ไลฟ์สไตล์
จอมพล
รองช้ำ

“ก่อนอ่านบทความนี้ขอให้ท่านผู้อ่านได้อ่านจนจบ เพราะผู้เขียนได้นำคำแนะนำทางการแพทย์มาลงแต่มีบางส่วนที่ผู้เขียนไม่เห็นด้วย และอธิบายไว้อย่างชัดเจนตอนจบ ฉะนั้นต้องอ่านให้ละเอียด ให้เข้าใจว่าผู้เขียนแนะนำให้ปฏิบัติอย่างไร อย่าอ่านผ่านๆจะนำข้อผิดๆไปปฏิบัติแล้วจะเจ็บมากขึ้น”

ด้วยความที่ทำงานทางด้านกายภาพบำบัด จึงมีคนมาปรึกษาอาการเจ็บป่วยทั้งๆที่ไม่ได้เป็นหมออยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะบรรดาอาการปวดเมื่อย ยกแขนยกขาไม่ขึ้น คำถามที่ผู้เขียนเจอบ่อยๆนั่นก็คือ ผู้ที่เป็น “รองช้ำ” มักจะมาถามอยู่เสมอว่าเป็นได้ยังไง ทำไมถึงเป็น แล้วเป็นแล้วจะรักษาอย่างไร

ผู้เขียนเองเรียนมาเป็นภาษาอังกฤษจึงไม่แน่ใจว่ารองช้ำที่ว่านี้คือโรคอะไร ทำให้ต้องไปค้นคว้ามาจากอินเตอร์เน็ต ได้ความตามที่ยกมาทั้งท่อนดังนี้


เส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ ( รองช้ำ )

อาการปวดบริเวณส้นเท้า อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ เส้นประสาทถูกกดทับที่ข้อเท้า กระดูกงอกที่ฝ่าเท้าหรือที่เส้นเอ็นร้อยหวาย กระดูกเท้าบิดผิดรูป โรครูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ หรือ กระดูกหัก เป็นต้น

สาเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริงยังไม่ทราบ แต่ เชื่อว่าเป็นเพราะความเสื่อมบริเวณที่เส้นเอ็นฝ่าเท้าเกาะกับกระดูก

พบมาก ในผู้หญิงวัยกลางคน ยืนหรือเดินนาน ๆ น้ำหนักตัวมาก ใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม หรือ เท้าแบน เท้าบิด

อาการที่พบได้บ่อย คือ หลังจากนอนหรือนั่งสักพักหนึ่ง เมื่อเริ่มเดินลงน้ำหนักจะรู้สึกปวดส้นเท้ามาก แต่ หลังจากที่เดินไปได้สักพัก อาการปวดก็จะทุเลาลง แต่ถ้าเดินนาน ๆ ก็อาจปวดมากขึ้นอีกได้ มักจะปวดมากในช่วงตื่นนอนตอนเช้า และจะดีขึ้นในช่วงตอนสาย หรือ ตอนบ่าย ถ้ากระดกข้อเท้าขึ้นหรือกดที่ส้นเท้า จะปวดมากขึ้น

ผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 30-70 ถ้าถ่ายภาพรังสีของเท้า จะพบว่ามีกระดูกงอกที่ใต้ฝ่าเท้าได้ ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะพบกระดูกงอกจากภาพรังสี แต่ก็อาจจะไม่เกี่ยวกับอาการปวดส้นเท้า จึงไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพรังสีทุกคน

โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยเส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ รักษาให้หายขาดได้ ด้วยวิธีรักษาแบบไม่ผ่าตัด แต่อาจจะต้องใช้เวลารักษานานหลายเดือน อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ถ้ารักษาไปแล้ว 6 - 9 เดือน ก็ยังไม่ดีขึ้น อาจจะต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด


