ไลฟ์สไตล์
จอมพล
ธรรมะจากหมอเขียว ตอนจบ

ธรรมะจากหมอเขียวมีความยาวค่อนข้างมาก ผู้เขียนอยากจะลงทั้งหมดแต่ก็เกรงว่าท่านผู้อ่านจะเบื่ออ่านติดต่อกันหลายตอน จึงจำใจต้องตัดเฉพาะที่เห็นว่ามีใจความดีและเป็นประโยชน์เด่นๆในข้อเขียนของท่าน ดังที่จะได้อ่านต่อไปนี้

“ความรวย คือความซวยและน่าสงสารที่แท้จริงของชีวิต โดยสัจจะเลย ยิ่งรวยเท่าไร ยิ่งซวยและน่าสงสารเท่านั้นๆ คนยิ่งรวยยิ่งก่อให้เกิดความซวย เดือดร้อน ทุกข์ทรมานและความเลวร้ายทั้งตัวเองและผู้อื่น เดี๋ยวเราก็จะได้เรียนรู้กันว่า รวยจะทำให้ซวย เดือดร้อนทุกข์ทรมานหรือเลวร้ายได้อย่างไร

ถ้าท่านฟังไปเรื่อยๆ จนเข้าใจเหตุผลด้วยปัญญาที่ชาญฉลาดแท้ในการดำรงชีวิตให้ผาสุกที่สุด ท่านจะไม่อยากรวย ความรวยคือสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในชีวิต เพราะความรวยจะนำความซวยและเดือดร้อนทุกข์ทรมานที่สุดในชีวิตมาให้เรา ดังนี้

คนที่มีใจอยากรวย ก็ทุกข์ตั้งแต่เริ่มอยากแล้ว นั่นคือ ความซวยและน่าสงสารอันดับแรก ต่อมาการพยายามทำให้รวย ก็ต้องทุกข์ เหนื่อย ต่อให้ทำด้วยความสุจริต ก็เหนื่อย ยิ่งอยากได้มากจนต้องหาวิธีคดโกงหรือเอารัดเอาเปรียบให้ได้มากๆ ยิ่งเหนื่อยสุดเหนื่อย เพราะต้องคิดหาวีธี ต้องลงมือทำและต้องระมัดระวังคนจะจับได้ การทำให้รวยจึงทุกข์ยากลำบากกว่าการไม่ต้องทำให้รวย พอได้ทรัพย์สมบัติมามากๆแล้ว จะรักษาไว้ก็ลำบาก ว่าต้องเอาทรัพย์สมบัติไปเก็บไว้ไหน จะดูแลรักษาอย่างไร ไม่ให้เสียหาย ไม่ให้ถูกลักขโมยฉ้อโกง ก็ทุกข์กายทุกข์ใจอีก ยิ่งพยายามจะให้รวยกว่าเดิมก็ยิ่งทุกข์กายทุกข์ใจหนักเข้าไปกว่าเดิมอีก

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เงินทองเป็นอสรพิษ” สมมติว่าเรามีเงินทองล้นฟ้า เราก็กินใช้ไม่หมด คนที่อยากมาอยู่ใกล้เงินทองมากๆ คือ คนโลภ ซึ่งคนโลภจะเป็นคนไม่ดี เงินทองของเราเอง จะพาคนไม่ดีเข้ามาอยู่ใกล้เรา เขาจะทำร้ายเราลักขโมยฉ้อโกงเราได้มั๊ย บางทีก็คนข้างตัวนั่นแหละที่ทำเช่นนั้น มีข่าวให้เราได้รับรู้อยู่บ่อยๆไม่ใช่หรือ คนใกล้ตัวที่มีความโลภ โกรธ หลง ก็จะรู้ความลับของคนรวยคนนั้นหมดเลย วางแผนทำร้ายได้อย่างเก่ง บางทีใส่ยาเบื่อในน้ำในอาหาร ตายมาเยอะแล้ว หรือคนรวยรวมถึงครอบครัวของคนรวย พอเดินทางไปที่โน่นที่นี่ โอกาสที่คนรวยหรือคนจนจะถูกเรียกค่าไถ่ได้มากกว่ากัน คำตอบก็คือคนรวย ดังนั้นคนรวยเดินทางไปนั่นไปนี่จะสบายใจมั๊ย เดี๋ยวนี้คนแต่งตัวดีๆมีมาก ไม่รู้หรอกว่าใครเป็นโจร โอกาสที่คนรวยจะมีอันตรายก็มากกว่า น่าสงสารนะ เงินที่เขามี เขาก็กินใช้ไม่หมด ในขณะที่เขาก็กินใช้ไม่หมด ส่วนเกินของเขาจะเป็นประโยชน์หรือโทษแก่เขา ก็เป็นโทษ เพราะเงินส่วนเกินจะดึงคนไม่ดี คนที่มีพิษมีภัยมาอยู่ใกล้ตัว คนโลภมาอยู่ใกล้ตัวเขา อันตรายก็อยู่ใกล้ตัวเขา เงินทองตัวเองกินใช้ก็ไม่หมด แต่ก็สร้างภาระและภัยให้กับตัวเองและครอบครัว

