ไลฟ์สไตล์
จอมพล
ทำอย่างไรถ้าต้องนั่งเครื่องบินนานๆ

ผู้เขียนเป็นโรคไม่ชอบเครื่องบิน ไม่ได้กลัวความสูงหรือกลัวเครื่องบินตก แต่เป็นเพราะเป็นโรคไม่ชอบนั่งนานๆ และเป็นคนขี้อึดอัดถ้าต้องนั่งเบียดชิดกับใครมากๆ ประมาณว่าได้ยินเสียงลมหายใจของคนข้างๆ ยิ่งหากผู้เขียนต้องนั่งอยู่ระหว่างกลางโดยมีคนนั่งข้างๆทั้งซ้ายและขวาแล้วด้วยนั้น จะพาลเป็นโรคประสาทไม่สามารถนอนหลับหรือขยับตัวได้ แล้วยิ่งคนที่นั่งข้างนั้นเป็นคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักด้วยแล้ว ยิ่งแล้วไปใหญ่ ผู้เขียนเคยโดนนั่งลักษณะนี้ คนที่นั่งข้างๆทั้งซ้ายและขวาเป็นคนน้ำหนักเกินมาตรฐาน นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนสงสัยมานานมากแล้ว ที่อเมริกานี้มีคนอ้วนมาก เรียกว่าอ้วนแบบเป็นโรคอ้วนเลยคือน้ำหนักตัวมากกว่า ๓๐๐ ปอนด์ขึ้นไป เห็นได้ทุกหนทุกแห่ง คนเหล่านี้มีความสามารถพิเศษที่จะนั่งลงไปในที่นั่งเล็กๆ อย่างเช่นเครื่องบิน รถเมล์ รถไฟใต้ดิน ร้านอาหารที่คนแน่นๆเก้าอี้เล็กๆ รวมไปถึงโรงภาพยนต์หรือละคร โดยไม่อนาทรร้อนใจ กลับนั่งได้หน้าตาเฉย แล้วสถานที่เหล่านี้ก็ช่างกระไรเลย ใช้เก้าอี้เล็กโดยไม่เห็นใจคนอ้วนบ้าง แต่ก็ไม่เห็นมีใครบ่นอะไร แถมยังนั่งกันได้ หากเป็นผู้เขียนคงจะเกิดอาการเสียสติถ้าต้องไปนั่งที่แคบๆที่มีคนรอบข้างใกล้ๆ

ฝรั่งเขาเรียกอาการแบบนี้ว่า “Claustrophobia” ซึ่งหมายถึงคนที่เป็นโรคกลัวความแคบหรือที่ที่ปิดอึดอัด คนพวกนี้จะไม่ชอบเข้าลิฟท์ หรือห้องแคบๆ หรือบางคนเป็นเอามากขนาดนอนแช่ในอ่างน้ำก็ทนไม่ได้ ผู้เขียนนั้นไม่ถึงกับเป็นโรคชนิดนี้ แต่เป็นคนไม่ชอบอยู่ในที่ๆมีคนมากๆ ใกล้ชิดกันมากแล้วออกไปไหนไม่ได้ เช่นคอนเสิร์ต โรงหนัง ลิฟท์ หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องบิน ฉะนั้นการที่ต้องนั่งเครื่องบินนานๆและไม่มีปัญญานั่งเฟิร์สท์คลาส การขึ้นเครื่องบินเป็นเรื่องทรมานทรกรรมสำหรับผู้เขียนเป็นที่สุด

ฉะนั้นเมื่ออ่านไปพบข้อมูลเกี่ยวกับสายการบินที่ต้องนั่งนานที่สุด จัดทำโดย U.S. News Travel ก็เห็นว่าน่าสนใจดี น่าจะแปลมาให้ได้ความรู้กันโดยเรียงลำดับจากน้อยไปหามากดังนี้


