ไลฟ์สไตล์
จอมพล
แรงเงา

ติดกันงอมแงมทั้งบ้านทั้งเมืองก็คือละครทีวีหลังข่าวตอนสามทุ่มของวันจันทร์และวันอังคาร เรื่อง “แรงเงา” ซึ่งสร้างเป็นหนังใหญ่มาครั้งหนึ่ง และสร้างเป็นละครมาถึงสามครั้งแล้ว ครั้งหลังสุดนี้ที่ได้เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ รับบท มุนินทร์/มุตตา มี ภูภูมิ พงศ์ภาณุ รับบท วีกิจ รวิชญ์ เทิดวงส์ มารับบท เจนภพ และได้ธัญญาเรศ เองตระกูล มารับบท นพนภา ความดังของละครเรื่องนี้ที่มีเรทติ้งสูงลิ่วจนกระทั่งคนกรุงเทพฯพูดกันติดตลกว่า “วันแรงเงาแห่งชาติ” ทั้งนี้ก็เพราะวันจันทร์และวันอังคารตอนหัวค่ำ รถราจะเลิกติด ผู้คนจะจับเจ่าอยู่หน้าทีวีเพื่อติดตามละครเรื่องนี้กันเป็นแถว จนถนนหนทางโล่งว่างเหมือนเป็นวันหยุดราชการอย่างไรอย่างนั้น ด้วยความที่ตัวละครเรื่องนี้แรงและมีบทหึงหวงตบตีระหว่างเมียหลวงกับเมียน้อยอย่างเมามันในอารมณ์ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นทางสื่อต่างๆหนังสือพิมพ์ รายการทีวี เรียกว่าเป็นทอร์คออฟเดอะทาวน์กันเลยทีเดียว

ผู้เขียนเองนั้นก็ยอมรับว่าตัวเองก็ติดละครเรื่องนี้เหมือนกัน ถึงจะรู้สึกว่าแรงแต่ก็ไม่เห็นว่าจะแรงถึงขนาดต้องห้ามฉายหลังข่าวแต่ให้ย้ายเวลาไปหลังสี่ทุ่ม เพื่อที่ว่าเด็กจะได้ไม่ได้ดู เพราะมันดึก ซึ่งผู้เขียนว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ อย่างไรก็ตามด้วยความที่ตัวเองก็ติดละครเรื่องนี้ จะว่าไปก็เห็นว่าสร้างดีและดัดแปลงบทประพันธ์ให้ทันสมัยรวมไปถึงสร้างให้เห็นมิติของตัวละครอย่างมีเหตุมีผลมากไปกว่าเวอร์ชั่นก่อนๆ นี่กระมังทำให้ละครเร้าใจและน่าติดตาม

บรรดานักวิจารณ์ต่างก็ดาหน้าออกมาด่าว่าผู้จัดว่าทำให้เสียวัฒนธรรมอันดีของประเทศ ถึงขนาดออกมาป่าวประกาศว่าละครเรื่องนี้ทำให้เสียสถาบันเมียหลวง โดยเฉพาะยายเจ๊ระเบียบรัตน์ ที่วันๆไม่มีอะไรทำ จึงสถาปนาตัวเองมาประธานชมรมเสริมสร้างครอบครัวให้อบอุ่นและเป็นสุข ตามประสาคนอยากดัง ได้ออกมาวิจารณ์ละครเรื่องนี้อย่างเสียๆหายๆดังนี้

