ไลฟ์สไตล์
จอมพล
ข้อคิดในการทำบุญ

พักหลังนี้ได้ยินข่าวเรื่องของการทำบุญ ล่าสุดนี้ที่เห็นข่าววัดใหญ่แห่งหนึ่งจัดบิณฑบาตปิดถนนสีลม ผู้เขียนนั้นถือหลักว่าจะไม่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องของความศรัทธา เพราะศรัทธาเป็นเรื่องของปัจเจกชน เป็นเรื่องส่วนบุคคลใครเชื่อใครศรัทธาก็สุดแล้วแต่วุฒิปัญญาของคนนั้น สิ่งที่เราไม่ศรัทธาก็ไม่ควรจะคิดว่าสิ่งที่ผู้อื่นศรัทธาเป็นสิ่งที่ไร้สาระ มันไม่เป็นธรรมและเป็นบาป ฉะนั้นผู้เขียนจะไม่ขอพูดถึง

อย่างไรก็ตามในส่วนตัวแล้ว เห็นว่าเราควรช่วยกันเผยแพร่ข้อคิดที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง ในการที่จะเชื่อหรือศรัทธาในสิ่งใดก็ตาม เพื่อให้ความศรัทธานั้นไม่ได้ตั้งอยู่บนมิจฉาทิฐิ การสร้างบุญบารมีแล้วไม่ได้ผลแก่ตนหรือญาติทั้งหลาย จะเป็นการทำบุญที่ไม่ถูกต้องและเสียเปล่า

เราชาวพุทธส่วนมากไม่เข้าใจเรื่องของการทำบุญ ปัจจัยใหญ่เรามักจะทำบุญโดยหวังผล หวังว่าผลบุญจะตอบแทนเราและได้ส่งผลให้เรามีความอยู่ดีมีความสุข ซึ่งอันที่จริงหลักในการทำบุญนั้นมีอยู่ข้อเดียวที่เป็นข้อหลักนั่นก็คือ เมื่อทำบุญแล้วต้องมีความสุข การทำบุญแล้วไม่มีความสุข เป็นที่เดือดร้อนแก่ตนเองหรือผู้อื่นไม่ใช่การทำบุญ เมื่อคิดได้เช่นนี้ก็สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งใดทำแล้วเป็นบุญแท้จริง

เพื่อนคนหนึ่งของผู้เขียนได้ลงโพสท์ในเฟสบุ๊คของเขาว่า ได้ลุกขึ้นมาทำขนมจีนน้ำเงี้ยวถวายพระ ด้วยการปรุงขึ้นมาเองด้วยความปราณีต ชิมแล้วชิมอีกเพราะจิตก็ระลึกถึงคุณยายที่เสียไปแล้ว ว่าท่านเคยทำให้รับประทานและอร่อยเพียงใด ตั้งใจทำให้อร่อยเหมือนคุณยายทำ เคี่ยวจนได้ที่อย่างรอบคอบระมัดระวัง เมื่อทำแล้วก็จิตใจผ่องใส นำไปถวายพระอย่างมีความสุข การทำบุญของเขานั้น ไม่ใช่ได้บุญแค่ตอนถวายพระ แต่เริ่มได้บุญตั้งแต่คิดถึงขนมจีนน้ำเงี้ยวของคุณยาย การพยายามปรุงอย่างปราณีตล้วนแล้วแต่ยกระดับจิตให้สูงขึ้นเพราะเป็นทานจิตตั้งแต่คิดทำ ผลบุญที่ได้จึงได้รับเต็มๆ

เรื่องของจิตเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จักรวาลที่เราอาศัยอยู่นี้แท้จริงไม่มีตัวตน โลกนี้มีขึ้นเพราะจิตของเราเองที่มองเห็น อดีตชาติหรือปัจจุบันชาติก็อยู่ในภพที่คาบเกี่ยวกันไม่มีเส้นขีดแบ่ง จิตเราเองทั้งนั้นที่สร้างชาติภพขึ้นมา ฉะนั้นการทำบุญไม่ได้อยู่ที่จำนวนปัจจัย จำนวนครั้ง หรือจำนวนใดๆ แต่เกี่ยวเนื่องจากจิตที่รู้สึกนั้นเป็นสำคัญ หากมีอนุโมทนาจิต ลึกถึงหยั่งได้ในความสุขทุกวินาทีที่ทำ ถือว่าได้บุญอย่างเต็มที่