อันดับที่ ๘ จาก New York ไปยัง Hong Kong โดยสายการบิน Cathay Pacific ระยะทาง ๘,๐๕๙ ไมล์ การเดินทางทั้งหมด ๑๖ ชั่วโมง สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิคบินตรงจากท่าอากาศยานจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ไปยังสนามบินฮ่องกง ด้วยเครื่องบินโบอิ้ง ๗๗๗

อันดับที่ ๘ เช่นเดียวกันจาก Dallas-Fort Worth ไปยัง Brisbane โดยสายการบิน Qantas นั่นก็คือบินจากเท็กซัสไปยังออสเตรเลีย นับเป็นการบินทรหดเพราะผู้โดยสารจะต้องประสบกับอาการเจ็ทแล็ค เนื่องด้วยการเปลี่ยนเวลารวมกับการเดินทางอีก ๑๕ ชั่วโมง อย่างไรก็ดีควันทัส มีเก้าอี้ผู้โดยสารที่สร้างมาเพื่อการนั่งนานๆ มีอุปกรณ์บันเทิง มีอาหารให้ ๓ มื้อ และมีไวน์ให้ดื่ม นอกจากนี้ “ด็อบคิทส์” คือของแจกบนเครื่องยังมีมีดโกน แปรงสีฟัน น้ำยาดับกลิ่นตัว และอุปกรณ์เพิ่มความสดชื่น แถมยังมีสแน็คบาร์ให้ไปหยิบเอาเองได้ด้วย อันนี้ชอบนะเนี่ย

อันดับที่ ๘ เช่นเดียวกัน คือบินจาก Johannesburg ไปยัง New York ด้วยสายการบิน South African Airways ระยะทาง ๗,๙๗๐ ไมล์ ใช้เวลาบิน ๑๖ ชั่วโมงเช่นเดียวกัน บินแค่วันละครั้ง ด้วยเครื่องแอร์บัส จุคนได้ ๓๐๐ คน อาหารสองมื้อ มีอาหารว่างหนึ่ง มีเครื่องดื่มไวน์และเหล้าบริการ ในเครื่องบินจัดเป็นเก้าอี้แบบ2-4-2 คือทำให้ไม่มีที่นั่งตรงกลาง มีโปรแกรมการยืดเส้นให้ดูด้วย

อันดับที่ ๘ อีกเช่นเดียวกัน คือบินจาก Newark ไปยัง Hong Kong โดยสายการบิน United Airlines ระยะทาง ๘,๐๖๕ ไมล์ ใช้เวลาบิน ๑๖ ชั่วโมงเช่นเดียวกัน สายการบินอเมริกันมีชื่อเสียเรื่องของที่นั่งบนเครื่องบิน การบริการ และอาหารที่เสิร์ฟ นอกจากนี้ยังได้ยินคนบ่นเรื่องพนักงานต้อนรับอายุมากแล้วก็ได้ยินบ่อยๆด้วยเช่นกัน อันดับที่ ๖ บินจาก Atlanta ไปยัง Johannesburg โดยสายการบิน Delta Airlinesระยะทาง ๘,๔๓๓ ไมล์ ใช้เวลา ๑๖ ชั่วโมงกับ ๑๕ นาที สายการบินนี้ใช้กัปตัน ๔ คน และพนักงานต้อนรับสองกะ บินด้วยเครื่องโบอิ้ง ๗๗๗ ใช้น้ำมัน ๔๐,๐๐๐ แกลลอนส์

อันดับที่ ๖ เช่นเดียวกันบินจาก Doha ไปยัง Houston ด้วยสายการบิน Qatar Airways เมืองโดฮาเป็นเมืองหลวงของประเทศการ์ต้าตั้งอยู่ในคาบสมุทรเปอร์เซียน ติดกับประเทศซาอุดิอารเบีย ระยะทาง ๘,๐๔๗ ไมล์ ใช้เวลา ๑๖ ชั่วโมง ๑๕ นาที ข้อดีของสายการบินนี้คือทีวีจอใหญ่ถึง ๑๐.๖ นิ้ว และมีหนังให้ดูเป็นร้อยเรื่อง