“พูด ถึงเส้นทางการเป็นเมียน้อยนั้นมีหลายช่องทาง บางคนอยากเป็นเพราะว่าหวังในหน้าที่การงาน บางคนเป็นเมียน้อยเพราะถูกหลอก ตกกระไดพลอยโจน เรื่องนี้ก็เช่นกัน เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ (มุตตา) เป็นเมียน้อยที่โดน ผอ.เจนภพ (นำแสดงโดย รวิชญ์ เทิดวงส์) หลอกมา เมื่อผู้ชายไม่มีสัจจะมันถึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นกับ 2 ฝ่าย แต่สิ่งที่ต้องติติงกันก็คือ ละครเรื่องนี้สร้างภาพให้เมียหลวงโหดร้ายกาจเกินความเป็นจริง ซึ่งจริงๆ ไม่น่าร้ายกาจขนาดนั้น ร้ายกาจจนน่าเกลียด ทำให้ภาพสถาบันของเมียหลวงเสียหาย ในฐานะเมียหลวงพวกเราไม่ได้ร้ายกาจ ไม่ได้ระราน ตบตีและไล่ประจานเมียน้อยรุนแรง ถึงในบริษัทถึงขั้นตกบันไดขนาดนั้น อย่างที่บอกแม้ว่าจะสะท้อนชีวิต แต่มันโอเวอร์เมียหลวงก็เกินไป ทั้งหน้าตาท่าทาง กิริยา พฤติกรรมที่ตบตีรุนแรงเกินเหตุของเมียหลวงอย่างธัญญ่า นอกจากนั้นยังทำให้ภาพนักแสดงดูไม่ดี”

นาง ระเบียบรัตน์ ในฐานะเมียหลวงกล่าวอีกว่า ถ้าหากเหตุการณ์ในละครเป็นเรื่องจริง เมียหลวงจะไม่ออกไปตบตี บุกไปในที่ทำงาน ด่าทอประจานบุคคลที่ 3 แต่จะทำการจัดการสามีของตนเอง

“เมีย หลวงส่วนใหญ่มีสติไม่ได้ขี้วีน ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นกับพวกเรา เราก็จะเชิญสามีมานั่งถามว่าข่าวลือว่าเป็นสมภารกินไก่วัดในบริษัทที่คนลือ นั้นเป็นจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นจริงฉันไม่ไว้คุณนะ อันดับแรกเราต้องโทษผัวเราก่อน เมื่อสอบถามแล้วก็ค่อยสังเกตพฤติกรรม ตามติดไม่ให้รู้ตัว ของแบบนี้ถ้าสืบจริงๆ ก็จะรู้เพราะมันจะออกมาเอง ถ้าเป็นจริงสิ่งที่ควรกระทำก็คือ จัดการกับสามีของเราให้หนัก แต่ไม่ควรไประราน ประจานบุคคลที่ 3 อย่างในละคร เพราะเมียน้อยธรรมดาเขากลัวเมียหลวง”

นอกจากเมียน้อยประเภทแบบไม่มีอะไรจะเสีย แต่ที่สุดก็ต้องแพ้พ่ายเพราะว่าเมียหลวงเขามีสิทธิ์ตามกฎหมาย ถ้าเราสงบเสงี่ยมเจียมตัว เราจะอยู่เป็นเมียน้อยได้นาน ถ้าเราต้องการตกอยู่ในสภาพนี้ ถ้าเราลุกขึ้นสู้เมื่อไหร่เราก็แพ้ เพราะไม่มีใครนิยมคนที่ไปแย่งของคนอื่นมา รวมๆ แล้วเมียหลวงจะไม่ทำความรุนแรงแบบในละครแน่นอน

ตกลงยายเจ๊คนนี้แกก็เลยยอมรับออกมาว่าตัวเองเป็นเมียหลวง คือกลายเป็นว่าเอาสามีมาประจานว่าสามีตนนั้นก็มีเมียน้อย แต่เจ้าหล่อนเป็นเมียหลวงใจดีจึงไม่เอาเรื่อง

คำถามก็คือว่าที่มานั่งด่าปาวๆอยู่นี้ก็คงเป็นเพราะเห็นว่าวัฒนธรรมอย่างตะวันตกในอันที่มีคู่สมรสเพียงหนึ่งเท่านั้นไม่ใช่วัฒนธรรมไทย ก็หมายความว่า การที่ผัวมีเมียน้อยนี้เป็นเรื่องที่ “ยอมรับได้” ในหมู่ผู้หญิงไทยกระนั้นหรือ

คนที่วิจารณ์ก็พากันคิดเล็กคิดน้อยไปใหญ่โต เห็นโพสท์อันหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าความคิดโยงใยเรื่องของละครออกมาในภาพสะท้อนทางการเมืองตอนนี้ มีแง่คิดที่ประหลาดและเมื่อผู้เขียนอ่านจบก็นึกในใจว่า มันคิดของมันได้อย่างไร เขาเขียนวิจารณ์เอาไว้ดังนี้