คนรวยกินใช้ไม่หมด กินจนท้องแตกตาย ก็กินใช้ไม่หมด คนจะรวยได้ ก็ต้องดึงเอามาจากคนอื่นให้มากๆ โดยความจริงทรัพย์สินเงินทองในโลกนั้นมีจำกัด คนรวยมากๆ ก็ต้องดูดมาจากคนอื่นมากๆ คนอื่นก็ขาด คนขาดเดือดร้อนมั๊ย คนขาดก็เดือดร้อน

คนรวยมีความคิดอย่างไร คนรวยก็จะภูมิใจจัง ที่เรากินใช้ไม่หมด คนอื่นอดตาย ชาตินี้กินใช้ไม่หมด ดีใจจัง แต่คนอื่นขาดแคลน คนอื่นอดตาย คนอื่นลำบาก เราดีใจ มันประเสริฐตรงไหน มันน่าภูมิใจตรงไหน เพราะเราเอามามาก คนอื่นก็ขาดมาก ภูมิใจตรงไหน คนอื่นก็เดือดร้อนมาก ถามว่าเป็นบุญตรงไหน ต่อให้หามาด้วยความซื่อสัตย์ ถามว่าเป็นบุญตรงไหน มันไม่มีบุญเลย มีแต่บาป ความรวยจึงคือความซวยและน่าสงสารที่สุด เพราะทำให้ตัวเองและคนอื่นเดือดร้อนที่สุด

สมมติว่าคน ๒ คน ขยันทำงานเท่ากัน มีฝีมือเท่ากันไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม ได้เงินทองทรัพย์สมบัติมาเท่ากัน นาย ก. สร้างบ้านใหญ่โต นาย ข. สร้างบ้านแค่พออยู่ แล้วที่เหลือก็แบ่งปันให้กับผู้ที่ควรให้ด้วยปัญญา ถ้าเกิดสึนามิ เกิดภัยพิบัติอย่างรุนแรง เกิดพายุ แผ่นดินถล่ม ฟ้าผ่า ไฟไหม้ น้ำท่วม ภัยพิบัติอะไรก็ได้ ทำให้บ้าน ๒ คนนั้นเสียหาย แต่รอดตายทั้งคู่ หนีออกมาได้ ถามว่าใครจะมีกินมีใช้ ใครจะอยู่รอด นาย ก. ไม่แบ่ง นาย ข. แบ่งปัน ใครจะอยู่รอด คำตอบคือ นาย ข. เพราะ เขาแบ่งปันไว้มาก นาย ก. ไม่ได้แบ่งปัน ระหว่างการเลือกช่วย นาย ก. และนาย ข. ท่านจะเลือกช่วยใครก่อน ช่วยนาย ข. แต่ละท่านต่างก็ตอบตรงกันว่าช่วยนาย ข.ก่อน นี้เป็นสัจจะชัดๆ เลยนะ ทรัพย์สมบัติคุ้มครองไม่ได้ วัตถุคุ้มครองเราไม่ได้ แต่ความดีคุ้มครองเราได้ “มิตรแท้ของเราคือความดีของเรา” เกิดอะไรขึ้นมาคนที่แบ่งปัน บุญ/ฟ้าจะส่งมาให้เลยนะ จะรอด ใครหวงไว้เยอะ ตัวเองกินใช้ก็ไม่หมด คนอื่นก็ไม่ได้กินไม่ได้ใช้สิ่งนั้น อยู่ก็ไม่มีบุญ ตายไปก็ไม่มีบุญ เกิดภัยพิบัติ ความเดือดร้อน ก็ไม่มีใครอยากช่วยเหลือ หรือได้รับการช่วยเหลือเป็นลำดับท้ายๆ แต่ถ้าเราแบ่งปัน เดี๋ยวคนนั้นก็ช่วย คนนี้ก็ช่วย แม้เราไม่เกิดอุบัติภัย คนก็ช่วย แม้เกิดอุบัติภัย คนก็ช่วย ใครไม่ช่วย ฟ้าก็ช่วย แล้วขาดทุนตรงไหน คนที่ไม่แบ่งปันคือคนที่น่าสงสารที่สุดในโลก “ศัตรูที่แท้จริงของเราคือความชั่ว/ความเห็นแก่ตัวของเรา”

