ไลฟ์สไตล์
จอมพล
กรดไหลย้อน

พักหลังนี้ ไปไหนมาไหนก็จะเจอคนที่มีปัญหาเดียวกันก็คือมีอาการจุกเสียดแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย และที่สำคัญมีอาการแสบหน้าอก จากการที่กรดในกระเพาะไหลย้อนขึ้นมา บางคนเป็นมากถึงกับอาเจียนก็มี

การมีปัญหาเรื่องระบบทางเดินอาหารนี้ เป็นอาการบั่นทอนความสุขของผู้ที่ป่วยเป็นอย่างมาก เพราะรับประทานอาหารแล้วไม่มีความสุข หิวแต่เมื่อกินแล้วอาหารกลับไม่ย่อย แถมยังผะอืดผะอมเป็นเวลานาน

เมื่อท่านผู้อ่านได้พบกับผู้เขียนซึ่งมักจะเขียนเรื่องของสุขภาพอยู่บ่อยๆก็มักจะถามให้เขียนเรื่องกรดไหลย้อนบ้าง ผู้เขียนก็ได้แต่ไปค้นคว้ามาลงให้ได้อ่านกัน

บทความต่อไปนี้คัดมาจากเวปไซด์ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร. สุจิตรา ทองประดิษฐ์โชติ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีใจความดังต่อไปนี้

ปัจจุบันนี้ที่แผนกอายุรศาสตร์ของโรงพยาบาลต่าง ๆ มีผู้ป่วยเป็น “เกิร์ด”(GERD) หรือ โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease)จำนวน มาก ซึ่งหลายคนยังมีความสงสัยและไม่เข้าใจว่า โรคกรดไหลย้อนนั้น หมายถึงอะไร เกิดได้อย่างไร มีอันตรายต่อร่างกายมากน้อยเพียงใด และการดูแลรักษารวมทั้งการปฏิบัติตนควรทำอย่างไร บทความนี้เขียนเพื่อตอบคำถามต่าง ๆดังกล่าว เพื่อให้ผู้อ่านรักษาตนให้หลุดพ้นความทุกข์ทรมานจากโรคกรดไหลย้อน

“เกิร์ด”หรือ โรคกรดไหลย้อน หมายถึงอะไร ?

โรคกรดไหลย้อน หมาย ถึง ภาวะที่มีน้ำย่อยในกระเพาะอาหารซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด ไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ส่งผลให้มีอาการระคายบริเวณลำคอ และแสบอกหรือจุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ รวมทั้งมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อร่วมด้วย คล้าย ๆ กับอาการของโรคกระเพาะอาหาร ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร และไปซื้อยาลดกรด (antacids) ที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดมารับประทานเพื่อบรรเทาอาการอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งเป็นการรักษาที่ไม่ตรงจุด จึงพบว่ามีผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยโรคกรดไหลย้อนเพิ่มสูงขึ้น

โรคกรดไหลย้อนมีสาเหตุมาจากอะไร?

ใน ภาวะปกติ ร่างกายมีกลไกการป้องกันการไหลย้อนของน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารขึ้นไปในหลอด อาหาร โดยการทำงานของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง (Lower esophageal sphincter, LES) ซึ่งหูรูดนี้จะคลายตัวขณะที่มีการกลืนอาหาร เพื่อให้อาหารผ่านลงสู่กระเพาะอาหาร และหดตัวปิดทันทีเพื่อไม่ให้อาหารและกรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปใน หลอดอาหาร เมื่อประสิทธิภาพในการทำงานของกลไกการควบคุมนี้เสื่อมลงหรือบกพร่อง จึงเกิดโรคกรดไหลย้อน ซึ่งอาจเกิดเป็นครั้งคราว เป็นพัก ๆ หรือเกิดตลอดเวลา

• สาเหตุ หลักของโรคนี้เกี่ยวข้องกับความผิดปกติในการทำหน้าที่ของหูรูดหลอดอาหารส่วน ล่าง เช่น มีการคลายตัวของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างโดยที่ไม่มีการกลืน หรือความดันของหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างลดลง ไม่สามารถต้านแรงดันในช่องท้องและการบีบตัวของกระเพาะอาหารได้

