ไลฟ์สไตล์
จอมพล
ภาษาไทย ใช้ให้ถูก

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสเนื่องในวาระวันขึ้นปีใหม่ว่า "ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย บัดนี้ถึงวาระจะขึ้นปีใหม่ ข้าพเจ้าขอส่งความปรารถนาดีมาอวยพรแก่ท่านทุกๆ คน และขอขอบใจท่านเป็นอย่างมาก ที่ร่วมกันจัดงานฉลองอายุครบ 7 รอบ ให้อย่างเหมาะสมงดงาม

ระหว่างปีที่แล้ว เหตุการณ์ต่างๆ ในบ้านเมืองนับว่าเป็นปรกติดี แต่พอเข้าปลายปี ก็เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ เป็นเหตุให้ประชาชนหลาย จังหวัด ต้องประสบอันตรายและความเดือดร้อนลำบาก ความเสียหายครั้งนี้ ดูจะร้ายแรงกว่าครั้งไหนๆ ที่ผ่านมา ข้อนี้ น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจอย่างสำคัญ ดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้หลายครั้งแล้วว่า วิถีชีวิตของคนเรานั้น จะต้องมีทุกข์ มีภัย มีอุปสรรค ผ่านเข้ามาเนืองๆ ไม่มีผู้ใดจะอยู่เป็นปรกติสุขอย่างเดียวได้ ทุกคนจึงต้องเตรียมกายเตรียมใจ และเตรียมการไว้ให้พร้อมเสมอ เพื่อเผชิญและป้องกันแก้ไขความไม่ปรกติเดือดร้อนต่างๆ ด้วยความไม่ประมาท ด้วยเหตุผล ด้วยหลักวิชา และด้วยสามัคคีธรรม

ในปีใหม่นี้ จึงขอให้ประชาชนชาวไทยได้ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท โดยมีสติรู้ตัวและปัญญารู้คิดกำกับอยู่ตลอดเวลา ผู้ใดมีภาระหน้าที่อันใด ก็เร่งกระทำให้สำเร็จลุล่วงไปให้ทันการณ์ทันเวลา ผลงานทั้งนั้น จะได้ส่งเสริมให้แต่ละคนประสบแต่ความสุขความเจริญ และทำให้ชาติบ้านเมืองดำรงมั่นคงและก้าวหน้าต่อไปด้วยความผาสุกสวัสดี

ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจงคุ้มครองรักษาท่านทุกคนให้มีความสุขไม่มีทุกข์ ไม่มีภัย ตลอดศกหน้านี้โดยทั่วกัน"

ผู้เขียนได้อัญเชิญพระราชดำรัสเนื่องในวันปีใหม่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานแด่ชาวไทย มาเป็นปฐมฤกษ์ของคอลัมน์ไลฟ์สไตล์ในฉบับแรกของปีพ.ศ. ๒๕๕๖ เพื่อเป็นสิริมงคล และเป็นพรอันประเสริฐที่พระราชทานจากพระผู้เป็นมิ่งขวัญของชาวไทย

อันพระราชดำรัสฉบับที่นำมาเสนอนี้เป็นพระราชดำรัสก่อนวันปีใหม่ ยังคงมีอีกฉบับหนึ่งที่ทรงพระราชทานในวันที่ ๑ มกราคม ปี ๒๕๕๖ แต่สาเหตุที่ผู้เขียนเลือกฉบับที่นำมาลงในคอลัมน์ไลฟ์สไตล์ในวันนี้เนื่องจากได้เห็นความน่าสนใจของคำบางคำที่พระองค์ทรงใช้ในพระราชดำรัส อันสืบเนื่องไปยังเรื่องราวที่จะหยิบยกมาเขียนในวันนี้ด้วย

สิ่งที่น่าสนใจที่ผู้เขียนได้อ่านก็คือพระองค์ทรงใช้คำว่า “ปรกติ” ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่ใคร่เห็นคนใช้มาเป็นเวลานานแล้ว ส่วนมากจะย่อเหลือเพียง “ปกติ” เสียเป็นส่วนมาก ด้วยความสงสัยผู้เขียนจึงเปิดพจนานุกรมดูความต่างกันของคำว่า “ปรกติ” กับคำว่า “ปกติ” ว่าต่างกันเช่นไร ก็ได้ความว่า

ปกติ [ปะกะติ, ปกกะติ] ว. ธรรมดา, เป็นไปตามเคย, ไม่แปลกไปจาก ธรรมดา, ปรกติ ก็ว่า. (ป.; ส. ปฺรกฺฤติ).