เมื่อ ถามว่ามีข้อเสนอให้ละครเรื่องแรงเงาที่นำเสนอความรุนแรง ย้ายไปอยู่ช่วงหลัง 4 ทุ่มหลีกเลี่ยงเยาวชนดูนั้น....? ผู้ก่อตั้งโครงการเสริมสร้างครอบครัวให้อบอุ่นและเป็นสุข กล่าวไม่เห็นด้วย เพราะเดี๋ยวนี้เด็กนอนดึก และที่สำคัญปัจจุบันมีช่องทางให้ดูย้อนหน้าย้อนหลังมากมาย พร้อมยังเสนอแนะทางแก้ไขกรณีละครเรื่องแรงเงาว่า

“การ แก้ปัญหาละคร ที่มีความรุนแรงนั้นต้องแก้กันที่ต้นเหตุ หน่วยงานของรัฐกระทรวงวัฒนธรรม หรือ กบว.ช่อง ควรจะคุยกับผู้ผลิต ผู้สร้างละครก่อนว่าละครที่เสนอช่องมา ควรจะออกมาอย่างไร ถ้าเห็นว่าสุ่มเสี่ยงจะมีความรุนแรงก็ตักเตือนให้ทำแต่พอดี อย่าให้ฝืนรุนแรงไล่ตบไล่ตี ไล่ฆ่ากันซะผิดธรรมชาติผิดมนุษย์มนาก็ไม่ควร กรณีนี้ถ้าสังคมท้วงติงกันก็ควรปรับละครให้มีความรุนแรงน้อยลง อยากจะฝากไปยังผู้สร้างว่าภาพที่ออกมาทำให้เมียหลวงดุร้ายนั้น ไม่ได้ร้ายเสมอไป อย่างพี่แดงก็เป็นเมียหลวงใจดีคนหนึ่ง” นางระเบียบรัตน์ กล่าวสรุป

ทั้งนี้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ "แรงเงา" ของผู้จัดรายนี้และสถานีโทรทัศน์ที่ออกอากาศอยู่นี้ ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น หากยังจำกันได้กรณีคล้ายๆ กันนี้ได้เกิดขึ้นกับละครเรื่อง "ดอกส้มสีทอง" ที่ออกอากาศทางไทยทีวีสีช่อง 3 เนื่องจากมีการร้องเรียนถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของตัวละครเอก "เรยา" จนกลายเป็นเรื่องระดับประเทศ แม้ที่สุดแล้วบทสรุปผู้จัดไม่สามารถทนแรงเสียดทานของสังคมได้จนต้องยอมตัด ฉากล่อแหลม พร้อมใส่ตัววิ่งเตือน ฉากอวสานมีการนำพระมาให้ข้อคิด และสถานีไทยทีวีสีช่อง 3 ที่ถูกภาครัฐคาดโทษเอาไว้ว่าจะทำการถอนสัมปทานนั้นก็รอดไปอย่างหวุดหวิด ครั้งนี้มาดูกันว่าตัวละครเก่าๆ กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนักๆ จะรอดไปอีกหรือไม่

ผู้เขียนเห็นว่า “แรงเงา” เป็นภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ระหว่าง “บ้าน” กับ “เมือง” ในช่วง 50 ปีหลังนี้เป็นอย่างดี โดยแสดงผ่านตัวละครต่างๆ ที่สัมพันธ์กันอย่างสับสนวุ่นวายภายในเนื้อเรื่อง ซึ่งผู้เขียนได้แบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ดังต่อไปนี้ หนึ่งคือ “พวกผู้ดีเก่า” สะท้อนผ่านตัวละครคือ “ผอ.เจนภพ” สองคือ “พวกผู้ดีใหม่” สะท้อนผ่านครอบครัวเมียหลวง “นพนภา” สามคือ ชนชั้นกลางในเมืองกรุง สะท้อนผ่านพระเอกของเรื่อง “วีกิจ” สี่คือ “ชนบทเก่า” ผ่านตัวละคร “มุตตา” และสุดท้ายคือ “ชนบทใหม่” ผ่านนางเอกสุดร้าย มากฤทธิ์อย่าง “มุนินทร์”


