ไลฟ์สไตล์
จอมพล
ตายผ่อนส่ง

คนเรายิ่งกลัวความตาย ก็ดูเหมือนว่าความตายจะเข้ามาใกล้ตัวทุกทีๆ อันโรคภัยไข้เจ็บที่เข้ามาเบียดเบียนมนุษย์นั้น นับวันก็ดูจะมีมากและแปลกๆขึ้นไป โรคที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน ก็เหมือนจะพัฒนาไปมากจนเราตามไม่ทัน ใครๆก็กลัวความตายและพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้อายุสั้น แต่ยิ่งนับวันก็ดูเหมือนว่าการจะมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยนั้นดูจะยากขึ้นยากขี้นไปทุกที

เอาแค่เรื่องอาหารที่เรารับประทาน เรามักจะได้ยินเรื่องของการปนเปื้อนอาหารจากความสับเพร่า หรือความมักง่าย หรือความเห็นแก่ได้ของคนขายและคนทำ เราอยู่ที่อเมริกานี้ยังดูเหมือนว่าจะปลอดภัยกว่าคนที่อยู่เมืองไทย ผู้เขียนเห็นข่าวเรื่องการปนเปื้อนอาหารที่เมืองไทยแล้วสยองไม่เชื่อลองอ่านดูก็ได้

“ กินอาหารไทยตายก่อนกำหนดแน่นอน นักวิจัยสถาบันโภชนาฯ มหิดล และคณะวิทยาศาสตร์ มช. เผยผลวิจัยพบอาหารที่ขายตามท้องตลาดมาตรฐานความปลอดภัยต่ำ พริกขี้หนูป่นปนเปื้อนสารเคมี 100% เส้นก๋วยเตี๋ยว-กุนเชียง พบสารกันบูดเพียบ อาหารทะเลเจอฟอร์มาลีนเกินครึ่ง...

เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ผศ.ดร.พรรัตน์ สินชัยพานิช นักวิจัยสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลสำรวจอาหารปนเปื้อนที่เกินมาตรฐานความปลอดภัยในเขต 8 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือน ก.ย.2552-เม.ย.2553 พบว่าในกลุ่มตัวอย่างอาหารทั่วไป เช่น นมโรงเรียนชนิดพาสเจอร์ไรซ์ มีปริมาณแบคทีเรียรวมเกินมาตรฐานร้อยละ 25 นมชนิดยูเอชทีเกินร้อยละ 5 ไส้กรอก ทั้งหมู ไก่และกุนเชียง มีสารกันบูดกว่าร้อยละ 36 ในลูกชิ้นหมู ไก่ และปลา พบการใช้สารกันบูดถึงร้อยละ 100 และการใช้ดินประสิวในระดับไม่ปลอดภัย ร้อยละ 26 ทั้งนี้ อาหารประเภทผัก ผลไม้ ร้อยละ 58 พบการปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้าง โดยในสาลี่ ลูกพลับสด ส้ม องุ่น และถั่วฝักยาว พบมากถึงร้อยละ 78 แอปเปิ้ล บรอกโคลี ดอกกะหล่ำ กะกล่ำปลี และแตงโมเกินมาตรฐานร้อยละ 25-50 เห็ดหูหนูขาว พบสารเคมีกำจัดแมลงเกินมาตรฐานร้อยละ 9 และสารฟอกขาวร้อยละ 56 สาหร่ายแกงจืด ร้อยละ 36 ขณะที่กุ้งแห้งและปลาหมึกแห้ง พบการปนเปื้อนเคมีกำจัดศัตรูพืชร้อยละ 64 และร้อยละ 62 ตามลำดับ

