เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง



ลดหย่อนภาษีเงินได้ด้วยเงินฝากแบบไอร่า (IRA)

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน ต่อจากหลายฉบับที่ผ่านมา ฉบับนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องของเงินฝากเพื่อการเกษียณส่วนบุคคลที่เรียกว่า IRA กันค่ะ

หลายคนที่ทำงานเป็นลูกจ้างคงจะคุ้นเคยกับโปรแกรมการฝากเงินเพื่อการเกษียณที่เรียกว่า 401-K (ในบริษัททั่วไป) หรือ 403-B (ในกลุ่มสถานศึกษา) เงินที่คุณหักออกจากเงินเดือนของคุณใส่ลงไปในโปรแกรมเหล่านี้จะลดเงินได้ที่ถูกนำมาคำนวณภาษี ยิ่งใส่มากเงินที่จะนำมาคำนวณภาษีก็ยิ่งน้อยลง หากใครมีโอกาสก็ควรจะใส่ให้มากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้นะคะ เพราะส่วนใหญ่โปรแกรมเหล่านี้ทางนายจ้างจะมีการใส่เงินเพิ่มให้เราด้วย เช่น เราใส่ 100 เหรียญ บริษัทก็สะสมให้เราไปอีก 100 เหรียญ เรียกว่า matching dollar for dollar กันเลย ยังไงลองสอบถามบริษัทที่ท่านทำงานดูว่ามีโปรแกรมเหล่านั้นหรือเปล่านะคะจะได้ไม่พลาดโอกาสในการเก็บเงินไว้ใช้ยามเกษียณ และลดหย่อนภาษีในยามปัจจุบันด้วยค่ะ

ส่วนท่านผู้อ่านที่ทำงานส่วนตัวหรือเป็นลูกจ้างแต่บริษัทไม่ได้เสนอโปรแกรมการฝากเงินข้างต้น ก็สามารถเปิดบัญชีเงินฝากสะสมเพื่อการเกษียณ (Individual Retirement Account หรือที่คนไทยเราเรียกว่า ไอร่า (IRA) ได้ค่ะ บัญชี IRA ที่ว่านี้สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ถึง 5,500 เหรียญต่อปี โดยผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไปสามารถหักลดหย่อนได้ถึง 6,500 ต่อปี (ซึ่งสำหรับปีภาษี 2019 ได้เพิ่มขึ้นให้เป็น 6,000 เหรียญและ 7,000 เหรียญสำหรับ catch-up) ค่ะ ส่วนบัญชีที่เรียกว่า Roth IRAนั้นไม่สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ในปีที่เอาเงินไปฝากเข้าบัญชีได้ แต่สามารถรับเงินได้ในปีที่ถอนแบบไม่ต้องเสียภาษีทั้งต้นและดอกเบี้ยเลยค่ะ ก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันนะคะ แบบแรกคือ traditional IRA เรานำไปหักภาษีในปีที่เสียภาษีได้แต่เวลาไปถอนเงินออกก็ต้องเสียภาษีทั้งเงินต้นที่ฝากเข้าไปและดอกเบี้ยค่ะ ซึ่งเมื่อเวลาคุณไปถอน IRA ของคุณไม่ว่าจะเป็นแบบไหนนะคะ หากว่ามีเมื่อถอนออกมาแล้ว จำนวนเงินที่ถอนออกมาน้อยกว่าจำนวนเงินที่ใส่ (หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่าขาดทุน) สามารถนำส่วนที่ขาดไปไปขอเคลมลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

จะเห็นได้ว่าบัญชี IRA ทั้งสองแบบนั้นมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน ดังนั้นท่านผู้อ่านจะเลือกเอาเงินไปฝากบัญชีแบบไหนก็ควรจะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษี หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านการวางแผนการเงิน (financial planner) ที่มีความรู้ ประสบการณ์และให้คำแนะนำเพื่อประโยชน์ของท่านเป็นสำคัญค่ะ

ก่อนจะจากกันไปในฉบับนี้ ขอฝากข้อคิดไว้ให้กับท่านผู้อ่านว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งที่ดีที่สุดกับทุกคน เหมือนอยากได้ชุดสวยเหมาะเจาะกับขนาดของเราก็ต้องหาช่างตัดเย็บที่มีฝีมือมาวัดตัวตัดชุด เวลาเราเจ็บป่วยไม่สบายอยากจะรักษาให้หายจากโรคได้ถูกต้องอย่างรวดเร็วก็ต้องไปหาหมอให้เค้าวินิจฉัยโรค สั่งยาและให้คำแนะนำเฉพาะ ซึ่งก็ไม่ต่างกับเรื่องการวางแผนภาษีหรือการวางแผนทางการเงินนะคะ บทความที่เขียนลงในที่นี้ก็เพียงเพื่อให้ความรู้เบื้องต้น โดยผู้เขียนหวังว่าจะสร้างความตระหนักถึงโอกาสที่มีอยู่มากมายในการสามารถลดหย่อนภาษี การวางแผนการเงิน และจะได้เริ่มไปพูดคุยกับที่ปรึกษาของท่านในเร็ววัน โดยหวังว่าทุกท่านจะได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย และอย่าลืมนะคะว่าเราจะต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีของปี 2018 ภายในวันที่ 15 เมษายนนี้ แต่สำหรับใครที่ยังจัดการไม่ทันก็สามารถขอเลื่อนเวลาไปได้จนถึงปลายเดือนกันยายน แต่จะต้องยื่นเรื่องขอยืดเวลาภายในวันที่ 15 เมษายนนี้เท่านั้นค่ะ

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปไม่ใช่เป็นการให้คำแนะนำ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850) 598-1709 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลัง


อ้างอิง: https://www.gobankingrates.com/personal-finance/49-special-tax-deductions-dont/


วลัยพรรณ เกษทอง

29 มีนาคม พ.ศ. 2562