ไลฟ์สไตล์
จอมพล
ปาท่องโก๋

ปาท่องโก๋คือของโปรดของผู้เขียน จะว่าไปเจ้าปาท่องโก๋นี้ไม่รู้ว่าจะจัดอยู่ในประเภทขนมหรืออาหารก็ไม่รู้แน่ชัด แต่เท่าที่รู้ก็คือผู้เขียนชอบปาท่องโก๋จิ้มนมข้น ตามด้วยน้ำเต้าหู้ร้อนๆ ตอนเช้าๆ ก็จะทำให้อิ่มอร่อยท้องไปจนเที่ยง หรือจะเอาปาท่องโก๋ใส่ในโจ๊กหมูที่ใส่ตับหมูกับไส้อ่อน โรยด้วยขิงและต้นหอมซอย กับปาท่องโก๋กรอบนอกนิ่มในก็เหมือนเอาสวรรค์มาชลออยู่ตรงหน้า ปาท่องโก๋ตัวเล็กๆทอดให้กร๊อบกรอบแล้วโรยบนเต้าฮวยร้อนๆในน้ำขิงก็แสนอร่อยล้ำ ผู้เขียนจึงชอบเสียเหลือเกิน เห็นไม่ได้เห็นเป็นต้องซื้อกินทันที

แต่ปาท่องโก๋เป็นอาหารขยะที่ไม่ให้คุณประโยชน์ทางโภชนาการแต่อย่างใด มีแต่แป้งคือคาร์โบรไฮเดรต หนำซ้ำยังทอดในน้ำมันที่ทอดแล้วทอดอีกทอดซ้ำซากจนกลายเป็นพิษ ผู้เขียนจึงต้องหักห้ามใจไม่ให้กินปาท่องโก๋ทุกวัน สมัยที่อยู่เมืองไทยถึงกับต้องเปลี่ยนเส้นทางไม่ให้ผ่านกระทะทอดปาท่องโก๋เพราะกลัวอดใจไม่ซื้อไม่ได้ ครั้นเมื่อมาอยู่อเมริกาก็อดกินปาท่องโก๋ไปโดยปริยายเพราะหาทานยาก และที่ทำอร่อยร้อนๆทอดใหม่ๆส่วนมากก็จะไม่มีขาย ถ้าอยากทานก็ต้องไปที่ร้านสยามซันเซ็ท ที่มีอาหารโปรดของผู้เขียนหลายอย่าง โจ๊กหมูเขาก็อร่อยล้ำ ยิ่งแนมด้วยปาท่องโก๋ด้วยแล้วชอบเสียเหลือเกิน แต่ปัญหาคือที่จอดรถ ส่วนมากจะอดกินเพราะหาที่จอดไม่ได้

บังเอิญวันที่เขียนต้นฉบับนี้เกิดอยากทานปาท่องโก๋ขึ้นมาจับใจ แถมยังเป็นเวลาค่ำคืน ก็เลยดั้นด้นไปยังไชนาทาวน์แอลเอ และไปนั่งทานโจ๊กปลา แนมด้วยปาท่องโก๋ ที่ร้านฟีนิกซ์อิน โจ๊กปลาแบบจีนที่ร้านนี้อร่อยขึ้นชื่อ ข้าวต้มจนเละกำลังพอดี ใส่เนื้อปลาขาวไม่สุกเกินไปและไม่มีกลิ่นคาวเลย ทานโจ๊กแบบคนจีนเขาไม่เสิร์ฟน้ำส้มหรือพริกป่นมาด้วย ก็เลยทานแบบจืดๆอย่างนั้น แต่ก็อร่อยไปอีกแบบ ปาท่องโก๋ของร้านฟีนิกซ์อินนี้ยาวกว่าปาท่องโก๋ไทย กรอบนอกนุ่มใน เรียกว่าสูสีกับปาท่องโก๋ไทยทีเดียว

เมื่อเป็นแฟนปาท่องโก๋ตัวจริง ผู้เขียนก็เกิดความสงสัยว่า ทำไมเจ้าปาท่องโก๋นี้จึงต้องทำสองชิ้นติดกัน จนมีคำกล่าวว่า “ติดกันเหมือนปาท่องโก๋” จึงทำให้ไปค้นคว้ามาและก็ได้ความมาดังตำนานปาท่องโก๋ดังต่อไปนี้