คนบางคนเวลามีคนมาบอกบุญ ก็ทำเสียอย่างเสียไม่ได้ อย่างนี้ไม่ได้บุญเลย กลับกลายเป็นบาป เพราะจิตเศร้าหมอง เสียดายเงินที่ทำบุญ อย่างนี้ทำไปก็ไม่ได้บุญ บางคนสักว่าเอาแต่ง่ายๆอยากใส่บาตรก็ไปยืนตามร้านขายข้าวแกง ซื้อข้าวแกงที่หน้าปากซอยยืนรอพระมา ใส่บาตรเสร็จแล้วก็ไป พระได้อาหารมาก็ไม่ฉันคืนแม่ค้าขายข้าวแกงเปลี่ยนเป็นเงินไป อย่างนี้ไม่ได้ทั้งบุญที่คนใส่บาตร พระก็ไม่ได้โปรดสัตว์แถมเป็นอาบัติ แม่ค้าขายข้าวแกงก็บาปเพราะหวังแต่อามิส การทำบุญนั้นจึงเสียเปล่าไม่เกิดกุศลแต่อย่างใด

บางคนทำบุญผ้าป่าจบแล้วจบอีก อธิษฐานขอโน่นขอนี่ อย่างนี้ก็ไม่ใช่เป็นการทำบุญที่ถูกต้อง เพราะทำบุญหวังผล เหมือนทำธุรกิจ ลงทุนเพื่อผลกำไร จิตก็ไม่เป็นสุข บางคนไปไหว้พระที่วัด เข้าไปบูชาพระ แต่ไม่ได้ถึงพระรัตนตรัย การกราบพระที่ถูกต้อง คือกราบแล้วจำเริญจิตน้อมเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง กราบเพื่อให้จิตใจสะอาด สว่าง สงบ ไม่ใช่กราบเพราะพระองค์นี้ศักดิ์สิทธิ์ไปไหว้แล้วจะมีโชคลาภ เมื่อกราบพระแล้วก็ต้องน้อมเอาพระธรรมคำสอนมาปฏิบัติ อย่างน้อยศีล ๕ ที่ช่วยให้ชีวิตมีปรกติสุข

บางคนเช่าเครื่องรางของขลังเป็นพันเป็นหมื่น เอาเงินเข้าวัดที่ร่ำรวยและไม่ได้เป็นวัดที่สอนธรรมะแก่ประชาชน รังแต่จะสร้างถาวรวัตถุให้ยิ่งใหญ่ แต่ขาดเรื่องการพัฒนาจิตใจแก่พุทธศาสนิกชน การทำบุญที่วัดเช่นนี้ก็ไม่ได้บุญเช่นกัน

บางคนไปถวายสังฆทาน ด้วยการซื้อถังสังฆทานที่มีขายในวัด วนขายกันเป็นถังๆเพื่อเอาเงินเข้าวัด แทนที่จะเป็นจัตตุปัจจัยให้พระได้ดำรงสภาวะนักบวชอย่างแท้จริง อย่างนี้ก็เป็นการทำสังฆทานที่เสียเปล่าไม่ได้ประโยชน์อีกเช่นกัน

มีผู้รู้ท่านกล่าวว่า หากเราปรารถนาจะรู้ว่าเมื่อตายไปแล้ว วิญญานจะไปจุติภพภูมิใด ท่านว่าให้หลับตานึกถึงความดีที่เคยกระทำ บุญกุศลที่เคยทำในชาตินี้ นับอย่างเร็ว หนึ่งสองสาม ถ้ายังคิดไม่ออกท่านว่าเกิดในอบายภูมิ เพราะชีวิตของมนุษย์แท้ที่สุดแล้วเวลาที่สำคัญที่สุดก็คือก่อนหมดลมหายใจ ช่วงนั้นเองที่จิตจะเกิดในภพภูมิใหม่ หากไม่เคยสร้างกุศลก็จะไปบังเกิดในภพที่ต่ำและไม่ปรารถนา

