เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง



การรับเงินโซเชี่ยลเมื่ออยู่นอกประเทศ

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน นอกเหนือจากการพูดถึงเรื่องของการคุ้มครองของเมดิแคร์นอกประเทศกันแล้ว เรื่องของการรับเงินโซเชี่ยลเมื่ออยู่นอกประเทศก็เป็นเรื่องที่มีคนมาถามผู้เขียนอยู่อย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นเริ่มจากฉบับนี้ผู้เขียนจะขอนำเอาข้อมูลเกี่ยวกับการรับเงินโซเชี่ยลเมื่ออยู่นอกประเทศซึ่งสามารถอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้จากเวบไซด์ของ ssa.gov มาเล่าสู่กับฟังนะคะ

การรับเงินโซเชี่ยล ซึ่งเป็นเงินที่ผู้ที่ทำงานหรือคู่สมรสของผู้ที่ทำงานสามารถได้รับเมื่อยามเกษียณจากการจ่ายเงินภาษี FICA เข้ากองทุนในระหว่างที่ทำงานนั้น หากอยู่ในต่างประเทศทางโซเชี่ยลจะจ่ายเงินให้โดยคำนวณในค่าเงินเป็นดอลล่าห์สหรัฐดังที่ได้รับเงินนี้ในประเทศ จะไม่มีการลดลงหรือเพิ่มขึ้นเนื่องจากอัตราการแลกเปลี่ยนเงินที่อาจมีขึ้นได้

ข้อจำกัดในการรับเงินนั้น ทางกระทรวงการคลังของสหรัฐมีเงื่อนไขห้ามไม่ให้มีการจ่ายเงินกับบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศคิวบาหรือเกาหลีเหนือ ดังนั้นหากท่านเป็นซิติเซ่นของสหรัฐและอาศัยในประเทศเหล่านี้กระทรวงการคลังจะเก็บเงินไว้ให้ก่อนจนกว่าท่านจะย้ายไปยังประเทศที่สหรัฐสามารถส่งเงินไปให้ได้ แต่หากว่าท่านไม่เป็นซิติเซ่นเงินที่ไม่ได้จ่ายในช่วงที่อาศัยอยู่ในประเทศเหล่านี้จะไม่มีการเก็บไว้ให้แล้วจ่ายภายหลัง ถือว่าระหว่างนั้นท่านเสียสิทธิ์ที่จะได้รับเงินไปเลย และเมื่อท่านย้ายออกจากประเทศเหล่านั้นรัฐบาลถึงจะเริ่มจ่ายเงินให้ท่านอีกครั้งค่ะ นอกจากสองประเทศดังกล่าวแล้ว ทางโซเชี่ยลจะไม่ส่งเงินไปยังผู้อยู่ในประเทศอาเซอร์ไบจัน เบรารุต คาซัคสถาน เคอร์จิสสถาน มัลโดว่า ทาจิกิสสถาน เติร์คมินิสสถาน ยูเครนและอุซเบกิสถาน เว้นแต่มีการขอยกเว้นเป็นกรณีไป ซึ่งหากคนไทยเราไปอยู่ในประเทศเหล่านี้ก็จะต้องลองเข้าไปศึกษาหาข้อมูลดูนะคะ ส่วนประเทศอื่นที่อยู่ในลิสต์สามารถดูข้อมูลได้จากเวบไซด์ www.treasury.gov/resource-center/sanctions/Programs/Pages/Programs.aspx ค่ะ

หากท่านมีสถานะเป็นซิติเซ่นของสหรัฐ ท่านสามารถรับเงินผลประโยชน์ต่อไปตราบที่ท่านยังมีสิทธิ์ได้รับเงินและอาศัยอยู่ในประเทศที่สหรัฐสามารถส่งเงินให้ท่านได้อยู่ แต่หากท่านไม่ได้เป็นซิติเซ่นท่านจะต้องเข้าอยู่ในเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งของสถานะเหล่านี้