เจนภพ: ผู้ดีเก่าตกอับ

เจนภพ เป็นข้าราชการตัวเล็กๆ (ตามคำนิยามของนพนภาภรยาของเขา) ผู้อำนวยการกองพัสดุ สืบเชื้อสายมาจากตระกูลขุนนางเก่า ซึ่ง (น่าจะ) เคยเฟื่องฟูมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตราบถึงสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งถือว่าเป็นยุคสมัยที่กลุ่มขุนนางข้าราชการมีบทบาทอย่างสำคัญในประวัติ ศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจภาคเอกชนเฟื่องฟูขึ้นหลังนโยบายการพัฒนาตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ได้ทำให้การทำมาค้าขายเป็นภาคธุรกิจที่นำมาซึ่งความมั่งคั่งอย่างมหาศาล ขุนนางเก่ากลุ่มนี้ไม่สามารถปรับตัวได้ จนกระทั่งกลายเป็นกลุ่มคนที่เหลือแต่เกียรติ ไม่มีเงินทองพอที่จะประคับประคองตนเองให้ดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างสมฐานะ ดังที่เจนภพพูด (กึ่งหลอก) กับมุตตาไว้ว่า “เรื่องของผมมันน่าอาย มันยิ่งกว่าละครน้ำเน่าเสียอีก บ้านผมเป็นตระกูลขุนนางเก่า มีแต่เกียรติไม่มีเงิน ยิ่งคุณพ่อผมอยากทำธุรกิจ แต่ไม่มีประสบการณ์ ลงท้ายเป็นหนี้สินกว่าสิบล้าน” ทางออกหนึ่งของคนกลุ่มนี้จึงอยู่ที่การสร้างความสัมพันธ์เชิงเครือญาติกับ พวกผู้ดีหรือเศรษฐีใหม่อย่างครอบครัวของนพนภา จนกระทั่งมีสถานะเป็น “..ปูกล้ามโพลก มีแต่เปลือก เกาะเมียกินเป็นแมงดาอยู่ทุกวัน” (นพนภา)


นพนภา: เศรษฐีใหม่ผู้ฝักใฝ่ในเกียรติยศ

ครอบครัวของ นพนภาเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่ได้ผลประโยชน์จากนโยบายพัฒนา เติบโตมาจากการค้าและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (เล็กๆ น้อยๆ ตามคำของนพนภา) คนกลุ่มนี้แม้จะสะสมความมั่งคั่งร่ำรวยขึ้นมาได้ แต่ในจิตใจลึกๆ แล้วกลับยังรู้สึกว่าตนเองเป็นพวกไร้ราก ไร้เกียรติยศ จึงต้องสร้างความสัมพันธ์กับพวกตระกูลขุนนางเก่าอย่างเจนภพ เนื่องจากว่า “บ้านของเขามีเงินล้นฟ้า แต่ไม่มีเกียรติไงครับ” (เจนภพ) ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะดิ้นให้หลุดออกจากภาพพ่อค้าหน้าเลือด ผู้ที่พร้อมจะกดขี่ขูดรีดคนอื่นอย่างๆ ไร้มนุษยธรรมเพียงเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ดังที่เนตรนภิศกล่าวถึงพฤติกรรมของพี่สาวของตนเองไว้ว่า “ก็วิธีตอบแทนใครๆ ของพี่สาวชั้นไง เอาเงินฟาดหัวมันเข้า มันจะได้คลานมามอบแล้วกระดิกหางทุกครั้งเวลาเรียกใช้”