เคยฟังนิทานในสมัยพุทธกาลมั๊ย มีลุงคนหนึ่งร่ำรวยมากแต่ขี้เหนียวมาก ไม่เคย แบ่งปันใครเลย ชาติไหนๆ ก็ไม่แบ่งปัน พอเกิดอุบัติภัยขึ้นมา จากเศรษฐีกลายเป็นคนจนเลย ไม่มีกิน จะไปขอข้าวขอแกง รอรับของแจก จากเศรษฐีใจดีที่ตั้งโรงบุญ จะแจกของกินของใช้ ๓ วัน ด้วยวิบากกรรมที่ไม่ดีจึงรู้ช้า ทำให้ไปถึงทีหลัง ไปต่อท้ายแถว พอเขาแจกมาถึงท้ายแถวก่อนจะถึงลุงขี้เหนียวคนนั้นก็หมดพอดี วันรุ่งขึ้นไปรับใหม่ ลุงขี้เหนียวตั้งใจตื่นแต่เช้าตี๓ตี๔ ไปรอแถวหน้าเลย เศรษฐีผู้ใจบุญบอกว่าเมื่อวานคนข้างหลังท้ายแถวไม่ได้ของกินของใช้ ให้แจกจากข้างหลังมาข้างหน้า พอมาถึงข้างหน้าก่อนถึงลุงขี้เหนียวก็หมดอีก มารอข้างหน้า ก็ไม่ได้กินไม่ได้ใช้อีก ลุงขี้เหนียวคิดว่าอีกวันคงได้ของกินของใช้ วันก่อนมานั่งข้างหลังไม่ได้กินไม่ได้ใช้ วันนี้มานั่งข้างหน้าก็ไม่ได้กินไม่ได้ใช้อีก ลุงขี้เหนียวจึงมานั่งตรงกลางในวันที่ ๓ หวังว่าจะได้ของกินของใช้ เศรษฐีผู้ใจบุญก็บอกว่า วันแรกคนที่อยู่ข้างท้ายก็ไม่ได้กินไม่ได้ใช้ก็น่าสงสาร วันที่ ๒ คนที่อยู่ข้างหน้าก็ไม่ได้กินไม่ได้ใช้ก็น่าสงสาร เอาอย่างนี้วันที่ ๓ วันสุดท้ายให้แจกจากหัวจากท้ายเข้ามาดีกว่า เลยแจกจากหัวจากท้ายเข้ามา ก่อนถึงตรงกลางหมดพอดี ๓ วันลุง ขี้เหนียวก็ไม่ได้ของกินของใช้เลย ไม่แบ่งไม่ปันก็ไม่ได้กินไม่ได้ใช้ ฟ้าเขาพยายามช่วยแล้วนะ แจกถึง ๓ วัน กรรมลิขิตแปลว่าวิบาก(ผล)กรรมของแต่ละคนเป็นผู้เขียนเรื่องให้กับชีวิตแต่ละ คน ชีวิตใครที่ไม่แบ่งปัน อันตราย วัตถุไม่ได้คุ้มครองเรา เราอาศัยวัตถุแค่ประมาณหนึ่ง ชีวิตไม่ได้ต้องอาศัยวัตถุมากมายหรอก ใช้ไม่มากหรอก ใช้เพียงเล็กน้อยก็มากพอที่จะเลี้ยงชีพได้อย่างเป็นสุขแล้ว อยู่ที่เงื่อนไขเราทำงานเต็มที่ กินใช้เพียงเล็กน้อยแค่พอดีไม่ขาดแคลน กินใช้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะสมบูรณ์แบบที่สุด ก็จะเหลือกินเหลือใช้ ที่เหลือจะจัดการอย่างไรกับทรัพย์สมบัติของเรา เมื่อเราทำงานเต็มที่เราก็เก็บวัตถุไว้แค่พอกินพอใช้ก็พอ โดยให้พอกินพอใช้ เป็น ๒ ส่วนนะ


