เห็นมา เขียนไป

ทิวสน
เห็นมา เขียนไป 25 พฤษภาคม 2567

พิธีรับมอบ "Golden Boy" - "สตรีพนมมือ" ถือเป็นสมบัติของคนไทยทุกคน

วัน 21 พ.ค. 2567 น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีรับมอบ โบราณวัตถุ ประติมากรรมสําริดรูปพระศิวะ หรือที่รู้จักในนาม "Golden Boy" และประติมากรรมรูป "สตรีพนมมือ" จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะ The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

น.ส.สุดาวรรณ รมว.วธ. กล่าวว่า โบราณวัตถุ ที่ประเทศไทยได้รับคืนจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน สหรัฐอเมริกา ครั้งนี้ ถือเป็นสมบัติของประชาชนชาวไทยทุกคน เป็นหลักฐานแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของดินแดนประเทศไทยในอดีตเมื่อกว่าพันปี จัดเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของชาติ ควรค่าแก่ความภาคภูมิใจ

โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2566 กรมศิลปากร ได้รับการประสานจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน สหรัฐอเมริกา ว่ามีความประสงค์ส่งมอบโบราณวัตถุ จำนวน 2 รายการ คืนให้กับประเทศไทย ประกอบด้วย ประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ "The Standing Shiva" หรือ ที่รู้จักกันในนาม โกลเด้นบอย "Golden Boy" และประติมากรรมรูป "สตรีพนมมือ" (The Kneeling Female) เนื่องจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันพบว่า โบราณวัตถุดังกล่าว ถูกลักลอบนำออกนอกราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมาย จึงได้ถอดโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการ ออกจากบัญชีของพิพิธภัณฑ์ และประสานขอส่งคืนให้ประเทศไทย กระทั่งพิพิธภัณฑ์ได้ส่งโบราณวัตถุกลับคืนถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ด้าน นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า โบราณวัตถุ ที่ได้รับมอบคืนมานี้เป็นโบราณวัตถุที่มีความสำคัญ แสดงถึงร่องรอยหลักฐานความรุ่งเรืองของการหล่อโลหะสัมฤทธิ์ในดินแดนที่ราบสูงโคราช อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือมีอายุราวเกือบ 1,000 ปีมาแล้ว ถือเป็นประติมากรรมรูปบุรุษสวมเครื่องทรงแบบบุคคลชั้นสูงและเป็นโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยม ซึ่งพบไม่มากนัก มีเทคนิคการสร้างแบบพิเศษ คือหล่อด้วยสัมฤทธิ์และกะไหล่ทอง ส่วนประติมากรรมสตรี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 เช่นกัน อยู่ในท่านั่งชันเข่าและยกมือไหว้เหนือศีรษะ แต่งกายแบบบุคคลชั้นสูง หล่อด้วยสัมฤทธิ์มีร่องรอยการประดับด้วยโลหะเงินและทอง

ขณะที่ นาย John Guy ภัณฑารักษ์ แผนกศิลปะเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน นครนิวยอร์ก กล่าวว่าการส่งมอบ โบราณวัตถุ คืนให้แก่ประเทศไทยในวันนี้ รวมไปถึงการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทโพลิทันและกรมศิลปากรเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นก้าวสำคัญในการต่อยอดความร่วมมือจากการหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่องของทั้งสองฝ่าย

ซึ่งการส่งมอบ โบราณวัตถุ จำนวน 2 รายการ กลับคืนสู่ประเทศไทย สืบเนื่องจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันตรวจสอบข้อมูลแล้วยืนยันว่า โบราณวัตถุ ดังกล่าวเป็นของราชอาณาจักรไทยโดยสิทธิอันชอบธรรมการส่ง เพื่อแสดงถึงการที่เดอะเม็ทให้ความสำคัญกับที่มาอันถูกต้องของโบราณวัตถุในครอบครอง

สําหรับ ประติมากรรมมสำริดรูปพระศิวะ องค์นี้มีความโดดเด่นในแง่ของคุณภาพของและความประณีต รวมถึงการตกแต่งด้วยการกะไหล่ทองซึ่งยังคงอยู่แม้ผ่านมานับพันปี โดยประติมากรรมทั้งสองชิ้นหล่อด้วยกระบวนการสูญขี้ผึ้ง มีแกนเหล็กที่ยื่นออกมาจากส่วนมงกุฎถึงเท้า

เมื่อตรวจสอบพระพักตร์ของทั้งพระศิวะและสตรีนั่งชันเข่าโดยละเอียด พบว่าทั้งสององค์มีการตกแต่งด้วยการฝังแก้ว หินผลึก และโลหะที่แตกต่างกัน คือทองคำและเงิน พระเนตรของพระศิวะล้อมด้วยเงิน และพระเนตรดำอาจเคยมีหินคริสตัลฝังอยู่ หนวดและเคราก็มี ร่องรอยการประดับตกแต่งด้วยการฝังวัตถุเช่นเดียวกัน โดยประติมากรรมทั้งสองชิ้นนี้ติดตั้งอยู่บนแท่นหินในเทวสถาน ที่สร้างด้วยศิลาแลงหรืออิฐ สว่างไสวด้วยตะเกียงน้ำมันทําให้ประติมากรรมทั้งสองนี้จึงมีอำนาจและสง่างามน่าหลงใหล

ทั้งนี้ทาง กรมศิลปากร จะเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าชมความงามของโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการ พร้อมทั้งเคลื่อนย้ายประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่ขุดพบจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษที่มีรูปแบบใกล้เคียงกับประติมากรรมโกลเด้นบอย จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย มาจัดแสดงร่วมกัน ณ ห้องลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป