ไลฟ์สไตล์
จอมพล
รักของเจ้าจอมสดับ

เมื่อเร็วๆนี้ผู้เขียนได้อ่านเรื่องราวของเจ้าจอมสดับในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วเกิดความประทับใจ ปรารถนาจะแบ่งปันให้ท่านผู้อ่านได้อ่านด้วย จึงค้นคว้ามาเรียบเรียงใหม่ดังต่อไปนี้

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ (6 มีนาคม พ.ศ. 2433 - 3 มิถุนายน พ.ศ. 2526) เป็นเจ้าจอมคนรองสุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เจ้าจอมคนสุดท้ายคือ เจ้าจอมแส บุนนาค) นอกจากนั้นท่านยังเป็นคนสุดท้ายที่ได้ร้องเพลง นางร้องไห้ และเจ้าจอมคนสุดท้ายของราชวงศ์จักรีที่ยังดำรงชีพและเสียชีวิตในยุคปัจจุบันนี้

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2433 เป็นธิดาในหม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ ซึ่งเป็นพระโอรสใน กรมหมื่นภูมินทรภักดี พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กับหม่อมช้อย ลดาวัลย์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม นครานนท์)

เมื่อท่านมีอายุได้ 11 ปี หม่อมยายได้พาท่านไปถวายตัวเป็นข้าหลวงในตำหนัก พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ซึ่งพระองค์ได้ทรงอบรมเลี้ยงดูหม่อมราชวงศ์สดับในฐานะพระญาติ และยังโปรดให้เรียนหนังสือทั้ง ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ รวมทั้งหัดงานฝีมือ ตลอดจนการอาหารคาวหวานจนเชี่ยวชาญ นอกจากความอัฉริยภาพและความงามแล้ว ความมีเสียงอันไพเราะของท่าน ยังเป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นด้วย ดังใน บทพระราชนิพนธ์เงาะป่า ว่า

"แม่เสียงเพราะเอย น้ำเสียงเจ้าเสนาะ เหมือนดังใจพี่จะขาด เจ้าร้องลำนำ ยิ่งซ้ำพิสวาท พี่ไม่วายหมายมาด รักเจ้าเสียงเพราะเอย"

เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2449 หม่อมราชวงศ์สดับได้เข้าปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันนี้ท่านได้รับพระราชทาน "กำไลมาศ" จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นกำไลทองคำแท้จากบางสะพาน หนักสี่บาท ทำเป็นรูปตาปูโบราณสองดอกไขว้กัน ปลายตาปูเป็นดอกเดียวกัน มีตัวอักษรซึ่งเป็นบทกลอนพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ หัวสลักไว้บริเวณด้านบนของกำไลว่า


กำไลมาศชาตินพคุณแท้ ไม่ปรวนแปรเป็นอื่นยั่งยืนสี
เหมือนใจตรงคงคำร่ำพาที จะร้ายดีขอให้เห็นเช่นเสี่ยงทาย
ตาปูทองสองดอกตอกสลัก ตรึงความรักรัดไว้อย่าให้หาย
แม้รักร่วมสวมใส่ไว้ติดกาย เมื่อใดวายสวาสดิ์วอดจึงถอดเอย

คราวที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่นี้ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับได้บันทึกไว้ว่าใน วันเฉลิมพระที่นั่งนี้ทรงพระมหากรุณาสวมกำไลทองรูปตาปูพระราชทานข้าพเจ้า ทรงสวมโดยไม่มีเครื่องมือ บีบด้วยพระหัตถ์ รุ่งขึ้นจึงต้องรับสั่งให้กรมหลวงสรรพศาสตร์พาช่างทองแกรเลิตฝรั่งชาติ เยอรมันนำเครื่องมือมาบีบให้เรียบร้อย"

วันนี้ถือว่าเป็นวันที่ท่านมีความสุขมากที่สุด และทั้งตลอดชีวิตของท่าน เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับมิได้ถอดออกจากข้อมือเลย จวบจนชีวิตท่านหาไม่แล้ว หม่อมหลวงพูนแสง สูตะบุตร ผู้เป็นหลานสาวจึงเป็นผู้ที่ถอดออกให้ และได้ถวาย "กำไลมาศ" แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในงานพระราชทานเพลิงศพของเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับนั้นเอง

