ไลฟ์สไตล์
จอมพล
อิหร่าน

ถ้าหากใครได้ชมภาพยนต์เรื่อง Argo ซึ่งเพิ่งกวาดรางวัลใหญ่ๆ จากเวทีออสการ์ปีล่าสุดไปถึงสามรางวัล รวมไปถึงรางวัลภาพยนต์ยอดเยี่ยมแล้ว ก็คงจะสนใจบทความในฉบับนี้เกี่ยวกับประเทศอิหร่านเช่นเดียวกับผู้เขียน ภาพยนต์เรื่องอาร์โก้นี้มีเนื้อหาที่เกี่ยวพันกันกับการเมืองสหรัฐและอิหร่าน กล่าวคือได้สร้างจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ปี 1979 เกิดการปฏิวัติของชาวอิหร่านขั้นรุนแรง กลุ่มนักศึกษาได้บุกเข้าไปในสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเตห์ราน พร้อมกับจับชาวอเมริกัน 66 คนเป็นตัวประกัน ท่ามกลางความโกลาหลชาวอเมริกัน 6 คนได้หลบหนีและหาที่ลี้ภัยในบ้านของเอกอัครราชทูตชาวแคนาดา ทางการสหรัฐได้ส่ง โทนี่ เม็นเดส เจ้าพนักงานซีไอเอที่ เข้ามาพร้อมแผนการร้ายเสี่ยงภัย เพื่อพาพวกเขาหลบหนีออกนอกประเทศอย่างได้อย่างปลอดภัย

ภาพยนต์เรื่องอาร์โก้ สร้างขึ้นอย่างยอดเยี่ยมและสมศักดิ์ศรีภาพยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี นับเป็นหนังดีอีกเรื่องหนึ่งทีเดียว อย่างไรก็ตามภาพยนต์เรื่องนี้ได้นำเสนอและปลุกกระแสให้ชาวโลกหันมาสนใจความเป็นไปของประเทศอิหร่านกันมากขึ้น

สาเหตุอีกประการที่ทำให้ผู้เขียนคิดว่าน่าจะได้นำเรื่องราวของประเทศอิหร่านมานำเสนอนั่นก็เป็นเพราะ ชาวอิหร่านที่อาศัยอยู่ในอเมริกามีเป็นจำนวนมาก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ไปร่วมงานพิธีสาบานตนเป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกาของเพื่อนสนิท ได้ยินเขาประกาศว่าชาวอิหร่านที่มาสาบานตนเป็นพลเมืองอเมริกันในวันนั้นมีมากเป็นอันดับที่สามรองจากแม็กซิกันและฟิลิปปินส์ ซึ่งยิ่งสร้างความน่าสนใจมากเพราะอิหร่านกับสหรัฐอเมริกานี้ไม่มีความสัมพันธ์ทางการฑูตกันมานานตั้งแต่ปี ๑๙๗๙ แล้ว ไม่มีการออกวีซ่าให้ชาวอิหร่านเดินทางเข้าประเทศอเมริกาจากประเทศอิหร่าน ชาวอิหร่านที่จะเดินทางมาอเมริกาต้องไปขอวีซ่านอกประเทศของตนเช่นต้องไปขอที่ประเทศเตอร์กี ประเทศอิตาลี ประเทศเยอรมัน หรือประเทศสวิสเซอร์แลนด์เป็นต้น ถึงกระนั้นชาวอิหร่านที่เปลี่ยนมาถือสัญชาติอเมริกันกลับมีมากเป็นอันดับสาม เหตุข้อนี้ทำให้ผู้เขียนเกิดความสนใจและค้นหาข้อมูลของประเทศอิหร่านมานำเสนอในวันนี้