๑. ส่วนของการเลี้ยงชีพ

๒. ส่วนของการดำเนินหน้าที่กิจกรรมการงาน เราทำหน้าที่กิจกรรมการงานอะไร ก็เก็บเอาไว้ใช้ เพราะเราต้องใช้ทุนรอน อาจเผื่อเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะมั่นคงที่สุด เท่าที่ที่จะดำเนินหน้าที่กิจกรรมการงานไปได้ โดยไม่ฝืดเคืองเกินไป เก็บไว้แค่นี้ก็พอแล้ว อย่าเก็บเอาไว้เกินนี้ ที่เหลือแบ่งปันไปในที่หรือคนที่ควรแบ่งปัน เก็บไว้ก็เป็นภาระเป็นภัยต่อตนเองและผู้อื่น สละออกไปเป็นบุญทั้งต่อตนเองและผู้อื่น โลกก็ได้ประโยชน์ เราก็ได้ประโยชน์ เรายิ่งแบ่งปัน ต่อให้คนไม่ช่วย ฟ้าก็จะช่วย เพราะฟ้า(วิบากกรรมทั้งดีและไม่ดี)มีหน้าที่เขียนบทให้กับทุกชีวิตตาม กรรม(การกระทำ)ของผู้นั้นๆ”

“พระพุทธเจ้าท่านมีพระปรีชาญาณอันยิ่ง สุดยอดแห่งความชาญฉลาด ท่านตรัสรู้พบว่ากรรมดีกรรมชั่วมีจริงให้ผลจริง ท่านจึงหยุดชั่วและทำแต่ความดี ท่านสละออก ยิ่งสละยิ่งได้ ยิ่งทำความดี ยิ่งได้สิ่งที่ดี คนที่ยิ่งให้ยิ่งได้ ขนาดชาติสุดท้าย ท่านไม่เอาแล้วนะ ท่านสละบ้านสละเมืองออกไป บุญของท่านก็เขียนบท/ดลให้พระเจ้าพิมพิสารขอยกเมืองให้ มากกว่าใหญ่กว่าเมืองเดิมที่พระองค์เคยครองมาอีก ยิ่งให้ยิ่งได้ แล้วเราจะเอามาให้มากทำไม เอามาก็เป็นภาระเป็นภัยเปล่าๆ”

“การที่เราทำความดีแล้วต้องการเบิกบุญมา ใช้ ก็มีวิธีเบิกบุญนะ มันมีเคล็ดอยู่ อย่าไปอยากได้นั่นอยากได้นี่ จะเอาเร็วๆ ฟ้าเขาจะขวางไว้ เขาจะแกล้งให้เราบรรลุธรรม ถ้าเรามีบุญนะ ฟ้าจะขวางไว้ ถ้าเราทำความดีมากๆ เรามีบุญจริงๆ ความลับวิธีเบิกบุญ คือ ให้ตั้งจิตไว้ว่า เราต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้เพื่อจะทำบุญเรื่องนั้นเรื่องนี้ จะได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ได้ ถ้าได้ก็ดี ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร สิ่งนั้นจะมาเร็วก็ได้ มาช้าก็ได้ หรือไม่มาเลยก็ไม่เป็นไร จะมาแบบไหนหรือไม่มาเลยก็สุดแล้วแต่บาปบุญของโลก เรามีหน้าที่จัดสรรสิ่งที่กระทบหรือรับเข้ามาตามจริง ณ ปัจจุบัน ให้เป็นประโยชน์กับโลกให้ได้มากที่สุด เท่าที่เราจะทำได้เท่านั้น ถ้าเราและโลกมีบุญจริงเมื่อถึงเวลาอันควร เขาก็จะให้มาเอง ถ้าไม่มีบุญก็จะไม่มา สัจจะ(กรรม) จะจัดสรรให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรม”

