ไลฟ์สไตล์
จอมพล
วิธีที่จะทำจิตใจให้แจ่มใสขึ้น

ได้อ่านบทความที่เขียนโดย ศ.ดร.นพ.วิทยา นาควัชระ ถึงวิถีทางที่จะทำจิตให้สดชื่นแจ่มใสวิธีทำให้ชีวิตให้โล่งและเบาขึ้น ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจและตรงกับความคิดของของผู้เขียน จึงคัดนำมาลงก่อนจะเขียนบทความเสริม ลองมาอ่านบทความของคุณหมอวิทยา ท่านว่าไว้ดังนี้

“เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้เปิดตู้เสื้อผ้าดูเห็นมีเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใช้เต็มตู้ไปหมด เคยนึกจะใช้เวลาเลือกเอาสิ่งที่เลิกใช้ไปแล้วไปบริจาคที่ไหนสักแห่งแต่ก็ยัง ไม่ได้ทำสักที เอาล่ะ....วันนี้เริ่มทำเสียที... ปรากฏว่า รื้อ ค้น ได้เสื้อ กางเกง เสื้อกันหนาวมากมายที่ไม่ได้ใช้แล้ว หรือไม่อยากใช้แล้วนับเป็นร้อยชิ้น เมื่อเอาของออกจากบ้านไปบริจาคแล้ว มีความรู้สึกว่าตู้เสื้อผ้าโล่งขึ้น ตัวเองก็เบาลง ใจก็สบายขึ้นอย่างประหลาด

รู้แล้วล่ะ...สิ่งที่ผมทำไปแล้วนั้น คือการทำให้ชีวิตโล่งและเบาขึ้นนั่นเอง

วันนี้เรามาคุยกันถึงวิธีทำให้ชีวิตเบาขึ้น โล่งขึ้น สบายขึ้นดีไหม?

วิธีทำให้ชีวิตโล่ง และ เบาขึ้น เช่น

1. เก็บของที่ไม่ใช้ เลิกใช้ เอาไปบริจาคให้ผู้เดือดร้อน เช่น เสื้อผ้า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์เก่าๆ อย่าไปเสียดายกับของที่ไม่ใช้แล้วเลย

2. ลดงานที่เครียดๆ ลงบ้าง เช่นงานประชุมที่เอาจริงเอาจังงานที่แข่งขันและหวังผลสูงถ้าเลือกได้ ลาออกจากการเป็นกรรมการอะไรต่อมิอะไรเสียบ้างก็ได้บรรยากาศของการประชุมมัก จะเครียดเสมอสารความเครียดก็หลั่งตลอดเวลา...รู้ไหม?

3. เลือกไปงานที่สำคัญและ ควรจะไปเท่านั้น ไม่เช่นนั้น เราจะไม่มีเวลาเป็นของตัวเองเลย

4. อ่านหนังสือพิมพ์หรือ นิตยสารให้น้อยลง โดย เฉพาะข่าวอาชญากรรมหรือข่าวเครียดๆทุกวัน

5. เลิกดูรายการทีวี.ที่เครียด หรือรายการข่าวหนักๆ ที่ซ้ำๆ กันทุกวัน

6. อย่ารับปากหรือสัญญาว่า จะทำอะไรให้ใครๆ ง่ายๆ ด้วยความเกรงใจเลย หัดปฏิเสธให้เป็น

7. อย่าพยายามเปลี่ยน แปลงคนอื่นเลย ทำได้ยากมากจะทำให้เราจมปลักอยู่กับความผิดหวังในตัวคนอื่น และเกลียดชังสังคมรอบตัว พยายามรักคนอื่น และยอมรับเขาตามความเป็นจริงเถิด ถ้ารักไม่ลง ก็มองข้ามเขาไป และลดความคาดหวังในตัวเขาลงด้วย เมื่อเวลาผ่านไป เราหันไปมองเขาใหม่ เราจะเข้าใจยอมรับและรักเขาตามความเป็นจริงได้มากขึ้น

8. หัดไปไหนมาไหนคนเดียว เป็นเพื่อนตนเองได้จะลดขั้นตอนและความยุ่งยากใจ เวลา จะต้องทำอะไรหรือไปไหนได้มากขึ้น