วันที่หม่อมราชวงศ์ได้เล่าว่าเป็นวันที่ทุกข์ที่สุดก็คือ วันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป เมื่อปี พ.ศ. 2450 เนื่องจากก่อนรัชกาลที่ 5 จะเสด็จพระราชดำเนินนั้น มีพระราชดำริที่จะให้เจ้าจอมสดับตามเสด็จไปยุโรปด้วย ในฐานะข้าหลวง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตตินารี ถึงกับสอนภาษาอังกฤษพระราชทานเองก่อนเสวยพระกระยาหารทุกคืน แต่มีเหตุขัดข้อง จึงมิอาจเป็นไปตามพระราชดำรินั้นได้

แม้กระนั้น พระองค์ก็ได้มีพระราชหัตเลขามาถึงทุกสัปดาห์ เมื่อได้รับลายพระราชหัตถเลขาแล้ว ท่านก็แสดงอาการดีใจออกมาทุกครั้ง แต่อาการนั้นทำให้เกิดความรู้สึกริษยาจากคนรอบข้างโดยที่ท่านไม่รู้ตัว ทำให้พระวิมาดาเธอฯ ในฐานะผู้ปกครองจึงทรงต้องเข้มงวดกวดขันกิริยาอาการ ตลอดไปถึงข้อความในจดหมาย ด้วยเกรงว่าจะเขียนกราบทูลในเรื่องไม่สมควรไป

ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับถึงพระนคร ก็ทรงซื้อเครื่องเพชรมา พระราชทาน โปรดให้แต่งเครื่องเพชรแล้วให้ช่างถ่ายรูปชาวต่างชาติมาถ่ายรูป โดยทรงพระกรุณาจัดท่าพระราชทาน และโปรดพระราชทานตู้ที่ระลึก ยังทรงจัดของตั้งแต่งในตู้นั้นอีกด้วย อีกทั้งยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาท่านขึ้นเป็นพระสนมเอก อันเป็นตำแหน่งที่แม้เจ้าจอมมารดาบางท่านรับราชการมาช้านานยังไม่ได้รับพระ ราชทาน แต่ท่านซึ่งเป็นเพียงเด็กสาวรุ่น และเพิ่งเข้ามารับราชการไม่นานนักกลับได้รับพระเมตตาไว้ในตำแหน่งที่สูงถึง เพียงนี้ ยิ่งก่อให้เกิดความริษยาจากคนรอบข้าง ด้วยวัยเพียง 17 ปี ท่านจึงได้เล่าถึงความรู้สึกครั้งนั้นว่า

"...เหลียวไปพบแต่ศตรู คุณจอมนั้นส่อเสียดว่าอย่างนั้น คุณจอมนี้ว่าอย่างนี้ ตรองดูทีหรือข้าพเจ้าจะย่อยยับแค่ไหน"

ด้วยความอายุยังน้อย ขาดความยั้งคิด ท่านจึงตัดสินใจทำลายชีวิตตนเองด้วยการดื่ม น้ำยาล้างรูป

ในบันทึกประวัติศาสตร์ตอนนี้ ขออนุญาตตัดตอนจากวิกี้พีเดียไปยังข้อเขียนในช่วงเดียวกันนี้จากงานเขียนของคุณวานิชสุนทรนนท์ ซึ่งมีรายละเอียดเพิ่มดังนี้

“หน้าแรกของพระราชนิพนธ์ ‘ไกลบ้าน’ ที่รัชกาลที่ 5 หรือสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงฯ ทรงบันทึกโฉมหน้ายุโรปในปี พ.ศ. 2450 ขณะเสด็จไปรักษาพระวรกาย หรือเสด็จเยือนยุโรปครั้งที่ 2 นั้น มีวลีหนึ่งสะดุดใจผู้อ่าน นั่นคือ “เมาน้ำตาผู้ไปส่งเสด็จ”

หนึ่งในผู้ที่ทำให้รัชกาลที่ 5 ทรง ‘เมาน้ำตา’ ก็คือ เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ลดาวัลย์ ผู้เพิ่งถวายตัวเป็นข้ารับใช้ได้ราว 8 เดือน ขณะอายุ 16 ปี พระองค์ก็ทรงห่างเหเสน่หาไปไกลต่างทวีป และนานถึง 225 วัน เจ้าจอมฯเล่าว่า ขณะส่งเสด็จฯ ที่พระที่นั่งอัมพรสถานนั้น