“พระราหุลพระราชโอรสของพระพุทธเจ้า ลูกกษัตริย์ท่านคิดดูเอาเองแล้วกัน ก่อนจะบรรลุธรรม มีอัตตามานะหยิ่งยโสโอหัง พระสารีบุตรสอนจนเหนื่อยเมื่อยเลย สอนไม่ไหวแล้ว จึงขอพระบารมีของพระพุทธเจ้าให้ช่วยสอน พระพุทธเจ้าสอนพระราหุลว่า เธอจงทำตัวเหมือนแผ่นดิน เท่านั้น พระราหุลบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์เลย การทำตัวให้เหมือนแผ่นดิน ก็คือการทำให้ตัวหนักแน่น ไม่สะดุ้งสะเทือน ไม่หวั่นไหว ทำตัวให้ต่ำ แต่มีคุณค่า ให้คนเหยียบได้ ให้คนถ่มน้ำลายรดได้ ให้คนขี้รด เหยี่ยวรดก็ได้ คนมีภูมิ ธรรมนะโดนอะไรก็ไม่หวั่นไหว อยู่อย่างต่ำแต่กระทำอย่างสูง อยู่เกื้อกูลคนให้คนได้อาศัย”

“ทุกครั้งที่พระพุทธเจ้า ถูกวิบากบาปจัดสรรให้ใช้เวรใช้กรรมที่เคยหลงพลาดทำมาก่อน เวรกรรมก็ยิ่งหมดไปเท่าที่ได้รับผลของวิบากบาป ทำให้วิบากบุญแสดงผลได้มากเพราะไม่มีวิบากบาปกั้น ดังนั้นหลังจากที่พระพุทธเจ้าถูกด่าว่าหรือได้รับวิบากที่ไม่ดีต่างๆ เวรกรรมนั้นๆก็จะลดหรือหมดไป วิบากบุญจะเปล่งประกายแสดงผลมากขึ้นทันที เพราะท่านทำแต่ความดี โดยไม่ทำบาปเพิ่ม

เมื่อถูกใส่ร้ายด้วยคำที่ไม่จริง ๗ วัน พระพุทธเจ้าและสาวก บิณฑบาตรแทบไม่ได้ของใส่บาตรเลย พอพ้น ๗ วัน วิบากบาปถูกชดใช้หมด ผู้คนจึงรู้ความจริงว่าท่านและสาวกไม่ได้ทำสิ่งที่ไม่ดี ตามที่เขากล่าวหา พอบิณฑบาตรของที่คนมาทำบุญเพียบเลย

ไม่มีคนดีคนใดที่ไม่เคยทำชั่วมา ดังนั้น เป็นไปไม่ได้ที่คนดีจะไม่ถูกด่า ไม่ถูกว่า ไม่ถูกดูถูก ไม่ถูกสิ่งไม่ดีสารพัด ถ้าใครอยากเป็นคนดีที่มีความสุข ทำดีถูกด่าให้ได้ ทำดีถูกดูถูกให้ได้ ทำดีถูกนินทาให้ได้ ทำดีถูกเข้าใจผิดให้ได้ ทำดีถูกแกล้งให้ได้ ทำดีถูกทำไม่ดีตอบสารพัดเรื่องให้ได้ คุณจะเป็นคนดีที่มีความสุข ขนาดพระพุทธเจ้าท่านทำดีท่านยังโดนแกล้ง โดนสิ่งไม่ดีสารพัดเลย แต่ท่านก็ไม่ได้ทุกข์ใจใดๆเลย เพราะท่านรู้ว่าไม่มีคนดีคนใดไม่เคยทำชั่วมา เพราะถูกด่าเวรกรรมมันก็หมด รับเสร็จก็หมด พอวิบากบาปหมดบุญก็ขึ้น”