9. ลดความบ้างาน บ้าเงิน บ้าอำนาจ บ้าเกียรติยศชื่อเสียงลงบ้าง จะทำให้คุณไม่เครียด กับการเฆี่ยนตัวเองให้ทำงานหนัก และแข่งขันกับคนรอบข้างตลอดเวลา จนลืมสร้างมิตรและไม่เคยพอใจตัวเองเลยไม่ว่าจะได้มามากเท่าไร

10. ถ้าจะรักใครสักคน อย่าหลงรักเขาทั้งหมดของชีวิตและอย่าเข้าไปก้าวก่ายชีวิต เขาด้วย จงคิดเพียงจะอยู่ข้างๆ เขาก็พอแล้ว การรักแบบนี้จะทำให้รักกันได้นานๆ

11. ลองแบ่งเวลาวันละ 1 ชั่วโมง ล้างจิตใต้สำนึกที่ไม่ดีออกไปให้หมด ลองทำดูตามที่แนะนำมานะครับ เราจะรู้สึกว่าชีวิตโล่งและเบามากขึ้น เหมือนใส่เสื้อผ้าหลวมๆ ไม่คับแคบ หรือรัดรึง อึดอัด เวลาตัวเองเบาๆ ใจสบายๆ ความคล่องตัวจะมีมากขึ้น จนคุณแปลกใจตัวเอง”

สำหรับผู้เขียนการทำให้จิตใจโล่งและเบาสบายขึ้นนั้น ผู้เขียนเห็นว่าจะปฏิบัติตามที่คุณหมอวิทยาท่านว่าไว้ก็ดี หรือในอีกทางหนึ่งนั้นผู้เขียนลองคิดและเขียนออกมาดูทีว่า ท่านผู้อ่านจะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร

๑. เวลาที่ชีวิตมีปัญหา มีเรื่องไม่สบายใจ เกิดความผิดหวัง ท้อแท้ หรือ เกิดเรื่องร้ายๆขึ้น อย่าปล่อยให้จิตใจหดหู่เศร้าหมอง อย่าพยายามครุ่นคิดอยู่แต่ในเรื่องของปัญหานั้นๆ แต่ให้เก็บปัญหานั้นใส่ลิ้นชักของความคิดไว้ก่อน บอกตัวเองว่าอย่าเพิ่งคิด จากนั้นให้เปลี่ยนความคิดที่วกวนอยู่กับปัญหาของตน ไปคิดว่าจะทำอะไรให้ใครมีความสุขขึ้น อย่างเช่น ซื้ออาหารไปแจกคนไร้บ้าน โฮมเลส, ไปบริจาคเงินให้กับโรงพยาบาลเด็ก, ช่วยคนแก่ข้ามถนน, ช่วยรับสุนัขจรจัดที่ถูกส่งไปบ้านพักสุนัขที่กำลังจะถูกฆ่ามาเลี้ยง, ไปส่งเพื่อนร่วมงานที่เลิกงานพร้อมกันที่เขาต้องขึ้นรถเมล์ แต่เราขับรถ ไปส่งเขาที่บ้าน เขาจะได้ไม่ต้องรอรถเมล์, หรือสิ่งง่ายๆอย่างเช่นให้ทางแก่รถที่ขอทางกับเรา การให้ความสุขแก่ผู้อื่นนั้นได้ผลดีคือทำให้เรามีความสุข ไม่มีความสุขอื่นใดจะสุขเกินไปกว่าเห็นคนอื่นมีความสุขจากการให้ของเรา เมื่อทำเช่นนี้แล้ว จิตใจจะสดใส โปร่งสบาย มีความอาบอิ่มใจ ปัญหาของตนที่เคยใหญ่หลวงกลับเล็กลง และอาจจะเห็นหนทางแก้ไขได้ง่ายขึ้น