นอกจากนั้น การสร้างสายสัมพันธ์เชิงเครือญาติกับพวกตระกูลข้าราชการ ยังเป็นวัฒนธรรมสำคัญของนายทุนไทยในช่วงเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะในยุคของเผด็จการทหารจอมพลสฤษดิ์จนถึงจอมพลถนอมนั้น การมีเส้นสาย มี connection กับข้าราชการย่อมนำมาซึ่งสัมปทานและสิทธิพิเศษต่างๆ อย่างมากมาย ซึ่งย่อมเป็นผลประโยชน์กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของนพนภาอย่างปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งพันธมิตรระหว่างเจนภพ (ขุนนางข้าราชการ) กับนพนภา (นักธุรกิจนายทุน) นั้น พร้อมที่จะกดขี่บีฑาชนบท/ชาวบ้านอย่างมุตตาให้จมดิน จนกระทั่ง “มุตตาสูญเสียจนไม่เหลืออะไรเลย จากฝีมือมนุษย์ที่มีหัวใจเป็นสัตว์” (มุนินทร์)


วีกิจ: ชนชั้นกลางเมืองกรุงผู้หมดจด งดงาม

วีกิจ เป็นตัวแทนชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ที่เติบโตมาจากนโยบายการพัฒนาเช่นเดียวกัน เขาถูกเลี้ยงดูมาแบบครอบครัวเดี่ยวในเมืองโดยแท้ ดังที่เขาได้เล่าให้มุตตาฟังว่า “พ่อผมตายตั้งแต่ผม 10 ขวบเอง แม่เลี้ยงผมมาตัวคนเดียว แม่ผมน่ะเป็นซูเปอร์มัมตัวจริงฮะ” เขาสมาทานศีลธรรมแบบชนชั้นกลางอย่างเต็มที่ เลือกที่จะเป็นข้าราชการตัวเล็กๆ เจียมเนื้อเจียมตัว กินอยู่อย่างพอเพียง ไม่ทำตัวโอ้อวดใหญ่โต แม้ว่าจะมีอาเป็นถึงผู้อำนวยการของหน่วยงานที่ตนทำงานอยู่ และเขาก็ไม่เคยคิดจะใช้บารมีของอาเพื่อส่งเสริมตนเองเลย ดังที่เขาได้กล่าวตอนที่นพนภาสร้างภาพออกสื่อไว้ว่า “พรุ่งนี้มีรายการสร้างภาพอีกแล้วซิฮะ...ให้อาภพกับอานภาเป็นพระเอกนางเอกไป เถอะฮะ ผมไปด้วยเดี๋ยวแย่งซีนเปล่าๆ”

บทละครเรื่อง “แรงเงา” มอบบทบาทสำคัญให้กับวีกิจ (กลุ่มชนชั้นกลาง) เขาเป็นคนที่คอยให้ความช่วยเหลือดูแลมุตตา สาวชนบทที่ต้องมาเผชิญกับชาวเมืองผู้โหดร้าย นอกจากนั้นเขายังเป็นตัวกลางที่ต้องคอยไกล่เกลี่ย สร้างความเข้าใจ สร้างความสมาฉันท์ให้กับความแตกแยกของเจนภพ (ขุนนางเก่า) นพนภา (พ่อค้านายทุน) มุนินทร์ (สาวชนบทสมัยใหม่) และมุตตา (สาวชนบทแบบเก่า) อีกด้วย

ในเนื้อเรื่องนั้น วีกิจเพียงแค่แอบเมตตา สงสาร เอ็นดู และคอยช่วยเหลือมุตตา (ชนบทแบบเก่า) จากการถูกรังแกจากรัฐและทุน (ผอ.เจนภพและภรรยา) แต่เขากลับ “หลงรัก” มุนินทร์ สาวชนบทใหม่ผู้มาดมั่น มีความรู้ เปี่ยมด้วยพลังอย่างสุดหัวใจ ดังที่ตัวเขาได้สารภาพกับมุนินทร์ไว้ว่า “เมื่อปีก่อน ผมเคยขอคบคุณเป็นแฟนแต่คุณปฏิเสธ รู้ไหมฮะวันนั้นผมไม่เจ็บเท่าไหร่ ผมถึงบอกตัวเองว่าผมคงไม่ได้รักคุณ แต่ช่วงหลังนี้ทุกอย่างมันเปลี่ยนไป คราวนี้มันกลับเจ็บ เจ็บอย่างที่ผมไม่เคยคิดว่ามันจะเจ็บได้ถึงขนาดนี้”