เรื่องราวของชาวจีนบางเรื่อง เมื่อไปอยู่ในดินแดนอื่น ๆ บางทีเกิดการเล่าขานปฏิบัติจนทำให้ผิดเพี้ยนไปจากของเดิมมากมายอย่างลี้ลับ

ที่เมืองไทยของเราก็มีเรื่องของชาวจีนบางอย่างที่ถูกเปลี่ยนแปลงจากเดิมจน กลับตาลปัตรอย่างเรื่องขนมอย่างหนึ่ง ซึ่งชาวจีนเรียก “โหยวจ้าข้วย”

สำเนียงแต้จิ๋วแบบไทย ๆ เป็น “อิ่วจาก้วย” เมืองไทยชอบเรียกปาท่องโก๋

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีคำสั่งการจากผู้มีอำนาจให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจต้องจับมือกันร่วมมือกันทำงานเหมือนกับปาท่องโก๋

ฟังแล้วรู้สึกตกใจเป็นล้นพ้นกับคำสั่งดังกล่าว เพราะปาท่องโก๋นั้นเป็นขนมอันมีที่มาจากเรื่องเลวร้ายสุด ๆ เรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน

ขออนุญาตย้อนอดีตไปถึงยุคราชวงศ์ซ่ง

อันเป็นยุคที่ชาวจีนเผ่าฮั่นต้องระทมขมขื่นกับการรุกรานของชาวต่างชาติหลายเผ่าพันธุ์จากนอกด่านกำแพงเมืองจีน

เผ่ากิม หรือชาวเกาหลีโบราณได้ขยายอำนาจเติบกล้าขึ้นถึงขั้นคุกคามความสงบของชาวฮั่น โดย ที่ราชสำนักชาวฮั่นยุคราชวงศ์ซ่งมีความอ่อนแอมากไม่สามารถปกป้องชาวจีนใน ปกครองให้ร่มเย็นเป็นสุข ปล่อยให้ถูกชาวนอกด่านกดขี่ข่มเหงตามใจชอบ

เยียะเฟย เกิดเมื่อ ค.ศ. 1105 ตรงกับปีแพะ เขาเติบโตขึ้นมาพร้อมกับเห็นความอยุติธรรมที่ชาวจีนต้องถูกชาวนอกด่านที่ด้อยพัฒนากว่าย่ำยีเป็นประจำ เขาจึงปฏิญานตนที่จะกอบกู้ศักดิ์ศรีของชาวฮั่นกลับคืนมาด้วยการคร่ำเคร่งร่ำเรียนพิชัยสงครามต่าง ๆ อย่างจริงจัง

มารดาของเยียะเฟยก็มีความรักชาติอย่างยิ่ง นางอบรมเยียะเฟยให้มีความกล้าหาญเสียสละเมื่อเยียะเฟยกราบขอพรจากนาง เพื่อไปรับราชการเป็นทหารรับใช้มาตุภูมิ นางได้ใช้เข็มสลักที่กลางแผ่นหลังของเยียะเฟยเป็นอักษร 4 ตัวว่า

จิงจงเป้ากว๋อ

เก่งกล้าภักดีพลีเพื่อประเทศชาติ

เยียะ เฟย ปฏิบัติตนตามคำสั่งที่มารดาสลักไว้กลางแผ่นหลัง ออกรบอย่างกล้าหาญเสียสละมีผลงานยอดเยี่ยมเลื่อนจากทหารชั้นผู้น้อยขึ้นเป็น แม่ทัพใหญ่

ในการต่อสู้กับกองทัพเผ่ากิมผู้รุกรานกองทัพของเยียะเฟยสร้าง ความพินาศแก่ศัตรูในทุกสมรภูมิรบผลักดันให้พวกกิมต้องถอยกลับไปทางภาคเหนือ

การทำดีแล้วเด่นมักเป็นภัย!