“ดังข้อมูลในพระไตรปิฎก เล่ม ๓๗ ข้อ ๑๖๙๘ “พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวความที่กรรมอันเป็นไปด้วยความจงใจ ที่บุคคลทำแล้ว สะสมแล้วจะสิ้นสุดไป เพราะมิได้เสวยผล แต่กรรมนั้นแล จะให้ผลในภพนี้ หรือในภพถัดไป หรือในภพอื่นสืบๆ ไป”

เหมือนกับพระเทวทัต คิดฆ่าพระพุทธเจ้า และลงมือกลิ้งหินทับ แต่ก็ฆ่าไม่ได้ สะเก็ดหินโดนพระบาทห้อเลือด ด้วยวิบากกรรมนั้นของเทวทัต จึงดลให้แผ่นดินสูบเทวทัตตาย ซึ่งเหตุเกิดจาก ในชาติที่พระพุทธเจ้ายังไม่บำเพ็ญ ได้ไปฆ่าน้องชายต่างมารดาซึ่งก็คือเทวทัตนั่นเอง


ดังพระไตรปิฎกเล่ม ๓๒ ว่าด้วยบุพจริยาของพระองค์เอง


ข้อ ๓๙๒ พระผู้มีพระภาคผู้เป็นนายกของโลก แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เป็นอันมาก ประทับนั่งอยู่ที่พื้นหินอันเป็นรัมณียสถานโชติช่วงด้วยแก้วต่างๆ ในละแวกป่า อันมีกลิ่นหอมต่างๆ ใกล้สระอโนดาต ตรัสชี้แจงบุรพกรรมทั้งหลาย ของพระองค์ ณ ที่นั้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังกรรมที่เราทำแล้วของเรา

ในกาลก่อน เราได้ฆ่าพี่น้องชายต่างมารดา เพราะเหตุแห่งทรัพย์ จับใส่ลงในซอกเขา และบด (ทับ) ด้วยหิน ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น พระเทวทัตจึงผลักก้อนหิน ก้อนหินกลิ้งลงมากระทบนิ้วแม่เท้าของเราจนห้อเลือด

จะเห็นได้ว่า ในชาติก่อนพระพุทธเจ้าไปฆ่าเทวทัตซึ่งเป็นน้องชายต่างมารดามาก่อน พอมาถึงชาติที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ วิบากกรรมของพระพุทธเจ้าก็ดลดึงให้เทวทัตมาฆ่าคืน แต่ก็ฆ่าคืนไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าท่านทำความดีมาเยอะ ความดีก็บรรเทาสิ่งที่ไม่ดีให้เบาบางลง จึงโดนแค่พระบาทห้อเลือด ท่านรู้ว่าท่านทำมา ท่านจึงไม่ได้โกรธเทวทัต แต่เทวทัตสิน่าสงสารจะตาย มาเอาคืนก็เอาคืนได้ไม่มาก เพราะพระพุทธเจ้าทำดีมากแล้ว แถมวิบากบาปของเทวทัตหนักกว่าเก่าอีก เพราะเขามีเจตนาทำ แล้วไปทำไม่ดีกับคนดี วิบากก็หนักสิ ซวยเลย ถูกธรณีสูบ พระพุทธเจ้าไม่ตายแต่เทวทัตตายเลย”

“ที่ผมทำมาอาจจะหนักก็ได้ คงไปฆ่าเขาหรือฆ่าใครๆมาก็ได้ แต่ชาตินี้เขาไม่ได้มาฆ่าเราก็ ดีนักหนาแล้ว แค่เตะเราหรือแค่ใส่ร้ายเราก็ดีนักหนาแล้ว น่าสงสารเขา เราช่วยเขาไม่ได้ เขาเอาคืนก็เอาคืนได้ไม่มาก วิบากเขาจะหนัก เพราะมาทำไม่ดีกับเราตอนที่เราบำเพ็ญบุญ เราช่วยเขาไม่ได้ก็ต้องปล่อยเขาลงนรกไป ถ้าทำกับเราตอนที่เราทำไม่ดี เราก็คงได้รับวิบากบาปรุนแรงพอๆกับที่เราทำมา”