ที่น่าตกใจ คือ พริกขี้หนูป่น พบร้อยละ 100 นอกจากนี้ อาหารที่ประชาชนนิยมบริโภค เช่น ก๋วยเตี๋ยวก็พบสารกันบูดเช่นกัน โดยเส้นใหญ่ พบร้อยละ 88 เส้นเล็กร้อยละ 75 เส้นหมี่ขาวและบะหมี่ ร้อยละ40 และ 50 ตามลำดับ อาหารกินเล่นอย่างสาหร่ายอบกรอบปรุงรส พบราพิษ และอะฟลาท็อกซินร้อยละ 8 ด้าน รศ.ดร. นวลศรี รักอริยะธรรม ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ที่น่าจับตาคือ อาหารนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจากการสุ่มตรวจ พบว่า อาหารทะเลสดนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านพบการปนเปื้อนฟอร์มาลีนร้อยละ 67 และโลหะหนักสารหนูร้อยละ 4 ขณะที่ผักและผลไม้ ปนเปื้อนสารเคมีกำจัดแมลง ร้อยละ 36 สารฟอกขาวในผักแห้งร้อยละ 47 สารตะกั่วในสาหร่ายและเยื่อไผ่ ร้อยละ 8 พบปรอท ในก้านเห็ดหอม หน่อไม้แห้ง เห็ดหอมและเยื่อไผ่ ร้อยละ 17 ร้อยละ 12 ในขนมพร้อมบริโภค ลูกอมและเยลลี่ พบสีสังเคราะห์เกินมาตรฐานร้อยละ 20

ทั้งนี้ ผลกระทบของสารปนเปื้อนในอาหารเหล่านี้ หากสะสมในร่างกาย เช่น สารฟอกขาว จะทำให้หายใจติดขัด ความดันโลหิตต่ำ สารพิษตกค้างจากยาฆ่าแมลงจะทำให้ร่างกายอ่อนแอ ขาดความต้านทานโรค หากได้รับเข้าสู่ร่างกายเป็นจำนวนมาก จะเกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ หายใจติดขัด ช็อกและเสียชีวิตได้ ส่วนสารกันบูดที่อยู่ในเนื้อหมู ลูกชิ้น ไส้กรอก จะเป็นพิษต่อต่อมไต และสมอง ทำให้ระบบทางเดินอาหารเกิดการระคายเคือง สารเหล่านี้ถ้าได้รับในปริมาณมากอาจอาเจียน มีไข้ และเสียชีวิตได้ ส่วนสารอะฟลาทอกซิน จะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งในตับสูง ที่น่ากังวลคือ เราไม่รู้ว่าอาหารที่กินในแต่ละวันนั้นมาจากไหน มีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ซึ่งผู้บริโภคเป็นผู้แบกรับโดยตรง เหมือนเป็นการตายผ่อนส่ง

นอกจากนี้ กลไกควบคุมอาหารปลอดภัยของของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ยังคงมีข้อจำกัด แม้จะมีการการเฝ้าระวัง แต่ส่วนใหญ่ยังคงพึ่งชุดทดสอบ (test kits) เป็นหลัก ทำให้ได้ผลเพียงคร่าว ๆ และไม่สามารถตรวจสอบได้ครอบคลุมสารปนเปื้อนสำคัญๆ ได้หมด ข้อจำกัดอีกด้านคือความทั่วถึงของการตรวจและเฝ้าระวัง และข้อกฎหมายด้านความปลอดภัยที่ขาดความชัดเจนในมาตรฐานบางตัว และบทลงโทษที่ไม่รุนแรง การเฝ้าระวังจึงควรเพิ่มบทบาทผู้บริโภคที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ ร่วมกับภาควิชาการ และให้บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในเรื่องนี้มากขึ้น ในอนาคต อปท. ต้องจัดสรรงบประมาณดำเนินการเป็นหลัก”

คิดๆแล้วก็ผวาน่ากลัวเหลือเกิน ได้อ่านเช่นนี้แล้วรู้สึกไม่อยากกลับเมืองไทย ผู้เขียนเชื่อว่าจริงเพราะคนไทยนั้นมีนิสัยมักง่ายและเห็นแก่ได้ เรื่องการใช้สารปนเปื้อนในอาหารทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ เชื่อขนมกินได้เลยว่ามีแน่นอน

