ความ‘ซวย’ของประชาชน – ยังสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างแสนสาหัส
สำหรับปัญหาฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 ที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้เมืองใหญ่ของประเทศไทย ติดอันดับโลกอากาศยอดแย่เป็นว่าเล่น
ซึ่งจะส่งผลถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งหมดในลักษณะตายผ่อนส่ง โดยเฉพาะเด็กและคนชรา
สิ่งที่เกิดขึ้น จึงกลายเป็นคำถามต่อรัฐบาลว่ามีแนวทางใดที่จะแก้ไขปัญหาให้เกิดผลเป็นรูปธรรม หรืออย่างน้อยควบคุมปัญหาเหล่านี้ไม่ให้ลุกลามบานปลาย
เพราะเท่าที่เห็นแม้รัฐบาลจะประกาศเรื่องฝุ่นพิษเป็นวาระแห่งชาติ แต่ก็ไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาควบคุมดูแล
จะมีก็แค่ออกมาโวยวายว่าอย่าโทษแต่รัฐบาล ให้ทุกคนช่วยเหลือตัวเอง รวมทั้งอย่าตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากทำได้แค่นี้ก็ไม่เข้าใจจริงๆ ว่า ยังจำเป็นจะต้องมีรัฐบาลอยู่อีกหรือไม่
ที่สำคัญคือปัญหาเรื่องนี้ไม่ใช่ว่าเพิ่งเกิดขึ้น เพราะหากย้อนไปช่วงเวลานี้ของปีที่แล้ว ปัญหาฝุ่นพิษก็เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน
แถมสัญญาณของปีนี้ ก็เริ่มรุนแรงมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แล้วทำไมถึงไม่มีแนวทางใดๆ ออกมาให้ชัดเจน
อย่างน้อยก็เรื่องรถยนต์ดีเซล คุณภาพน้ำมัน โรงงานอุตสาหกรรม หรือการเผาในที่แจ้ง
แน่นอนว่าถึงที่สุดแล้วประชาชนทุกคนย่อมต้องช่วยเหลือตัวเอง แต่ก็ควรจะมีแนวทางหรือหลักยึดใดๆ จากรัฐบาล ที่เข้ามาใช้ภาษีของคนทั้งชาติเป็นตัวนำ
ไม่ใช่แก้ปัญหากันอย่างสะเปะสะปะไร้ทางออก จนสงสัยอย่างยิ่งว่ารัฐบาลรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น หรือให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวขนาดไหน
หรือเป็นเพราะไม่ได้กระทบกับตัวเองโดยตรง ไปไหนมาไหนก็นั่งรถเก๋งคันโต เข้าทำงานในห้องแอร์ มีเครื่องฟอกอากาศครบครัน เลยไม่รู้ถึงความทุกข์ยากของประชาชน ที่ต้องอดทนอยู่กับสภาพอากาศเช่นนี้อย่างไม่มีทางเลือก
เพราะหากมีเงินทองมหาศาล ก็คงตีตั๋วไปตากอากาศที่เมืองนอกให้สบายอารมณ์ ไม่ต้องมาทนดมฝุ่นอยู่อย่างนี้
หรือเป็นเพราะรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มาจากประชาชน เลยไม่จำเป็นต้องเห็นหัวกัน
ก็คงถือเป็นความ ‘ซวย’ ของประชาชนในยุคสมัยนี้อย่างช่วยไม่ได้จริงๆ