เห็นมา เขียนไป

เห็นมา เขียนไป วันที่ 26 มีนาคม 2565

“โรคประจำถิ่นคืออะไร และประเภทของโรคติดต่อตามกฎหมาย”

ระดับโรคติดต่อ แบ่งได้อย่างน้อย 4 ระดับ ตามจำนวนผู้ป่วยที่พบ เทียบกับค่าคาดการณ์การแพร่กระจายในเชิงภูมิศาสตร์ ได้แก่

การระบาด (Outbreak) หมายถึง เหตุการณ์ที่มีผู้ป่วยมากผิดปกติ เช่น พบผู้ป่วยตั้งแต่ 2 รายขึ้นไปในระยะเวลาอันสั้นหลังร่วมกิจกรรมกัน พบผู้ป่วยมากกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลังในพื้นที่และช่วงเวลาเดียวกัน หรือพบผู้ป่วยโรคที่ไม่เคยพบในพื้นที่นั้นมาก่อนเพียง 1 ราย ยกตัวอย่าง การระบาดของไข้หวัดใหญ่ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง, การระบาดของไข้เลือดออกในจังหวัดแห่งหนึ่ง

โรคระบาด (Epidemic) หมายถึง การระบาดที่แพร่กระจายมากขึ้นในเชิงภูมิศาสตร์ เช่น โรคติดเชื้อไวรัสซิกาในละตินอเมริกา ปี 2014, โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในทวีปแอฟริกาตะวันตกระหว่างปี 2014-2016

การระบาดใหญ่ (Pandemic) หมายถึง การระบาดที่แพร่กระจายไปทั่วโลก เช่น ไข้หวัดใหญ่ปี 1918 (ไข้หวัดสเปน), ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009, โควิด-19

โรคประจำถิ่น (Endemic) หมายถึง โรคที่มีอัตราป่วยคงที่ในพื้นที่ และมักคาดการณ์ได้ว่าส่วนใหญ่จะพบในพื้นที่ใด ฤดูไหน จำนวนมากน้อยเท่าไร เช่น ไข้เลือดออกในมากกว่า 100 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยซึ่งพบผู้ป่วยตลอดทั้งปีและมากขึ้นในฤดูฝน ไข้มาลาเรียในทวีปแอฟริกา หากในพื้นที่นั้นมีการระบาดของโรคประจำถิ่นในระดับสูงจะเรียกว่า Hyperendemic

ประเภทของโรคติดต่อตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 นิยาม ‘โรคติดต่อ’ หมายถึง โรคที่เกิดจากเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรค ซึ่งแพร่โดยตรงหรือทางอ้อมมาสู่คน แบ่ง 3 ประเภท ได้แก่ โรคติดต่ออันตราย หมายถึง โรคที่มีความรุนแรงสูงและสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นเร็ว รมต.ว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็น ผู้ประกาศ ปัจจุบันมี 14 โรค เช่น กาฬโรค, ไข้ทรพิษ, ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก, ไข้เหลือง, ไวรัสอีโบลา, โรคซาร์ส, โรคเมอร์ส และล่าสุดคือ โควิด-19 ที่ประกาศเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563

โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หมายถึง โรคติดต่อที่ต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ หรือจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ประกาศ ปัจจุบันมีทั้งหมด 55 โรค เช่น กามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง, การติดเชื้อในโรงพยาบาล, ไข้เลือดออก, ไข้หวัดนก, ไข้หวัดใหญ่, บาดทะยัก, พยาธิใบไม้ตับ, โรคพิษสุนัขบ้า ฯลฯ

โรคระบาด หมายถึง โรคติดต่อหรือโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคแน่ชัด ซึ่งอาจแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง หรือมีภาวะของการเกิดโรคมากผิดปกติกว่าที่เคยเป็นมา ซึ่งตั้งแต่ประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ยังไม่เคยประกาศให้โรคใดเป็นโรคระบาด ความแตกต่างระหว่างโรคติดต่อทั้ง 3 ประเภทนี้ ที่สำคัญคือการรายงานโรคและมาตรการในผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัส

โดย นพ.ชนาธิป ไชยเหล็ก เผยแพร่ทางเว็บไซต์ thestandard.co