ถ้าหากเราจะลองมองดูแผนที่ของประเทศในตะวันออกกลาง เราจะเห็นว่าอิหร่านเป็นประเทศใหญ่มาก นับได้เป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับที่ ๑๘ ของโลก มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะบ่อน้ำมัน มีชายฝั่งทะเลยาวเป็นที่ปรารถนาของประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะอิรักที่มีพรมแดนติดกัน สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือในสมัยโบราณเรารู้จักอิหร่านในนามว่าเปอร์เซีย มาเปลี่ยนเป็นอิหร่าน ซึ่งภาษาเปอร์เซียแปลว่า “ดินแดนแห่งชาวอารยัน” ในปี ๑๙๓๕ เมืองหลวงของอิหร่านคือกรุงเตหะราน เป็นเมืองใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง ประเทศอิหร่านเป็นประเทศที่มีอำนาจทางธุรกิจของโลกนั่นเป็นเพราะทรัพยากรน้ำมันและแก๊ซธรรมชาติ อิหร่านมีแก๊ซธรรมชาติมากเป็นอันดับสองของโลก และมีน้ำมันปิโตรเลี่ยมมากเป็นอันดับสี่ของโลก

อิหร่านหรือเปอร์เซียมีความรุ่งเรืองมาแต่โบราณ เป็นคลังแห่งมรดกทางวัฒนธรรม ศิลปะ และวิทยาการ ในสมัยโบราณอิหร่านปกครองโดยกษัตริย์ซึ่งอิหร่านเรียกว่า พระเจ้าซาร์ และเปิดประเทศสู่ตะวันตกอย่างเสรีใน จนกระทั่งภายหลังในช่วงศตวรรษที่ ๑๖ มีเหตุการณ์ที่นำพาอิหร่านไปสู่จุดหักเหอย่างสิ้นเชิง ด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เรียกว่า “ยุคปฏิวัติอิสลาม” ซึ่งผู้เขียนได้คัดลอกมาจากวิกี้พีเดีย ดังนี้

“ในปี ค.ศ. 1951 เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนอิหร่านกำลังตื่นตัวเรื่องชาตินิยม ในพฤษภาคมปีเดียวกันนั้นเอง ดร.มุฮัมหมัด มูซัดเดก ผู้นำคนหนึ่งในขบวนการชาตินิยมอิหร่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นนายมูซัดเดกได้ดำเนินการยึดบริษัทน้ำมันแองโกล-อิหร่านออยล์ซึ่งเป็นของอังกฤษเป็นของรัฐ] ทำให้ต่างชาติมีมาตรการตอบโต้บอยคอตน้ำมันอิหร่าน ในวันที่ 22 ตุลาคมปี เดียวกัน รัฐบาลอิหร่านได้ประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับอังกฤษ ขณะเดียวกันสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มปั่นป่วน และเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว และเกิดความวุ่นวายมากขึ้น

เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1953 ชาห์โมฮัมหมัดเรซา และราชินีได้เสด็จออกนอกประเทศ 3 วันหลังจากนั้นนายพลซาเฮดีประกาศตนเป็นนายกรัฐมนตรี และเข้าควบคุมอำนาจมูซัดเดก และคณะรัฐบาลของเขาถูกจับกุม ชาห์โมฮัมหมัดเรซาเสด็จฯ กลับอิหร่านและทำการแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีนโยบายนิยมตะวันตก อิหร่านได้ทำการเปิดสัมพันธไมตรีกับการทูตกับอังกฤษใหม่อีกครั้ง และมีการเจรจาตกลงกับบริษัทน้ำมันอังกฤษและสหรัฐอเมริกาและนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1955 เป็นต้นมา ชาห์โมฮัมหมัดเรซาได้เริ่มมีบทบาทในการบริหารประเทศมากขึ้น และพาประเทศเข้าสู่ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในปี ค.ศ. 1963 ชาห์ได้เริ่มโครงการสำคัญหลายอย่างเพื่อพัฒนาอิหร่านให้ก้าวหน้า อาทิเช่น การปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเลือกตั้ง การให้สิทธิแก่สตรี การตั้งหน่วยการศึกษา การจัดตั้งหน่วยอนามัย การพัฒนาการเกษตร การโอนป่าเป็นของรัฐเป็นต้น ซึ่งรัฐบาลอิหร่านเรียกโครงการเหล่านี้ว่า "การปฏิวัติขาว" เพราะเป็นการปฏิวัติที่ไม่เสียเลือดเนื้อ

การลงมติในสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการเลือกตั้งมาอย่างเสรี ความขัดแย้งเรื่องนี้รุนแรงเพิ่มขึ้น จนกระทั่งเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 1963 หลังปราศรัยโจมตีรัฐบาล ท่านโคมัยนีก็ถูกจับไปขังคุกที่กรุงเตหะราน ผลของการจับโคมัยนีทำให้ประชาชนโกรธแค้นมาก และพากันออกมาเดินขบวนเต็มไปหมดในถนนทุกสาย เหตุการณ์ต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยอายะตุลลอฮ์ โคมัยนี ลุกลามรุนแรงถึงขั้นนองเลือด จนกลายเป็นจุดหักมุมของประวัติศาสตร์อิหร่าน รัฐบาลตัดสินใจเนรเทศโคมัยนีออกนอกประเทศในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1964 โดยให้ไปอยู่ตุรกี และต่อมาย้ายไปอยู่เมืองนาจาฟในอิรัก รวมเป็นเวลาถึง 13 ปี โดยหวังว่าจะทำให้ความนิยมในตัวโคมัยนีจางหายไป

ความไม่พอใจของประชาชนเริ่มถึงจุดระเบิดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ. 1978 ซึ่งตรงกับเดือนรอมฎอน ได้เกิดเหตุไฟไหม้รุนแรงในโรงภาพยนตร์ที่เมืองอะบาดาน มีผู้เสียชีวิต 387 คน รัฐบาลได้ออกข่าวว่าพวกศาสนานิยมหัวรุนแรงเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ทว่าเมื่อตำรวจไม่สามารถหาผู้กระทำผิดได้ก็ทำให้ประชาชนเคียดแค้นรัฐบาล และเกิดการประท้วงตามเมืองต่างๆ ส่วนคู่ปรับของชาห์คืออายะตุลลอฮ์ โคมัยนี แม้จะถูกเนรเทศไปยังประเทศอิรัก 12 ปี และภายหลังถูกรัฐบาลอิรักขอร้องให้ออกไปนอกประเทศ โคมัยนีจึงได้อพยพไปอยู่ฝรั่งเศส แต่โคมัยนีก็ใช้การอัดเสียงใส่เทปคาสเซตได้ทำการอัดซ้ำและทำการเผยแพร่แก่ นักศึกษาประชาชน และลุกลามถึงนักศึกษาอิหร่านในต่างประเทศด้วย

หลังโศกอนาฏกรรมที่เมืองอะบาดาน ประชาชนในเตหะรานได้รวมกันประท้วงชาห์ เผาธงชาติ ถือป้ายข้อความ "แยงกี้ โกโฮม" "ชาห์ต้องลาออก" และ "โคมัยนีต้องปกครองอิหร่าน" มีสตรีแต่งกายด้วยชุดดำสวมคลุมศีรษะจำนวนมาเข้าร่วมขบวนด้วย ขบวนได้ประทะกับทหาร ทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บหลายคน หลังจากเหตุการณ์นี้ ก็เกิดเหตุการณ์ประท้วงระลอกแล้วระลอกเล่าตามหัวเมืองอื่น กรรมกรนับแสนคนนัดหยุดงาน พนักงานรัฐวิสาหกิจ บรรดาครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ต่างเข้าร่วมกันประท้วง การประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1978 ซึ่งเป็นวันรำลึกถึงการเสียชีวิตของอิหม่ามฮุเซน วันนั้นประชาชนนับล้านได้ออกมาชุมนุมกันบนท้องถนนและที่สาธารณะ มีการชูรูปโคมัยนี มีการตะโกนด่าทออเมริกา และเรียกร้องรัฐอิสลาม