ปรกติ [ปฺรกกะติ] ว. ธรรมดา เช่น ตามปรกติ, เป็นไปตามเคย เช่น เหตุการณ์ปรกติ, ไม่แปลกไปจากธรรมดา เช่น อาการปรกติ,

ปกติ ก็ว่า. (ส. ปฺรกฺฤติ; ป. ปกติ).

สรุปว่าใช้ได้ทั้งสองคำ ปรกติ เป็นสันสกฤษ ในขณะที่ ปกติ เป็นบาลี

จำได้ว่าเมื่อครั้งที่เป็นเด็กครูภาษาไทยสอนว่า ปกติ ใช้ในเหตุการณ์ที่เป็นไปในทางที่ไม่ดี มีความหมายเป็นปฏิเสธ เช่น เหตุการณ์ไม่ปกติ หัวใจเต้นไม่ปกติ ท้องฟ้าขุ่นมัวผิดปกติ เช่นนี้เป็นต้น แต่ปรกติใช้ในความหมายที่เป็นธรรมดา เช่น อาการเต้นของหัวใจเป็นปรกติดี เป็นปรกติของคนไทยที่จะนิยมของใช้จากต่างประเทศ เช่นนี้เป็นต้น

ผู้เขียนก็จดจำมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามเห็นว่าคงไม่จริง เพราะพจนานุกรมก็ได้ยืนยันแล้วว่า คำทั้งสองใช้ได้เหมือนกัน ในพระราชดำรัสก็ทรงตรัสว่า “เพื่อเผชิญและป้องกันแก้ไขความไม่ปรกติเดือดร้อนต่างๆ ด้วยความไม่ประมาท” แสดงว่า ปกติ กับ ปรกติ นั้นใช้ได้เหมือนกัน

อันที่จริงภาษาไทยนั้นใช้ยากและมีคำที่เราเขียนผิดใช้ผิดมาก ยิ่งใช้ผิดกันบ่อยๆ ที่ผิดก็กลายเป็นถูก เพราะสื่อไม่ระวัง ใช้ไปผิดๆ คนก็เลยจำที่ผิดๆไปใช้ ยิ่งในสมัยนี้วิทยาการในการสื่อสารก้าวหน้า ใครๆก็เขียนข้อความลงในอินเตอร์เน็ตได้ จึงทำให้ภาษายิ่งผิดเพี้ยนและจำไม่ได้ว่าที่ถูกคืออะไร ที่ผิดคืออะไร ยกตัวอย่างเช่นคำที่เรานำมาจากภาษาอังกฤษอย่างเช่น คำว่า คุ๊กกี้ ช๊อกโกแลต ซีฟู๊ด น๊อต นู๊ด ท๊อป แฟ๊บ มั๊ย ร๊อก สนุ๊กเกอร์ เสื้อเชิ๊ต จริง ๆ แล้วคำเหล่านี้เขียนผิดทั้งหมด

เพราะตามหลักภาษาไทยที่ได้บัญญัติไว้ในราชบัณฑิตยสถานนั้น ได้ระบุไว้ว่า "วรรณยุกต์ตรี" ไม่สามารถใช้กับคำที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะเสียงต่ำ หรืออักษรต่ำได้ (อักษรต่ำ มีทั้งหมด 24 ตัว แบ่งเป็น อักษรต่ำคู่ 14 ตัว คือ ค, ฅ, ฆ, ช, ฌ, ซ, ฑ, ฒ, ท, ธ, พ, ภ, ฟ, ฮ และอักษรต่ำเดี่ยว 10 ตัว คือ ง, ญ, ณ, น, ม, ย, ร, ล, ว, ฬ)

