ไลฟ์สไตล์
จอมพล
เทียนพรรษา

ใกล้จะถึงวันออกพรรษาแล้ว นึกถึงตอนที่อยู่เมืองไทย เวลาเข้าพรรษาตามประเพณีก็จะลดละเลิกอบายมุขกันเป็นเวลา ๓ เดือน ช่วงเข้าพรรษาคนไทยก็จะมีทำเนียมนำผ้าอาบน้ำฝน และเทียนพรรษาไปถวายที่วัด พระใหม่ที่บวชในช่วงก่อนเข้าพรรษาก็จะถือกันว่า ถ้าบวชช่วงนี้ก็ต้องอยู่จำพรรษาจนตลอด ๓ เดือนห้ามสึก ทั้งนี้ก็คงเป็นเพราะช่วงเข้าพรรษาพระภิกษุสงฆ์จะไม่ออกธุดงค์โปรดสัตว์ ตามที่จำได้ที่เคยเรียนในวิชาพุทธศาสนาก็เป็นเพราะบทบัญญัติของพระพุทธองค์ที่ทรงห้ามไว้ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน พระภิกษุเมื่อออกธุดงค์ก็อาจจะไม่สะดวก และอาพาธเจ็บป่วยได้ง่าย ประกอบกับฤดูฝนมีสัตว์เล็กๆออกมาหากินมาก อาจพลั้งพลาดเหยียบย่ำสัตว์เล็กและข้าวกล้าของชาวบ้าน เป็นการผิดศีลปาณา ความทรงจำนี้จะถูกหรือผิดก็จำไม่ได้เสียแล้ว

ในช่วงเข้าพรรษา สิ่งที่ชาวพุทธถือปฏิบัตินอกจากการลดละเลิกอบายมุขแล้ว ยังต้องนำเทียนพรรษาไปถวายวัด ตามคติที่ว่าพระภิกษุสงฆ์จะใช้เวลาในช่วงนี้ศึกษาพระธรรมวินัยและพระไตรปิฎก จึงต้องใช้แสงสว่าง ในสมัยพุทธกาลยังไม่มีไฟฟ้าใช้จึงต้องจุดประทีป เทียนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่พระสงฆ์ต้องใช้ ถึงแม้ในปัจจุบันจะใช้แสงไฟจากไฟฟ้าแล้วก็ยังคงถือธรรมเนียม ถวายเทียนต้นใหญ่ ตามวัดจะตามเทียนพรรษาไว้ตลอดทั้งสามเดือน จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้

อย่างไรก็ตามผู้เขียนก็ค้นคว้ามาว่า แท้จริงแล้วตำนานการถวายเทียนพรรษามีมาอย่างไร ค้นได้จึงนำมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้

“ศาสนา พราหมณ์-ฮินดู นับถือวัวเพราะถือว่า วัวเป็นพาหนะของพระอิศวร เมื่อวัวตาย จะเอาไขจากวัวมาทำเป็นน้ำมันเพื่อจุดบูชาพระผู้เป็นเจ้าที่ตนเคารพ

แต่ชาวพุทธซึ่ง นับถือศาสนาพุทธจะทำเทียนเพื่อจุดบูชาพระรัตนตรัย โดยการเอารังผึ้ง ร้างมาต้มเอาขี้ผึ้ง แล้วฟั่นเป็นเทียนเล่มเล็ก ๆ มีความยาวตามต้องการ เช่น ยาวเป็นคืบ หรือเป็น ศอกแล้วใช้จุดบูชาพระ

เทียนพรรษา เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ชาวพุทธจะยึดถือเป็นประเพณีนำเทียนไป ถวายพระภิกษุในเทศกาลเข้าพรรษา เพื่อปรารถนาให้ตนเองเป็นผู้เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ ประดุจ แสงสว่างของดวงเทียน

การทำและแห่เทียนพรรษา เป็นประเพณีวันเข้าพรรษา ของชาวพุทธ ที่ได้กระทำต่อเนื่องกันมาแต่พุทธกาล โดยมี วัตถุประสงค์ เพื่อ ถวายเป็น พุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา

มีเรื่องเล่าว่า ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้า ได้เสด็จจำ พรรษา อยู่ที่วัดป่าเลไลย์ เพื่อหาความสงบในป่าแห่งหนึ่ง ได้มี พญาช้างสาร และพญาวานรแสนรู้ สืบทราบว่า พระพุทธเจ้า ได้เสด็จมาประทับแรม จึงชวนกันไปเป็นผู้อุปัฏฐาก โดยพญาช้าง เป็นผู้หาน้ำดื่ม น้ำใช้ ส่วนพญาวานร เป็นผู้หารังผึ้งมาถวาย ต่อมา พญาวานรเกิด พลาดพลั้งพลัด ตกต้นไม้ตาย แต่ด้วย อานิสงส์ ที่ได้ทำไว้กับ พระพุทธเจ้า จึงได้เกิดเป็นพระพรหม อยู่บนสวรรค์