“ข้าพเจ้า กลั้นไม่ไหวเพราะอารมณ์เด็ก ปล่อยเสียโฮๆ ข้าพเจ้าหมอบยาวๆ ซบหน้าอยู่กับพรม ร้องไห้ พอทรงเครื่องเสร็จจะเสด็จกลับออกไปห้องบรรณาคม ซึ่งจัดขึ้นเป็นห้องพระราชพิธีสงฆ์ ในงานนั้น ผู้เฝ้าอยู่ในที่ก็กราบพร้อมกันแล้วข้าพเจ้าก็แหงนหน้าขึ้นดูพระพักตร์เป็น ครั้งสุดท้าย เห็นพระพักตร์แดง ข้าพเจ้ายิ่งร้องไห้ใหญ่ เลยทรงแวะประทับยืน พระราชทานพระหัตถ์ให้ข้าพเจ้าทรงเครื่องขลิบพระนาขา แล้วข้าพเจ้าก็ได้เก็บไว้จนบัดนี้ ต่อจากนั้นเลยไม่ได้ดูอะไรกันอีกต่อไป จำอะไรไม่ได้หมด เสด็จขึ้นรถม้าพระที่นั่ง ออกจากพระที่นั่งอัมพรไปนานมากแล้ว ข้าพเจ้ายังลงไปห้องส่วนตัวไม่ไหว จนถึงบ่ายจึงลง ราวย่ำค่ำวันนั้นเอง ข้าพเจ้าก็ได้รับลายพระหัตถ์จากปากน้ำ โดยทรงฝากใครมาไม่ทราบ ต่อมาข้าพเจ้าได้รับพระราชหัตถ์เลขาทุกสัปดาห์ ตลอดจนวันเสด็จกลับ”

น่า เสียดาย ที่หลังจากรัชกาลที่ 5 เสด็จกลับมาไม่ถึง 3 ปี ก็สิ้นพระชนม์ เวลาแห่งความสุขของเจ้าจอมขึ้นและตกเร็วมาก นับแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2453 หัวใจของเจ้าจอมก็หลุดลอยตามพระพุทธเจ้าหลวงไปนิรันดร์ “ข้าพเจ้าไม่มีใจเหลือเศษที่จะรักผู้ชายใดอีกต่อจนตลอดชีวิต”

เหตุ นี้ ท่านจึงออกบวชชีที่วัดแห่งหนึ่งที่จังหวัดราชบุรี แต่ไม่ก่อนที่จะนำเครื่องเพชรที่รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อจากยุโรปประทานให้เป็นหลักทรัพย์เลี้ยงชีพในอนาคตแทนตึกแถว ห้องเช่า ซึ่งต้องเสียค่าประกันไฟ ถวายคืนสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง เพื่อลบคำครหาที่ใครๆ นินทาว่าเจ้าจอมฯยังสาว และรวยทรัพย์ เครื่องเพชรมหาศาลนั้นโปรดให้ติดต่อขายไปต่างประเทศ และนำเงินที่ได้สมทบทุนสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ส่วน พาหุรัด หรือกำไลต้นแขนที่ทำด้วยทองคำนั้น รัชกาลที่ 5 ประทาน เจ้าจอมฯสวมใส่จนวาระสุดท้ายของชีวิต ด้านในของกำไลพระองค์ท่านทรงแต่งโคลงบอกความรักสลักไว้ด้วยภาษาที่กินใจยิ่ง นัก เวลานี้ทายาทของเจ้าจอมฯทำเรื่องส่งคืนกำไลนี้ไว้ที่พระที่นั่งวิมานเมฆสถาน ที่ท่านเคยมีความสุข

เจ้า จอมฯบวชได้พักหนึ่ง เป็นเพราะยามโน้นราชบุรีมีโจรชุกชุม ข่าวลือที่ว่าเจ้าจอมฯร่ำรวยอาจล่อใจโจร เจ้าจอมฯจึงลาสิกขาบทด้วยเกรงภัยชีวิต โชคดีมีธรรมะ ท่านจึงผ่านคืนวันอันโศกศัลย์มาได้จนอายุ 93 จึงถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2526

ใช่ เพียงอนันตทรัพย์และพระปรีชาสามารถในด้านต่างๆ ที่ทำให้หญิงสาวรักและจงรักต่อพระพุทธเจ้าหลวง แต่เป็นเพราะพระองค์ทรงมีรายละเอียดและความละเอียดอ่อนจึงทำพวกเธอฝังใจจดจำ พระองค์ สำหรับเจ้าจอมฯนั้น หลังซื้ออัญมณีจากยุโรปมาฝาก พระองค์ทรงเล่นบทบาทช่างภาพ และผู้กำกับภาพให้เจ้าจอมฯสวมใส่สร้อย ต่างหู และสร้อยมือเพชร ฯลฯ ราวกับเจ้าจอมฯเป็นนางแบบโฆษณาเพชร อย่างไรอย่างนั้น”