เมื่อเราพูดถึงคำว่า “อยู่นอกประเทศสหรัฐ” หมายถึง ท่านไม่ได้อาศัยอยู่ใน 1 ใน 50 มลรัฐของสหรัฐ ในวอชิงตันดีซี เปอร์โตริโก้ หมู่เกาะยูเอสเวอร์จิ้น กวม หมู่เกาะนอร์ธเทิร์นมาริน่า หรืออเมริกันซามัวร์เป็นเวลาอย่างน้อย 30 วันติดต่อกัน โซเชี่ยลพิจารณาว่าท่านอยู่ในสถานะ “อยู่นอกประเทศ” จนกระทั้งท่านกลับมาและอาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐเป็นเวลา 30 วันติดต่อกัน หากท่านไม่ได้มีสถานะเป็นซิติเซ่นท่านยังจะต้องแสดงสถานะว่าท่านอาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอย่างถูกกฏหมายในช่วง 30 วันนั้นด้วย ถ้าหากท่านไม่ได้เป็นซิติเซ่นหรือไม่ได้เข้าข่ายในเงื่อนไขข้อหนึ่งของใดสำหรับการจ่ายผลประโยชน์อย่างต่อเนื่องดังกล่าว ทางโซเชี่ยลอาจจะหยุดการจ่ายเงินของท่านหลังจากที่ท่านอยู่นอกประเทศเกินกว่า 6 เดือน ซึ่งหากเกิดเหตุดังกล่าวโซเชี่ยลไม่สามารถเริ่มการจ่ายเงินให้ท่านได้อีกครั้งจนกว่าท่านจะกลับมาอยู่ในสหรัฐจนครบ 1 เดือนเต็ม การนับครบเดือนเต็มหมายถึงท่านจะต้องอยู่ในสหรัฐในนาทีแรกของวันแรกของเดือนใดก็ตามและอยู่จนถึงนาทีสุดท้ายของวันสุดท้ายของเดือนนั้น นอกจากนี้ทางโซเชี่ยลอาจจะขอให้ท่านแสดงสถานะการเป็นพลเมืองอย่างถูกกฏหมายในระหว่างช่วงเดือนนั้นด้วย ซึ่งรายละเอียดเพิ่มเต็มสามารถขอได้จาก ssa.gov ค่ะ

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วทำให้เห็นประโยชน์ของการขอสถานะเป็นซิติเซ่นมากขึ้นแล้วนะคะ หากท่านผู้อ่านที่วางแผนจะไปเกษียณอยู่เมืองไทย และอยู่เมืองไทยมากกว่าที่นี่ ก็น่าจะพิจารณาดูถึงการขอแปลงสัญชาติดูนะคะ ซึ่งเรื่องของการแปลงสัญชาตินั้นได้มีการพูดถึงในงานสัมมนาของคอลัมน์ที่จัดไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา และจะมาพูดกันอีกครั้งในงานสัมมนาครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2563 นี้ที่วัดป่า ใครสนใจจะมาฟังอย่าลืมลงทะเบียนสำรองที่นั่งมาล่วงหน้านะคะ ฉบับนี้พื้นที่หมดแล้ว ฉบับหน้าจะมาพูดถึงเรื่องการรับโซเชี่ยลเมื่ออยู่นอกประเทศกันต่อค่ะ

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ความรู้ทั่วไปมิใช่เป็นการแนะนำทางกฏหมายหรืออื่นใดเฉพาะ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850)598-1709 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลัง ส่วนใครอยากอ่านบทความย้อนหลังก็หาอ่านได้ในคอลัมน์ “เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม” ทางเวบไซด์ของนสพ.ไทยแอลเอได้เลยค่ะ

อ้างอิง: https://www.ssa.gov/pubs/EN-05-10137.pdf


วลัยพรรณ เกษทอง

17 มกราคม 2563