นอกจากนี้คนไทยยังติดนิสัยชอบใส่ผงชูรส ผู้เขียนซื้อผลไม้รถเข็นข้างถนนที่เมืองไทย เขาให้พริกกับเกลือเป็นถุงๆเล็กๆมาด้วย พอสังเกตใกล้ๆก็มองเห็นผงชูรสผสมอยู่ในจำนวนมาก ถึงกับตบอกผาง ตายละวานับประสาแค่ผลไม้จิ้มเกลือยังใส่ผงชูรส แล้วอย่างนี้จะไม่ตายวันตายพรุ่งได้อย่างไร

อาหารที่ใส่ผงชูรสมากนั้นคืออาหารจีนและอาหารไทย ส่วนอาหารชาติอื่นไม่เห็นมีใครเขาบ้าผงชูรสเหมือนเรา อาหารญี่ปุ่นนั้นถ้าไม่ใช่อาหารแห้ง หรืออาหารกระป๋อง แต่เป็นอาหารที่ปรุงแล้วรับประทานเลย ก็ไม่ใส่ผงชูรสอย่างบ้านเรา ทั้งๆที่ญี่ปุ่นนั้นเป็นคนคิดค้นผงชูรสมาตั้งแต่ปี ๑๙๐๙

ร้านอาหารไทยที่อเมริกานี้ ใส่ผงชูรสมากแทบจะทุกร้าน มีร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่ร้านหนึ่งเป็นร้านมีชื่อเสียงอยู่ในไทยทาวน์แอลเอนี้เอง ใส่ผงชูรสในน้ำซุปครั้งละ ๒ ถ้วยเต็มๆ แล้วยังใส่ในชามแต่ละชามอีกด้วย มีรายงานว่าคนแถวนั้นเห็นลูกค้าทานก๋วยเตี๋ยวแล้ววิ่งออกมาอาเจียนหน้าร้านอยู่บ่อยๆ

ร้านอาหารจีนก็ใช่ย่อย ผู้เขียนชอบทานกุ้งแชบ๊วยทอดทั้งเปลือกแล้วนำไปผัดกับเกลือใส่พริกชี้ฟ้า ชอบทานมาก ปรากฏว่าพักหลังนี้ได้ลองสังเกตดูก็เห็นว่าเขาเอาไปคลุกกับผงชูรสจนบางทีเห็นเป็นเกล็ดติดตัวกุ้งขึ้นมาด้วย ตั้งแต่นั้นก็เลิกกินอีกเลย

เรื่องของอาหารปนเปื้อนยังมีอีกที่ผู้เขียนได้รับเมลส่งมาเกี่ยวกับการดื่มน้ำจากขวดพลาสติกที่ทิ้งไว้ในรถร้อนๆแล้วพิษของพลาสติกละลายออกมาปนอยู่ในน้ำ สารพิษที่ว่านี้เรียกชื่อว่า ไดออกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งทรวงอกที่สุภาพสตรีเป็นกันมากในปัจจุบันนี้

ไม่เพียงแต่ขวดน้ำพลาสติกเท่านั้น พลาสติกแร็พ หรือแผ่นพลาสติกที่ใช้คลุมอาหารก่อนเข้าไมโครเวฟนี่แหละเป็นตัวการก่อมะเร็งอย่างมาก เมื่อคิดแล้วก็ต้องตกใจเพราะร้านอาหารเกือบทุกร้านใช้แผ่นพลาสติกนี้แหละคลุมอาหารก่อนเข้าไมโครเวฟเพื่อละลายน้ำแข็ง ชีวิตเราจึงตกอยู่ในอันตรายของมะเร็งอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ดูๆไปก็เหมือนกับว่าถ้าอยากจะปลอดภัยจริงก็ต้องปรุงอาหารรับประทานเอง ปลูกผักสวนครัวกินเองเพราะเชื่อได้ว่าไม่มียาฆ่าแมลง ซึ่งคงจะลำบากลำบนถ้าอยากจะทำจริงๆ

เอาเป็นว่าช่างมันเถิด คนเราจะตายก็ต้องตาย จะระวังรักษาตนแค่ไหนก็ตายได้เสมอ เพียงแต่ภาวนาเอาไว้ว่าเวลาตายขอให้เร็ว และอย่าเจ็บปวดทรมานเป็นภาระคนอื่นเขา แค่นี้ก็พอใจแล้ว