ดร.การุณ รุจนเวชช์
ดร.การุณ รุจนเวชช์



ตอนทื่ ๖ มรว. ศศิจุฑาภา วรวรรณ

ในปี ๒๐๑๘ ท่านให้เราไปพักที่โรงแรมของท่านที่ หัวหิน มีคนขับรถและเจ้าหน้าที่โรงแรมดูแลเรา ตลอด ๓ วัน ไม่เคยคิดว่าท่านจะตัดสินใจบวชบชี แม้จะไม่ได้สอบถามว่า เหตุใด มรว.ศศิจุฑาภา วรวรรณ จึงโกนผม นุ่งขาวห่มขาว ถือศิลแปด สละคอนโด ที่ใหญ่งามราววัง มาพักนอนที่วัด แต่จากทุกคำนำพาธรรมถึงกันใน LINE พออ่านใจท่านได้ว่า ท่านคงแสวงหาความวิเวก เพื่อบรรลุความสุข ที่ไม่ต้องใฝ่หามา เป็นเจ้าของ ประดับกาย หรือ เสพ แต่มาจากการได้อยู่กับจิต ทุกนาที กับความรัก ความสง่างาม และ กตเวทิตา (ความเป็นผู้รู้อุปการคุณ)

สืบสายจาก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (ต้นราชสกุล วรวรรณ) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระบิดาแห่งการละครร้อง ทรงนิพนธ์ “สาวเครือฟ้า” และละครพูด “สร้อยคอที่หาย” แสดงที่ “โรงละครปรีดาลัย” มรว.ศศิจุฑาภา วรวรรณ โลหะจายะ (นามสกุล สามี แพทย์รักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙) เป็นธิดา พันตำรวจโท หม่อมเจ้า หัชชากร วรวรรณ พระโอรส ใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้ศึกษาที่โรงเรียน “ผดุงดรุณี” ที่นำพา ดร.ชวนชื่น รุจนเวชช์ มาร่วมชั้น และต่อเนื่องมาที่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ที่ภรรยาและผมได้ศึกษาร่วมสถาบัน

ในโอกาสที่ ภรรยาและผม กลับมาประเทศไทย คุณหญิง แม่ชี จึงได้นัดเพือนร่วมสถาบันผดุงดรุณี มาร่วมรับประทานอาหารกลางวัน ๑๓ คนที่คอนโดหลายชั้น ท่านให้คนขับรถไปรับเราที่โรงแรมตามเวลานัดหมาย

ที่ชั้นรับแขก โอ่โถง ตกแต่งด้วยสิ่งประดับงามแบบไทย และเครื่องแก้วแวววับรับแสงสว่าง จากหน้าต่างรอบด้าน ห้องอาหาร มีโต๊ะยาว ทุกที่นั่งมีภาพของทุกคนจัดไว้หน้าจานงาม ให้ทุกคนหาที่ของตนได้สะดวก สักพักคุณหญิงแม่ชี ยิ้มเข้ามาต้อนรับ เรามอบกุหลาบขาวให้ ทักทายกันสักพัก เพื่อนสาวชาวผดุงดรุณี เริ่มทะยอยกันเข้ามา ใกล้เวลาอาหาร ทุกคนเเข้านั่งประจำที่ของตน หญิงสาวในชุดทำงานแบบไทย เดินนำอาหารมาตั้งมากมายแต่หัวจรดปลายโต๊ะ ตรงหน้ามีอาหารไทย อาหารทานเล่น คาว หวาน ผลใม้ ให้เลือกทานพอประมาณ ความสำราญเป็นความปิติยินดีต่อกัน

เราทุกคนสามารถสร้างความปิติได้ ด้วยการกำหนดทุกข์ ปฏิบัติอริยสัจสี่ประการ ดังที่ผมเข้าใจว่า มรว.ศศิจุฑาภา วรวรรณ ปฏิบัติอยู่