เยียะเฟย เด่นดังขึ้นมาอย่างนี้ ย่อมมีคนที่เกลียดขี้หน้าไม่น้อย ยุคนั้นมีจอมกังฉินชื่อ “ฉินข้วย” ใช้ความสอพลอก้าวขึ้นถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีพวกหัวหน้าเผ่ากิมนอกด่านช่วยสนับสนุนอย่างลับ ๆ ให้ฉินข้วยช่วยขายชาติ

ฉินข้วยรับสินบนจากต่างชาติ ก็หาทางใส่ร้ายเยียะเฟยว่ามีความทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูงชอบนำกองทัพออกทำศึกไม่ฟังคำสั่งจากราชสำนัก มันจึงเพ็จทูลให้ฮ่องเต้ปัญญาอ่อนเรียกตัวเยียะเฟยกลับจากสมรภูมิแนวหน้าอย่างกระทันหัน

เยียะเฟยมีความจงรักภักดีต่อฮ่องเต้อย่างยิ่ง เมื่อถูกเรียกตัวกลับก็รีบกลับมาทันที พอมาถึงก็ถูกจอมกังฉินจับไปขังคุกและถูกลอบสังหารถึงแก่อสัญกรรมในคุกมืดนัั้นเอง

ข่าวที่เยียะเฟยถูกจอมกังฉินทำร้ายเสียชีวิตล่วงรู้ไปถึงประชาชน ต่างพากันโกรธแค้นอย่างยิ่งแต่ไม่สามารถทำอะไรจอมกังฉินได้เพราะมันยิ่งใหญ่เป็นถึงนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเหนือราชสำนักซ่งที่อ่อนแอมาก

สมัยนั้น ชาวจีนนิยมรับประทานขนมอย่างหนึ่งซึ่งทำด้วยแป้งเอามาทอดน้ำมัน ได้มีประชาชนบางคนเอาแป้ง 2 ชิ้นมาบีบติดกันสมมติเป็นจอมกังฉินกับเมียของมัน นำไปทอดกินเพื่อระบายความแค้น

คนอื่น ๆ เห็นแล้วพลอยรู้สึกเกิดอารมณ์ร่วมจึงพากันทอดขนมแป้ง 2 ชิ้นอย่างนี้กินกันแพร่หลายเรียกว่า “โหยวจ้าข้วย” หมายถึงน้ำมันทอดฉินข้วย

นอกจากกินขนมกังฉินสองผัวเมียแล้ว ต่อมายังมีการสร้างศาลสักการะยกย่องให้เยียะเฟยเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์จงรักภักดี ยัง มีคนที่เคียดแค้นชิงชังฉินข้วยกับเมียของมันไม่หายได้สร้างรูปโลหะของ 2 ผัวเมียและบริวารของมันอีก 2 คน รวมเป็นรูปโลหะ 4 ตัวในท่าคุกเข่าอยู่ตรงหน้ารูปโลหะของเทพเจ้าเยียะเฟยด้วย

ผู้คนที่มากราบไหว้บูชาเทพเจ้าเยียะเฟยเสร็จแล้ว มักจะถ่มน้ำลายหรือเอาของโสโครกสาดใส่รูปโลหะของพวกกังฉินเหล่านั้นเพื่อแสดงความเกลียดชังพวกกังฉินที่ร่วมกันขายชาติให้ชาวต่างชาติ

การกินปาท่องโก๋จึงเป็นเรื่องของการเกลียดชังพวกคนชั่ว ต้องการเคี้ยวกินให้หายแค้น เมืองไทยเรากลับเข้าใจผิดนึกว่า ปาท่องโก๋ หมายถึง ความรู้รักสามัคคีร่วมมือกัน เวลางานแต่งงาน บางทีก็ใช้ปาท่องโก๋เป็นสัญญลักษณ์ของความรักไปเสียฉิบ เอาเถิดปาท่องโก๋จะมีที่มาอย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็จัดปาท่องโก๋เป็นอาหารโปรด ถึงแม้จะไม่ได้กินบ่อยๆ ปีละหนสองหนเคี้ยวให้เต็มเหงือกก็พอใจแล้ว