ไลฟ์สไตล์
จอมพล
รู้จักญี่ปุ่น

จากกระแสสุดฮิตที่ประเทศญี่ปุ่นเปิดประเทศให้คนไทยไปเที่ยวโดยไม่ต้องขอวีซ่า ทำให้เราคนไทยสนใจญี่ปุ่นมากขึ้น ซึ่งคนไทยนั้นมักจะชอบคนญี่ปุ่นเพราะคนญี่ปุ่นมีมารยาทดี สุภาพ และเชื่อถือได้ โดยที่เราไม่รู้ว่าสังคมญี่ปุ่นนั้นซับซ้อนนัก มีเรื่องราวมากมายที่เราไม่เข้าใจคนญี่ปุ่น และหนึ่งในนั้นก็คือการแบ่งชั้นวรรณะ. เมื่อผู้เขียนได้อ่านบทวิเคราะห์ที่เขียนโดย อุศนา สุวรรณวงค์ จากประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์ จึงเห็นว่าน่าสนใจที่จะนำมาเผยแพร่ต่อให้อ่านกันดังต่อไปนี้

หลังกรณี "การเหยียดเชื้อชาติ" เป็นที่ถกเถียงมากในญี่ปุ่น เนื่องจากนางสาวอาเรียนา มิยาโมโตะ สาวลูกครึ่งญี่ปุ่น-แอฟริกันอเมริกัน คว้ามงกุฎนางงาม"มิสยูนิเวิร์สเจแปน" ไปครอง จนเกิดการถกเถียงในสังคมญี่ปุ่นอย่างมากว่าเธอเหมาะสมต่อการเป็นตัวแทนประเทศหรือไม่ เพราะหน้าตาไม่เหมือนคนญี่ปุ่นทั่วไป

คำถามที่ตามมาคือ "ญี่ปุ่น" ประเทศในภาพจำของสังคมไทยว่าเป็นเมืองที่เป็นระเบียบ ผู้คนเข้าถึงพื้นฐานสาธารณูปโภคอย่างเท่าเทียม ทุกคนเคารพสิทธิกันและกัน มีการกดขี่หรือมีประเด็น "การเหยียดเชื้อชาติ" ด้วยหรือ ?

นางสาวอาเรียนา มิยาโมโตะ มิสยูนิเวิร์สเจแปนคนล่าสุด ที่ออกมาเปิดเผยว่าเธอถูกเลือกปฏิบัติในสังคมญี่ปุ่น

Cre. AFP

และการเหยียดที่เป็นประเด็นอยู่นั้น เป็นการ "เหยียดลูกครึ่ง"หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกกันว่า "ฮาฟฝุ" ซึ่งก็เป็นกลุ่มคนที่มีเชื้อชาติญี่ปุ่นในเลือด เหตุใดสังคมญี่ปุ่นจึงปฏิเสธและเลือกปฏิบัติต่อฮาฟฝุ และที่จริงแล้วสังคมญี่ปุ่นมี "ด้านมืด" หรือ "เรื่องลับๆ" ที่เราไม่รู้อีกหรือไม่

"ประชาชาติธุรกิจออนไลน์" ไขข้อสงสัยนี้กับ "อรรถ บุนนาค"นักเขียนและกูรูญี่ปุ่น ผู้ที่เป็นทั้ง "ลูกครึ่งญี่ปุ่น" เคยใช้ชีวิตในญี่ปุ่นหลายปี และเชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่น

ไม่เพียงแต่ข้อสงสัยจะถูกทำให้กระจ่าง แต่รับรองว่าเรื่องเล่ามุมมืดของแดนซากุระต่อไปนี้ จะขยายมุมมองของความเป็นญี่ปุ่นที่คนไทยมีภาพจำแบบที่เรียกกันเองว่า "อาโนเนะ" อย่างสิ้นเชิง