อันดับที่ ๕ บินจาก Dubai ไปยัง Houston ด้วยสายการบิน Emirates Airways ระยะทาง ๘,๑๖๔ ไมล์ ใช้เวลา ๑๖ ชั่วโมง ๒๐ นาที สายการบินนี้บินจากเมืองน้ำมันไปยังเมืองน้ำมัน เป็นสายการบินหรูหราและคุยโอ่เรื่องการบริการ มีอาหารให้ ๒ มื้อใหญ่ แล้วก็มีอาหารตามสั่งอีกต่างหากเวลาที่หิว เช่น พิซซ่า ผลไม้ หรือ ช็อคโกแล็ต ตลอดการเดินทาง นอกจากนี้ยังมีบาร์ให้ดื่มฟรีไม่อั้นอีกด้วย

อันดับที่ ๔ จาก Dubai ไปยัง Los Angeles ด้วยสายการบิน Emirates Airways ระยะทาง ๘,๓๓๕ ไมล์ ใช้เวลา ๑๖ ชั่วโมง ๓๐ นาที ด้วยเครื่องโบอิ้ง ๗๗๗ สายการบินหรูนี้มีที่นั่งชั้นประหยัด ๒๑๖ ที่นั่ง ชั้นธุรกิจ ๔๒ ที่นั่ง ที่สามารถนอนราบได้ และ ๘ ที่นั่งชั้นสูท ในแต่ละเคบินจะมีการปรับไฟแบบสตาร์ไลท์คือจะปรับไฟตามที่สถานที่ๆจะไปถึงคือกลางคืนเป็นกลางคืน กลางวันเป็นกลางวันเพื่อลดอาการเจ็ทแล็ค แต่ราคาแพงระยับ ชั้นธรรมดาคือ ระหว่าง ๑,๘๐๐ ถึง ๒,๔๐๐ ในขณะที่ชั้นพิเศษ ๑๒,๗๐๐ ถึง ๑๔,๐๐๐

อันดับที่ ๓ บินจาก Los Angeles ไปยัง Bangkok ด้วยสายการบิน Thai Airways ระยะทาง ๘,๒๖๐ ไมล์ ใช้เวลาเดินทาง ๑๗ ชั่วโมงกับ ๓๐ นาที เรียกว่านั่งรากเลือด ฝรั่งเขาโหวดให้ว่าอาหารชั้นประหยัดของการบินไทยอร่อยที่สุด และเป็นการเดินทางที่ยาวที่สุดของสายการบินหนึ่งในสามของโลก ด้วยเครื่องแอร์บัส การบินไทยนั้นได้รับรางวัล SkyTrax's สี่ดาวเรื่องของความพึงพอใจของผู้โดยสาร

อันดับที่ ๒ บินจาก Newark ไปยัง Singapore ด้วยสายการบิน Singapore Airlinesระยะทาง ๑๐,๓๗๑ ไมล์ ใช้เวลา ๑๘ ชั่วโมง ด้วยเครื่องแอร์บัส ๓๔๐ ถึง ๕๐๐ ซึ่งปรกติสามารถจุดผู้โดยสารได้ ๓๐๐ คน แต่สิงคโปร์แอร์ไลน์จุแค่ ๑๐๐ ที่นั่ง ซึ่งจริงๆเป็นเตียงไม่ใช่ที่นั่ง และจัดแบบ 1-2-1 คือหนึ่งที่ติดหน้าต่าง ตรงกลางสองที่ และอีกที่ติดหน้าต่างอีกฟาก ทุกคนสามารถลุกขึ้นเดินไปมาและไปยังสแน็คบาร์ได้

