เห็นมา เขียนไป

เห็นมา เขียนไป วันที่ 9 พฤศจิกายน 2562

คริสตาลีนา กอร์เกียว่า กก.ผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ให้ความเห็นถึงภาวะเศรษฐกิจประเทศไทย

โดยชี้ว่าขณะนี้เผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยด้านต่างประเทศและในประเทศ

ปัจจัยด้านต่างประเทศ ได้แก่ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศที่เป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจ ถือเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน เป็นตัวเร่งให้เกิดเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และส่งผลต่อการแข็งค่าของเงินสกุลต่างๆ อย่างรวดเร็ว

ล้วนเป็นข้อจำกัดต่อขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน

กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟชี้ว่าปัจจัยภายประเทศนั้น ไทยต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ทั้งจากภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำมานาน หนี้ภาคครัวเรือนที่พุ่งสูง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความเหลื่อมล้ำในภูมิภาคต่างๆ และความจำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ขณะเดียวกัน ก็ถือว่าประเทศไทยโชคดีที่เสถียรภาพด้านต่างประเทศยังเข้มแข็ง เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ถือเป็นกันชนที่ดี อีกทั้งยังมีขีดความสามารถเพียงพอที่จะใช้นโยบายการเงินการคลัง เพื่อรับมือกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกได้

แต่ต้องเก็บไว้ใช้ในภาวการณ์ข้างหน้าที่ยังไม่แน่นอนด้วย

นอกจากนี้ ยังเตือนว่าการเลือกใช้ หรือการออกแบบนโยบายการคลังใน การกระตุ้นเศรษฐกิจ จะต้องใช้อย่างระมัดระวัง ไม่ใช่การให้เงินเพียงอย่างเดียว ต้องมีกลไกมารองรับ และควรคำนึงถึงการยกระดับภาคผลิตของประเทศ ความสามารถด้านการคลังเพื่อประโยชน์ระยะยาวด้วย

ที่ผ่านมา รัฐบาลคสช.ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลนี้ ใช้เงินจำนวนมหาศาลกระตุ้นเศรษฐกิจและประชานิยมในนามประชารัฐ เพื่อหวังชนะการเลือกตั้ง

มีการใส่เม็ดเงินไปในบัตรคนจน และสวัสดิการผู้สูงอายุครั้งแล้วครั้งเล่า

มาตรการชิม ช้อป ใช้ ละเลงมา 2 ครั้งแล้ว และกำลังจะเข็นออกมาอีกครั้งที่ 3

ฟังความเห็นไอเอ็มเอฟบ้างก็น่าจะดี