ประมวลภาพ



ภาพบรรยากาศงานเปิดตัวภาพยนต์ Thirteen Lives รวมทั้งบทสัมภาษณ์

เมื่อวันที่ 28 กรกฏาคม พ.ศ. 2565 ได้มีการจัดงานเปิดตัวภาพยนต์ Thirteen Lives ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวภารกิจช่วยชีวิต 13 สมาชิกทีมฟุตบอลหมูป่าและโค้ช ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง ที่โรงภาพยนต์ Westwood Village Theatre ให้กับแขกผู้มีเกียรติทั้งจากวงการภาพยนต์ฮอลลีวูด ผู้มีชื่อเสียงในชุมชนลอสแอนเจลิส รวมทั้งตัวแทนชุมชนไทยก็ได้รับเชิญเข้าไปร่วมชมภาพยนต์ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยและได้ส่งแรงบันดาลใจให้กับคนไปทั่วโลก

โดยในงานเปิดตัวของหนังฯ นอกจากทีมงานผู้สร้างภาพยนต์ ก็ได้มีเหล่าดาราไทยที่ร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้มาร่วมงานด้วย นำโดย เวียร์ ศุกลวัฒน์ พลอย ภัทรากร ตู่ ภพธร เจมส์ ธีรดนย์ และ อั้ม ถิร ชุติกุล ประกบเหล่านักแสดงฮอลลีวูดอันได้แก่ วิกโก มอร์เทนเซน, โคลิน ฟาร์เรล และ โจล เอ็กเกอร์ตัน

หลังจากงานเปิดตัวได้มีงานแถลงข่าวทางซูม ซึ่งมีทีมงานผู้สร้างภาพยนต์และเหล่าดารามาร่วม อันได้แก่ รอน ฮาร์เวิร์ด ผู้กำกับ เรย์มอนด์ พัฒนวีรางกูล ผู้อำนวยการสร้างร่วม วิกโก มอร์เทนเซน ทอม เบธแมน โจล เอ็กเกอร์ตัน พลอย ภัทรากร เวียร์ ศุกลวัฒน์ เจมส์ ธีรดล ปู สหจักร รวมทั้งนักดำน้ำตัวจริง ริค สแตนตั้น และวิศวกรผู้ช่วยผันน้ำออกจากถ้ำ ธเนศ นะธิศรี ซึ่งคุณอุ้ม วลัยพรรณ เกษทอง จากหนังสือพิมพ์ไทยแอลเอ ก็ได้รับเชิญเข้าร่วมงานแถลงข่าวของภาพยนต์พร้อมทั้งสัมภาษณ์ดาราในเรื่องอย่างเอคคลูซีฟ

รอน ฮาร์เวิร์ดได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างภาพยนต์เรื่องนี้ว่า “เขาสร้างจากจุดที่เป็นจุดเปลี่ยน ความท้าทายกับข้อจำกัดและสิ่งที่พวกเขาประสบ ลองย้อนคิดไปถึง Apollo 13 ซึ่งเป็นหนังที่คนชอบจนถึงทุกวันนี้ จำฉากที่เขาเอาของที่มีอยู่มากองแล้วบอกว่าเราจะต้องหาทางแก้ไขปัญหา (ระบบออกซิเจน) และ (ในหนังเรื่องนี้) จากเรื่องจริงที่เกิด เวลาที่ดูบทภาพยนต์ก็จะเห็นเหตุการณ์จำนวนมากที่แสดงถึงความเป็นวีรบุรุษที่เสียสละของทั้งนักดำน้ำและผู้มีส่วนร่วม ภาพยนต์แสดงถึงการแก้ปัญหาภายใต้แรงกดดันทั้งปัญหาทางเทคนิค ทางอารมณ์ รวมทั้งความเสี่ยงทางกายภาพ ซึ่งผมก็ได้สร้างฉากจากเรื่องเหล่านั้น และจากบทภาพยนต์ที่เยี่ยมยอดมาได้นักแสดงที่ยอดเยี่ยมด้วย