แนวทางการรักษาด้วยตนเอง

1. ลดกิจกรรมที่ทำให้ปวด หรือ กิจกรรมที่ต้องลงน้ำหนัก เช่น การยืนหรือ เดินนาน ๆ เป็นต้น และควรออกกำลังที่ไม่ต้องมีการลงน้ำหนักที่ฝ่าเท้ามากนัก เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ๆ เป็นต้น

2. บริหารเพื่อยืดกล้ามเนื้อน่อง และ เส้นเอ็นฝ่าเท้า

3. หลีกเลี่ยงการเดินด้วยเท้าเปล่า และ ใส่รองเท้าที่เหมาะสม ขนาดพอดีไม่หลวมเกินไป มีพื้นรองเท้าที่นุ่ม และมีแผ่นรองรับอุ้งเท้าให้นูนขึ้น อาจใช้แผ่นนุ่มๆ รองที่ส้นเท้า (หนา ½ นิ้ว) ใส่รองเท้าส้นสูงประมาณ 1 – 1.5 นิ้ว หรือ ใช้แผ่นยางสำหรับรองส้นเท้าโดยเฉพาะ เช่น Hell cups , Tuli cups เป็นต้น

4. ประคบด้วยความร้อนหรือความเย็น หรือใช้ยานวด นวดฝ่าเท้า หรือ ใช้ผ้าพันที่ฝ่าเท้าและส้นเท้า

5. ลดน้ำหนัก เพราะถ้าน้ำหนักมาก เส้นเอ็นฝ่าเท้าก็ต้องรับน้ำหนักมาก ทำให้ผลการรักษาไม่ดี และ หายช้า


แนวทางการรักษาโดยแพทย์

1. รับประทานยา เช่น ยาแก้ปวดลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาคลายกล้ามเนื้อ

2. ฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ บริเวณส้นเท้าจุดที่ปวด แต่ไม่ควรฉีดเกิน 2 ครั้งใน 1 เดือน เพราะอาจทำให้เกิดเส้นเอ็นฝ่าเท้าเปื่อยและขาดได้ ก่อนจะฉีดต้องทำความสะอาดที่ผิวหนังอย่างดี เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

ขณะฉีดยาสเตียรอยด์จะรู้สึกปวดแล้วก็จะชา แต่หลังจากยาชาหมดฤทธิ์ ( ประมาณ 1-2 ชั่วโมง ) ก็อาจเกิดอาการปวดซ้ำอีกครั้ง จึงควรรับประทานยา หรือ ประคบด้วยน้ำอุ่น กันไว้ก่อน

3. ทำกายภาพบำบัด เช่น ใช้ความร้อนลึก (อัลตร้าซาวด์) ดัดยืดเส้นเอ็นฝ่าเท้า ใช้ไม้เท้าช่วยเดิน เป็นต้น

4. ใส่เฝือกชั่วคราวให้ข้อเท้ากระดกขึ้น ในตอนกลางคืน หรือ ถ้าเป็นมาก อาจต้องใส่เฝือกตลอดทั้งวัน

5. การผ่าตัด จะทำก็ต่อเมื่อรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล คือ อาการปวดไม่ดีขึ้นหลังรับการรักษาอย่างเต็มที่ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 6 - 9 เดือน หรือ สาเหตุการปวดเกิดจากเส้นประสาทบริเวณฝ่าเท้าถูกกดทับ


หลังจากที่ได้อ่านแล้วก็เห็นว่า มีส่วนที่ถูกต้อง และไม่ถูกต้องเสียทีเดียวโดยเฉพาะเรื่องการประคบร้อน ผู้เขียนใคร่จะแนะนำเพิ่มเติมดังนี้