จะเห็นได้ว่าการทำบุญจึงอยู่ที่จิตที่ละเอียด จิตที่ละเอียดนั้นจะฝังลึกลงในจิตใต้สำนึกและมีพลังยามที่ร่างกายอ่อนแอ ปรากฏเห็นชัดถึงจิตที่ฝึกมาอย่างปราณีตและจิตนั้นเองที่ส่งผลให้ไปเกิดใหม่ในที่อันชอบอันควร

ผู้เขียนนั้นทำบุญมาตลอดชีวิต ทำผิดบ้างถูกบ้าง เมื่อลองระลึกถึงแบบฝึกหัดทดสอบจิตของตน ด้วยการนึกถึงบุญในทันที คือหนึ่งสองสาม จิตกลับวนเวียนคิดถึงแค่ครั้งเดียวเมื่อยี่สิบปีมาแล้วที่ได้เคยช่วยเขาทำบุญ เรื่องมีอยู่ว่า ได้ไปอาศัยอยู่ที่บ้านเพื่อนในกรุงเทพฯ ปรากฏว่ามีเณรจากอีสาน เป็นเณรเล็กๆอายุไม่ถึง ๘ ขวบประมาณ ๒๐๐ กว่ารูป มาบวชภาคฤดูร้อนที่วัดทุ่งเศรษฐี บางนา ด้วยความที่เณรมีจำนวนมาก ทางวัดเลี้ยงได้ไม่ทั่วถึง เณรเล็กๆเหล่านี้จึงฉันไม่อิ่มและไม่พอฉัน เมื่อมารดาของเพื่อนปวารณาจะทำอาหารเพลเลี้ยงถวาย ซึ่งได้แก่ส้มตำปลาร้า ข้าวเหนียว ลาบ จึงถือเป็นการใหญ่ ต้องทำกันแต่เช้าเป็นที่โกลาหล

ผู้เขียนนั้นเป็นคนกรุงเทพฯแต่กำเนิด ทานปลาร้าไม่เป็น และไม่ชอบปลาร้าสดๆ เพราะคิดว่ากลิ่นไม่ต้องกับอารมณ์ แต่อาศัยบ้านเขาอยู่ก็ต้องลุกขึ้นช่วยเขาทำ และทำหน้าที่ตำโขลกส้มตำ อันประกอบไปด้วยพริกกระเทียมและปลาร้าจำนวนมหาศาลที่ส่งกลิ่นคลุ้งไปหมด อย่างไรก็ตามผู้เขียนยินดีทำด้วยความปิติ ตอนที่ตำนั้นจำได้ว่าน้ำปลาร้ากระเด็นเต็มหน้าเต็มตัว ใช้มือคลุกในกะลามังใหญ่ๆ ล้างมือสามวันไม่หายกลิ่นคาว พริกก็ร้อนไปถึงข้อศอก ได้รับความทรมานแต่จิตมีความสุข

ครั้นนำไปถวายเพล เห็นสีหน้าเณรน้อยตื่นเต้นเมื่อได้กลิ่นอาหารที่จัดวางอย่างปราณีต และเป็นของชอบของตน ก่อนจะฉันเสียงเณรทั้งสองร้อยรูปกระหึ่มให้พร ผู้เขียนรู้สึกชาไปทั้งตัวตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า น้ำตาไหลพรากด้วยความปิติ ต้องก้มหน้าเพราะอายกลัวคนเขาจะเห็นว่าร้องไห้ เชื่อหรือไม่ว่าผ่านมา๒๐ปีแล้วยังจำความรู้สึกได้ดี

เมื่อลองทำแบบฝึกหัด หนึ่งสองสาม นึกถึงบุญ กลับนึกถึงบุญใหญ่บุญอื่นไม่ออก เห็นแต่ภาพตัวเองนั่งน้ำตาไหลพรากๆ เพราะอิ่มบุญที่ตำส้มตำปลาร้าถวายเณรไปเสียทุกครั้ง

