ไลฟ์สไตล์
จอมพล
มาฆบูชา

ผ่านพ้นเลยวันแห่งความรักมาหมาดๆ วันวาเลนไทน์ปีนี้ตรงกับวันมาฆบูชาเป็นวันเดียวกัน ผู้คนก็เลยงงว่าจะไปเวียนเทียนดีหรือพาแฟนไปกินข้าวดี เรื่องของวันแห่งความรักที่มักจะตรงกับวันมาฆะบูชานี้ ผู้หลักผู้ใหญ่ในเมืองไทยท่านก็เป็นกังวลว่า ไอ้วัฒนธรรมตะวันตกเรื่องวันวาเลนไทน์นี้มันจะทำให้คนไทยสูญเสียเอกลักษณ์ไทย คือพากันไปหลงงมงายกับวัฒนธรรมฝรั่งว่างั้นเถิด อีกอย่างท่านก็บอกว่าวันวาเลนไทน์นี้ไม่ดี เพราะทำให้มีสาวๆต้องเสียตัวเพื่อบูชาความรักในวันวาเลนไทน์กันเป็นจำนวนมาก ท่านจึงพากันเปลี่ยนวันวาเลนไทน์ ให้เป็นวันวาเลนไทย โดยอาศัยเอาวันมาฆบูชามาเป็นที่ตั้ง แล้วขยายความให้เป็นวันแห่งความรักอันบริสุทธิ์ (คือเป็นความรักที่ไม่เกี่ยวกับราคะ) โดยเฉพาะเป็นความรักที่มีต่อศาสนาพุทธ ซึ่งการนี้จะประสบความสำเร็จอย่างไรผู้เขียนก็ไม่ทราบได้ ลองค้นอ่านดูก็พบเรื่องการเปลี่ยนวันวาเลนไทน์ให้เป็นวันแห่งความรักบริสุทธิ์จากสารานุกรมวิกกี้พีเดีย มีใจความดังนี้

“ในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของวันมาฆบูชา (ที่อาจถือได้ว่าเป็นวันแห่งความรักของพระพุทธศาสนา) โดยถือว่าเหตุการณ์สำคัญที่เหล่าพระสาวกทั้ง 1,250 รูป ได้กลับมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยความรักในพระองค์หลังจากได้ออกไปเผยแพร่ พระศาสนาโดยมิได้นัดหมายดังกล่าวเป็นสิ่งที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีอัน บริสุทธิ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาในปฏิทินจันทรคติในวันเพ็ญเดือนสาม มักจะตกใกล้กับช่วง"เทศกาลวาเลนไทน์" อันเป็นเทศกาลวันแห่งความรักของคริสต์ศาสนา ซึ่งวัยรุ่นไทยบางกลุ่มมักยึดถือคติค่านิยมวันแห่งความรักในวันวาเลนไทน์ผิด ๆ โดยนิยมยึดถือกันว่าเป็นวันแห่งความรักของคนหนุ่มสาว หรือแม้กระทั่งถือว่าเป็น "วันเสียตัวแห่งชาติ" ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่านิยมทางจริยธรรมและศีลธรรมของวัยรุ่นไทย รัฐบาลไทยในสมัยนั้นจึงได้ประกาศให้วันมาฆบูชาเป็นวันกตัญญูแห่งชาติ "เพื่อส่งเสริมค่านิยมที่เหมาะสมแก่วัยรุ่นไทย ให้หันมาสนใจกับความรักอันบริสุทธิ์ที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน" แทนที่จะไปมัวเมากับความรักใคร่ชู้สาวหรือเรื่องฉาบฉวยทางเพศของหนุ่มสาว อันจะก่อให้เกิดปัญหาแก่สังคมตามมา

การผลักดันให้มีวันกตัญญูแห่งชาติมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2546 เคยมีการตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณากำหนดให้มีวันกตัญญูแห่ง ชาติ แต่ถูกปฏิเสธจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยอ้างว่า ในประเทศไทยมีวันสำคัญแห่งชาติที่เกี่ยวกับการแสดงความกตัญญูมากพอแล้ว ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 นักพูดชื่อดังหลายคน เช่น ดร.ผาณิต กันตามระ นายสุรวงศ์ วัฒนกุล ดร.อภิชาติ ดำดี นายเฉลิมชัย จารุไพบูลย์ ดร.โอภาส กิจกำแหง และนายถาวร โชติชื่น ได้ร่วมกันทำหนังสือถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติขอให้ส่งเสริมให้วันมาฆบูชาเป็นวันกตัญญูแห่งชาติอีกวันหนึ่งด้วย และได้รับการตอบรับจากผู้เกี่ยวข้อง