ผู้เขียนได้อ่านพบข้อเขียนเกี่ยวกับความขัดแย้งในพระราชสำนักสมัยนั้น ได้ความตอนหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับการฆ่าตัวตายของท่านดังนี้

“บางเหตุการณ์ก็เกิดจากความอิจฉาริษยาโดยปิดเผยเช่นเรื่องที่ เจ้าหม่อมราชวงศ์สดับ ประสบ มากับตัวเอง ว่าการที่ท่านเป็นเจ้าจอมคนโปรดนั้น คนรอบข้างมีความรู้สึกอย่างไร ปรากฎเรื่องนี้ในหนังสือศรุตานุสรณ์ ความว่า "....การที่ทรงซื้อเครื่องเพชรมาพระราชทานโปรดให้แต่งเครื่องเพชร แล้วให้ช่างชาวต่างประเทศมาถ่ายรูป โดยทรงพระกรุณาเป็นผู้จัดท่าพระราชทานเอง ตลอดจนทรงพระกรุณาพระราชทานตู้ของที่ระลึกและจัดของเข้าแต่งตั้งในตู้พระราช ทานด้วยพระองค์เองเหล่านี้ ทำให้เจ้าจอมหลายท่านอิจฉาริษยา ถึงใช้วิธีส่อเสียดยุแหย่กล่าวหาในข้อร้ายหลายประการ จนทำให้เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับรู้สึกตัวว่ามีแต่ผู้หวังร้ายไม่มีผู้หวังดี ท่านได้บันทึกความรู้สึกตอนนี้ไว้ว่า '...เหลียวไปพบแต่ศัตรู คุณจอมนั้นว่าส่อเสียดอย่างนั้น คุณจอมนี้ว่าอย่างนี้ ตรองดูทีหรือ ข้าพเจ้าจะย่อยยับแค่ไหน...'

เรื่องที่ร้ายอย่างยิ่งก็คือ คุณจอมท่านหนึ่งกล่าวหาว่า ท่านไม่ซื่อตรงจงรักต่อเบื้องพระยุคลบาท กำลังติดต่อสัม พันธ์ทางชู้สาวกับชายอื่น ข้อหานี้ฉกรรจ์มากทำให้ผู้ถูกหาเป็นทุกข์อย่างหนักเกิดความวิตกกังวลไปต่างๆ และที่วิตกมากก็คือกังวลไปว่าได้ทำเรื่องให้ขุ่นเคืองเบื้องพระยุคล บาทไว้หลายเรื่อง นับแต่ไม่เขียนหนังสือกราบบังคมทูลสนองพระราชหัตถเลขา และเรื่องอื่นๆเมื่อมากระทบเรื่องสำคัญดังนี้อีก เกรงจะทำให้สิ้นพระมหากรุณาขณะนั้นเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับยังอายุน้อยขาด ความสุขุม ก็เลยคิดสั้น คือคิดทำลายตนเองด้วยการดื่มน้ำยาล้างรูป

แต่ ความใด้ทราบถึงเบื้องพระยุคลบาททันการ ได้เสด็จลงไปพระราชทานกำลังใจ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้แพทย์ประจำพระองค์ชาวต่างประเทศมารักษาช่วย ชีวิตไว้ได้ทันท่วงที...ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้กราบบังคมทูลยุยงอีกว่า "...ชีวิตตัวเองเขายังไม่รัก แล้วอย่างนี้เขาจะรักใครจริง..." แต่ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ก็เล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็มิได้ทรงกล่าวว่ากระไร”


กลับมาเป็นข้อเขียนของวิกี้พีเดียอีกครั้ง

ปลายรัชกาล

ครั้นเมื่อท่านมีอายุได้ 20 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ท่านมีความทุกข์ และเศร้าโศกอย่างยิ่ง ท่านได้กล่าวไว้ว่า

"..ใจคิดจะเสียสละได้ทุกอย่าง จะอวัยวะหรือเลือดเนื้อ หรือชีวิตถ้าเสด็จกลับคืนมาได้ ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นใจที่คิดแน่วแน่ว่าตายแทนได้ไม่ใช่แค่พูดเพราะๆ ...คุณจอมเชื้อเอาผ้าเช็ดหน้าผืนหนึ่งมาให้ข้าพเจ้า บอกว่าท่านได้ประทานไว้ซับพระบาท ข้าพเจ้าจึงเอาผ้าที่ซับพระบาทนั้นแล้วพันมวยผมไว้ แล้วก็นั่งร้องไห้กันต่อไปอีก..."