อรรถ บุนนาค

มาทำความเข้าใจสังคมญี่ปุ่นให้รอบด้านมากขึ้นไปพร้อมๆกัน

"คนนอก" กลุ่มคนที่ญี่ปุ่น "ปฏิเสธ"

อรรถ บุนนาค เริ่มต้นอธิบายถึงสาเหตุที่ญี่ปุ่นมักแบ่งแยก "คนนอก" ของสังคมญี่ปุ่นว่า ด้วยความที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศหมู่เกาะ ซึ่งไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านบริเวณชายแดนเคยชินกับการอยู่กับชาติพันธุ์เดียว ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงมีวัฒนธรรมที่แบ่งแยก "ข้างใน" กับ "ข้างนอก" ซึ่งนำมาใช้ทั้งแบ่งทั้งเรื่องความรู้สึกส่วนตัวในชีวิตประจำวัน โดยคือความรู้สึกภายในเป็นเรื่องที่ต้องเก็บไว้ และการแสดงออกของความรู้สึกเป็นเรื่องภายนอก รวมไปถึงเรื่องการแบ่งด้วยว่า คนญี่ปุ่นเองเป็นคน "ข้างใน" และคนอื่นที่มาจากที่อื่นๆ เป็นคน "ข้างนอก" จึงมีการสร้าง "ความเป็นอื่น" ในสังคมญี่ปุ่นเกิดขึ้น และหากไม่ได้อยู่อาศัยในสังคมนั้นจะมองไม่เห็นเรื่องเหล่านี้

อรรถกล่าวถึงประสบการณ์ส่วนตัวว่า เขาเคยเจอการเหยียดในญี่ปุ่นมาเช่นกัน แม้ว่าหน้าตาและสำเนียงการพูดจะเหมือนญี่ปุ่นมาก แต่เมื่อคนญี่ปุ่นรู้ว่าตนเป็นต่างด้าวก็จะถูกเลือกปฏิบัติ แม้ว่าตนเองเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นที่ไม่ได้อยู่อาศัยในญี่ปุ่นก็รู้สึกได้ ส่วนการให้บริการต่างๆ ในทางธุรกิจ ญี่ปุ่นจะไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งสถานีรถไฟ โรงแรม ภัตตาคาร เพราะถือเป็นมาตรฐานการให้บริการของญี่ปุ่นที่ปฏิบัติต่อทุกคนเหมือนๆ กัน ฉะนั้น ถ้าแค่ไปเที่ยวญี่ปุ่นก็จะไม่รู้สึกถึงเรื่องนี้และรู้สึกประทับใจด้วย แต่เมื่อต้องไปอยู่และถูกปฏิบัติแบบเป็นส่วนตัว หรือตามร้านค้าแถวบ้านก็อาจรู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติ

"อีกประเด็นที่ทำให้คนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นไม่ระแคะระคายในประเด็นนี้คือสังคมญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชนเรื่องวัฒนธรรมต่างๆที่เป็นสากลนิยมแต่ต้องยอมรับว่าบางเรื่องภายในของคนญี่ปุ่นก็ยังมีเรื่องที่เขายอมรับไม่ได้เพียงแต่เขารู้ว่าต้องแสดงออกอย่างไรไม่ให้ถูกติเตียนในทางสากลแต่เราก็ห้ามไม่ให้คนญี่ปุ่นไม่คิด หรือยอมรับเรื่องเหล่านี้ (การเหยียดลูกครึ่ง) ก็คงไม่ได้"

"เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้จึงเกิดขึ้นโดยที่เรามองไม่เห็น มันไม่ออกมาในที่แจ้ง ในที่สาธารณะ มันผ่านการดูหมิ่นดูแคลนจากข้างในของเขา และมีการปฏิบัติต่อเรื่องพวกนี้แบบเนียนๆ คือเขาก็ให้สิทธิพื้นฐานคนเหล่านี้อย่างเท่าเทียม แต่มีการเลือกปฏิบัติได้น่ากลัวมากๆ"

ถ้าไม่ยอมรับ "ไม่มีวันมีตัวตน" ในญี่ปุ่น

กรณีที่สังคมญี่ปุ่น โดยเฉพาะในโรงเรียนมีการกลั่นแกล้งลูกครึ่ง และไม่ยอมรับพวกเขา จนกระทั่งกลุ่มลูกครึ่งญี่ปุ่นหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวว่า พวกเขาไม่เคยรู้สึกว่าสังคมญี่ปุ่นนับพวกเขารวมอยู่ในสังคมเลย อรรถ อธิบายว่า การที่ลูกครึ่งในญี่ปุ่นรู้สึกเช่นนั้น เพราะการกลั่นแกล้งลูกครึ่งของญี่ปุ่นไม่ได้หมายความถึงการกระทำทางร่างกาย แต่คือ "การเพิกเฉย" จนทำให้ลูกครึ่งเหล่านั้นแปลกแยก

"ญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่น่ากลัวอยู่อย่างหนึ่งคือเขามีวิธีการที่จะเพิกเฉยเรื่องนั้นๆ หรือตัดคนออกจากวงสังคมไปเป็นคนนอกได้ในวิถีชีวิตประจำวันและสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในการกลั่นแกล้งคนๆหนึ่งในโรงเรียนที่ทำงานหรือชุมชน ก็คือการทำให้เขาเหล่านั้นไม่มีตัวตนนั่นเอง ซึ่งก็คือการเพิกเฉย นั่นคือการกลั่นแกล้งอย่างหนึ่งที่คนญี่ปุ่นทำกัน"

สังคมซับซ้อน "ย้อนแย้งสูง"

อรรถ เปิดอีกมุมมองว่า กรณีลูกครึ่งมิสยูนิเวิร์สเจแปน ที่ถูกเลือกปฏิบัตินั้น หากเป็นลูกครึ่งเอเชียที่หน้าตาคล้ายคนญี่ปุ่นหรือเป็นเอเชียที่รูปลักษณ์ภายนอกเหมือนญี่ปุ่นทั่วๆ ไป ไม่ใช่นางงามลูกครึ่งผิวสี อาจไม่ถูกต่อต้านเท่านี้

อย่างไรก็ตาม ในสังคมญี่ปุ่นมีความย้อนแย้งสูงมากในการยอมรับหรือปฏิเสธลูกครึ่ง

กูรูญี่ปุ่นชี้ให้เห็นประเด็นนี้ได้ชัดเจนขึ้น โดยกล่าวว่า ในวงการดนตรีเพลงอาร์แอนด์บีของญี่ปุ่นกลับยอมรับกลุ่มลูกครึ่งผิวสี เพราะได้รับการตอบรับดีและใช้มาเป็นจุดขาย แต่กลุ่มคนเหล่านี้ก็เคยต้องต่อสู้อย่างมากในสังคมญี่ปุ่นมาก่อน คือเคยถูกกลั่นแกล้งมาเหมือนกัน ยกเว้นแต่ว่าไปเรียนในโรงเรียนนานาชาติ

"การที่วงการบันเทิงญี่ปุ่นนิยมลูกครึ่ง อาจอธิบายได้ว่า ญี่ปุ่นเขาจะแบ่งว่า เขามีวิถีชีวิตประจำวันปกติ กับชีวิตที่ไม่ใช่วิถีชีวิตประจำวันไม่ปกติ อย่างเรื่องงานเทศกาลต่างๆ หรือในวงการบันเทิง คนญี่ปุ่นก็ชอบทำอะไรบ้าๆ บอๆ ไม่ต้องแคร์อะไร เช่น ใส่เตี่ยวผืนเดียวลงน้ำ เป็นต้น ฉะนั้น เรื่องในวงการบันเทิง คนญี่ปุ่นจะมองว่ามันเป็นชีวิตที่ไม่ใช่วิถีชีวิตประจำวันไม่ปกติ ลูกครึ่งเหล่านั้นก็อาจได้รับการยกเว้นไป แต่ถ้ากลับมาอยู่ในวิถีชีวิตปกติ คนญี่ปุ่นก็จะกลับมาสู่การเป็นอนุรักษ์นิยม และกลับมาเกาะกลุ่มอยู่ในคนพวกเดียวกันเหมือนเดิม หรือต่อต้านคนแตกต่างเช่นเดิม"