วันกตัญญูแห่งชาตินี้ นอกจากเพื่อแสดงออกถึงวันแห่งความรักอันบริสุทธิ์ของชาวพุทธแล้ว ยังเพื่อส่งเสริมค่านิยมให้คนไทยยึดถือความกตัญญู โดยอาจมีการพูดคุย ส่งบัตรอวยพร มอบของขวัญหรือช่อดอกไม้แก่ผู้มีพระคุณ เป็นการแสดงความระลึกถึงพระคุณด้วยความหวังดีของผู้ให้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ การแสดงออกซึ่งน้ำใจหรือคำพูดก็ตาม”

อย่างไรก็ตามได้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าความพยายามที่จะเปลี่ยนให้วันวาเลนไทน์มาเป็นวันกตัญญูแห่งชาติไม่ได้รับการตอบสนองจากประชาชนทั่วไป น่าจะเป็นเพราะว่าความรักอันบริสุทธิ์นั้นไหนเลยจะหวือหวาตื่นเต้นเหมือนวันแห่งความรัก (ใคร่) ในวันวาเลนไทน์ได้

ผู้เขียนนั้นไม่เห็นความสำคัญที่จะต้องอนุรักษ์ความเป็นไทยด้วยการรณรงค์ให้คนไทยเลิกวันวาเลนไทน์แล้วหันมาเข้าวัดกัน เพราะไม่ว่าทางการหรือกระทรวงวัฒนธรรมจะพยายามอย่างไรก็ตาม ก็คงไม่สามารถเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนได้ เนื่องด้วยวันวาเลนไทน์เป็นวัฒนธรรมโลกไปเสียแล้ว อีกอย่างความรักเป็นเรื่องสวยงาม คนเขาจะแสดงออกซึ่งความรักให้แก่กัน มันจะไปผิดอะไรตรงไหน ส่วนเรื่องที่กลัวหนุ่มสาวเสียตัวในวันวาเลนไทน์นั้นยิ่งเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ เพราะไม่ว่าจะวันไหน มันก็เสียตัวกันทุกวันอยู่แล้ว โลกมันเปลี่ยนไป การที่ผู้หญิงจะรักนวลสงวนตัวมันเป็นเรื่องโบราณ ผู้เขียนยังจำได้เมื่อสมัยเด็กๆ การหวงเนื้อหวงตัว การทะนุถนอมพรหมจรรย์เพื่อมอบแด่ชายที่รักในวันแต่งงาน เป็นความนิยมที่ใครๆก็ปฏิบัติกัน ต่างจากสมัยนี้ที่เด็กวัยรุ่นพอแตกหนุ่มสาวก็มีเพศสัมพันธ์กันเสียแล้ว ผู้ใหญ่สมัยนี้รับไม่ได้แล้วก็พยายามปิดหูปิดตากันหลอกตัวเองว่าลูกหลานตนนั้นรักนวลสงวนตัวอยู่ในร่องในรอย ผู้เขียนเองได้รู้จักได้สนิทสนมกับเด็กวัยรุ่นทั้งไทยทั้งต่างประเทศ ไม่ว่าประเทศไหนก็เหมือนกันหมดคือเสียตัวตั้งแต่ยังเด็ก ฉะนั้นการที่จะหนีความจริงแล้วพยายามส่งเสริมค่านิยมสร้างวัฒนธรรมไทยให้เข้มแข็ง ดูจะเป็นความพยายามที่เสียเปล่า สำหรับผู้เขียนนั้นคิดว่าโลกมันเปลี่ยนไป เราต้องหมุนตัวเราให้ทันโลก เมื่อรู้ว่าอย่างไรก็ยับยั้งหนุ่มสาวสมัยใหม่ไม่ได้ ก็ควรจะคิดที่จะให้ความรู้เพื่อให้พวกเขาได้ป้องกันตัวได้ถูกต้อง การติดโรคร้ายจากเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ ควรเป็นหลักสูตรวิชาให้เด็กวัยรุ่นได้เรียนตั้งแต่เนิ่นๆ ดีกว่าวัวหายแล้วมาล้อมคอก

กลับมาคุยกันต่อเรื่องของวันมาฆบูชา ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ วันมาฆบูชานี้ไม่ใช่วันสำคัญทางพุทธศาสนาโลก แต่เป็นวันที่สถาปนาขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีใจความสำคัญดังนี้

“การประกอบพิธีในวันมาฆบูชาได้เริ่มมีขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์ทรงเล็งเห็นว่าวันนี้เป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ ในพระพุทธศาสนา คือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ฯลฯ ควรจะได้มีการประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา โดยในครั้งแรกนั้นได้ทรงกำหนดเป็นเพียงการพระราชพิธีบำเพ็ญกุศลเป็นการภายใน แต่ต่อมาประชาชนก็ได้นิยมนำพิธีนี้ไปปฏิบัติสืบต่อมาจนกลายเป็นวันประกอบ พิธีสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่งไป

เนื่องจากในประเทศไทย พุทธศาสนิกชนได้มีการประกอบพิธีในวันมาฆบูชาสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัชกาล ที่ 4 และนับถือกันโดยพฤตินัยว่าวันนี้เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในทางพระพุทธศาสนาของ ประเทศไทยมาตั้งแต่นั้นโดยเมื่อถึงวันนี้พุทธศาสนิกชนจะร่วมใจกันประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ กันเป็นงานใหญ่ ดังนั้นเมื่อถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงทรงประกาศให้วันมาฆบูชาเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์สำหรับชาวไทยจะได้ร่วมใจกันบำเพ็ญกุศลในวันมาฆบูชาโดยพร้อมเพรียง

ในปัจจุบันยังคงปรากฏการประกอบพิธีมาฆบูชาอยู่ในประเทศไทยและประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย เช่น ลาว และกัมพูชา (ซึ่งเป็นส่วนที่ไทยได้เสียให้แก่ฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 5) โดยไม่ปรากฏว่ามีการประกอบพิธีนี้ในประเทศพุทธมหายานอื่นหรือประเทศพุทธเถรวาทนอกนี้ เช่น พม่า และศรีลังกา ซึ่งคงสันนิษฐานได้ว่า พิธีมาฆบูชานี้เริ่มต้นจากการเป็นพระราชพิธีของราชสำนักไทยและได้ขยายไปเฉพาะในเขตราชอาณาจักรสยามในเวลานั้น ต่อมาดินแดนไทยในส่วนที่เป็นประเทศลาวและกัมพูชาได้ตกเป็นดินแดนในอารักขาของฝรั่งเศส และได้รับเอกราชในเวลาต่อมา พุทธศาสนิกชนใน ประเทศทั้งสองที่ได้รับคตินิยมการปฏิบัติพิธีมาฆบูชาตั้งแต่ยังเป็นส่วน หนึ่งของราชอาณาจักรสยาม คงได้ถือปฏิบัติพิธีมาฆบูชาอย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้มีการยกเลิก จึงทำให้คงปรากฏพิธีมาฆบูชาในประเทศดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน”

หากเราจะลองไปถามคนไทยดูว่าวันสำคัญทั้งสี่วันของพุทธศาสนาอันได้แก่ วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา วันวิสาขบูชา และวันเข้าพรรษา แตกต่างกันอย่างไร ผู้เขียนพนันว่ามีคนไทยไม่เกินครึ่งที่สามารถตอบได้ถูกต้อง อย่างวันวิสาขบูชานั้นจำกันได้ง่ายเพราะเป็นวันที่พระพุทธองค์ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ตรงกันในวันเพ็ญขึ้นสิบห้าค่ำเดือนหกเหมือนกัน คนส่วนมากจะจำได้ถึงสาระของวันวิสาขบูชา ส่วนวันเข้าพรรษานั้นคนก็มักจะจำได้เพราะเขาห้ามดื่มเหล้าสามเดือน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของคนไทย ก็เลยทำให้วันเข้าพรรษาและออกพรรษานั้นคนจะรู้จักได้มาก

แต่พอมาถึงวันอาสาฬหบูชากับวันมาฆบูชานี้นั้น ไปถามใครส่วนมากก็มักจะอ้ำๆอึ้งๆหรือตอบแบบไม่แน่ใจ ผู้เขียนนั้นมีวิธีจำง่ายๆแบบของผู้เขียนคือ วันอาสาฬหบูชาคือวันเกิดพุทธศาสนา แฮปปี้เบิร์ดเดย์ศาสนาพุทธนั่นเอง ที่กล่าวแบบนี้ก็เพราะศาสนาพุทธครบองค์พระรัตนตรัยในวันอาสาฬหบูชา คือมี พระศาสดา พระธรรม และพระสงฆ์ ครบองค์สามประการ จึงเรียกได้ว่าเป็นศาสนา