อันดับที่ ๑ สายการบินที่บินยาวที่สุดในโลกคือ บินจาก Los Angeles ไปยัง Singapore ด้วยสายการบิน Singapore Airlines ด้วยระยะทาง ๙,๕๐๐ ไมล์ ใช้เวลา ๑๘ ชั่วโมง กับ ๓๐ นาที ผู้โดยสารส่วนมากจะคิดว่าบินจากนิววาร์คไปยังสิงคโปร์จะไกลกว่าเพราะถ้านับตามระยะทางจะไกลกว่า ๘๐๐ ไมล์ แต่บินไปจากนิววาร์คนั้นบินข้ามขั้วโลกเหนือซึ่งต้านลมน้อยกว่าจึงถึงเร็วกว่าการบินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิค


อย่างไรก็ตามข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยโพสท์ประจำวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๕ ได้ลงข่าวการประกาศยุบเครื่องบินตรงของการบินไทยดังนี้

แหล่งข่าวจากบมจ.การบินไทย กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2555 เป็นต้นไป การบินไทยจะยกเลิกเที่ยวบินตรงจากกรุงเทพฯ-ลอสแองเจลีส ในเครื่องบินแอร์บัส รุ่น A 345 ซึ่งเป็นรุ่นที่กินน้ำมันอย่างมาก แต่ไม่ยกเลิกเส้นทางดังกล่าว แต่จะปรับเปลี่ยนรุ่นเครื่องบินที่ให้บริการเครื่องโบอิ้ง 777-200 มาให้บริการแทน โดยจะทำการบินระหว่างกรุงเทพฯ-เกาหลี (โซล)-ลอสแองเจลีส แทน

“การดำเนินการดังกล่าวนั้นเพื่อปรับลดต้นทุนค่าน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันมีความผันผวนและมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เครื่องบินรุ่น A 345 ซึ่งเป็นรุ่นที่กินน้ำมันอย่างมาก“ แหล่งข่าวกล่าว

ฉะนั้นตำแหน่งรั้งอันดับ ๓ บินยาวที่สุดในโลกก็คงจะพับไปด้วยเหตุสู้ค่าน้ำมันไม่ไหว เอวังด้วยประการทั้งปวง เราชาวไทยก็ต้องไปจิ้มกิมจิที่กรุงโซลก่อนจะถึงเมืองไทย

แล้วอย่างนี้ใครจะขึ้นการบินไทยกันเล่า เพราะทั้งแพงกว่าเขาแล้วแถมยังต้องต่อเครื่องเสียเวลาเหมือนกัน จะอ้างว่าอาหารอร่อยติดอันดับโลกในชั้นประหยัด แต่แพงกว่าสายการบินอื่นสามสี่ร้อยเหรียญ ดูจะไม่คุ้มกันเท่าไหร่ ยังไม่ทราบเหมือนกันว่าการบินไทยจะรับมือกับเรื่องนี้ได้อย่างไร


ทีนี้ก็มาถึงหัวข้อเรื่องที่โปรยหัวเรื่องเอาไว้ว่าจะรับมืออย่างไรถ้าต้องนั่งเครื่องบินนานๆ เมื่อไม่นานมานี้ได้คุยกับน้องที่ทำงานสายการบิน เขาเล่าให้ฟังเรื่องสยดสยองบนเครื่องบินว่า สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆบนเครื่องบินคือผู้โดยสารเสียชีวิตจากโรค DVT (จะอธิบายในย่อหน้าต่อไป) แต่เนื่องจากเขาไม่ต้องการให้ผู้โดยสารท่านอื่นตกใจ เขาจะมีการย้ายศพของผู้โดยสารที่เสียชีวิตอย่างเงียบๆ คล้ายๆกับว่าสจ๊วตและแอร์ประคองผู้โดยสารไปหลังเครื่อง แล้วจัดให้นั่งตรงที่นั่งสุดท้ายของเครื่องที่ส่วนมากไม่มีใครนั่ง แล้วนำแว่นตาดำมาสวมให้ ที่นั่งสุดท้ายนี้มักจะติดกับห้องน้ำ ใครเดินไปก็มักจะเห็นคนนั่งใส่แว่นดำอยู่คนเดียว ขอให้รู้ไว้เถิดว่านั่นล่ะแกไปสวรรค์แล้ว เรื่องนี้จะจริงเท็จอย่างไรไม่ทราบ เขาเล่ากันมาอย่างนั้น ฟังแล้วสยดสยองแต่ก็มีความเป็นไปได้


