เห็นมา เขียนไป

เห็นมา เขียนไป วันที่ 16 พฤษภาคม 2563

เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในสภาวะวิกฤตที่ยังไม่รู้จุดจบแน่ชัด จากผลของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบในเกือบทุกสาขาธุรกิจ โดยมีความรุนแรงเป็นพิเศษในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว วิกฤตดังกล่าวเป็นความเสี่ยงต่อตลาดแรงงานซึ่งมีสัญญาณความอ่อนแอมาตั้งแต่ในช่วงก่อนหน้า

โดยกลุ่มแรงงานที่มีความเสี่ยงสูงคือกลุ่มลูกจ้างชั่วคราว ผู้ประกอบอาชีพอิสระและลูกจ้าง SMEs ซึ่งมีจำนวนรวมกัน สูงถึง 23.4 ล้านคน คิดเป็น 62.2%

เมื่อพิจารณาประกอบกันทั้งในด้านสาขาธุรกิจและลักษณะการจ้างงาน จะพบว่าแรงงานกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด จะเป็นกลุ่มลูกจ้างชั่วคราว ผู้ประกอบอาชีพอิสระและลูกจ้าง SMEs ที่ทำงานในธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งมีจำนวนรวมกันถึง 6.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 17.3% ของจำนวนการจ้างงานรวม รองลงมาเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจท่องเที่ยว และกลุ่มที่มีลักษณะการจ้างงานเดียวกันในธุรกิจที่ได้รับผล กระทบรองลงไปคือ ภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง และก่อสร้าง

จากระดับความเสี่ยงดังกล่าว ประเมินว่า จำนวนผู้ว่างงานจะเพิ่มขึ้นสูงถึงราว 3-5 ล้านคน ซึ่งจะคิดเป็นอัตราการว่างงานประมาณ 8-13% ของกำลังแรงงานรวมปัจจุบัน ถือเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมาในปี 1985 โดยจะสูงกว่าสถิติอัตราการว่างงานสูงสุดเดิมที่ 5.9% ในปี 1987 ทิ้งห่างอัตราการว่างงานในวิกฤตต้มยำกุ้งที่ 3.4% ในปี 1998 และในวิกฤตการเงินโลกปี 2008-09 ที่ 1.5% ในปี 2009

สาเหตุที่การว่างงานในครั้งนี้มีแนวโน้มที่จะสูงกว่าในอดีต เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนที่มีความเปราะบางสะสมตั้งแต่ ในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับมีมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งจำเป็นต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค แต่ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักฉับพลันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อีกทั้งภาคเกษตรที่เคยเป็นแหล่งดูดซับแรงงานก็มีแนวโน้มที่จะมีข้อจำกัดจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง

มองว่าหากผลกระทบลากยาวไปจนถึงครึ่งปีหลังหรือนานกว่านั้น จำนวนผู้ว่างงานจะเพิ่มสูงขึ้นได้มากกว่าที่ประเมินไว้ข้างต้น จากกิจการที่จะมีการปิดตัวลงมากขึ้น

ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังภาคครัวเรือน โดยครัวเรือนไทยประมาณ 60% มีสินทรัพย์ทางการเงินไม่เพียงพอใช้จ่ายเกิน 3 เดือน