"อาจจะค่อนข้างเข้าใจยาก ถ้าใช้มุมมองคนไทยมองความเป็นญี่ปุ่นที่ซับซ้อนตรงนี้ เพราะพื้นฐานสังคมนั้นต่างกัน

ถ้าอ้างอิงจาก หนังสือดอกเบญจมาศกับดาบซามูไร ที่เขียนโดย รูธ เบเนดิกตส์ นักคิดชาวตะวันตกที่เชี่ยวชาญเรื่องญี่ปุ่น เขาเขียนไว้ว่า คนญี่ปุ่นมีความสุดโต่งมาก 2 ทาง ในตัวคนๆ เดียว คือ เป็นคนสุภาพมาก และกักขละมาก หรือเป็นคนสะอาดมากและสกปรกมากในตัวคนๆ เดียว คือซับซ้อนมากๆ"

"คนญี่ปุ่นสมัยใหม่อายุราว 20 กว่าปี ก็ยังมีความคิดเรื่องเหยียดเชื้อชาติฝังอยู่ตลอดเวลา อีกปัจจัยคือ คนญี่ปุ่นมีความคิดว่า ตนเองเหนือคนอื่น จึงภาคภูมิในตนเองสูงมากๆ แต่จริงๆ หลังจากเศรษฐกิจฟองสบู่ ญี่ปุ่นอาจมีความรู้สึกว่าตัวเองเหนือคนอื่นลดน้อยลง"

ญี่ปุ่นไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็น "เอเชีย"

อรรถเล่าว่า อีกประเด็นที่คนไทย ควรต้องทำความเข้าใจคนญี่ปุ่น ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุของการเหยียดคนต่างชาติคือ ญี่ปุ่นไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนเอเชีย แต่จะให้คุณค่ากับชาวตะวันตกมากกว่า คนญี่ปุ่นจะมีปมบางอย่างที่เคารพคนตะวันตกมากกว่า เช่น คนญี่ปุ่นรู้สึกว่าตนแพ้อเมริกา ไม่ได้หรูหรารสนิยมเท่าฝรั่งเศส ญี่ปุ่นไม่ได้รุ่มรวยทางอาหารเท่าอิตาลี แต่ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็จะกดคนเอเชีย โดยจะไม่รวมตัวเองเข้ากับคนเอเชีย และเรียกวัฒนธรรมและชนชาติในเอเชียโดยรวมว่า "พวกเอเชีย" หรือ "อาหารเอเชีย" ขณะที่เรียกชาติตะวันตกแยกตามประเทศต่างๆ

"เขาจะคิดว่าทั้งวัฒนธรรมและอาหารของชาติเอเชียนั้นเป็นวัฒนธรรมรวมๆกันของเอเชียเช่นอาหารไทย กัมพูชา เกาหลี จีน เขาจะถือว่าเป็นอาหารเอเชีย แต่ถ้าอาหารอิตาลีเรียกว่า อาหารอิตาลี อาหารฝรั่งเศส ก็เรียกแยกเป็น อาหารฝรั่งเศส"

นอกจากนี้ อรรถเล่าว่า เคยมีกรณีที่เพื่อนซึ่งชอบแต่งตัวแฟชั่นเล่าให้ฟังว่า เคยถูกคนญี่ปุ่นนินทาต่อหน้าเพราะคิดว่าฟังภาษาญี่ปุ่นไม่ออก โดยพูดว่า "เฮ้อ! คนเอเชีย ทำยังไงก็ไม่สามารถพัฒนารสนิยมได้ นี่น่าจะพยายามสุดตัวสิ"

นี่จึงเป็นอีกเรื่องที่สะท้อนว่าญี่ปุ่นค่อนข้างมองคนชาติอื่นในเอเชียต่ำกว่าตัวเอง

ไม่ง่าย! เป็น "นักเรียนต่างชาติ" ในญี่ปุ่น

นอกจากการไม่ยอมรับลูกครึ่งในญี่ปุ่นแล้ว ญี่ปุ่นยังเลือกปฏิบัติต่อชาวต่างชาติในญี่ปุ่นด้วย

กูรูญี่ปุ่น เล่าว่า นักเรียนต่างชาติในญี่ปุ่นเป็นพลเมืองชั้นสอง ถ้าไปเป็นนักเรียนต่างชาติในญี่ปุ่นจะรู้สึกได้ชัดเจน เช่น การหาบ้านเช่าของนักเรียนต่างชาติญี่ปุ่นก็เป็นเรื่องลำบาก เพราะนักเรียนต่างชาติต้องทำบัตรชาวต่างด้าวในญี่ปุ่น และคนญี่ปุ่นจะไม่ค่อยรับชาวต่างด้าวให้เช่าบ้านเพราะคนญี่ปุ่นมีความคิดว่าคนต่างด้าวชอบก่อเรื่องไม่ว่าจะเป็นชาติไหนก็ตามเช่นคิดว่าชาวต่างด้าวอาจทำเสียงดังและไม่ทำตามระเบียบสังคมญี่ปุ่นฉะนั้นจะใช้เวลานานมากที่จะหาบ้านให้เช่าได้สักหลังสำหรับนักเรียนต่างด้าว

"ชาวต่างด้าวต้องขึ้นทะเบียนในญี่ปุ่นด้วยการปั๊มลายนิ้วมือ ซึ่งต้องตั้งคำถามว่าทำไมคุณต้องเก็บลายนิ้วมือคนต่างชาติ เพราะสังคมญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เคารพเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมด้านข้อมูลมาก คนญี่ปุ่นเองนั้นไม่มีบัตรประชาชน เขาจะใช้ทะเบียนบ้าน บัตรนักเรียน บัตรพนักงาน หรือพาสปอร์ตในการทำธุรกรรม"

อรรถ เล่าประสบการณ์ของเพื่อนตนเองที่เรียนจบปริญญาเอกที่ญี่ปุ่น และเคยถูกเลือกปฏิบัติว่า เพื่อนของเขาสอบเข้าทำงานกับบริษัทข้ามชาติชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่นได้ ซึ่งดูเหมือนว่าจะได้รับการยอมรับจากคนญี่ปุ่นใช่มั้ย แต่ต้องมาเจอเหตุการณ์ที่โดนเหยียดคือ บริษัทมีการสอบมาตรฐานในการทำงานทุกปี และเพื่อนสอบได้ที่ 1 ของบริษัท แต่ฝ่ายบุคคลของบริษัทไม่ยอมให้เขาสอบได้ที่ 1 เพราะเขาเป็นชาวต่างชาติ โดยมีฝ่ายบุคคลมาแจ้งตรงๆ เป็นการส่วนตัวว่าเป็นเพราะเหตุนี้ ซึ่งเขารู้สึกเฮิร์ทมาก จากนั้น เขาก็พยายามเปลี่ยนสัญชาติเป็นคนญี่ปุ่น เพื่อให้ได้ตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงกว่า แต่พอเปลี่ยนสัญชาติก็ยังไม่ได้รับการยอมรับจากคนญี่ปุ่นอย่างเท่าเทียม

ในญี่ปุ่น "เกาหลี" อยู่ยาก!

อรรถ ขยายประเด็นปัญหาการเหยียดเชื้อชาติในญี่ปุ่น โดยกล่าวถึงชาวเกาหลีเหนือหรือเกาหลีใต้ที่ย้ายรกรากมาอยู่ญี่ปุ่นเป็นเจเนอเรชั่นที่ 2 ซึ่งถูกเหยียด แม้ว่าจะดูจากรูปลักษณ์ภายนอก หน้าตานั้นจะดูไม่ออก และการพูดภาษาญี่ปุ่น ก็สามารถพูดได้แบบเจ้าของภาษาก็ตาม โดยหากเด็กเหล่านี้ไปเรียนในโรงเรียนญี่ปุ่นต้องไม่บอกว่าเป็นชาวเกาหลีรุ่น 2 เพราะไม่งั้นจะโดนกลั่นแกล้ง ซึ่งหากถ้าต้องเทียบกับลูกจีนในไทย หน้าตายังดูออกมากกว่า แต่คนจีนรุ่น 2 หรือ 3 ในไทย ไม่ได้ถูกกดขี่แบบนี้

"ญี่ปุ่นจะมีข้อฝังใจกับเกาหลีค่อนข้างมาก อาจเป็นเพราะเป็นเรื่องการเมืองในประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามโลก เคยมีกรณีที่เป็นข่าว ในญี่ปุ่นจะมีโรงเรียนสำหรับชาวเกาหลีที่มีเครื่องแบบนักเรียนคล้ายชุดประจำชาติเกาหลีที่ถูกนำมาตัดมาดัดแปลงเป็นเครื่องแบบนักเรียนเด็กเหล่านี้เคยมีข่าวถูกลวนลามบนรถไฟและเคยมีกรณีว่าเด็กที่ใส่ชุดนี้ถูกหินเขวี้ยงใส่กรณีอย่างนี้มีคนคิดว่าไม่เป็นไรเพราะพวกเขาเป็นพลเมืองชั้นสอง แต่มันจะเป็นข่าวที่ญี่ปุ่นพยายามไม่ให้มันผุดขึ้นมา เพราะญี่ปุ่นคิดว่าเป็นความน่าอับอาย แต่ก็เป็นที่รู้กันในหมู่คนเกาหลีในญี่ปุ่นที่โกรธแค้นต่อเรื่องเหล่านี้

"ปัจจุบัน คนเหล่านี้จะพยายามเปลี่ยนนามสกุลให้เหมือนคนญี่ปุ่น แต่คนญี่ปุ่นก็จะมีวิธีทำให้รู้อยู่ดี อย่างเรื่องการรับเข้าทำงานต่างๆ ถ้ามีการสืบประวัติได้ว่าเป็นคนเกาหลีในญี่ปุ่นก็จะถูกสกัดแบบกลายๆ โดยจะให้โอกาสชาวญี่ปุ่นแท้ก่อน กลุ่มคนเกาหลีรุ่นที่สองจึงหันไปทำอาชีพแบบธุรกิจส่วนตัวมากกว่า เช่น ร้านปาจิงโกะ ร้านอาหาร หรือเป็นดารา นักร้อง

"มีบางกลุ่มที่พยายามพูดปัญหาเรื่องวิกฤตของชาวเกาหลีรุ่น 2 ในญี่ปุ่นเหล่านี้ แต่เป็นส่วนน้อย บางรายการโทรทัศน์ นิตยสาร วารสาร หรืออาจารย์มหาวิทยาลัยชึ้นนำที่เป็นคนเกาหลีในญี่ปุ่นพยายามพูดถึงปัญหาเหล่านี้ เพื่อให้คนเกาหลีญี่ปุ่นได้รับการยอมรับ และคนเกาหลีเหล่านี้มักจะแต่งงานกับชาวเกาหลีรุ่น 2 ด้วยกันมากกว่า ถ้าจะแต่งกับคนญี่ปุ่นด้วยกัน ก็ต้องเป็นครอบครัวที่เปิดกว้างมากๆ " อรรถกล่าว

"จัณฑาล" ในญี่ปุ่นก็มีด้วย ?