ตอนนี้ขออธิบายเรื่องโรคนั่งเครื่องบินนี้ โดย ผู้เขียนได้คัดข้อมูลมาขยายความเพื่อให้เข้าใจดังนี้

“ผู้โดยสารบางคนเมื่อนั่งอยู่ในที่นั่งแคบ ๆ เป็นเวลานาน จะมีปัญหาเรื่องการไหลเวียนของโลหิต ฝรั่งเขาเรียกโรคนี้ว่า Economy class syndrome

economy class เป็นที่นั่งชั้นประหยัด ตั๋วราคาถูกกว่าเพื่อน ที่นั่งจึงออกจะคับแคบ ไม่กว้างขวางเหยียดขาสบายเหมือนพวกชั้นธุรกิจ (business class) และชั้นหนึ่ง (first class) ซึ่งราคาแพงหูฉี่ ผู้โดยสารส่วนใหญ่นั่งชั้น economy class นี่แหละ เพราะคนจนนั้นมีมากกว่าคนรวย

โรค Economy class syndrome พบในผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบิน โดยใช้ระยะเวลาบินครั้งละนานเกิน ๓ ชั่วโมงขึ้นไป บางคนจะป่วยทั้งในขณะเดินทาง หรือหลังจากเดินทางแล้ว โรคนี้มิใช่โรคใหม่แต่อย่างใด ที่จริงคือโรคเส้นโลหิตดำอุดตัน หรือ Deep Venous Thrombosis (DVT) หรือเรียกย่อ ๆ ว่าโรค DVT นอกจากโรคดังกล่าวจะเกิดกับผู้โดยสารชั้นประหยัดแล้ว ผู้โดยสารชั้นหนึ่ง ชั้นธุรกิจ หรือแม้แต่นักบินก็เสี่ยงเป็นโรคนี้เช่นกัน เพียงแต่ไม่มากเท่า ทั้งนี้บุคคลในกลุ่มอาชีพอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค DVT ได้แก่ พนักงานขับรถแท็กซี่ รถโดยสารประจำทาง รถบรรทุกส่งของเดินทางระหว่างจังหวัด หรือผู้ที่นั่งโต๊ะทำงานเป็นประจำตั้งแต่เช้าจรดเย็น ผู้เข้าชมภาพยนตร์เรื่องยาว ๆ ละคร หรือคอนเสิร์ต ก็อาจจะเกิดโรคนี้ได้เช่นกัน

อาการของผู้ที่เป็นโรค DVT โดยทั่วไปจะมีอาการปวดบวมแดงบริเวณน่องหรือข้อเท้า จะสังเกตได้ว่าเวลาอยู่บนเครื่องบินนาน ๆ นั้น เมื่อถอดรองเท้าแล้วจะสวมรองเท้ากลับเข้าไปได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากเท้าบวมเพราะไม่ได้เคลื่อนไหว อาการของโรค DVT เกิดจากการที่เลือดจับตัวเป็นลิ่มหรือเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วไหลเข้าไปตามกระแสเลือด และอาจไปอุดตันตามอวัยวะที่สำคัญ เช่น ปอด หรือหัวใจ ทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดโรค DVT ตามร่างกายส่วนล่างตั้งแต่ใต้หัวเข่าลงไป ได้แก่ การนั่งในที่คับแคบเป็นเวลานาน ๆ หลายชั่วโมงโดยไม่ค่อยได้เปลี่ยนอิริยาบถ การนั่งไขว้ขา การดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ การดื่มน้ำน้อยเกินไป หรือการมีเส้นโลหิตขอดหรือโป่งพอง ก็ล้วนเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดโรคนี้ได้ทั้งสิ้น