และมีสิ่งหนึ่งที่คนไม่ได้พูดถึงคือเรื่องของการลงทุนลงแรง เหตุการณ์นี้มีคนจำนวนมากที่กล้าหาญและมาเป็นอาสาสมัคร ริค สแตนตั้นตัวจริงเป็นนักดับเพลิง เรื่องของเขาเกี่ยวกับงานเป็นเรื่องหนึ่งแต่เรื่องที่เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญการดำน้ำในถ้ำ และได้เสียสละเสี่ยงชีวิตมาร่วมอาสาในปฏิบัติการกู้ภัยนี้ ซึ่งไม่ได้มีแค่นักดำน้ำ แต่มีคนอีกหลายพันคนรวมทั้งคุณธเนศซึ่งอยู่ในที่นี้ด้วยก็ได้ทำการช่วยเหลือ ทำให้ผมรู้สึกประทับใจกับภาพของการเป็นอาสาสมัคร การแสดงออกต่อกันของคนหลายเชื้อชาติ รวมทั้งความกล้าหาญด้วย”

ภาพยนต์เรื่องนี้ใส่ใจกับรายละเอียดของภาพยนต์อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสมจริงขององค์ประกอบในฉาก รวมทั้งเรื่องของด้านวัฒนธรรมและภาษา ตัวละครพูดภาษาท้องถิ่น โดย รอนกล่าวว่า “คนสมัยนี้ฉลาดและมองหาสิ่งที่มีความเป็นจริงและเป็นธรรมชาติ เมื่อ (นักแสดง) มาทำงานกับผู้กำกับที่ไม่ได้พูดภาษาไทย และผู้เขียนบทซึ่งเขียนบทเป็นภาษาอังกฤษก็ได้เรย์มอนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้อำนวยการสร้างและเป็นนักเขียนมาช่วยในเรื่องของการแปลภาษาและช่วยเหลือในการทำงานกับนักแสดงไทย ทำให้การเล่นนี้เหมือนกับเป็นการเล่นภาพยนต์ไทย (ที่มีรอน ฮาร์เวิร์ดเป็นผู้กำกับ)”

เรย์มอนด์ กล่าวว่า “รอนเป็นคนที่เปิดใจกับไอเดียใหม่ ๆ มาก เขาเป็นคนที่ให้ความสนใจกับเรื่องที่เขาไม่รู้ ซึ่งเขาจะถามคำถาม เช่น ทำไมพระในเรื่องจะต้องเป็นพม่า และผมก็ตอบเขาไปว่าเพราะเขาไม่ต้องโกนคิ้ว นี่เป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่รอนใส่ใจ”

แม้แต่ พลอย เธอก็ไม่ได้เป็นแม่ แต่ก็ทำการบ้านอย่างลึกซึ่งเพื่อให้การเล่นภาพยนต์นี้สามารถถ่ายทอดถึงความเป็นแม่ที่กำลังห่วงใยลูกได้ โดยเธอกล่าวว่า “เธอได้กลับไปย้อนดูข่าวสัมภาษณ์พ่อแม่ตัวจริง ดูการแสดงออก วิธีการพูดและการแต่งตัว ในเชียงรายสายสิญจ์ เป็นของที่เราให้กับใครแปลว่าเราอยากให้ปกปักรักษาคนนั้นให้ปลอดภัยและโชคดี ดังนั้นจึงคิดว่าน่าจะมีอยู่ในภาพยนต์ด้วย ซึ่งฉันดีใจที่รอนและเรย์มอนด์รับฟังความเห็นของฉัน”

เวียร์ ศุกลวัฒน์ ที่เล่นในบทของสมาน ได้ไปพบปะกับครอบครัวของสมานจริง ๆ รวมทั้งไปเรียนดำน้ำมาด้วย เพื่อเรียนรู้ในการสวมบทบาทนี้

เจมส์ ในบทโค๊ช ก็ได้เล่าถึงความรู้สึกในการทำงานในภาพยนต์เรื่องนี้ว่า “ รู้สึกว่าเป็นฝันของเขาที่ได้ร่วมงานกับรอน ฮาร์เวิร์ดในภาพยนต์ฮอลลีวูด ในวันแรกรู้สึกตื่นเต้นมาก และหลังจากนั้นก็รู้สึกผ่อนคลาย เพราะรอนเป็นกันเองมาก เขาเข้ามาแนะนำตัวกับผมเอง เขาบอกรายละเอียดทุกอย่างที่ต้องทำ ที่จะเกิดขึ้นในฉากในถ้ำ และผมยังจำวันนั้นได้จนถึงวันนี้”