ผู้เขียนได้นำเรื่องข้อคิดในการทำบุญจากบันทึกคำสอน : ครูบาไตรภพ เมื่อวันที่ 13-10-12 เผยแพร่โดย

มูลนิธิ วิศวาธารอโรคยาธรรมศาล ว.อ.ธ. เพื่อสันตินิรันดร มาฝากเพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ดีดังต่อไปนี้

เมื่อเชื่อพระพุทธเจ้า เคารพในพระพุทธเจ้าจริง ก้ต้องเชื่อในพระธรรมคำสั่งสอนด้วย เชื่อในพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบด้วย หาก ไม่รู้สึกเคารพ ไม่รู้สึกศรัทธาเลยนั้นแสดงว่า ใจเรามีมานะทิฐิมากเกินไปต่างหาก หาใช่ความที่ใจมีคุณธรรมใดๆเลย ใจอย่างนี้ต้องฝึกฝน ต้องกราบพระบ่อยๆ เข้าสนทนาธรรม ฝึกกรรมฐานทำจิตให้สงบเสียบ้าง ก่อนที่จะหลงทางไปไกล

อย่า หวังเพียงทางลัด หลายๆคนชอบทางลัดและ มักคิดไปเองว่าทำบุญนั้นคือวิธีที่ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น พอทำไปแล้วไม่ประสบผลดังที่ตั้งใจไว้ก็พาลทำให้เสื่อมถอยความเพียรลง

"การทำแต่บุญแต่ยังไม่ละบาปอกุศลนั้น บารมีก็ยากที่จะเต็ม" ผลแห่งการให้ทานทำบุญนั้นก็ยากที่จะสนองคืน

ดั่ง บรุษพยายามตักน้ำใส่ตุ่มใบใหญ่ที่มีรอยรั่ว ด้วยกะลาแตก แม้จะขยันทำหนักหนาปานใด น้ำในตุ่มนั้นก็คงไม่รู้จักเต็ม พอน้ำไม่เต็มบุรุษนั้นก็มักพาลโทษฟ้าโทษดิน หาว่าทำจนแทบตายยังไม่ได้อะไร

คน ทำบุญแต่ขาดการละบาปก็เป็นดั่งกันนั้นแล ไม่แตกต่างเลย หากเราทำถูกทางแล้ว ผลย่อมได้รับสนองคืนโดยพลัน สิ่งสำคัญคือหัวใจที่เปลี่ยมด้วยศรัทธา คนผู้ขาดความเคารพยำเกรงแก่ผู้มีศีลมีคุณธรรม คนประเภทนั้นมักทำอะไรๆก้ไม่สำเร็จสมประสงส์นัก

หากอยากให้การทำบุญของ เราประสบผลแล้วไซร้ ก็จงฝึกทั้งกายและใจให้เข้าถึงคุณงามความดี อายุ วรรณ สุข และกำลัง ย่อมเจริยแก่บุคคล ผู้มีปกติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ มีปกติกราบไหว้ต่อผู้มีศีลมีธรรม เคารพตนเคารพผู้อื่น เคารพพระธรรม พระรัตนตรัย เป็นผู้มีจิตเปลี่ยมด้วยกุศลธรรมอันงามอย่างนั้นดังนั้น จึงสมเป็นผู้พึงเจริญงอกงาม ทั้งทางโลกและทางธรรม

ขอจงพึงสังวรณ์ กรรมคือการกระทำเถิด

เคารพผู้อื่น 1 หน ยกตนให้สูงหนึ่งศอก

อภัยทานแก่ผู้อื่น 1 หน ยกตนให้สูงขึ้น 7 ศอก

รู้จักปล่อยว่าง และเคารพพระธรรม มีจิตอันงดงาม ยกตนสูงกว่าโลกทั้งสาม สาธุ

อีกหัวข้อหนึ่งนั้นเป็นข้อคิดเรื่องการทำบุญจาก หลวงพ่อชา สุภทฺโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี ซึ่งแสดงไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