โรค DVT สามารถป้องกันได้ในระหว่างเดินทาง ดังนี้คือ


-รับประทานยาแอสไพริน วันละครึ่งเม็ดก่อนเดินทาง ๒ วัน และอีกครึ่งเม็ดรับประทานเมื่ออยู่บนเครื่อง ยาแอสไพรินมีฤทธิ์ทำให้เกล็ดเลือดไม่จับกลุ่มหรือเป็นลิ่ม

-เลือกที่นั่งใกล้ทางเดิน อย่านั่งด้านใน เพราะนั่งใกล้ทางเดินจะมีที่ว่างพอให้เหยียดแขน ขา แก้อาการเมื่อยขบ

-อย่านั่งไขว้ขา ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ และลุกขึ้นเดินบ้าง

-หมั่นบริหารขาโดยยื่นเท้าทั้งสองข้างออกไป ยกขึ้นสูงเท่าที่จะยกได้ เหยียดนิ้วเท้ากางออกสัก ๓ วินาที แล้วยกเท้าลง เหยียดนิ้วเท้าชี้ลงพื้นดินอีก ๓ วินาที ก็จะช่วยบรรเทาอาการเมื่อยขบได้

-สวมเสื้อผ้าชุดค่อนข้างหลวมสบาย อย่าสวมถุงน่องที่มีแผ่นอิลาสติกรัดใต้เข่า เพราะจะทำให้เลือดเดินไม่สะดวก

-ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ สุรา อาหารรสเค็มจัด และควรดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ นอกจากโรค DVT ที่มากับการโดยสารเครื่องบินแล้ว ยังมีโรคอื่น ๆ ที่อาจติดต่อกันได้ในห้องโดยสาร เช่น โรคหวัด วัณโรค โรคผิวหนัง เป็นต้น ดังนั้นจึงควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อเป็นเกราะป้องกันไม่ให้โรคภัยไข้เจ็บเข้ามาสู่ร่างกายได้โดยง่าย

ข้อมูลเรื่องนี้ คัดมาจากบทความของ พเยาว์ รอดโพธิ์ทอง ใน จดหมายข่าว วท. ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๒ กุมภาพันธ ๒๕๔๔” ต่อไปนี้เป็นความรู้เพื่อการปฏิบัติในการนั่งเครื่องบินนานๆ ผู้เขียนแปลมาจากGreig Waddell, former About.com Guide

๑.ให้นั่งชั้นธุรกิจหรือชั้นหนึ่ง เป็นคำแนะนำที่ปัญญาอ่อนมาก

เพราะถ้าฉันมีเงินพอฉันก็คงไม่ต้องมานั่งชั้นประหยัดให้เมื่อยตุ้มหรอก ฉะนั้นเราผ่านข้อนี้ไป

๒. ไม่ควรบินตรงด้วยระยะเวลานานๆ ควรจะแบ่งการเดินทางออกเป็นสองช่วงคือบินยาว และบินสั้น ดีกว่าแบ่งเท่าๆกัน เพราะบินยาวจะได้นอนสบายกว่ารวดเดียวก่อนเปลี่ยนเครื่อง สิ่งที่แย่ที่สุดคือกำลังนอนสบายๆแล้วต้องลงสนามบินเปลี่ยนเครื่อง

๓. ควรให้ร่างกายได้รับน้ำอย่างเพียงพอ น้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการนั่งเครื่องบิน เพราะความกดอากาศและความแห้งจะทำให้กระหายน้ำ ไม่ควรดื่มแอลกลอฮอล หรือกาแฟ เพราะจะยิ่งทำให้ร่างกายขาดน้ำมากขึ้น ก่อนขึ้นเครื่องควรพกพาน้ำขวดใหญ่เอาไว้ด้วย เพราะพนักงานบนเครื่องบินจะให้น้ำทีละแก้วเล็กๆ บางครั้งเรากระหายน้ำแต่เกรงใจไม่กล้าขอบ่อย ให้เตรียมซื้อไว้ก่อนขึ้นเครื่องจะได้ไม่ขาดน้ำ นอกจากนี้ควรมีของขบเคี้ยวไม่ให้หิวจนเกินไปในระหว่างมื้ออาหารติดไว้ด้วย