๒. บอกกับตัวเองว่า “อย่ากังวลกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น” ผู้เขียนเห็นว่าวลีประโยคนี้เป็นประโยคที่ทำให้จิตใจโล่งสบายในทันที เพราะคนเรานั้นมักจะมัวกังวลกับสิ่งที่ยังไม่เกิด คือกังวลไปว่ามันจะเกิด ทั้งๆที่มันยังไม่เกิด และถึงมันจะเกิด มันก็อาจจะไม่ได้เลวร้ายไปเหมือนกับที่ใจเราคิด ถ้าบอกตัวเองเอาไว้ว่าอย่าไปกังวลกับสิ่งที่ยังไม่เกิด จะช่วยให้ความเครียดหายไปได้มากทีเดียว อย่างไรก็ตามเวลาที่จิตเศร้าหมองเกิดความกลัว ก็ให้ถามตัวเองว่าสิ่งที่ตัวเองกลัวนั้นได้เกิดขึ้นหรือยัง ส่วนมากจะพบว่ายังไม่เกิดขึ้น แต่กลัวไปก่อน ฉะนั้นบอกกับตัวเองว่าอย่าเสียเวลาไปกลัวกับสิ่งนั้น รอให้มันเกิดจริงเสียก่อนค่อยแก้ไข ตอนนี้มานั่งกลัวมันจะเกิดก็ทำอะไรไม่ได้ มีแต่เครียดเท่านั้น

๓. คิดเสียว่าชีวิตคือบทเรียน คิดเสียว่าการเกิดมาเป็นมนุษย์นั้นคือการเกิดมาเพื่อฝึกและปฏิบัติตนให้ฉลาดขึ้น ฉลาดในที่นี้คือฉลาดที่จะรับมือกับความผันแปรของชีวิต และเรียนรู้ที่จะมีความสุขจากความสงบ เรียนรู้ที่จะยอมรับความจริงของชีวิต ที่ว่า ทุกสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยงแท้ ไม่มีสิ่งใดเป็นของเราจริงๆ แม้แต่ตัวเราเอง เราไม่สามารถควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างได้ อะไรมันจะเกิดมันก็ต้องเกิด ถ้าเราได้ทำดีที่สุดแล้ว ผลจะเป็นอย่างไรก็ต้องปล่อยให้มันเป็นไป คิดได้เสียอย่างนี้จะเบาสบายไม่เป็นทุกข์

๔. นำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงสอนว่า “ชีวิตมนุษย์เรานี้ อิ่มเดียวหลับเดียวเท่านั้น” ซึ่งมีความหมายว่า จงตัดความโลภเพื่อให้ชีวิตเป็นสุข ให้รู้จักคำว่าพอ เพราะมนุษย์เรานั้นจะกินได้มากเท่าใด ก็ไม่เกินอิ่มของตน พออิ่มแล้วก็เท่านั้น อะไรก็ไม่วิเศษอีกแล้ว การนอนก็เช่นกัน จะนอนนานแค่ไหนก็แค่อิ่มนอนของตัวเองเท่านั้น มนุษย์เรานั้นวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะไม่รู้จักอิ่ม ได้มาอิ่มแล้วก็ยังอยากได้อีก นอนอิ่มแล้วก็อยากนอนอีกอยากได้ให้มันมากขึ้นไปอีก ถ้าคนเรายึดในหลักว่าอิ่มเดียวหลับเดียว โลกก็จะเป็นสุข ไม่ต้องแก่งแย่งชิงดี และแสวงหาจนทำให้เดือดร้อน

๕. จงเชื่อว่าไม่ปัญหาใดในโลกที่ไม่มีทางแก้ไข ไม่มีใครสร้างกุญแจที่ไม่มีลูกกุญแจ พระเจ้าไม่เคยปิดประตูโดยไม่เปิดหน้าต่างไว้ ปัญหาใหญ่หลวงที่เกิดขึ้นในชีวิต อาจจะเป็นจุดผันแปรไปสู่สิ่งดีๆที่กำลังจะเกิดขึ้น เชิดหน้าไว้อย่าท้อแท้ พรุ่งนี้ยังมีหวัง และเชื่อมั่นว่าเราเป็นคนดี เราต้องได้รับสิ่งดีๆไม่ช้าก็เร็ว

หวังว่าได้อ่านบทความทั้งหมดนี้ คงจะมีสักข้อที่ทำให้คุณผู้อ่านที่กำลังมีทุกข์ มีจิตใจที่สดใสขึ้นครับ