มุตตา: ชนบทแบบเก่า ถูกเหยียบย่ำ รังแก และไร้พิษสง

มุตตา เปรียบได้กับชาวชนบทรุ่นแรกที่ต้องอพยพเข้าสู่เมืองภายหลังนโยบายการพัฒนา ของจอมพลสฤษดิ์ เธอเป็นชาวชนบทที่ไร้พิษสง “ไม่ใช่คนเข้มแข็ง..เปราะบางเกินไปด้วยซ้ำ” (วีกิจ) แต่ทว่าในอีกด้านหนึ่งก็ “ดูบริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนน้ำค้างกลางหาว” (สรรค์ เพื่อสนิทของเจนภพ) ซึ่งความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสาของเธอ ทำให้เธอต้องหลงติดกับอยู่ในวังวนคำหวานของเจนภพ ที่พร่ำพรรณนาบอกกับเธอว่า “ผมรักตา ตาคือทุกสิ่งทุกอย่าง คือชีวิต คือลมหายใจของผม” จนกระทั่งเธอต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างไป


ประโยคเด็ดประโยคนี้ เปรียบดั่งโฆษณาชวนเชื่อที่รัฐบาลเผด็จการทหารในสมัยพัฒนา ที่พร่ำบอกกับประชาชนอยู่เสมอว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” ซึ่งเมื่อชาวชนบทหลงเชื่อ ก็ต้องเผชิญกับความฉิบหายวายวอด และสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างไม่มีทางที่จะหวนกลับ

มุตตาจึงเป็นดังตัวแทนของชาวชนบทจำนวนมากที่ถูกปู้ยี่ปู้ยำจากรัฐและทุน จนสูญเสียทั้งเรือนร่าง ความบริสุทธิ์ ครอบครัว เครือญาติ จนกระทั่งวิญญาณ


มุนินทร์: ชนบทใหม่ผู้ไม่ศิโรราบ

แม้ว่านโยบายการ พัฒนาจะได้ “ฆ่า” ชาวชนบทแบบเก่าอย่างมุตตาไปจากโลก แต่ในทางตรงกันข้าม นโยบายดังกล่าวก็ได้สร้างชาวชนบทแบบใหม่อย่างมุนินทร์ขึ้นมาด้วย เธอปรากฏตัวในละครฉากแรกในฉากสุดท้ายของมุตตา ดังนั้น ด้านหนึ่งของความตายของมุตตาก็คือการเกิดขึ้นมาของมุนินทร์

มุนินทร์เป็นสาวชนบทสมัยใหม่ผู้มาดมั่น เปี่ยมด้วยความรู้ เธอเรียนหนังสือและทำงานอย่างหนักหน่วงเพื่อเลื่อนชนชั้น จนรายได้ (นอกภาคการเกษตร) ที่เธอหามาสามารถเปลี่ยนฐานะของครอบครัวจากร้านขายกาแฟโบราณเล็กๆ จนกลายเป็นเจ้าของไร่ดอกไม้ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งจากประสบการณ์การสร้างเนื้อตัวด้วยลำแข้งดังกล่าว ทำให้เธอไม่ใช่ชาวชนบทที่ยอมก้มหัวศิโรราบให้แก่รัฐและทุนอีกต่อไป ดังที่เธอได้ประกาศกร้าวไว้ว่า “มุตตาคนเดิมไม่กลับมาแล้ว” แต่กระนั้นมุตตาก็ “จะไม่ตาย จะอยู่ค้ำฟ้าไปจนกว่าเขาทั้งสองคนจะพินาศไปก่อน”

เธอกลับมาเรียกร้องความยุติธรรม ในลักษณะตาต่อตาฟันต่อฟัน ซึ่งมาดใหม่ของเธอนั้นได้สร้างความหวาดหวั่นให้กับทั้งมิตรและศัตรู วิธีการ “เอาคืน” ของเธอทำให้วีกิจและกลุ่มชนชั้นกลางในเมืองอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ซึ่งมุนินทร์ได้อธิบายการกระทำของเธอเอาไว้ว่า “ฉันทำอย่างนั้นเพราะว่าฉันเป็นคน หรือคุณคิดว่าพวกคุณเท่านั้นที่เป็นคน แต่คนอื่น เป็นแค่สัตว์เดียรัจฉาน” ซึ่งสาวชนบทใหม่อย่างเธอนั้น ตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของตนเองอย่างเต็มที่ ดังที่เธอเองได้อธิบายไว้ในอีกตอนหนึ่งว่า “ตาเลือกแบบนั้น มนุษย์มีสิทธิ์ที่จะเลือก มันอาจไม่ถูกต้อง แต่ตาเลือกไปแล้ว ในขณะที่ฉันเลือกที่จะให้ตายังอยู่ และกลับไปเรียกหาความยุติธรรม”