๔. ควรลุกขึ้นและยืดเส้นบ่อยๆ เพื่อป้องกันการอุดตันของเส้นเลือด เวลาลุกแล้วก็ให้ยืดเส้นไม่ต้องอายเพราะทุกคนควรทำเช่นกัน ควรขอที่นั่งติดทางเดินเพื่อจะลุกนั่งได้ไม่ต้องเกรงใจคนที่นั่งด้านนอก

๕. แต่งกายให้สบายไม่ต้องแคร์ความหล่อความสวย หมดสมัยที่จะต้องแต่งตัวสวย ใส่สูทผูกไท ใส่ชุดนอนสบายที่สุด ถ้าหากมีอุปกรณ์ที่ทำให้สดชื่นด้วยเช่น แปรงสีฟันยาสีฟัน น้ำยาดับกลิ่นตัวควรพกไปด้วย แต่อย่าให้ขวดใหญ่ขึ้นเครื่องไม่ได้นะจ๊ะ

๖. ไม่ควรเลือกตารางเวลาที่กระชั้นชิดเกินไป เช่นมีเวลาเปลี่ยนเครื่องแค่ ๒๐ นาที แล้วต้องมาคอยกังวลว่าจะทันไหม เครื่องดีเลย์จะตกเครื่อง ซึ่งความกังวลนี้จะทำให้เกิดความเครียดและทำให้นอนไม่หลับ หรือกระสับกระส่าย เสียเวลาดีกว่าเวลากระชั้นชิด เวลาที่ไปถึงจุดหมายก็เช่นกันอย่าให้ตาลีตาเหลือกไปประชุมไม่มีเวลาเช็คอินอาบน้ำอาบท่า ต้องให้เวลากับตัวเองให้พอ

๗. เตรียมยาช่วยหลับ การนอนบนเครื่องบินเป็นเรื่องยาก หลายคนประสบปัญหานี้ หากจะเดินทางขอให้ไปปรึกษาหมอ หมออาจจะให้ยากล่อมประสาทที่จะช่วยได้มากในการหลับ หรือถ้าไม่หลับก็รู้สึกผ่อนคลาย หลายคนบอกว่าให้ดื่มยาแก้ไอ หรือทานยาไทลีนอลไนท์ไทม์ ซึ่งเป็นยาที่กินแล้วง่วง ก็น่าจะได้ผลดี

๘.เตรียมเครื่องช่วยให้นั่งได้สบายให้พร้อม เช่นหมอนเดินทางที่เป็นรูปโค้งเข้ารูปกับคอ สามารถนอนเอนกายได้ แผ่นปิดตาที่ช่วยไม่ให้แสงรบกวน หรือจุกยางอุดหูเพื่อไม่ให้ได้ยินเสียงเครื่องที่ดังรบกวน เสียงคนข้างๆคุยกัน หรือเสียงเด็กร้องไห้

๙. เตรียมเครื่องป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อโรคติดต่อ การอยู่ในที่ๆมีคนสามถึงสี่ร้อยคนในที่แคบๆอาจมีการแพร่เชื้อโดยเฉพาะโรคที่ติดจากทางเดินอากาศ เช่นหวัด หรือไข้หวัดใหญ่ ขอให้เตรียมผ้าปิดจมูก หรือไวตามินซี ให้พร้อม

๑๐. ข้อสุดท้ายอย่าเป็นอีบ้าหอบฟาง หอบข้าวของพะรุงพะรัง กระเป๋าถือใบโตที่ต้องวางไว้ใต้เบาะที่นั่ง ทำให้ยืดขาไม่ได้ หรือวางไว้ข้างเก้าอี้ ทำให้เบียดที่ของก้นเราเอง พยายามหอบให้น้อยจะได้มีที่เหลือมากและกว้างพอ

หวังว่าคงจะช่วยท่านให้เดินทางสบายขึ้นนะครับ