ครั้งสุดท้ายที่เจ้าจอมสดับได้มีโอกาสสนองพระเดชพระคุณคือ การเป็นต้นเสียงนางร้องไห้หน้าพระบรมศพ

เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ในวัยชรา

ในปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตนั้น เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับมีอายุเพียง 20 ปี ทำให้ท่านเป็นที่จับตามองจากคนรอบข้างว่าจะสามารถครองตัวครองใจเป็นหม้ายได้ ต่อไปตลอดหรือไม่

หลังจากนั้นอีกไม่นาน ท่านได้ถวายคืนเครื่องเพชรทั้งหลายที่ได้รับพระราชทานมาแด่สมเด็จพระศรีพัช รินทราฯจนหมดสิ้น สมเด็จฯก็ได้ทรงรับไว้แล้วโปรดเกล้าฯให้นำไปขายที่ยุโรป แล้วนำเงินมาสมทบทุนสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทั้งสิ้น นอกจากนั้นท่านยังหันไปยึดมั่นในพระพุทธศาสนา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลอีกด้วย

จนเมื่อท่านเจ้าจอมนั้นมีวัยชราแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ให้ท่านกลับเข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ในช่วงเวลานี้นี่เอง ที่ท่านได้มีโอกาสทำคุณประโยชน์อีกครั้ง โดยการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ให้แก่ชนรุ่นหลัง เช่น

- วิธีถักตาชุนหรือ ถักสไบ ที่เรียกกันว่า กรองทอง

- วิธีทำน้ำอบ น้ำปรุง

- ยาดมส้มโอมือ ฯลฯ

ตลอดจนถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆในพระราชสำนักเมื่อครั้งกระนั้น ให้ชนรุ่นหลังได้ฟังและจดบันทึกไว้ นับเป็นประโยชน์มาก เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2526 สิริรวมอายุได้ 93 ปี

ห้องพระเครื่องต้นแห่งราชสำนัก

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ รับสนองพระมหากรุณาธิคุณในกิจการห้องพระเครื่องต้นแห่งราชสำนัก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทำให้เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับมีความชำนาญในการปรุงอาหารคาวหวาน และยังเป็นผู้ที่มีรสนิยมในการรับประทานอาหารเป็นอย่างยิ่ง มีความสุขที่จะเป็นผู้ทำอาหารให้ผู้อื่นรับประทานมาตั้งแต่ยังสาว จนกระทั่งแม้อายุ 92 ปี ก็ยังไม่งดที่จะลงมือตำน้ำพริกเองยามมีหลานหรือแขกไปรับประทานอาหารด้วย วันหนึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ทรงกรุณาเสด็จเยี่ยมที่ในพระบรมมหาราชวังชั้น ใน ประจวบเป็นเวลาที่เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับกำลังจะรับประทานอาหารกลางวันจึง กราบเรียนเชิญเสด็จ พร้อมทั้งกราบทูลว่า “ แหม นี่ถ้าประทานรับสั่งมาก่อนล่วงหน้าสัก 10 นาทีว่าจะเสด็จมา จะตำน้ำพริกตั้งเครื่องทันที ” เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับนอกจากจะเป็นผู้ที่มีรสมือหาตัวจับยากแล้ว ยังเป็นผู้ไม่ปิดบังตำรา ตรงกันข้ามกลับมีความยินดีที่จะถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้น และทุกครั้งที่ได้ถ่ายทอดแก่ผู้ใดแล้วก็ตามก็จะต้องพูดติดปากเสมอว่า “ เป็นตำราพระวิมาดา ” แสดงถึงความยกย่องในพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดาในฐานะที่ทรงเป็นต้นตำรับ และแสดงถึงความเป็นผู้ไม่แอบอ้างว่าอาหารอร่อยเพราะเพียงฝีมือผู้ปรุงเท่า นั้น ตำรับเป็นส่วนสำคัญด้วย

เมื่อสวรรคตและถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับก็เลิกไว้ผมยาว เปลี่ยนไว้ผมสั้นตามแบบที่พระราชวงศ์และท้าวนางในพระบรมหาราชวังไว้กัน

พระราชทานกระแสพระราชดำรัสปราศรัยกับ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในวันเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดราชโอรสาราม เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