เห็นมา เขียนไป

เห็นมา เขียนไป วันที่ 23 พฤศจิกายน 2562

โลกจับตา-ชื่นชมการคลี่คลายคดีบิลลี่ – จากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่อุทยานบุกขับไล่ชุมชนกะเหรี่ยงเมื่อปี 2554 ปรากฏเป็นหลักฐานภาพถ่ายมีการเผาบ้าน เผายุ้งฉาง เครื่องมือการเกษตรต่างๆ นับจากนั้นมาเรื่องของชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย เริ่มเป็นที่จับตาขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก

จากนั้น เมื่อชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของชุมชนตนเอง ก็ได้รับความสนใจมาตลอด

จนกระทั่งบิลลี่หรือพอละจี รักจงเจริญ หัวเรี่ยวหัวแรงรวบรวมพยานหลักฐานในการต่อสู้คดีกับนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรและเจ้าหน้าที่อุทยานที่บุกรุกขับไล่ เกิดหายตัวไปอย่างเป็นปริศนา

นักสิทธิมนุษยชนทั่วโลก จึงยิ่งจับจ้องมายังมือกฎหมายไทย

จนล่าสุดเมื่อ ดีเอสไอสามารถติดตามพบชิ้นส่วนที่พิสูจน์ได้ว่าบิลลี่ตายแล้ว จนนำมาสู่การตั้งข้อหากับอดีตหัวหน้าอุทยานและพวก

จึงทำให้สายตาที่เฝ้ามองจากทั่วโลก เริ่มชื่นชมยินดีในระบบยุติธรรมบ้านเรา!

ดังเช่น มีแถลงการณ์จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยแสดงความยินดีกับการออกหมายจับบุคคลสี่คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวและฆาตกรรมนายบิลลี่

รวมทั้งชี้ว่า การดำเนินการโดยดีเอสไอในการนำผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

เป็นก้าวที่สำคัญในการยุติวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดที่ได้เกิดขึ้นกับคดีนี้ในช่วงเวลาสี่ปีที่ผ่านมา!

นั่นเป็นเสียงชื่นชมขององค์กรของยูเอ็น

เชื่อว่าอีกหลายๆ หน่วยงานหรือหลายองค์กรในโลก ก็คงจะมีท่าทีไปในทิศทางเดียวกัน

อย่าลืมว่า แม้แต่ยูเนสโกและกรรมการมรดกโลก ก็ได้ตีตกการยื่นขอให้ป่าแก่งกระจานได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกมาแล้ว ด้วยเหตุผลข้อหนึ่งคือ ความกังวลในปัญหาสิทธิชุมชนในพื้นที่นี้

เพราะทุกฝ่ายล้วนมีข้อมูลว่า กะเหรี่ยงบางกลอย อยู่ในป่าแก่งกระจานมาแต่ดั้งเดิม ก่อนจะประกาศเป็นเขตอุทยาน และอยู่อย่างเคารพธรรมชาติ ไม่ทำลายล้าง

ภาพการขับไล่ของเจ้าหน้าที่อุทยาน ถึงขั้นเผาบ้านเผายุ้งฉาง จึงเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษย์อย่างน่าเศร้า

แล้วยิ่งเมื่อแกนนำเรียกร้องต่อสู้ หายตัวไป ถ้าไม่มีความคืบหน้า ก็เหมือนกับว่าประเทศนี้ ไม่ให้คุณค่ากับชนกลุ่มน้อย กลุ่มชาติพันธุ์!

การทำงานของดีเอสไอเมื่อคืบหน้า ทั้งทำคดีตามพยานหลักฐาน ใช้วิทยาศาสตร์เป็นตัวพิสูจน์รองรับ

พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ กับพ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ประสานงานกันใกล้ชิดตลอดมีผู้เชี่ยวชาญทางวิศวกรรมอวกาศและทะเลคณะวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เข้าร่วม

นี่เป็นงานที่โลกจับตา

เมื่อทำได้ดี น่าเชื่อถือ โลกก็ชื่นชม!