บทส่งท้าย

ละครเรื่องนี้มอบบทบาทสำคัญให้กับหนุ่มชน ชั้นกลางอย่างวีกิจ ในการเป็นโซ่ข้อกลาง เรียกสติสตางค์ และสร้างความเข้าใจระหว่างคนกลุ่มต่างๆ จนนำมาสู่การอโหสิกรรมเลิกแล้วต่อกัน (สมานฉันท์??) ในที่สุด

แต่หากพิจารณาในบริบททางการเมืองไทยปัจจุบันแล้ว กลุ่มคนที่ไร้สติรองจากพวกขุนนางมากที่สุดก็ดูเหมือนจะเป็นพวกชนชั้นกลางใน เมืองกรุงอย่างวีกิจ พวกเขารังเกียจชาวชนบทใหม่อย่างมุนินทร์ ที่เข้ามาเรียกร้องหาความยุติธรรมในกรุงเทพฯ และพร้อมที่จะใช้ยาขนานใดก็ได้เพื่อกวาดล้างเชื้อโรคเหล่านั้นออกไปให้สิ้น ซาก ด้วยทัศนคติเช่นนี้ จึงเป็นไปได้ยากยิ่งที่เราจะพบจุดจบแบบสมานฉันท์อย่างที่ละครเรื่องนี้ได้ วาดภาพเอาไว้ ซึ่งลึกๆ แล้ว “มุนินทร์” ก็ตระหนักถึงจิตใจของ “วีกิจ” เป็นอย่างดี เพราะเธอได้รำพันถึงมุตตาไว้ว่า “เขารักเธอ ไม่ได้รักฉัน” เพราะว่าในสายตาของชนชั้นกลางนั้น ชนบทที่น่ารัก บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา น่าคบหากว่ากันเยอะ


หมายเหตุ: คำพูดของตัวละครต่างๆ อ้างอิงจาก นิตยสารภาพยนตร์ ฉบับละคร, ปีที่ 9 ฉบับที่ 755. ซึ่งทำให้อาจจะไม่ตรงกับที่ปรากฏในละครทีวีมากนัก

มาถึงข้อสรุปผู้เขียนไม่เห็นว่าละครจะตั้งใจแบ่งแยกชนชั้นออกไปเช่นนั้น ละครก็คือละครสร้างเพื่อให้สนุกเร้าใจ จะว่าแรงเกินไป แล้วไอ้พวกวีดีโอเกมส์ ที่ฆ่ากันตายเป็นร้อยที่ขายกันอยู่เกลื่อนถึงมือเยาวชน มิยิ่งแย่ไปกว่านั้นหรือ

พวกนักวิชาการพวกนี้รังแต่จะชักใบให้เรือเสีย หรืออยากดังทางลัดแบบยายระเบียบรัตน์ ผู้เขียนอ่านแล้วก็ขำที่ช่างตีความกันได้ไปต่างๆนา ละครไม่ใช่เรื่องจริงสักหน่อย ทำมาดัดจริตว่าแรงไปอย่างโน้นอย่างนี้ คนดูเขาแยกแยะออกแม้แต่เด็กก็รู้ว่าเป็นแค่ในละคร แล้วไอ้ประธานชมรมส่งเสริมเมียหลวงแห่งชาตินี้จะมาเต้นแร้งเต้นกาให้ล้มเลิกเพื่อประโยชน์อะไร เงินก็ไม่ใช่เงินในกระเป๋าตัวเองสักหน่อย


เขียนต้นฉบับจบแล้ว เห็นทีจะต้องขอลาไปดูละครก่อนดีกว่า