นอกจากเจมส์ มีเด็กจากภาคเหนือหลายคนในหนังที่ไม่ได้เป็นนักแสดงจริง ซึ่งก็ได้ผู้อำนวยการสร้างคนไทยอีกคนคือ บิลลี่ มาทำงานร่วมกับพวกเขาอย่างใกล้ชิด โดยมีเจมส์ช่วยเป็นโค๊ชทั้งในจอและนอกจอกับเด็กเหล่านี้ด้วย เจมส์บอกว่า “เขามีการซ้อมผ่านทั้งทางซูม พูดคุยต่อบท รวมทั้งมีการหัดนั่งสมาธิร่วมกันก่อนที่จะเข้าฉากอีกด้วย พวกเขาใช้เวลา 10 วันในการถ่ายทำในถ้ำ ซึ่งก็เป็นเวลาจำกัดมาก ๆ ในถ้ำมืดมาก “

ริค ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางเทคนิค กล่าวว่า “ทุกเสียง ทุกอย่าง แม้แต่เรื่องของฟองอากาศที่อยู่ในถ้ำเป็นสิ่งที่จริง ผมรู้สึกภูมิใจถึงสิ่งที่เราทำในประเทศไทย มองย้อนไปถึงตัวเอง ผู้ชายวัย 57 ปีที่บินจากอังกฤษมาเข้าร่วมปฏิบัติการกู้ภัยเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อ เมื่อถึงวันที่เราฉลองความสำเร็จออกมาบนภาพยนต์ และเมื่อดูภาพยนต์นี้ทำให้คิดถึงอดีตที่จอห์น ผม เจสันได้ทำไม่ใช่แค่เรื่องการกู้ภัยแต่เป็นเรื่องของงานอดิเรกที่เราทำ ซึ่งในอดีตเราก็เคยบินไปมาทั่วโลกเพื่อทำการกู้ภัยอย่างประสบความสำเร็จ ทำให้เราเป็นคนที่ถูกเรียกมาเพื่อแก้ปัญหาครั้งนี้ แต่คุณรู้มันเป็นเรื่องอาสาสมัคร เราไม่จำเป็นต้องทำ แต่เราเป็นผู้มีความชำนาญในเรื่องนี้ ดังนั้นเรารู้ว่าพวกเราเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ดีที่สุดบนโลกที่จะสามารถไปทำให้เหตุการณ์นี้สำเร็จได้”

โดย วิกโก้ ซึ่งเล่นเป็นริคในภาพยนต์ ก็ได้มีเวลาในการพูดคุยกับริคผ่านทางซูมและพบกับเขาที่อังกฤษ

วิกโก้บอกว่า “เขาได้ลงไปใต้น้ำจริง ๆ ถ้าเป็นหนัง 20-30 ปีก่อนโดยผู้กำกับคนอื่น ตัวละครคนไทยจะต้องพูดภาษาอังกฤษและจะพูดถึงแต่ว่าชาวต่างชาติทำเรื่องยิ่งใหญ่อย่างไร แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ มันไม่ใช่หนังที่ใช้สเปเชี่ยลเอฟเฟค เราไปอยู่ใต้น้ำจริง ๆ เราทำหลายสิ่งจริง ๆ โดยริคให้ความมั่นใจว่าพวกเรานักแสดงเรียนรู้พอที่จะสามารถทำได้ และเขาจะช่วยให้คำแนะนำและดูแลให้พวกเราปลอดภัย”

โจล กล่าวว่า “เขาตื่นเต้นมาก เพราะถึงแม้จะอยู่ในฉากก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องของการดำน้ำในถ้ำซึ่งแทบจะมองไม่เห็นอะไร แถมต้องแบกอุปกรณ์จำนวนมาก แล้วก็ต้องพยุงตัวละครเด็กที่ (แสดง) ว่ากำลังสลบอยู่ภายใต้อุปสรรคจำนวนมาก แม้ว่าเราจะได้รับการฝึกฝนและให้คำแนะนำอย่างดี แต่บางทีผมก็รู้สึกถึงอันตรายในการดำน้ำในถ้ำอยู่ แต่นึกอีกทีก็เป็นเรื่องสนุกที่ผมไม่เคยคิดว่าจะได้ทำงานที่จะได้เล่นเป็นฮีโร่ชีวิตจริงสักครั้งและเรียนรู้ทักษะอะไรใหม่”