ส่วน สาเหตุที่ทำให้หูรูดดังกล่าวทำงานผิดปกติยังไม่ทราบแน่ชัด โรคนี้พบได้บ่อยในบุคคลทุกเพศทุกวัย หูรูดอาจเสื่อมตามอายุ หูรูดยังเจริญไม่เต็มที่ในเด็กทารก หรืออาจมีความผิดปกติที่เป็นมาแต่กำเนิด นอกจากนี้อาจพบในสตรีมีครรภ์ด้วยเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนใน ร่างกายมีผลต่อการทำงานของหูรูดหลอดอาหาร

• พบ ว่าโรคนี้มีความสัมพันธ์กับความอ้วน โรคเบาหวาน และโรคไส้เลื่อนกะบังลม (hiatal hernia)ซึ่งมีกระเพาะอาหารบางส่วนไหลเลื่อนเข้าไปอยู่ในช่องอก ทำให้มีโอกาสเกิดการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารเพิ่มมากขึ้น

• ปัจจัย อื่น ๆที่ส่งเสริมให้เกิดโรคกรดไหลย้อน อาทิ พฤติกรรมการบริโภค และการปฏิบัติตน ได้แก่ การรับประทานอาหารอาหารรสจัด/รสเผ็ด อาหารประเภทไขมันสูง อาหารทอด ชา กาแฟ น้ำอัดลม การดื่มสุรา สูบบุหรี่ การนอนหรือเอนกายทันทีหลังรับประทานอาหาร ความเครียด ตลอดจนการสวมเสื้อผ้าคับและรัดเข็มขัดแน่น เป็นต้น

นอก จากนี้ การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขยายหลอดลม ยาลดความดันกลุ่มปิดกั้นเบตาและกลุ่มต้านแคลเซียม ยาต้านคอลิเนอร์จิก ตลอดจนฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เป็นต้น จะมีผลกระตุ้นการคลายตัวของหูรูดหรือมีการหลั่งกรดมากขึ้น

อาการของโรคกรดไหลย้อน

• มีอาการแสบอกหรือจุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ คล้ายอาหารไม่ย่อย เรอบ่อย และอาจมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย

• บางรายพบว่ามีภาวะเรอเปรี้ยว คือมีกรดซึ่งเป็นน้ำรสเปรี้ยวหรือน้ำดีซึ่งมีรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปากหรือคอ หรือหายใจมีกลิ่น

• บาง รายอาจพบอาการผิดปกติของโรคหู คอ จมูก เช่น ไอเรื้อรัง เสียงแหบเรื้อรัง หรืออาการหอบหืดเป็นมากขึ้น เป็นต้นเนื่องจากมีการไหลย้อนของน้ำย่อยไประคายที่คอหอย กล่องเสียง และหลอดลม

การรักษาโรคกรดไหลย้อน ทำอย่างไร ?

(1) การรักษาที่สำคัญอยู่ที่ผู้ป่วยเอง คือควรปฏิบัติตน ดังนี้

-พฤติกรรมการบริโภค

• ไม่ควรรับประทานอาหารแต่ละมื้อในปริมาณมากเกินไป ควรรับประทานบ่อยครั้งๆละน้อย

• หลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด อาหารไขมันสูง อาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด/เผ็ดจัด

• หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม

• หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา และการสูบบุหรี่

-พฤติกรรมการดำเนินชีวิต

• ไม่ควรนอนหรือเอนกายทันทีหลังจากรับประทานอาหาร ควรเว้นอย่างน้อย 3ชั่วโมง

• รักษาน้ำหนักตัวให้พอเหมาะ ไม่อ้วนเกินไป

• ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

• พักผ่อนพอเพียงและรักษาตนไม่ให้เครียด

• สวมใส่เสื้อผ้าหลวมสบายตัว ไม่รัดเข็มขัดแน่น

(2) การรักษาด้วยยา

กรณีที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องใช้ยาร่วมด้วย ควรรับประทานยาตามกำหนดอย่างเคร่งครัด และถ้ามีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