อีกตำนานหนึ่งกล่าวว่า พระอนุรุทธสาวกของ พระพุทธเจ้า ที่มีสติปัญญา เฉลียวฉลาดหลักแหลม รู้พระธรรม วินัยอย่างแตกฉาน ก็เพราะในชาติปางก่อน เคยถวายแสงประทีป เป็นทาน ดังนั้น พุทธศาสนิกชน ผู้ใฝ่บุญกุศล จึงได้ยึดถือ เป็น ประเพณีนำเทียน ไปถวายแด่พระภิกษุในเทศกาลเข้าพรรษา เพื่อปรารถนาให้ตนเอง เป็นผู้เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ ประดุจ ขี้ผึ้ง ที่ใช้ทำเทียนซึ่งได้จากรังผึ้ง (อีสานเรียกว่า เรียงผึ้ง) โดย นำมาต้มเป็นงบคล้ายน้ำอ้อย บางที ดัดแปลงเป็นเลา (เหมือน ต้นอ้อย หรือลำไม้ไผ่) หรือรูปเหลี่ยม ส่วนการตกแต่ง ใช้วัสดุ จำพวกเชือกย้อมสี กระดาษที่ตัดเจาะ เป็นรูปตามถนัด พันรอบ ต้นเป็นเปลาะๆ”

ในบางจังหวัดอย่างเช่นที่จังหวัดอุบลราชธานี มีเทศกาลแห่เทียนพรรษาที่วิจิตรสวยงาม แกะสลักเสลาเทียนเป็นประติมากรรมที่งดงามอย่างมหัศจรรย์ ผู้เขียนเคยไปดูด้วยตนเองครั้งหรือสองครั้ง ยังประทับใจอยู่ไม่มีวันลืม อันความเป็นมาของการแห่เทียนพรรษานั้นก็น่าสนใจ มีใจความดังนี้

การทำเทียนพรรษา มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ จากการนำรังผึ้งมาต้มเอาขี้ผึ้งไปฟั่น เป็นเทียนนำไปถวายพระภิกษุ เอาเทียนเล่มเล็ก ๆ หลาย ๆ เล่ม มามัดรวมกันเป็นลำต้นคล้ายกับ ต้นกล้วย หรือลำไม้ไผ่ แล้วนำไปติดกับฐาน ซึ่งการมัดรวมกันแบบนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่นิยมเรียกว่า ต้นเทียน หรือต้นเทียนพรรษา

ต้นเทียนพรรษาประเภทแรก คือ "มัดรวมติดลาย" เป็นการเอาเทียนเล่มเล็ก ๆ มามัด รวมกันบนแกนไม้ไผ่ให้เป็นต้นเทียนขนาดใหญ่ แล้วตัดกระดาษเงิน กระดาษทองเป็นลายต่าง ๆ ติดประดับโดยรอบต้นเทียน ต่อมามีการคิดทำต้นเทียนเป็นต้นเดี่ยว เพื่อใช้จุดให้ได้นาน โดย การใช้ลำไม้ไผ่ที่ทะลุปล้องเป็นแบบหล่อ เมื่อหล่อเทียนเป็นต้นเสร็จแล้วจึงนำมาติดที่ฐาน และจัด ขบวนแห่เทียนไปถวายพระที่วัด

การตกแต่งต้น เทียน เริ่มมีขึ้นโดยภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้ขี้ผึ้งลนไฟหรือตากแดดให้อ่อน แล้วปั้นเป็นรูปดอกลำดวนติดต้นเทียน หรือเอาขี้ผึ้งไปต้มให้ละลาย แล้วใช้ผลมะละกอ หรือ ผล ฟักทองนำมาแกะเป็นลวดลาย ใช้ไม้เสียบนำไปจุ่มในน้ำขี้ผึ้ง แล้วนำไปจุ่มในน้ำเย็น แกะขี้ผึ้งออก จากแบบ ตัดและตกแต่งให้สวยงามนำไปติดที่ต้นเทียน

พ.ศ. 2482 มีช่างทองชื่อ นายโพธิ์ ส่งศรี เริ่มทำลายไทยไปประดับบนเทียน โดยมี การทำแบบพิมพ์ลงในแผ่นปูนซีเมนต์ซึ่งถือว่าเป็นแบบพิมพ์ หรือแม่พิมพ์ แล้วเอาขี้ผึ้งที่อ่อนตัว ไปกดลงบนแม่พิมพ์จะได้ขี้ผึ้งเป็นลายไทย นำไปติดกับลำต้นเทียน

ต่อมา นายสวน คูณผล ได้คิดทำลายให้นูนและสลับสี จนเห็นได้ชัด เมื่อส่งเทียนเข้า ประกวดจึงได้รับรางวัลชนะเลิศ และในปี พ.ศ. 2497 นายประดับ ก้อนแก้ว คิดประดิษฐ์ทำหุ่นเป็น เรื่องราวพุทธประวัติ และเอาลวดลายขี้ผึ้งติดเข้าไปที่หุ่น ทำให้มีลักษณะแปลกออกไป จึงทำให้ เทียนพรรษาได้รับรางวัลชนะเลิศ และชนะเลิศมาทุกปี ในเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์