มุมมืดของญี่ปุ่นเรื่องปัญหาการเหยียดคนหลายกลุ่มนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะคนต่างเชื้อชาติเท่านั้น แต่กับคนเชื้อสายญี่ปุ่นก็มีปัญหานี้เช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นมาตั้งแต่อดีต และแทบไม่แพร่งพรายออกไปยังสังคมภายนอก

อรรถ เปิดเผยว่า ในสังคมญี่ปุ่นมีกลุ่ม "จัณฑาล" ซึ่งก็คือ ชาวญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจการฆ่า เช่น ทำโรงฆ่าสัตว์ ทำเครื่องหนัง กระเป๋าหนัง และรองเท้าหนัง เนื่องจากชาวญี่ปุ่นคิดว่านี่เป็นธุรกิจที่สกปรก ต้องแปดเปื้อน และเป็นงานที่ให้คนเฉพาะเท่านั้นทำจึงไม่มีการแต่งงานข้ามกลุ่มขึ้น มีแต่คนกลุ่มนี้เท่านั้นแต่งงานกันเอง และเนื่องจากคนญี่ปุ่นจะมีการสืบเชื้อสายค่อนข้างละเอียดเวลาจะแต่งงานกัน และก็มีการสืบให้รู้ว่า เป็นคนจัณฑาลเหล่านี้หรือไม่ถ้าใช่ก็จะถูกปฏิเสธ

"คนเหล่านี้มีทั้งเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จร่ำรวยด้วยและมีบางคนเป็นดาราด้วยเคยมีเรื่องเล่าว่า เคยมีดาราสาวญี่ปุ่นที่สวยมากและดังมาก เป็นระดับไอดอลในยุค 90 เธอมีโอกาสจะได้แต่งงานกับนักซูโม่ชื่อดัง ฝีมือระดับท็อปของญี่ปุ่น ที่ประกาศหมั้นกันแล้ว แต่ถูกถอนหมั้น ซึ่งสาเหตุไม่ได้มาจากการหมดรักหรืออะไร แต่เป็นเพราะว่า เธอสืบเชื้อสายจัณฑาล"

เหยียบ "มุมมืด" ไว้ให้มิดชิด

กูรูญี่ปุ่นเล่าถึงการปกปิดประเด็นจัณฑาลจากประสบการณ์ส่วนตัวว่า ตนเคยเป็นล่ามเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ซึ่งต้องมีการเจรจาต่อรองกับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ และไทยจะเจาะตลาดต่อรองได้เกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม มีทั้งมากบ้าง น้อยบ้าง แต่มีอุตสาหกรรมกลุ่มหนึ่งที่ไทยไม่เคยสามารถเจาะได้เลยคือ กลุ่มอุตสาหกรรมการทำกระเป๋าและรองเท้า ซึ่งเป็นเครื่องหนัง และที่ไม่เคยได้รับโควต้าใดๆ จากกลุ่มอุตสาหกรรมนี้เลย ในระหว่างการเจรจารัฐบาลญี่ปุ่นจะข้ามหัวข้อกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ไป โดยทางเอกชนและรัฐบาลไทยก็พยายามมากที่จะต่อรองกับกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ จนฝ่ายไทยมีการตั้งคำถามมากๆ ว่า ทำไมเจาะกลุ่มนี้ไม่ได้ กระทั่งต้องมีกระซิบบอกเจ้าหน้าที่ถึงปัญหาเรื่องทางมนุษยวิทยาและสังคมของญี่ปุ่น เรื่องจัณฑาลนี้เป็นเรื่องอ่อนไหวมากๆ และญี่ปุ่นไม่สามารถบอกเหตุผลตรงๆ ได้ เพราะเรื่องนี้น่าอับอาย รัฐบาลญี่ปุ่นอยากจะปกป้องผลประโยชน์ให้กลุ่มคนพวกนี้ เนื่องจากในสังคมของเขา คนเหล่านี้ไม่ได้รับความเท่าเทียมกันทางสังคมอยู่แล้ว จึงอยากชดใช้ให้ได้ประโยชน์เหล่านี้