• ปัจจุบัน ยาที่ได้ผลดีที่สุด คือ ยาลดกรดในกลุ่มยับยั้งโปรตอนปั๊ม (Proton pump inhibitors) เช่น โอเมพราโซล (omeprazole)ขนาด 20 มิลลิกรัม วันละ 1-2 ครั้ง ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงมากในการป้องกันอาการของโรคกรดไหลย้อน โดยให้รับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลา 6 - 8สัปดาห์ หรืออาจต้องใช้ยาเป็นระยะเวลานานหลายเดือนขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย เช่นกรณีที่เป็นมากหรือมีอาการมานาน ซึ่งอาจจะมีการปรับการรับประทานยาเป็นระยะ ๆ ตามอาการที่มี หรือรับประทานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน

• บาง กรณีอาจใช้ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น เมโทโคลพราไมด์ (metoclo-pramide) ขนาด 10 มิลลิกรัม 1 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง ซึ่งยานี้ควรรับประทานก่อนอาหารประมาณ 30 นาที

(3) การรักษาโดยการผ่าตัด

ในรายที่ใช้ยาไม่ได้ผลหรือมีภาวะแทรกซ้อน อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมแซมหูรูด

ภาวะแทรกซ้อนของโรคกรดไหลย้อน เป็นอย่างไร?

แม้ ว่าโรคกรดไหลย้อน ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่เป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมาน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนั้นกรณีที่ท่านมีอาการของโรคนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคต่อไป โปรดให้ความสนใจเพราะถ้าละเลยไม่ยอมรักษา เมื่อเป็นเรื้อรัง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้แก่

• หลอดอาหารอักเสบ ซึ่งจะมีอาการเจ็บหน้าอกขณะกลืนอาหาร

• แผลหลอดอาหาร อาจมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหารส่วนบน เช่น อาเจียนเป็นเลือด หรือมีถ่ายดำ

• หลอดอาหารตีบตัน พบว่ามีอาการกลืนอาหารลำบาก อาเจียนบ่อย

• เกิด การเปลี่ยนแปลงเซลล์ของเยื่อบุหลอดอาหาร ถ้าเป็นรุนแรงอาจเกิดมะเร็งของหลอดอาหาร ซึ่งจะมีอาการเจ็บขณะกลืนอาหาร กลืนลำบาก อาเจียนบ่อย และน้ำหนักลด

ทั้งหมดนี้เป็นบทความของคุณหมอ อย่างไรก็ตามผู้เขียนได้เพิ่มภาคผนวกสำหรับผู้ที่ต้องการรักษาด้วยแพทย์ทางเลือก คือการใช้สมุนไพรไทยต่อไปนี้คือ

สมุนไพรที่แก้อาการกรดไหลย้อนมาฝาก สมุนไพรตัวแรกที่ขอแนะนำก็คือ “ยอ” มีรสร้อน นิยมนำมาเป็นทั้งอาหารและยา ในการบำรุงเลือดลม แก้ปวด แก้ปวดเมื่อย แก้หวัด ช่วยย่อยอาหาร บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ รักษาอาการลมพัดขึ้น เช่น คลื่นไส้อาเจียน ไอ เรอ ซึ่งฤทธิ์รักษาอาการลมพัดขึ้นนั้นใกล้เคียงกับอาการกรดไหลย้อนเป็นอย่างยิ่ง

ปัจจุบัน ได้มีงานวิจัยสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว อาทิ การศึกษาวิจัยในหนู พบว่า “ยอ” ซึ่งมีสารสำคัญ คือ สโคโปเลติน (scopoletin) เป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยนั้น สามารถลดการอักเสบของหลอดอาหารจากการไหลย้อนของกรดได้ผลดี พอๆ กับยามาตรฐานที่ใช้ในการรักษากรดไหลย้อน คือ รานิติดีน (ranitidine) และแลนโสพราโซล (lansoprazole) เนื่องจากมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านการหลั่งของกรด ต้านการเกิดแผล และทำให้การบีบตัวของระบบทางเดินอาหารดีขึ้น โดยมีผลต่อระบบประสาทที่เกี่ยวข้องโดยตรง และยังมีรายงานว่าสามารถเพิ่มการดูดซึมของรานิติดีน “ยอ” จึงเหมาะในการเป็นสมุนไพรสำหรับรักษาอาการกรดไหลย้อนเป็นอย่างยิ่ง ทั้งจากการศึกษาวิจัยข้างต้น และการที่ “ยอ” มีรสร้อน ช่วยย่อยอาหาร ทำให้อาหารไม่ตกค้าง ไม่เกิดลมในกระเพาะอาหาร ลดการเกิดแรงดันที่ทำให้กรดไหลย้อน “ยอ” ยังช่วยให้กระเพาะบีบเคลื่อนตัวได้ดีขึ้น ทำให้อาหารเคลื่อนจากกระเพาะไปสู่ลำไส้เล็กได้ดีขึ้น