“ เราขยันทำมาหากินเต็มที่ เก็บไว้เท่าที่ต้องกินต้องใช้ ที่เหลือกินเหลือใช้ก็แบ่งปัน พอแบ่งปันไปเราก็จะไม่รวย เราจะเป็นคนจนอีกแบบหนึ่งที่ไม่เหมือนบ้าน ไม่เหมือนเมือง ไม่เหมือนคนอื่นเขา แบ่งปันก็ไม่รวย แต่จนอย่างมีคุณค่าเพราะแบ่งปัน ไม่รวย แต่จะ ไม่เป็นคนจนแบบสิ้นไร้ไม้ตอก จะไม่ใช่คนฐานะกลางๆแต่ยังอยากรวยอยู่ และไม่ใช่คนรวยที่ไม่รู้จักพอหรือไม่รู้จักแบ่งปัน ความจริงแล้วขอทานก็ทุกข์พอๆกับคนรวย แต่ขอทานไม่ทุกข์เท่าคนรวย เพราะขอทานก็ทุกข์แค่อยากมีกินมีใช้พอประทังชีวิต แต่คนรวยทุกข์มากกว่าขอทาน เพราะมีสมบัติมากกว่าจึงต้องกังวลมากกว่าในการดูแลรักษา กังวลเพราะอยากมีมากยิ่งขึ้นก็ทุกข์มากขึ้น คนรวยก็จะมีความอยากได้อยากเป็นอยากมีเรื่องนั้นเรื่องนี้มากกว่าขอทาน จึงทุกข์มากกว่าขอทาน หลายคนในโลกนี้คิดว่าคนรวยมีความสุขกว่าคนฐานะอื่นๆ ก็เชิญลองรวยดูแล้วจะรู้ซึ้งว่ารวยแล้วเป็นทุกข์จริงๆ

อยากให้มีคนทำวิจัยความสุขความทุกข์ของคน รวย มีเรื่องเล่านี้เป็นเรื่องจริงอจินไตย(เข้าใจได้ยาก รู้ตามได้ยาก) คนรวยเอาไปกักตุนไว้มากๆ ก็จะมีวิบากที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ขาดแคลน ลำบาก วิบากกรรมนั้นจะเขียนเรื่องให้เขาเดือดร้อน บางครั้งจนเขาต้องฉีดยานอนหลับ มีความกังวลมีภาระที่ต้องแก้ปัญหาเรื่องนั้นเรื่องนี้เต็มไปหมดเลย ถ้าคนเข้าใจกรรมเข้าใจจิตวิญญาณจะเข้าใจชัด

เหมือนเมื่อเราสมัยก่อนเมื่อเรายังไม่มี งานทำ คิดว่ามีงานทำจะมีความสุข พอมีเงินเดือนแล้วเป็นไง ทุกข์กว่าเก่า/หนักกว่าเดิมอีก ชาวบ้านมองคุณครูว่าคงมีความสุขนะ มีเงินเดือนมีหน้ามีตา แล้วจริงๆคุณครูมีความสุขต่างจากตอนเป็นชาวบ้านมั๊ย เผลอๆทุกข์หนักกว่าชาวบ้านอีก บางทีชาวบ้านยังอยู่เฉยๆ แต่เจ้านายใช้เราให้ส่งงานเร็วๆ ชาวบ้านเขาจะรู้กับเรามั้ย ว่ามีเรื่องไหนบ้างที่กดดันเราอยู่ พอๆกับเราที่คิดว่าเราเป็นเจ้านายจะมีความสุข พอเป็นเจ้านายแล้วเป็นไง ทุกข์หนักกว่าเดิมอีก ทุกข์จากหน้าที่ที่ต้องบริหารรับผิดชอบ ทุกข์จากลูกน้องคาดหวัง ทุกข์จากเจ้านายที่เหนือกว่ากดดัน ทุกข์จากต้องรักษาต้องหวงแหนผลประโยชน์ตำแหน่งลาบยศสรรเสริญ แท้จริงแล้วความสุขไม่ได้อยู่ที่เป็นอะไร แต่ความสุขอยู่ที่ใช้ชีวิตเป็น มีทักษะการดำเนินชีวิตที่ผาสุก เป็นอะไรก็ไม่มีค่าเท่ากับเป็นสุขหรอก