หลักนี้ใช้ปฏิบัติกันทั่วโลก ศาสนาที่ได้ชื่อว่าศาสนาจะต้องมีพระศาสดา พระคัมภีร์คือพระธรรม และพระผู้สืบทอด ฉะนั้นลัทธิอย่างเช่น เต๋า ซึ่งมีอาจารย์สอนคือท่านเล่าจื๊อ แต่ท่านไม่ได้เป็นศาสดา อีกทั้งคำสอนในลัทธิเต๋าก็เป็นการจดบันทึก ไม่ได้รวบรวมเป็นพระไตรปิฎกอย่างมีมาตรฐาน รวมทั้งไม่มีนักบวชมีแต่ผู้ปฏิบัติตาม ฉะนั้นจึงไม่เรียกว่าเป็นศาสนาเต๋า เช่นนี้เป็นต้น

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว ท่านได้มาโปรดปัจวัคคีย์ทั้งห้าซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์ท่านมาก่อน โดยพระพุทธเจ้าได้ทรงเทศนาธัมจักรกัปวัตนสูตร ซึ่งเป็นหัวใจของศาสนาพุทธ คือกล่าวถึงมรรคอันมีองค์ ๘ คือหนทางที่หมดทุกข์ เมื่อโปรดแล้วท่านปัจวัคคีย์ก็ถือบวชในศาสนาพุทธ ดังนั้นองค์ ๓ จึงครบ คือมีพระศาสดา พระธรรม และพระสงฆ์

ฉะนั้นถ้าจะนับให้จำได้ง่ายๆวันอาสาฬหบูชาก็คือวันเกิดพระพุทธศาสนานั่นเอง และวันนี้ก็เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธอย่างเป็นสากล คือชาวพุทธทั่วโลกถือปฏิบัติกันไม่เหมือนวันมาฆบูชาที่ถือปฏิบัติในเมืองไทยเท่านั้น

ส่วนสาระสำคัญของวันมาฆบูชานั้นมีความสำคัญดังนี้

“วันมาฆบูชาคือวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ท่าม กลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา โดยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ พระสงฆ์สาวก 1,250 รูปได้มาประชุมพร้อมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย, พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง, พระสงฆ์ที่มาประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรง อภิญญา 6, และวันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ดังนั้น จึงเรียกวันนี้อีกอย่างหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔”

การที่มีการกล่าวว่าพระสงฆ์ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าทั้ง ๑,๒๕๐ รูปมาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายทั้งนี้เกิดจากความรักในพระพุทธองค์นั้น ผู้เขียนกลับเห็นเป็นอื่น อย่างที่ได้อ่านมาแล้วนั้นพระภิกษุที่มาชุมนุมทั้งหมดที่แยกย้ายกันไปเผยแพร่ศาสนาพุทธนั้น ท่านเป็นพระอรหันต์ และทรงอภิญญา ๖ อันอภิญญา ๖ นั้นคือพลังอำนาจพิเศษ หนึ่งในนั้นคือ เจโตปริญาน หรืออำนาจในการรู้ใจผู้อื่นได้ หรือการติดต่อสื่อสารทางโทรจิตนั่นเอง ฝรั่งเรียกว่า Telepathy อันเป็นวิทยาศาสตร์ ผู้ที่ฝึกจิตจะสามารถทำได้ ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่พระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูปจะมาประชุมพร้อมกันด้วยการติดต่อกันทางเทเลพาธีนั่นเอง

สิ่งที่สำคัญในวันมาฆบูชาคือการสวดโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นโอวาทที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระภิกษุในวันมาฆะ ซึ่งนับว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ประกอบด้วยความสำคัญ ๓ ประการคือ

๑.อุดมการณ์ของศาสนาพุทธมี ๔ ประการได้แก่ ความอดกลั้น, การมุ่งถึงนิพพาน, การไม่เบียดเบียนผู้อื่น,และการเป็นผู้มีใจสงบจากโลภโกรธหลง

๒. หัวใจของพระพุทธศาสนาอันได้แก่ การทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธ์

๓. ข้อบัญญัติของพระธรรมทูตทั้ง ๖ ประการคือ ไม่กล่าวร้าย (ศาสนาอื่น) ไม่ใช้กำลังข่มขู่ผู้อื่นให้เชื่อศาสนาของเรา การรักษาความประพฤติของตนให้น่าเลื่อมใส การเสพอาหารอย่างประมาณ การสันโดษไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ และการพัฒนาจิตของตนไม่ใช่แต่สอนผู้อื่น

สรุปแล้วโอวาทปาติโมกข์ก็คือคำสั่งของพระพุทธองค์ที่มีต่อพระสาวกที่จะไปเผยแพร่ศาสนาให้ประสบความสำเร็จนั่นเอง

มาถึงตรงนี้คงทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจสาระของวันสำคัญในศาสนาพุทธได้ง่ายขึ้น สาธุ