การประท้วงใหญ่เกิดขึ้นอีกที่เมืองมาชาดมีการลุกฮือเผาบ้านของชาวอเมริกัน ตลอดจนกิจการต่างๆของชาวตะวันตก ทหารได้สกัดกั้นและทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายนับร้อย เหตุการณ์ลุกลามใหญ่โตจนรัฐบาลอเมริกา และยุโรปสั่งให้คนของตนออกจากอิหร่าน ความตึงเครียดที่กดดันทำให้ชาห์ทำตามคำแนะนำของอเมริกา โดยการเสด็จออกนอกประเทศพร้อมครอบครัว เมื่อวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1979 โดยที่รัฐบาลของนายชาห์ปูร์ บัคเตียร์ ได้ออกประกาศว่า พระองค์มิได้สละบัลลังก์แต่อย่างใด และแล้วในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ โคมัยนีพร้อมผู้ช่วยราว 500 คน และนักหนังสือพิมพ์อีก 150 คน ได้โดยสารเครื่องบินโบอิ้ง 747 ของสายการบินฝรั่งเศสกลับสู่อิหร่าน โดยมีประชาชนต้อนรับอย่างเนืองแน่น แม้ระยะแรกกองทัพบกประกาศว่าพร้อมหลั่งเลือดเพื่อค้ำบัลลังก์ชาห์ หรือหนุนรัฐบาลนายบัคเตียร์ ภายหลังกองทัพบกได้วางตัวเป็นกลางประชาชนฝ่ายโคมัยนีจึงได้เข้าควบคุมเตหะรานไว้ได้โดยบุกยึดที่ทำการรัฐบาล กระทรวงทบวงกรม ตึกรัฐสภา และสถานีตำรวจไว้ได้หมด

ต่อมารัฐบาลที่ได้รับการแต่งตั้งจากโคมัยนีก็เข้ารับหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศ และนำอิหร่านเข้าสู่การปกครองของรัฐอิสลามตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยมีผู้นำสูงสุดคือ อิหม่ามโคมัยนี เรียกว่า ฟากิฮ์ หรือ รอฮ์บัรร์ ถือเป็นผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณมีอำนาจครอบคลุมทั้งการเมืองและการปกครองทั้งหมด”

นั่นคือข้อความที่คัดมาจากวิกีพีเดีย ทีนี้มาพูดถึงสหรัฐกันบ้าง ในเวลานั้นสหรัฐมีผลประโยชน์ในทรัพยากรน้ำมันของอิหร่าน และสนับสนุนการปกครองโดยพระเจ้าซาร์ เมื่อการเมืองอิหร่านเปลี่ยนไปเป็นยุคปฏิวัติอิสลามนำโดยโคมัยนี ความสัมพันธ์ของอเมริกากับอิหร่านก็จัดอยู่ในขั้นเลวร้าย นักศึกษาหัวรุนแรงซึ่งมีความเกลียดชังสหรัฐ ก็พากันบุกเข้าไปในสถานฑูตอเมริกันในวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๑๙๗๙ และจับตัวประกันชาวอเมริกัน๖๖คนขังไว้ถึง ๔๔๔ วัน อย่างไรก็ตามก่อนที่นักศึกษาจะบุกเข้าสถานฑูต เจ้าหน้าที่สถานฑูต ๖ คนได้หนีรอดออกมาและหลบไปอยู่ภายใต้การดูแลของเอกอัครราชฑูตแคนาดา และสหรัฐได้ส่งเจ้าหน้าที่ซีไอเอ มาพาทั้งหกคนนี้หนีกลับอเมริกาได้ด้วยการปลอมพาสปอร์ตเป็นชาวแคนาดา นี่เองเป็นที่มาของภาพยนต์ตื่นเต้นที่ได้ออสการ์ภาพยนต์ยอดเยี่ยมในปีนี้

อย่างไรก็ตามภาพยนต์เรื่องนี้ได้รับการต่อต้านจากรัฐบาลอิหร่าน โดยรัฐบาลอิหร่านได้ออกมาตอบโต้ว่าภาพยนต์ได้นำเสนอภาพลักษณ์ของอิหร่านรุนแรงเกินไป และไม่เป็นธรรม และได้เรียกร้องให้ประเทศอิสลามบอยคอตภาพยนต์เรื่องนี้และประท้วงต่อสหรัฐอเมริกา