ในภาษาลาตินซึ่งใช้กันในศัพท์ทางการแพทย์ เรียกอาการเส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบว่า Plantar Fasciitis ถ้าท่านผู้อ่านจะสังเกตดูจากรูปกระดูกเท้าที่ผู้เขียนนำมาลงท่านจะเห็นว่า กระดูกนิ้วเท้ากับกระดูกส้นเท้านั้นเชื่อมยึดต่อกันด้วยเส้นเอ็นใหญ่ ถ้านั่งลงแล้วเอามือลูบดูจะรู้สึกได้ว่าตึงๆอยู่ถัดจากฐานกระดูกของนิ้วโป้งไป โดยเฉพาะบริเวณกลางฝ่าเท้าจะรู้สึกได้ง่าย คำว่า Plantar แปลว่าฝ่าเท้า ส่วน Fascia อ่านว่า “ฟาช่า” ไม่ได้อ่านว่า แฟสเซีย นั้นคือพังผืด ฉะนั้นตัวเส้นเอ็นนั้นมีพังผืดแผ่อยู่โดยรอบ พังผืดที่ว่านี้จะทำหน้าที่คอยดึงกระดูกเท้าให้เชื่อมต่อกันเพื่อรับแรงกระแทก โดยที่เชื่อมต่ออีกทีกับเอ็นร้อยหวาย ( Achilles Tendon) โดยที่เอ็นร้อยหวายนี้เชื่อมต่อกับกล้ามเนื้อที่มีชื่อว่า Gastrocnemius ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อน่อง เจ้าตัวที่ชอบเป็นตะคริวนั่นแหละ

กล้ามเนื้อนี้จะใช้มากเวลายืนเขย่ง อย่างสาวเจ้าที่ชอบใส่ส้นสูงนั้นจะใช้กล้ามเนื้อตัวนี้มาก เมื่อกล้ามเนื้อใช้งานมากก็จะตึงมากเมื่อตึงมากก็จะพาลดึงเส้นเอ็นร้อยหวายให้ตึงขึ้น เมื่อเส้นเอ็นร้อยหวายตึงก็จะพาลดึงพังผืดที่เท้าให้ตึง เมื่อตึงมากๆไม่มีโอกาสหย่อนคลาย มันจึงเริ่มอักเสบแดงและเจ็บปวด เวลาลงน้ำหนักที่เท้าจึงเจ็บ ฉะนั้นผู้ที่ใช้งานเท้าบ่อยๆ อย่างพวกนักวิ่งมาราธอน นักฟุตบอล ตีเทนนิส พวกที่ชอบเดินไฮ้กิ้งขึ้นเขาบนทางที่ไม่เรียบ คนงานที่ยืนทั้งวัน อย่างคนทำงานครัว หรือพวกที่ใส่รองเท้าที่ไม่ช่วยประคองเท้าไม่มีที่ช่วยรองเท้า คนเหล่านี้ก็จะประสบปัญหาเดียวกัน คือเส้นเอ็นและพังผืดฝ่าเท้าอักเสบ ไม่สามารถยืนเดินได้เป็นที่ทรมานยิ่งนัก

การวินิจฉัยว่าเป็นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบหรือไม่นั้นง่ายมาก ผู้เขียนมักจะถามผู้ป่วยทันทีว่า เวลาก้าวลงจากเตียงตอนเช้าเจ็บมากใช่ไหม ถ้าใช่ก็แน่นอน เมื่อเร็วๆนี้ได้อ่านเรื่องที่มีคนแนะนำการแก้ไขอาการรองช้ำนี้ทางเฟสบุ๊คดังนี้

“นอกจากนี้ยังมีอีกวิธีคือ การใช้ความร้อนมาช่วยบำบัดโรคดังกล่าว เพียงคุณนำ หัวผักกาด (หัวไช้เท้า) ไปเผาไฟให้อุ่นจัดค่อนไปทางร้อน วางลงบนพื้นแล้วใช้เท้าคลึง หัวผักกาด เผาไปมา วิธีนี้นอกจากช่วยคลายเส้นเอ็นที่แข็งเกร็งแล้ว ยังช่วยนวดเท้าและส้นเท้าของคุณให้รู้สึกสบายขึ้นอีกด้วย

“ หัวผักกาด นั้นชุ่มน้ำเมื่อนำไปย่างไฟจึงเก็บความร้อนได้ดี และให้ความร้อนขณะคลึงเท้าได้นาน”