การทำบุญกุศลก็เพื่อละกิเลส เพื่อสำรอกกิเลสเพื่อละความโลภ ละความโกรธ ละความหลง

เพื่อถอนความสกปรก ความไม่ดี ออกจากใจตัวเองต่างหาก มันไม่ใช่เรื่องร่าเริงสนุกเฮฮา

เรื่องบุญคือเรื่องของความสงบระงับ บุญกุศลนั้นมันมิได้อยู่ ที่หมอน ที่สาด ที่เสื่อ มิได้อยู่ที่ผ้า

เพราะคนมีสิ่งเหล่านี้แล้ว ยังฆ่ากัน ยังลักของกัน ยังด่ากัน ยังเบียดเบียนกันอยู่


พูดง่ายๆ บุญก็คือ การเอาวัสดุต่างๆ มาให้คนอื่น เพื่อลดละความอยากของตนให้ น้อยลง

ไม่เบียดเบียน ไม่ลักของคนอื่น ไม่อิจฉา ไม่ริษยา

พี่ป้าน้าอาทั้งหลาย การทำบุญก็เพื่อบรรเทาความชั่วออกจากใจ

มิใช่ว่าของที่จะเอาออกก็เอาออก แต่ของที่ขนเข้าก็ยังขนเข้าไว้ในใจอยู่

มันเหมือนกับการเดินทาง เดินหน้าหนึ่งก้าว ถอยหลังหนึ่งก้าว มันจะไปถึงไหนกันเล่า

มันจะถึงที่หมายกันได้อย่างไร อย่างนี้มันไม่ถึงหรอก


เรื่องพระศาสนานี้ เป็นเรื่องของจิตใจ ไม่ใช่เรื่องอย่างอื่น

ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นเรื่องของจิตใจ แม้คนเราจะคิดผิดหรือคิดถูกก็ให้รู้

เรื่องบุญนั้นจะได้มากหรือน้อยก็ให้ดูที่ใจของเรา

ถ้าให้ทานของมากๆ แต่กิเลสเรายังละไม่ได้ ก็หมายความว่า ทุกข์มันยังไม่หมด

ทำบุญเพื่อลดละความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้เบาบางลงนี่เป็นการสร้างบารมีของเรา


สุดท้ายเป็น ๕ ข้อคิดสะกิดใจก่อนทำบุญ

เพื่อให้ท่านผู้อ่านใช้เป็นเครื่องตัดสินว่าควรทำบุญนั้นๆดีหรือไม่เขียนโดย สมหวัง วิทยาปัญญานนท์ ดังนี้

๑. อย่าคิดว่าการทำบุญนั้นต้องใช้เงินเสมอไป ให้วัตถุสิ่งของ เสียสละแรงกายมาช่วยงาน ช่วยกันคิดในการจัดงาน มาร่วมงาน ตลอดจนยินดีด้วยที่มีการจัดงาน ก็ได้บุญแล้ว

๒. การบอกบุญ ไม่ควรมีลักษณะแกมบังคับ ใครจะให้เท่าไร ต้องไม่ต่อว่า ไม่ให้ก็ไม่เป็นไร

๓. บางคนกลัวอายที่ทำบุญน้อย ก็ใช้ชื่อคณะรวมๆ กันหลายคน มาในซองเดียวก็ได้

๔. ก่อนทำบุญก็ไม่เสียดาย ขณะทำบุญก็ไม่เสียดาย หลังทำบุญก็ไม่เสียดาย ผ่านไปนานๆ นึกถึงทีไรก็มีความสุข ดังนั้นจงพิจารณาปริมาณที่เหมาะสมก่อนทำบุญทุกครั้ง

๕. ไม่ควรสงสัยว่าทางวัดจะเอาเงินไปทำอะไร สร้างสิ่งใหม่ บูรณะสิ่งเก่า หรือกลัวว่าสูญเสียระหว่างทาง เพราะคนในวัด และพระในวัด ย่อมเข้าใจดีถึงกฎแห่งกรรม หวังว่าทั้งหมดนี้คงเป็นแนวทางให้ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่านได้ทำบุญโดยปัญญาและได้ผลบุญสมที่ปรารถนาไว้ทุกท่านเทอญ