ดังนั้นแล้ว คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษบางคำที่ออกเสียงตรี อาจใช้ไม้โท ไม้ไต่คู้แทน หรือไม่ต้องใส่วรรณยุกต์ใด ๆ เลย ดังนั้น จากคำข้างต้นที่เขียนถูกต้องต้องเป็น คุกกี้ ช็อกโกแล็ต ซีฟู้ด น็อต นู้ด ท็อป มั้ย ร็อก สนุกเกอร์ เสื้อเชิ้ต (ข้อมูลจากกระปุกดอทคอม)

ผู้เขียนยังจำได้ว่า วิธีที่จะจำว่าพยัญชนะตัวไหนเป็นอักษรสูง หรืออักษรต่ำ ก็ให้จำเฉพาะอักษรกลางให้ได้ วิธีจำอักษรกลางให้ได้คือจำประโยคที่ว่า “ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง” หมายความว่า ก, จ, ด, ต, บ, ป, และ อ เป็นอักษรกลาง เมื่อจำอักษรกลางได้ก็จะง่ายขึ้นเพราะอักษรสูง เสียงก็จะสูง อักษรต่ำ เสียงก็จะต่ำ แล้วอักษรต่ำก็จะมีคู่ของมันเช่น ค คู่กับ ข, ช คู่กับ ฉ, หรือ ฟ คู่กับ ฝ เป็นต้น อย่างนี้เรียกอักษรต่ำคู่ แต่อย่าง งองู ไม่มี ง กับ หงอ ก็เลยเป็นต่ำเดี่ยวไป ฉะนั้นถ้าจำหลักนี้ได้ ก็นำไปใช้ได้เวลาที่งงว่าคำๆนี้ใช้วรรณยุกต์อะไรดี

การเป็นคนช่างอ่านจะทำให้เขียนภาษาไทยได้ถูกต้องมากขึ้น ผู้เขียนดีใจที่ตอนเด็กเป็นคนติดนวนิยาย คือชอบอ่านแต่ไม่ได้อ่านหนังสือที่ให้ความรู้ อ่านแต่นวนิยาย ถึงกระนั้นก็ได้อานิสสงฆ์ทำให้ภาษาไทยใช้การได้ กลายมาเป็นนักเขียนได้เมื่อโตขึ้น แต่กระนั้นก็เขียนผิดเป็นประจำและเมื่อค้นหาภาษาไทยที่คนไทยมักจะเขียนผิดบ่อยๆ ก็ให้แปลกใจว่าคำบางคำนั้นตัวเองก็เขียนผิดมาตลอด อย่างเช่นคำดังต่อไปนี้

เลือดกบปาก คำว่า “กบ” ในที่นี้หมายถึงเต็มแน่น ไม่ใช้ว่า เลือดกลบปาก

คำเหล่านี้น่าสนใจมาก ผู้เขียนค้นมาแล้วก็เลือกที่ใช้ผิดกันมากๆมาลงให้อ่านกันดังนี้