ผู้เขียนนั้นไม่เห็นด้วยกับการประคบร้อน ซึ่งมักจะทำให้รู้สึกสบายเท้ามากขึ้นในช่วงที่ประคบเพราะเส้นเอ็นจะหย่อนลงและกล้ามเนื้อจะผ่อนคลาย แต่สิ่งที่เสียคือจะมีเลือดหมุนเวียนมาบริเวณนั้นมากขึ้น การที่เลือดไหลมาบริเวณที่ประคบร้อนนั้นก็เป็นเพราะเมื่อเส้นเลือดเจอความร้อนจะขยายตัว (Vasodialation) เมื่อขยายตัวเลือดก็มามากและไหลออกมาสะสมที่ Connective Tissue จึงทำให้อาการอักเสบบวมเพิ่มขึ้นหลังจากประคบร้อนแล้ว จะเกิดความทรมานมากกว่าเดิม และทำให้เกิดอาการอักเสบและหายช้าลง

วิธีที่ถูกต้องคือการประคบเย็น การประคบเย็นจะทำให้เส้นเลือดหดตัวลง เลือดจะไหลออกจากบริเวณนั้น (Vasoconstriction) ทำให้การอักเสบลดลง อย่างไรก็ตามเมื่อประคบไปเป็นเวลานานเลือดจะถูกส่งมายังบริเวณนั้นอีกหลังจากประคบเย็นไป ๓ ถึง ๕ นาที แต่เลือดที่ส่งมานี้จะเป็นเลือดใหม่มีออกซิเจนและสารอาหารที่จะช่วยให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นซ่อมแซมส่วนที่ฉีกขาดหรือสึกหรอได้ง่ายกว่า การใช้ประคบเย็นจึงได้ผลที่ดีกว่า

ผู้เขียนมักจะแนะนำให้ผู้ป่วยนำขวดน้ำพลาสติก หรือน้ำกระป๋อง นำไปแช่ช่องฟรีซเซอร์เพื่อให้เป็นน้ำแข็ง จากนั้นตอนเช้าและก่อนนอน ให้เอาขวดหรือกระป๋องวางนอนกับพื้นแล้วใช้เท้าเหยียบเบาๆในขณะที่นั่งอยู่ แล้วหมุนขวดด้วยฝ่าเท้าไปมาจนเท้าเย็นเจี๊ยบทนไม่ไหว ก็ให้หยุดสัก ๕ นาทีแล้วทำใหม่อีก ทำเช่นนี้ประมาณ ๓ ครั้ง อาการบวมอักเสบจะหายไป

จากนั้นเราต้องช่วยให้เส้นเอ็นยืด ด้วยการโยนผ้าเช็ดหน้าหรือถุงเท้าหนึ่งข้างลงบนพื้น ใช้เท้าข้างที่เจ็บนั้นหงิกปลายนิ้วเท้าแล้วพยายามจิกถุงเท้าขึ้นมาด้วยเท้านั้น จิกขึ้นมาแล้วเอามือดึงออกโยนลงไปใหม่แล้วก็จิกขึ้นมาอีก ทำเช่นนี้ ๑๐ ครั้ง

จากนั้นให้ทำการยืดกล้ามเนื้อน่องและเอ็นร้อยหวายด้วยการไปยืนที่บันได ยืนด้วยปลายเท้าแล้วปล่อยส้นเท้าลงให้ต่ำ ทำทีละข้างและต้องจับราวบันไดให้ดี ทำเช่นนี้ประมาณ ๒๐ ครั้ง

เมื่อเกิดการอักเสบขึ้นแล้วให้ใจเย็นๆ ต้องพัก ถ้าใส่เฝือกอ่อนที่เท้าเวลากลางคืนด้วยจะช่วยได้มาก

หวังว่าบทความนี้คงช่วยทำให้เข้าใจได้มากขึ้นและหายเร็วๆนะครับ