"เรื่องแบบนี้ ญี่ปุ่นไม่สามารถพูดได้ แม้รู้อยู่เต็มอก ต้องปกปิดเอาไว้ เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เหมือนมีประชาธิปไตย และเหมือนจะไม่มีปัญหาทางด้านชนชั้นที่ไม่เท่าเทียม เรื่องนี้อ่อนไหวมาก เหมือนเป็นแผลทางประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่มีมานานและต้องปกปิด" กูรูญี่ปุ่นแชร์ประสบการณ์

อาชีพอิสระไม่เป็นหลักแหล่ง ไม่ใช่ "ฮิปสเตอร์ญี่ปุ่น" !

กูรูญี่ปุ่น ขยายประเด็นไปสู่การเพิ่มกลุ่มคนที่ถูกเหยียดในสังคมญี่ปุ่นถูกสร้างขึ้นใหม่เรื่อยๆ ล่าสุด มีการสร้างชนชั้นใหม่ๆ ที่เหยียดกันเกิดขึ้นเรียกว่าพวก "นีโตะ" ซึ่งเป็นผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแล้ว เป็นผู้ใหญ่เต็มวัย แต่ล่องลอยไปเรื่อย ไม่มีงานทำจริงจัง หรือรับจ้างทำงานไปเรื่อยๆ ไม่ใช่งานประจำ หรือถ้าเป็นฟรีแลนซ์ที่ไม่ได้ขึ้นมาเป็นนักวาดการ์ตูนชื่อดังก็อาจถูกจัดว่าเป็นพวก "นีโตะ" เช่นกัน

"ถ้าเป็นเมืองไทย เราเจอคนแบบนี้ก็จะถูกจัดว่า อุ๊ย! นี่ฮิปสเตอร์ เก๋ มีวิถีของตัวเอง แต่กับสังคมญี่ปุ่นก็จะคิดว่าไม่ได้เป็นพวกอยู่ในระบบ ก็กลายเป็นพวกที่ถูกเหยียดขึ้นมาในสังคมญี่ปุ่น หรือพวกที่ไม่ได้อยู่ในระบบ อีกพวกที่ถูกเหยียดคือพวกโฮมเลส เพราะในญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้มาเป็นเพราะความยากจน แต่เขาเป็นคนที่ไม่สามารถจะอยู่ในระบบสังคมหรือการทำงานของญี่ปุ่นได้ พวกเขาล้มเหลวในการใช้ชีวิตในระบบญี่ปุ่น บางคนก็มีครอบครัวแล้ว มีงานทำแล้ว แต่หนีออกมาใช้ชีวิตแบบโฮมเลสและจะถูกปฏิบัติอีกแบบจากสังคมญี่ปุ่นซึ่งเป็นปัญหาที่ญี่ปุ่นพยายามปกปิด แต่เรื่องนี้ก็เห็นได้ง่าย เพราะโฮมเลสก็มีอยู่ทั่วไปตามสวนสาธารณะในญี่ปุ่น"

"ญี่ปุ่นเป็นสังคมขมึงเครียดมาก ก็ถึงบอกว่าไปเที่ยวเนี่ยอยู่สบาย แต่ไปอยู่เนี่ยยากกก"

คือประโยคที่อรรถ ทิ้งท้ายสรุปประเด็นปัญหาการเหยียดในสังคมญี่ปุ่น



เรียบเรียงโดยประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ติดตามข่าวสารผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊คประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์@prachachat