คำที่เขียนถูก มักเขียนผิดเป็น
กงเกวียนกำเกวียน กงกำกงเกวียน
กงสุล กงศุล
กฎหมาย กฏหมาย
กระจิริด กระจิ๊ดริด , กะจิ๊ดริด
กระหนก (ลายไทย) กนก
กรีธาทัพ (เคลื่อน ยก เดินเป็นหมู่หรือเป็นกระบวน) กรีฑาทัพ
กะทันหัน กระทันหัน
กะเทย กระเทย
กะบังลม กระบังลม
กะพง กระพง
กะพริบ กระพริบ
กะพรุน กระพรุน
กะเพรา กระเพรา
กังวาน กังวาล
กาลเทศะ กาละเทศะ
เกม เกมส์
เกษียณอายุ เกษียนอายุ
เกษียรสมุทร เกษียณสมุทร,เกษียนสมุทร
เกสร เกษร
เกาต์ เก๊าท์
แก๊ง แก๊งค์, แก๊งก์
ขะมักเขม้น ขมักเขม้น
ข้าวเหนียวมูน ข้าวเหนียวมูล
คทา คฑา, คธา
ครอก (ฝูงลูกสัตว์ที่เกิดร่วมในคราวเดียวกัน) คลอก (ไฟล้อมเผาออกไม่ได้)
คริสตกาล คริสต์กาล
คริสต์ศตวรรษ คริสตศตวรรษ
คริสต์ศักราช คริสตศักราช
คริสต์ศาสนา คริสตศาสนา
ครุภัณฑ์ คุรุภัณฑ์
ครุศาสตร์ คุรุศาสตร์
คลิก คลิ้ก, คลิ๊ก
คลินิก คลีนิก, คลินิค
ค้อน ฆ้อน
คอนแวนต์ คอนแวนท์
คะ ค๊ะ
คำนวณ คำนวน
คุกกี้ คุ้กกี้, คุ๊กกี้
เครื่องราง เครื่องลาง
เครื่องสำอาง เครื่องสำอางค์
แค็ตตาล็อก แคตตาล็อก, แคตาล็อก
แคระแกร็น แคระแกรน
โควตา โควต้า
งูสวัด งูสวัส, งูสวัสดิ์
จงกรม จงกลม
จะงอย จงอย
จะจะ จะ ๆ
จะละเม็ด จาละเม็ด, จาระเม็ด, จรเม็ด, จระเม็ด
จักจั่น จั๊กจั่น
จักรพรรดิ จักรพรรดิ์
จักรวรรดิ จักรวรรดิ์
จาระบี จารบี
จำนง/เจตจำนง จำนงค์/เจตจำนงค์
โจทก์จำเลย โจทย์จำเลย
โจทย์เลข โจกท์เลข
โจษจัน โจทจัน,โจทย์จัน,โจษจรรย์
ฉัน ฉันท์ เสมือน เช่น ฉันญาติ ฉันมิตร; รับประทาน ใช้กับพระสงฆ์ ฉันท์
ชโลม ชะโลม
ชอุ่ม ชะอุ่ม
ซาวเสียง ซาวด์เสียง, ซาวน์เสียง, ซาวนด์เสียง
ซ่าหริ่ม สลิ่ม, ซะหริ่ม, ซ่าหลิ่ม
ซีเมนต์ ซีเม็นต์, ซีเมนท์, ซีเม็นท์, ซีเม็น
เซ็นชื่อ เซ็นต์ชื่อ
เซนติเมตร เซ็นติเมตร
ฌาน ฌาณ
ดอกจัน (เครื่องหมาย) ดอกจันทร์ ,ดอกจันทน์
ดอกไม้จันทน์ ดอกไม้จันทร์
ดัตช์ ดัชต์, ดัชท์, ดัทช์
ดำรง ดำรงค์
โดยดุษณี (อาการนิ่งซึ่งแสดงถึงการยอมรับ) โดยดุษฎี (ความยินดี , ชื่นชม)
ตรรกะ, ตรรก ตรรกกะ
ตระเวน / ลาดตระเวน ตระเวณ / ลาดตระเวณ
ตราสัง ตราสังข์
ตะราง (ที่คุมขังนักโทษ) ตาราง
ต่าง ๆ นานา ต่าง ๆ นา ๆ
ตานขโมย ตาลขโมย

ลงมาถึงแค่ ต.เต่า เพราะว่าเนื้อที่หมดแล้ว อยากจะให้เห็นพอคร่าวๆ ว่ามีคำมากเหลือเกินที่เราใช้อย่างผิดๆแล้วก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเขียนผิด ผู้เขียนนี้ยอมรับว่าเมื่ออ่านจนจบแล้วพบว่ามีมากกว่า ๒๐ คำที่ตัวเองเขียนผิด แต่ค่อนข้างยาวจึงลงไว้เพียงเท่านี้

ภาษาไทยเป็นภาษาที่งดงามและเป็นวัฒนธรรมของชาติ จึงควรใช้ให้ถูกต้องอยู่เสมอ จึงจะเรียกว่าเป็นคนไทยได้เต็มปาก พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