เป็นอะไรก็เป็นสุขได้ถ้าใช้ชีวิตเป็น เป็นอะไรก็ไม่เป็นสุขถ้าใช้ชีวิตไม่เป็น ต่อให้เป็นหัวหน้าเป็นลูกน้องก็ไม่สุขหรอกถ้าใช้ชีวิตไม่เป็น ถ้าอยากเป็นคนรวยให้ลองไปอยู่กับคนรวยสัก ๑ เดือน ก็จะรู้เห็นว่าเขาทุกข์แค่ไหนอย่างไร เพียงแต่เขาไม่เปิดเผยให้คนทั่วไปรู้เท่านั้น ถ้าเขาเปิดเผยออกมานะ มีปัญหาอะไรเยอะแยะมากมาย เช่น คนนั้นคนนี้ก็ไม่ได้ดั่งใจ ลูกคนนั้นก็เลวอย่างนั้นอย่างนี้ ญาติคนนั้นก็มายืมเงินไม่คืน บางคนมายืมเงินเราไม่ให้เขาเขาก็โกรธเรา เป็นศัตรูกับเราอีก ก็วุ่นวาย จะมาฆ่าเราหรือไม่ มันจะทะเลาะ กลัวคนจะคดโกงแย่งชิงสมบัติตรงนั้นตรงนี้ กลัวสมบัติที่ดูแลไม่ทั่วถึงจะเสียหาย มีเรื่องมากมายให้คนรวยทุกข์ มันจะปรุงจะคิดมาก จะฝันฟุ้งไม่สงบ กรรมเขาจะเขียนเรื่องให้ทุกข์กังวลวุ่นวายเยอะแยะไปหมด

ถ้าความรวยทำให้มีความสุขจริง พระพุทธเจ้าไม่ทิ้งบ้านทิ้งเมืองไปสู่การ ไม่เอาอะไรหรอก แต่ท่านก็จนอย่างมีความสุข ไม่ใช่จนอย่างสิ้นไร้ไม้ตอก ไม่ใช่จนแบบงอมืองอเท้า ไม่ใช่จนอย่างไม่สุข แต่จนอย่างมีคุณค่า

เราทำงานเต็มที่แล้วเราจนแบบแบ่งปัน เราพอกินพอใช้ก็พอ แล้วเราก็แบ่งปัน จนเพราะเราตั้งใจจน จนเพราะเรากล้าจน ทำไมเราจึงกล้าจน เพราะเรารู้ว่าจนมีค่า จะประเสริฐที่สุด คนอื่นจะไม่ขาดแคลนเพราะเรา

คนรวยคือคนที่ไม่มีค่าในโลก ถ้าคนรวยอยากมีค่าต้องทำยังไงครับ เขาต้องจนต้องแบ่งปันซิ แบ่งปันเมื่อไหร่ก็มีค่าเมื่อนั้น แบ่งปันแล้วจะรวยมั๊ย แล้วจะรวยอย่างไร มันจะจน แต่ก็จะมีสภาพซ้อน แบ่งปันแล้วจน แต่มันก็จะรวย มันจะซ้อน แบ่งปันแล้วจะจนลง แต่เดี๋ยวจนสักพัก ก็จะรวยอีกแล้ว

ยิ่งสลัดออกไปมันยิ่งกลับมา คนอื่นได้ประโยชน์ มันก็จะยิ่งกลับมา มันก็จะหมุนวนออกไป ยิ่งหมุนวนออกไป ยิ่งมาก ยิ่งมาก ยิ่งสลัดออกไปได้ คนได้ประโยชน์อีกแล้ว บุญก็จะมา บุญก็จะยิ่งมา”