ธเนศ วิศวกรน้ำซึ่งมีส่วนร่วมในการกู้ภัย เล่าถึงประสบการณ์ในวันที่เข้ามาร่วมภารกิจว่า “ตอนแรกที่ทางทหารบกเรียกมาช่วยคิดว่าจะเป็นเรื่องง่ายแค่ปั๊มน้ำออกมา แต่พอไปถึงสถานที่จริงกลับพบว่ามันซับซ้อนกว่าที่คิดไว้ สภาพทางน้ำของภูเขาเป็นโครงข่ายขนาดใหญ่ในถ้ำและทางน้ำใต้ดิน ดังนั้นในการที่จะหยุดน้ำให้เข้าไปในถ้ำได้เราจะต้องหาทางผันน้ำออกไปทางอื่นจำนวนมาก ซึ่งต้องใช้แรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวบ้านและชาวนาที่เสียสละพื้นที่ทำนาให้เอาน้ำมากักไว้ รวมทั้งการร่วมมือจากคนไทย ทหารบก วิศวกรซึ่งลงพื้นที่ด้วย นับเป็นความช่วยเหลืออันยิ่งใหญ่ ดังนั้นเมื่อเราต้องการเครื่องมือที่จะมาช่วยผันน้ำเราใช้การขอความร่วมมือทางโซเชี่ยลมีเดียแทนที่จะติดต่ออย่างเป็นทางการ ซึ่งก็มีกระสอบทราย และสิ่งที่เราต้องการในวันรุ่งขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับผมก็คือการกู้ภัยนี้เป็นความร่วมมือของคนไทยและคนทั่วโลกหลายร้อยคนที่มาทำให้ปฏิบัติการสำเร็จ”

ปู สหจักร ซึ่งแสดงเป็นผู้ว่าฯ กล่าวว่า “ภาพยนต์เรื่องนี้รอน ซึ่งเป็นนักเล่าเรื่อง บอกให้คนทราบว่าเกิดอะไรขึ้นอย่างละเอียดทุกอย่าง ซึ่งผมคิดว่า ภาพยนต์เรื่องนี้เป็นหนังยอดมนุษย์แห่งปี เป็นหนังที่มีวีรบุรุษอยู่หลายคนมาก และรอนเป็นวีรบุรุษคนแรกในสิ่งที่เขาได้ทำ”

สำหรับการเลือกตัวดารามาเล่นในเรื่องนี้ เรย์มอนกล่าวว่า “ผมทำงานร่วมกับบิลลี่ ซึ่งเราก็มีคนในใจอยู่แล้ว เราอยากให้เวียร์มาเล่นเป็นสมาน เพราะเขาเป็นนักแสดงที่มีบุคลิกภาพที่ละเอียดอ่อนซึ่งเหมาะกับบทของสมาน ส่วนเจมส์นั้นแม้คนจะมองภาพเป็นดาราวัยรุ่นตัวแสบ แต่เขาอยากจะทำงานให้ได้ดีมากจนไปเรียนการนั่งสมาธิ รวมทั้งมาสอนเด็กทั้ง 13 คนด้วย ส่วนพลอยซึ่งเล่นเป็นบัวหอม แม่ซึ่งลูกติดอยู่ในถ้ำก็ทำการบ้านมาอย่างดี เพราะเธอมาจากเชียงรายด้วยทำให้การเล่นบทนี้ทำได้ไม่ยาก และนอกจากผมแล้วทีมงานเบื้องหลังยังมี บิลลี่ – วรกร ฤทัยวาณิชกุล มีเล็กผู้กำกับศิลป์ซึ่งเคยทำงานกับแบรด พิทท์ในทรอยและทีมงานหลายคนที่เป็นคนไทยร่วมทำงานกับทีมงานออสเตรเลียด้วย”

