เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง



พรรคเดโมแครต (Democratic Party)

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วที่ได้พูดถึงเรื่องการขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่ในรัฐแคลิฟอร์เนียได้หมดเขตการลงทะเบียนออนไลน์และทางไปรษณีย์ไปในวันที่ 19 ตุลาคม ที่ผ่านมา หากท่านผู้อ่านยังไม่ได้ลงทะเบียนก็ไปลงทะเบียนได้ที่คูหาเลือกตั้งนะคะ ถ้าท่านเป็นซิติเซ่นก็ควรจะไม่พลาดใช้โอกาสนี้ค่ะ

มีผู้อ่านหลายท่านบอกผู้เขียนว่าอยากจะไปร่วมเลือกตั้งกับเขา แต่ไม่รู้จะเลือกใคร ไม่รู้จักใคร ไม่รู้ว่าพรรคไหนเป็นพรรคไหนอย่างไร ฉบับนี้ผู้เขียนเลยอยากจะเอาเรื่องของพรรคการเมืองที่อยู่ในการแข่งขันมาเล่าให้ฟัง โดยฉบับนี้จะขอพูดถึงพรรคเดโมแครตซึ่งเป็น 1 ใน 2 พรรคใหญ่ที่มีตัวแทนของประชาชนในหลายตำแหน่ง และมีตัวแทนมากที่สุดในพรรคแคลิฟอร์เนียซึ่งผู้เขียนอยู่มาให้ฟังกันเป็นพรรคแรกค่ะ

พรรคเดโมแครต (Democratic Party) เป็นพรรคที่สามารถย้อนประวัติศาสตร์กันไปได้ถึงรุ่นก่อตั้งประเทศสมัยของธอมัส เจฟเฟอร์สันและพรรคเดโมแครต-ริพับลิกันของเจมส์เมดิสันกันได้ทีเดียว (สมัยก่อนเขารวมกัน แต่เมื่อคิดต่างกันก็เลยแยกออกมาเป็น 2 พรรคค่ะ) ซึ่งในยุคใหม่พรรคเดโมแครตได้เริ่มก่อตั้งมาในราวปี 1828 โดยผู้สนับสนุนของแอนดรูว์ แจคสัน ทำให้พรรคนี้กลายเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

แนวคิดหลักที่เด่นของพรรคนี้แต่เดิมเคยเป็นลักษณะที่เรียกว่าสังคมอนุรักษ์นิยม (social conservatism) และเศรษฐกิจเสรีนิยม (economic liberalism) ขณะที่ประชานิยมก็ยังเป็นลักษณเด่นของตัวแทนพรรคที่อยู่ในชนบทของรัฐทางใต้ ในปี 1912 ประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูซาเวล ลงเป็นผู้สมัครของพรรคทางเลือกทำให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบทางการเมืองระหว่างพรรคเดโมแครตและริพับลิกันขึ้น และประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันก็ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้แทนหัวก้าวหน้าจากพรรคเดโมแครตเป็นปีแรก และเมื่อประธานาธิบดีแฟรงคลิน รูสซาเวลได้ตั้งกลุ่ม New Deal Coalition ในปี 1930 พรรคเดโมแครตก็ได้เริ่มต้นออกตัวสนับสนุนแนวคิดแบบเสรีนิยมให้การสนับสนุนความยุติธรรมในสังคมเป็นต้นมา

ในปัจจุบันนี้กลุ่มการเมืองของพรรคเดโมแครตประกอบด้วยกลุ่มที่มีแนวคิดทางการเมืองแบบเป็นกลาง (centrists) และกลุ่มหัวก้าวหน้า (progressives) โดยจะมีคนส่วนน้อยที่ยังเป็นพวกหัวอนุรักษ์นิยมอยู่ ปรัชญาของพรรคซึ่งเป็นเสรีนิยมสมัยใหม่ให้การสนับสนุนความเท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจไปพร้อมกันกับแนวคิดว่ารัฐบาลจะต้องช่วยเหลือเรื่องความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างที่เรารู้จักกันดีในคำว่า เวลแฟร์ (welfare) ทำให้เดโมแครตเชื่อว่าภาครัฐจะต้องเข้าไปแทรกแซงและจัดการกับเศรษฐกิจของประเทศ การแทรกแซงที่ว่าก็ได้แก่ โครงการทางสังคม การสนับสนุนการรวมกลุ่มของแรงงาน (labor union) การสนับสนุนค่าเล่าเรียนราคาย่อมเยาว์ ซึ่งพัฒนาไปถึงเรื่องการต้องการให้มีระบบประกันสุขภาพแบบถ้วนหน้า (universal health care) ความเท่าเทียมกันทางโอกาส การปกป้องผู้บริโภค การปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนประกอบสำคัญที่เป็นแนวคิดในการกำหนดนโยบายทางด้านเศรษฐกิจของพรรค พรรคนี้ยังมีการรวมตัวกับพรรคเล็กในท้องถิ่นซึ่งมีแนวคิดแบบเสรีนิยมทั้งทั้งประเทศ เช่น พรรคฟาร์มเมอร์-เลเบอร์ ในรัฐมินนิโซตา

ในอดีตที่ผ่านมาประเทศสหรัฐอเมริกามีประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต 15 คนซึ่งได้รับหน้าที่อยู่ในรัฐบาลถึง 16 สมัย โดยคนแรกคือประธานาธิบดีคนที่ 7 แอนดรูว์ แจคสัน (ปี 1829-1837) และคนสุดท้ายคือประธานาธิบดีคนที่ 44 บารัค โอบาม่า (ปี 2009-2017)

หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ในปี 2016 พรรคเดโมแครตได้กลายเป็นพรรคฝ่ายค้านโดยไม่ได้มีตัวแทนเป็นประธานาธิบดี เป็นพรรคเสียงข้างน้อยทั้งในวุฒิสภา (Senate) และสภาผู้แทนราษฏร (House of Representatives) แต่ภายหลังการเลือกตั้งกลางเทอมในปี 2018 พรรคเดโมแครตก็กลับมาช่วงชิงชัยชนะมาเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฏรได้อีก ในการเลือกตั้งครั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ทางพรรคเดโมแครตมีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของประธานาธิบดีทรัมป์อย่างมากในเรื่องของนโยบายอิมมิเกรชั่น ระบบประกันสุขภาพ การทำแท้ง เช่นเดียวกันการรับมือกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด

ฉบับนี้พื้นที่หมดแล้วนะคะ ฉบับหน้าเราจะมาพูดถึงพรรคใหญ่อีกพรรคคือ พรรคริพับลิกัน กันต่อค่ะ

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปไม่ใช่เป็นการให้คำแนะนำ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850)598-1709 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลัง รวมทั้งถ้าอยากจะติดตามบทความย้อนหลังก็สามารถติดตามได้ที่เวบไซด์ของหนังสือพิมพ์ไทยแอลเอ คอลัมน์ “เรียนรู้เมื่อต้องอยู่เมืองลุงแซม”

อ้างอิง: https://en.wikipedia.org/wiki/Democratic_Party_(United_States)

วลัยพรรณ เกษทอง

23 ตุลาคม 2563