัคซีนครั้งก่อนได้ ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะได้รับวัคซีนกระตุ้นภูมิ ซึ่งในจุดนี้ ดร. พาร์ค กล่าวว่าทางเคาน์ตี้มีระบบที่สามารถค้นหาประวัติการฉีดวัคซีนได้ เพียงแต่เข้าใจว่าคงจะยากสำหรับคนไร้บ้านจะมาหาข้อมูล ณ ที่ทำการ

ในตอนท้าย วิทยากรทั้งหมดได้ร่วมกันสรุปปัญหาที่ทำให้คนไม่มาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไว้ว่า เกิดจากความกลัวผลข้างเคียง การได้รับข้อมูลผิดพลาด เช่น ไม่จำเป็นต้องฉีดเข็มกระตุ้น ปัญหาเกี่ยวกับการเดินทาง ดังนั้นคนจึงยอมเสี่ยงอยู่กับบ้านไม่หาทางมาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ดังนั้นวิธีที่จะช่วยให้มาฉีดเพิ่มคือ เน้นย้ำว่าวัคซีนสามารถช่วยเขาปกป้องครอบครัวได้ ให้ความรู้มากขึ้น จัดตั้งคลีนิคสำหรับฉีดวัคซีนให้ใกล้พวกเขามากที่สุดในช่วงเวลาระหว่างวันเพื่อลดความกลัวที่จะออกจากบ้านในเวลาค่ำมืด เป็นต้น

เรื่อง: วลัยพรรณ เกษทอง