เรื่องราวของการกู้ภัยทีมฟุตบอลหมูป่า 13 คนได้ถูกสร้างไปในหลายรูปแบบ แต่เรย์มอนด์กล่าวถึงสิ่งแตกต่างของการนำเสนอในภาพยนต์เรื่องนี้คือ” ขณะนี้โลกกำลังอยู่ในสภาพที่แย่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโรคระบาด เรื่องการเมือง ในเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าเมื่อพวกเรามาร่วมกันทำสิ่งที่เยี่ยม จะแสดงให้เห็นว่าการที่คนเราไม่เห็นแก่ตัว ไม่ว่าจะเชื้อชาติหรือความแตกต่างที่เรามี มาทำงานร่วมกัน สามารถทำให้เห็นว่าสามารถทำสิ่งที่เยี่ยมได้ขนาดนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของนักดำน้ำ แต่มีวิศวกรที่ขอความช่วยเหลือในโซเชี่ยลมีเดีย มีชาวบ้านมาช่วย มีคนมาจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีชาวนาที่เสียสละที่ หลายอย่างไม่ได้มีนำเสนอมาก่อน ซึ่งรอนได้แสดงให้เห็นในหนังเรื่องนี้ เขาอยากจะบอกว่าไม่ใช่แค่นักดำน้ำแต่ใช้คนทั้งหมู่บ้านมาร่วมช่วย เขาอยากแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐฯ ต้องตัดสินใจยากลำบากแค่ไหนในการตัดสินใจแต่ละขั้นตอน เพราะหากว่าพลาดคนที่ต้องรับผิดชอบนั้นต้องรับความกดดันอย่างมหาศาล ในการสร้างหนังผมไม่ได้อยากแค่สร้างหนังให้คนรับความสนุกเท่านั้น แต่อยากให้คนดูสามารถนำความคิดบางอย่างกลับไปที่บ้านได้ด้วย ถึงแม้เรื่องนี้จะเกิดขึ้นที่เมืองไทยแต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องของมนุษยชาติที่ทุกคนไม่ว่าจะมาจากที่ใดสามารถสัมผัสได้”

โดยวิกโก้ก็ได้กล่าวถึงจุดเด่นที่หนังต้องการสื่อไว้ว่า “เราดูผู้นำในโลกแสดงหลายสิ่งหลายอย่าง หลายคนเห็นแก่ตัว โลภและไม่ซื่อสัตย์ มันจึงเป็นสิ่งดีที่มีเรื่องนี้เกิดขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่างของการช่วยเหลืออย่างไม่เห็นแก่ตัวไม่มีใครทำเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นริคหรือใครทำเรื่องนี้เพื่อให้รวย เพื่อให้ได้อาณาจักรใหม่หรือได้อำนาจอะไร เขาทำเพราะเป็นสิ่งดีที่ควรจะทำ อย่างที่เรย์มอนด์พูด นี่เป็นสิ่งที่ มนุษยชาติสามารถทำสิ่งที่ยอดเยี่ยมได้เพื่อกันและกัน และบางครั้งเราลืมไปเพราะเรามัวแต่คิดถึงคนที่ทำสิ่งไม่ดีและเห็นแก่ตัว”

ผู้เขียนได้ไปดูภาพยนต์เรื่องนี้แล้ว ต้องบอกว่าเป็นภาพยนต์ที่ให้แรงบันดาลใจอย่างที่เหล่าทีมงานและนักแสดงว่าจริง ๆ หากใครที่รักรอน ฮาร์เวิร์ดจาก Apollo 13 เรื่องนี้คุณไม่ควรพลาด เพราะเป็นหนังโปรดักชั่นยักษ์ระดับฮอลลีวูดที่สร้างจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในเมืองไทย และสื่อให้เห็นว่า “ไม่จำเป็นต้องเป็นยอดมนุษย์พวกเราก็สามารถทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ได้”

ในตอนท้ายของการสัมภาษณ์เหล่านักแสดงไทย เวียร์และพลอยได้กล่าวถึงเชิญชวนคนไทยว่า “ภาพยนต์เรื่องนี้นอกจากจะเป็นภาพยนต์ที่สื่อให้เห็นถึงความสมานสามัคคี เห็นรายละเอียดว่ามีอะไรเกิดขึ้นใต้น้ำแล้ว ยังเป็นภาพยนต์ระดับฮอลลีวูดเรื่องแรกที่มีนักแสดงไทยมากขนาดนี้และได้พูดภาษาไทยด้วย”

ภาพยนต์ Thirteen Lives นำแสดงโดยนักแสดงฮอลลีวูดชื่อดัง วิกโก มอร์เทนเซน, โคลิน ฟาร์เรล และ โจล เอ็กเกอร์ตันได้เริ่มฉายในโรงภาพยนต์ในเมืองใหญ่ของสหรัฐอเมริกา อาทิ ชิคาโก้ นิวยอร์คและลอสแอนเจลิสไปเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2565 และมีกำหนดการที่จะเริ่มออกฉายทางอเมซอน ไพรม์ในวันศุกร์ที่ 5 สิงหาคมนี้

ภาพ: Eric Charbonneau และ วลัยพรรณ เกษทอง

เรื่อง: วลัยพรรณ เกษทอง