สมุนไพรที่อาจ ใช้ร่วมกัน คือ ขมิ้นชัน เนื่องจากขมิ้นชันมีสรรพคุณในการรักษาอาการท้องอืด และช่วยขับน้ำดีเพื่อย่อยไขมัน ทำให้อาหารไม่ตกค้างในกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กนานเกินไป ทั้งช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย

มีผู้แนะนำให้กินขมิ้นชันก่อนอาหาร 1-2 ชั่วโมง เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ขนาดรับประทานคือ ครั้งละ 1 ช้อนชาสำหรับแบบผง หรือ 3 เม็ดๆ ละ 500 มก.

นอกจากนี้ยังมีผู้แนะนำให้ดื่มน้ำกะเพรา 1-2 แก้วๆ ละ 250 มล.หลังอาหาร 15-30 นาทีประโยชน์ของขมิ้นชันและน้ำกะเพรา จะช่วยเร่งการย่อยอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทแป้ง และน้ำตาล ช่วยขับลม ลดกรด ลดอาการแน่นท้อง และช่วยบรรเทาอาการอักเสบของกระเพาะอาหารและลำไส้ได้อีกด้วย

น้ำขิง ให้สังเกตว่าจะดื่มแบบเย็นหรือร้อนดี เช่น ถ้าดื่มแบบร้อนแล้วรู้สึกท้องอืดไม่สบาย ก็ให้แก้เป็นดื่มแบบเย็น(วิธีการนี้ใช้สำหรับน้ำกะเพราด้วย)

ว่านหางจระเข้เฉพาะส่วนที่เป็นวุ้น แช่ค้างคืนให้เมือกใสๆ ออกให้หมดแล้วนำมากิน เพื่อช่วยเคลือบกระเพาะ

ใบเตยสดประมาณ 9 ใบ กับใบสดของว่านกาบหอยแครง 9 ใบ ต้มกับน้ำรวมกัน 2 ลิตร จนเดือดเคี่ยวไฟอ่อน 1 ชม. ตักครึ่งแก้วใส่น้ำผึ้ง 1 ช้อนชา น้ำมะนาว 1 ช้อนชา และเกลือป่นเล็กน้อย กินต่างน้ำ วันละ 2-3 ครั้ง 4-5 วัน ดื่มต่อเนื่อง 3-6 เดือน

นอกจากนี้ยังมีกระเจี๊ยบเขียว รักษาโรคกระเพาะ เยื่อบุกระเพาะและลำไส้อักเสบ บรรเทาอาการท้องผูก ช่วยกำจัดสารพิษออกจากลำไส้ มะละกอ ช่วยย่อยอาหาร ช่วยในเรื่องขับถ่าย มะขามป้อม ช่วยขับพยาธิ ธาตุพิการ

ท่านผู้อ่านที่สนใจ จะลองรักษาด้วยวิธีแบบแพทย์ทางเลือกก็ได้ เพียงแต่ว่าต้องปรึกษาคุณหมอ และให้คุณหมอดูอาการอย่างใกล้ชิด คุณหมอสมัยใหม่ท่านไม่ค่อยเชื่อเรื่องสมุนไพร ท่านคงให้รับประทานยาแผนปัจจุบันควบคู่ไปด้วย ฉะนั้นต้องระมัดระวังให้ดี การรักษาด้วยสมุนไพรอาจจะทำให้ละเลยการรักษาแบบแผนปัจจุบัน และบางทีมีผลเสียกว่าผลได้ ต้องพิจารณาให้ดีนะครับ