สิ่งที่น่าสนใจในประวัติศาสตร์ตอนนี้ยังมีต่อตรงที่ผู้นำอิรักคือนายซัดดัม ฮุสเซน ได้เล็งเห็นรอยร้าวที่ไม่อาจประสานติดได้ของสหรัฐและอิหร่าน จึงได้ฉวยโอกาสยื่นขอความช่วยเหลือทางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐในอันที่จะถือโอกาสโจมตีอิหร่านด้วยความหวังที่จะเข้ายึดครองแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่ามหาศาล กองทัพของอิหร่านนั้นเคยได้ชื่อว่าเป็นกองทัพที่เข้มแข็งที่สุดในโลก แต่เสื่อมลงในยุคปฏิวัติอิสลาม ฮุสเซนได้นำกองทัพเข้ารุกรานอิหร่านในปี ๑๙๘๐ และเกิดเป็นสงครามที่น่าสลดใจและมีการสูญเสียชีวิตอย่างมากมายเรียกว่าสงคราม อิรักอิหร่าน

สิ่งที่น่าอับอายที่สุดคือสหรัฐได้สนับสนุนอิรักและเอื้ออาวุธเคมีทำให้ผู้คนล้มตายบาดเจ็บและพิการอย่างน่าเวทนา แต่ด้วยกองทัพอันเข้มแข็งอิหร่านได้ผลักดันกองทัพอิรักออกไปจากดินแดนสำเร็จในปี ๑๙๘๒ และสงครามยังคงต่อเนื่องไปจนถึงปี ๑๙๘๘ สงครามครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตถึง ๑,๐๐๐,๐๐๐ คนและกว่าหนึ่งแสนคนพิการด้วยอาวุธเคมี หลังสงครามครั้งนั้นอิหร่านได้ฟื้นฟูประเทศจนเข้มแข็งมากขึ้นและเปิดประเทศสู่ตะวันตก มีการเพิ่มสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนและเปิดตลาดระหว่างประเทศ ปัจจุบันผู้นำสูงสุดของอิหร่านคือ อายะตุลลออ์อะลี คอเมเนอี และมีประธานาธิบดีคือนายมะห์มูด อะห์มะดีเนจาด

กลับมาพูดถึงเรื่องใกล้ตัวคือเรื่องของชาวอเมริกันอิราเนี่ยนซึ่งมีอยู่ประมาณสองล้านคนในอเมริกา นับเป็นประเทศที่ชาวอเมริกันอิราเนี่ยนอาศัยอยู่มากที่สุดนอกประเทศอิหร่าน คนเหล่านี้บางคนถือสองสัญชาติ บางคนเรียกตนเองว่าอเมริกันเปอร์เซี่ยน โดยปฏิเสธที่จะใช้คำว่าอิหร่าน คนเหล่านี้นับเป็นกลุ่มคนที่มีการศึกษาสูงที่สุดในอเมริกา และครอบคลุมระบบธุรกิจ การศึกษา วิทยาศาสตร์ ศิลปะและการบันเทิงใหญ่ๆในสหรัฐอเมริกา ชาวอิหร่านอพยพเข้ามาในสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่องในช่วงปี ๑๙๘๐ โดยเข้ามาเพราะมีความนิยมที่จะมาศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา แต่ภายหลังการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน ทำให้ประชาชนจำนวนมากที่นิยมระบบทุนนิยมและเสรีภาพได้อพยพเข้ามาในสหรัฐอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงปัจจุบันที่กลายเป็นประเทศที่เข้ามาแปลงสัญชาติเป็นอเมริกันมากเป็นอันดับสาม

ผู้เขียนได้รู้จักเพื่อนชาวอิราเนี่ยนหลายคน คนเหล่านี้เป็นคนมีความรู้สามารถพูดและใช้ภาษาได้อย่างน้อย ๔ ถึง ๖ ภาษาขึ้นไป ทำงานดีและมีฐานะดี คนเหล่านี้รูปร่างหน้าตาสวยแบบแขกขาว การได้รู้จักพื้นเพและความเป็นมาของชาวอิราเนี่ยนจะทำให้เราชาวไทยรู้จักเขาดีขึ้น และน่าจะทำให้การอยู่ร่วมกันมีความเอื้ออำนวยกันทางสังคมได้ดีครับ