ปี พ.ศ. 2502 มีช่างแกะสลักลงในเทียนพรรษาคนแรก คือ นายคำหมา แสงงาม และ คณะกรรมการตัดสินให้ชนะการประกวด ทำให้เกิดการประท้วงคณะกรรมการตัดสิน ทำให้ในปี ต่อๆ มามีการแยกประเภทต้นเทียนออกเป็น 2 ประเภทชัดเจนคือ

1. ประเภทติดพิมพ์ (ตามแบบเดิม)
2. ประเภทแกะสลัก

การ ทำเทียนพรรษามีวิวัฒนาการเรื่อยมาไม่หยุดนิ่ง ในปี พ.ศ. 2511 ผู้คนได้พบเห็น ต้นเทียนพรรษาขนาดใหญ่และสูงขึ้น มีการแกะสลักลวดลายในส่วนลำต้นอย่างวิจิตรพิสดาร ใน ส่วนฐานก็มีการสร้างหุ่นแสดงเรื่องราวทางศาสนา และความเป็นไปในสังคมขณะนั้น กลายเป็น ประติมากรรมเทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งช่างผู้ริเริ่มในการทำต้นเทียนยุคหลังคือ นายอุตส่าห์ และ นายสมัย จันทรวิจิตร สองพี่น้อง นับเป็นงานสร้างสรรค์ทางศิลปะอันเกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน อย่างแท้จริง”

เมื่อสองสามวันก่อน ผู้เขียนได้ไปทำบุญที่วัดสุทธาวาส เมืองริเวอร์ไซด์ ได้ไปเห็นการก่อสร้างอุโบสถศาลาที่สร้างภายนอกเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว ท่านเจ้าอาวาส ท่านพระครูศรีวิเทศธรรมกุล ท่านปรารภว่า ถึงแม้การก่อสร้างภายนอกจะลุล่วงไปมากแล้ว แต่ทางวัดยังขาดงบประมาณการติดตั้งระบบไฟและน้ำในตัวอาคารอยู่เป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าคุณอรสา ตันติเจริญเกียรติ และคุณคุณปรีดา มีเดช กรุณาเป็นประธานจัดงานทอดผ้าป่าสามัคคีจัดงานวันแม่และหาทุนเป็นจำนวนมากถึง 55,680.60 เหรียญ เพื่อเป็นทุนสร้างระบบไฟฟ้าภายในรัตนอุโบสถศาลาแต่ก็ยังขาดทุนทรัพย์อยู่อีกกว่าห้าหมื่นเหรียญ ท่านเจ้าอาวาสจึงใคร่ขอให้ช่วยประชาสัมพันธ์ว่าในขณะนี้ทางวัดสุทธาวาสได้จัดตั้งกองทุนบริจาคสร้างระบบไฟฟ้าในอุโบสถศาลา ซึ่งเมื่อสำเร็จแล้วจะเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และศึกษาพุทธศาสนา และวิปัสสนาอันเป็นประโยชน์ต่อการเผยแพร่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง กองทุนนี้จัดเป็นกองเล็กๆ กองละ ๙.๙๙ เหรียญ จะร่วมกันทำกี่กองก็ได้แล้วแต่ศรัทธา เป้าหมายสำหรับการสร้างระบบไฟนี้อยู่ที่ ๕,๐๐๐ กอง หากท่านผู้อ่านมีจิตศรัทธาจะบริจาคก็สามารถส่งเช็คสั่งจ่าย วัดสุทธาวาสได้ที่

Suddhavasa Buddhist
Meditatoin Center
3687 Fleming St.
Riverside, CA 92509-1018

หรือบริจาคออนไลน์โดยตรงโดยจ่ายทางเวปไซด์ของที่วัดคือ http://www.suddhavasa.org/donation/

ผู้เขียนเห็นว่าในช่วงประเพณีเข้าพรรษา ที่ชาวพุทธเรามักจะนำเทียนพรรษาไปถวายวัดนั้น ในปัจจุบันการสร้างบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่มากไปเสียกว่าการนำเทียนพรรษาไปถวาย คือการสร้างระบบไฟฟ้าอย่างถาวรให้กับวัด การให้แสงสว่างแก่ผู้ปฏิบัติธรรม จะนำมาซึ่งความสว่างไสวในชีวิต ไม่อับจนหนทาง เวลาตกทุกข์ได้ยากก็จะมีผู้อุปการะช่วยเหลือ การสร้างบุญด้วยการถวายไฟฟ้าให้วัดจะได้อานิสสงฆ์ยืนยาว หาค่าประมาณไม่ได้ ยิ่งไปเสียกว่าถวายเทียนพรรษา

ผู้เขียนและคณะไทยแลนด์พลาซ่า ฮอลลีวู้ดได้ตั้งปณิธานไว้ว่าจะร่วมหาสักร้อยกอง แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงขาดอีกมาก จึงกราบเรียนท่านผู้อ่านไลฟ์สไตล์ได้มีจิตศรัทธา ร่วมบริจาคเพื่อสร้างความสว่างไสวให้กับสถานที่ปฏิบัติธรรมและชีวิตของท่านเอง กราบเรียนเชิญมาด้วยจิตอนุโมทนาบุญครับ